'แบงค์ เจตะสานนท์' 'สจ๊วตการบินไทย' ที่รักการเป็น ‘เชฟ’
กว่าจะมาสู่เส้นทางการเป็นเชฟ "สจ๊วตการบินไทย"คนนี้สู้ไม่ถอย ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ... อะไรทำให้เขาวกกลับมาสู่อาชีพที่รัก จนเปิดร้าน "THYME by Skinhead Kitchen"
ก่อนจะมีโรคอุบัติใหม่ “โควิด-19” ใครจะคาดคิดว่า อาชีพที่มั่นใจ กลับไม่มั่นคงอีกต่อไป เมื่อมีตัวแปรเข้ามา เจ้าของหลายธุรกิจเช่นการท่องเที่ยว, โรงแรม กัปตันขับเครื่องบิน พนักงานต้อนรับสายการบินตกงาน
ไม่ต้องดูอื่นไกล แบงค์ เจตะสานนท์ มีงานหลักเป็น “สจ๊วตการบินไทย” แม้ไม่โดนเลิกจ้าง แต่พิษโควิดก็ทำให้ต้องพักงานชั่วระยะหนึ่ง อาศัยว่าชอบทำอาหารเป็นชีวิตจิตใจ เคยลงแข่งขันในรายการ “มาสเตอร์เชฟไทยแลนด์”(Master Chef Thailand Season 2) จนเป็นที่ยอมรับเรียกเขาว่า เชฟแบงค์ และล่าสุดเพิ่งเปิดร้าน THYME by Skinhead Kitchen สไตล์ Private Dinner นอกจากนี้ยังตั้งใจว่า จะมีคอร์สสอนเด็กๆ ทำอาหาร
‘แบงค์’ เชื่อว่า คนเราควรมีอาชีพสำรอง การเป็นเชฟจึงเป็นอีกอาชีพที่เขารักตั้งแต่เด็ก ทั้งๆ ที่พ่อแม่ไม่เห็นด้วย...
รู้ตัวว่าชอบทำอาหารตอนอายุเท่าไหร่คะ
ผมชอบทำอาหารตั้งแต่เด็กชอบแอบดูคุณแม่ทำอาหาร เมื่อ 30-40 ปีที่แล้วผู้ใหญ่มองว่า ผู้ชายเข้าครัวเป็นเรื่องแปลก ก็จะถูกกีดกันตลอด ด้วยความที่เราเป็นคนชอบกิน กลับบ้านมาก็จะทำนู่นทำนี่กิน เปิดทีวีดูรายการทำอาหารมาตั้งแต่เด็ก จำได้รายการแรกที่ดูคือ “เชฟมือทอง”
ตอนนั้นไม่รู้ว่าเชฟเอียนคือใครด้วยซ้ำ ดูสนุกแล้วทำตามบ้าง พอโตขึ้นก็อยากไปเรียนทำอาหาร แต่ที่บ้านไม่โอเค คนที่บ้านบอกว่า อยากให้เรียนในสิ่งที่เขาอยากให้เป็น เพราะคุณพ่อเป็นทหารอากาศ เขาจะตีกรอบให้เราเดิน ต้องเรียนแบบนี้ เรียนที่นี่
ผมไม่อยากเป็นทหาร เห็นพ่อเป็นทหารมาตั้งแต่เด็ก ไม่ใช่ว่าทหารไม่ดีนะ แต่สมัยนี้ทหารไม่ได้ออกรบแล้ว ทุกคนทำงานแล้วกลับบ้าน สังสรรค์ดื่มกิน ผมไม่ชอบแบบนั้น อยากไปทำอย่างอื่นมากกว่า ไม่อยากอยู่ในกรอบ ที่บ้านทุ่มหนึ่งทุกคนต้องลงมากินข้าวพร้อมกัน หิว ไม่หิว ก็ต้องลงมานั่งกินข้าวด้วยกันเป็นครอบครัว เราเป็นวัยรุ่นก็อยากจะแหกคอก ทำอะไรที่เราอยากทำ
แล้วคุณพ่อตามใจไหม ?
เราก็ต้องทำตามคุณพ่ออยู่ดี ไม่อยากเป็นทหารใช่ไหม? งั้นมาเป็นนักบิน เราก็ลองไปเรียนดู แต่เราไม่ได้ชอบทางสายนั้น สุดท้ายก็ไปงัดข้อกันตอนจบว่า ผมไม่เป็นนักบินนะ ขอไปเรียนมหาวิทยาลัย สมัยนั้นคุณแม่ ก็ทำงานธนาคาร ไม่มีเวลามาสนใจว่าเราอยากเป็นอะไร จะคิดมาให้เลยว่าทำอาชีพนี้สิพ่อว่าดี แม่ว่าดี ไม่เคยมีความคิดว่า ลองไปเป็นที่อยากเป็นดูไหม
ตอนเด็กๆ ผมชอบวาดรูป ก็ไม่ได้ไปทางศิลปะ แต่มาค้นพบตัวเองจริงๆ ว่า ชอบทำอาหาร ก็ตอนเรียนมหาวิทยาลัย เลือกนิเทศศาสตร์ตามพี่สาว สมัยก่อนการทำอาหารมันคือ “กุ๊ก” ที่บ้านบอกถ้าเธอจะเรียนทำอาหาร ไปเรียนการท่องเที่ยวยังดีกว่า เรียนจบก็ยังไม่ชอบ ยืนยันว่ายังชอบอาหาร ทางบ้านบอกไปเรียนต่อ Business สิ เขาก็พยายามบอกให้ไปเรียนโน่นสิ นี่สิ ก็ผมไม่ได้ชอบ ขอไปเรียนต่อด้านอาหารได้ไหม
ในที่สุดก็ได้เรียนทำอาหารสมใจ ?
มีคอร์สเรียนอาหารในเมืองไทยดีๆหลายแห่ง แต่ผมอยากไป Melbourne , Australia เพราะมีญาติอยู่ที่นั่น พูดง่ายๆ คือผมอยากออกจากบ้าน ไม่อยากอยู่บ้านแล้ว(หัวเราะ) อยากจะออกไปจากกรอบของผม พี่สาวผมจะห้าวๆ แมนๆ เพราะพ่อเป็นคนดูแลใกล้ชิด
ส่วนผม แม่จะเป็นคนดูแล ก็จะเรียบร้อยๆ ไม่ค่อยมีปากเสียง แต่ผมจะดื้อเงียบไง ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ผมกล้าขอออกจากบ้านของตัวเอง เพื่อไปอยู่คนละทวีปเลย ญาติมีร้านอาหารที่นั่น คนไทยไปทำงานที่นั่นต้องล้างจาน วันไหนเชฟป่วย เราก็ได้เข้าครัวบ้าง ได้ทำอาหารไทยตลอดเวลา
ระหว่างนั้นก็เรียนภาษาเพื่อไปสมัครเรียนด้านอาหาร ที่สถาบัน William Angliss ความจริงอยากเรียน Le Cordon Bleu แต่ที่เมลเบิร์นไม่มี ต้องไปอเมริกาก็แพง อีกครึ่งเดือนจะยื่นใบสมัคร ที่บ้านก็โทรมา “กลับบ้านเถอะ สจ๊วตเปิดรับสมัครแล้วนะ” ซึ่งผมก็ไม่ได้เป็นคนหัวรั้นมาก
เขาคงมองว่า ถ้าเราเป็นสจ๊วต ทุกอย่างคือจบ คุณมีหน้าที่การงานที่ดี เพราะ 15 ปีที่แล้วรายได้เป็นแสนเลยนะ ถึงตอนนั้นอยากเรียนทำอาหารก็ไปเรียนสิ ผมก็เลยกลับมาสมัครสจ๊วต บอกที่บ้านว่าถ้าสมัครแล้วไม่ได้ ผมจะกลับไปเรียนทำอาหารต่อนะ ทางบ้านก็ยอมตกลง
ปรากฏว่าได้เป็นสจ๊วต ?
ผมก็ได้เป็นสจ๊วต สายการบินไทย ตอนอายุประมาณ 22 ปี ความสนุกก็เลยเริ่มขึ้น อยู่ดีๆ เรียนจบมาได้ทำงาน เงินเดือนเป็นแสน ตอนนั้นคิดว่าถ้ามีโอกาสค่อยกลับไปเรียน แล้วชีวิตสจ๊วตก็ความสุขมาก อยากจะกินอะไรก็กิน ได้ไปประเทศโน้นประเทศนี้ ลืมความคิดที่อยากเรียนไปเลย ไปบินญี่ปุ่นเราก็ได้กินของอร่อยๆ ซื้อวัตถุดิบดีๆ มาทำอาหาร
ผ่านไปเกือบ 10 ปี จนแต่งงานมีภรรยา (ลินดา เจตะสานนท์) ผมทำอาหารให้ภรรยากิน เขาก็รู้ว่าความฝันผมคืออะไร เล่าให้เขาฟังว่า ตอนนั้นไปถึงที่เกือบจะได้เรียนอยู่แล้ว เสียดายจริงๆ พอแต่งงานกันได้ 5 ปี เขาก็ถามว่าอยากทำตามความฝันไหม
ภรรยาเซอร์ไพร์สวันเกิดผมด้วยการซื้อคอร์สเรียนทำอาหารที่ Le Cordon Bleu ดุสิตธานี พอไปเรียนแล้ว ไฟกลับมาอีกครั้ง ไม่เคยคิดว่าสิ่งที่เคยใฝ่ฝันหายไป 10 ปีจะกลับมา ทำอาหารแล้วสนุก มีความสุขมากขนาดนี้
สมัครเข้าแข่งขัน มาสเตอร์เชฟไทยแลนด์ตอนไหน
ตอนเรียน Le Cordon Bleu ใกล้จบ เห็นเพื่อนในรุ่นไปสมัคร เมื่อปี 2018 ซีซั่นแรก ความจริงผมเป็นคนที่ไม่ค่อยกล้าแข่งขันอะไรแบบนี้หรอก ปี 2019 ก็เลยลองไปสมัครซีซั่น 2 ดู คิดว่าเอาน่า ครั้งหนึ่งในชีวิต ขอลงสนามซักทีหนึ่ง
ตอนนั้นผมต้องแบ่งเวลาไปเรียนทำอาหาร และแบ่งเวลาไปบิน ไปสมัครมาสเตอร์เชฟทั้ง Work in ทั้งส่งคลิป เพราะจบ Cordon Bleu ก็แก่แล้วอายุ 38 กว่าจะไต่เต้าเป็นเชฟ ก็คงเกษียณพอดี ก็เลยตัดสินใจแข่งให้ได้ เพื่อลัดขั้นตอน เพราะคนดูทั้งประเทศต้องดังแน่ๆ
ลงแข่งจริงๆ ตื่นเต้นไหม
ตื่นเต้นมาก ได้เจอเชฟป้อม มล.ขวัญทิพย์ เทวกุล ที่ผมชื่นชอบ แต่วันนั้นคนเยอะ ท่านไม่ได้มีเวลามาสนใจผมมาก ก็เลยไม่ตื่นเต้นมาก ก่อนไปแข่งผมซ้อมเยอะ ภรรยาช่วยจับเวลา และด่าไปด้วย ซ้อมเสมือนแข่งจริงมากๆ ผมทำเมนู “ล่องใต้อวยแตก” รวมซีฟู้ดทุกอย่าง แล้ว “ราดครีมซอสแกงเหลือง” เสิร์ฟแบบฝรั่ง มี “สลัดผักกูด” ของภาคใต้ ดองด้วยเรดไวน์เวนิก้า
แต่เขาคัดจาก 100 คนเหลือ 30 คน ก็ลุ้นว่าจะเข้ารอบไหม ตื่นเช้าที่เกาหลีเพราะไปบิน มีโทรศัพท์แจ้งข่าวดี ตอนนั้นคิดอย่างเดียวว่า เราต้องไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อจะได้ทำอะไรที่เราฝันไว้ กลับจากบินก็ซื้อวัตถุดิบมาซ้อมทำอาหาร ภรรยาจับเวลา
ตอนนั้นมองกลับกันไว้ด้วยว่าถ้าตกรอบ ก็จะลงแข่งไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ ผมจะไม่ท้อ เขาแข่งทุกอาทิตย์ ผมไปบิน ไม่ค่อยมีเวลาซ้อมเหมือนคนอื่น เราต้องเดาทาง เพราะไม่รู้โจทย์ โชคดีที่ผมเรียน กอร์ดองเบลอมา จะมีหลักว่า อาหารจานหนึ่งจะต้องมี โปรตีน แป้ง ผัก
ผมเลยหันมาเล่นที่ซอส เตรียมไป 10 ซอส ถ้าโจทย์มาเราก็ทำซอสให้เข้ากัน แล้วแต่งจานให้สวย ที่เรียนมามีแต่พื้นฐาน ไม่ได้สอนแต่งจาน แล้ววันนั้นก็มาถึง ก็คือ “วันตกรอบ” เพราะโจทย์ไม่ใช่ทางเราจริงๆ เราเตรียมตัวมาไม่ดี ผมไม่ได้ศึกษาเรื่องอาหารอินเดีย แม้จะตกรอบไม่ได้เป็นผู้ชนะ ผมถือว่าได้เข้ารอบ 5 คนสุดท้ายก็ถือว่าผมมาไกลแล้ว ก็จะสานฝันต่อไป
ฝันของเชฟแบงค์คืออะไรบ้าง
อยากให้มรดกตกทอดถึงเด็ก ฝันของผมก็คือ “สอนเด็กทำอาหาร” อยากถ่ายทอดสิ่งที่เรามีให้คนรุ่นหลัง เพราะ “การทำอาหาร” เหมือนเป็นมรดก ถ้าทำเป็นแล้วจะไม่มีวันหายไป ก็เลยบอกภรรยาว่า วันหนึ่งเราต้องสอนเด็กทำอาหารให้ได้ ทางรายการมาสเตอร์เชฟก็ยังให้งานผมเรื่อยๆ
และ ช่วงโควิด-19 ผมก็ได้ลูกมาคนหนึ่ง เป็นลูกสาวชื่อน้องดวิณณ์ เจตะสานนท์ อายุ 2 ขวบ ก็เลยมีโอกาสสร้างร้านอาหารขึ้นมา ชื่อร้าน THYME by Skinhead Kitchen เมื่อก่อนผมมีร้านเล็กๆชื่อ Skinhead Kitchen รับจัดงาน Private Party ที่บ้านของลูกค้า ทำก่อนผมไปลงแข่งมาสเตอร์เชฟ พอโควิดรอบแรกการบินไทยเริ่มแย่ลง การมีความสุขจากเงินเดือนแสน เหลือแค่ 6 หมื่นผมต้องคิดใหม่
ช่วงการบินไทยเริ่มย่ำแย่ คุณปรับตัวอย่างไร
ความจริงมันเริ่มแย่ลงก่อนหน้านั้นแล้วครับ เพราะเริ่มมีคู่แข่งเยอะขึ้น เมื่อก่อนมีแค่การบินไทย กับบางกอกแอร์เวย์ ไม่มีใครแย่งลูกค้ากัน รายได้ก็เริ่มลดลง ผมคิดว่า เราคงต้องทำอะไรแล้วล่ะ เพราะรายได้เริ่มลดลง ก็เลยเริ่มทำอาหาร Skinhead Kitchen พอไวรัสโควิด-19 มาทุกอย่างพัง การบินไทยก็เละไม่ได้บิน
ผมตัดสินใจเปิดร้าน THYME by Skinhead Kitchen เดือน พฤษภาคม 2564 นี่เอง THYME เป็นชื่อลูก เรามองว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำให้ลูก มันคือของดี วัตถุดิบที่ผมหามาก็จะเป็นของดี เหมือนเราใส่ใจทำให้ลูกกิน
คอนเซ็ปต์ของร้านนี้คือ จะเป็น Private Dinner ตอนนี้ร้านอาหารเริ่มนั่งได้แล้ว เราก็เปิดเป็น Fine Dining มีคอร์สอาหารให้เลือก ราคาแล้วแต่วัตถุดิบที่ลูกค้าเลือก เริ่มต้นที่หัวละ 1,800 บาท มี 6 คอร์ส เครื่องดื่มลูกค้านำมาเองได้ หรือจะให้จัดแนวปาร์ตี้ทำอาหารไว้ตรงกลางแล้วแชริ่งกัน เช่นวันนี้อยากกินอาหารฝรั่ง อาหารไทย ฯลฯ ผมทำอาหารไทยเป็นอยู่แล้ว หรืออยากกินอาหารแบบไหนก็บอกมา ผมทำให้ได้
มีความฝันที่อยากทำแล้วไม่ได้ทำอีกไหม
ก็มีอีกธุรกิจคือ จะเปิดที่นี่ให้เป็น “สตูดิโอ” ให้เช่าถ่ายทำรายการได้ด้วย เพื่อให้เป็นรายรับในวันที่ไม่มีลูกค้าเข้ามา หรือถ้ามีลูกค้าตอนเย็น ช่วงกลางวันให้เช่าถ่ายทำรายการอาหาร หรืออะไรก็ได้ อีกอย่างที่อยากทำได้คุยกับพี่หนุ่ม กิติกร เพ็ญโรจน์ ก็คือสอนเด็กทำอาหาร เด็กตั้งแต่ 5 ขวบ 8 ขวบ ไปจนถึงผู้ใหญ่ เพราะเป็นคนชอบสอน
ที่โฟกัสอยากสอนเด็ก อาจจะเป็นเพราะผมมีลูกและผมชอบเด็กอยู่แล้ว พัฒนาการที่สำคัญของเด็ก คือ ประสาทสัมผัสทั้ง 5 และการ Cooking จะช่วยเสริมพัฒนาการของเด็ก พ่อแม่คนไหนไว้ใจก็ส่งลูกมาเรียนได้เลย เพราะผมกับภรรยาไม่ออกไปไหนอยู่แล้ว ถ้าไม่กลัวโควิด-19 ผมก็จะสอนเบสิกให้เด็กทำอาหารง่ายๆ มีทั้งอาหาร ขนม ไทยและฝรั่ง เน้นทำง่ายอันตรายน้อย
แต่ละอาชีพที่ผ่านมาให้อะไรกับคุณบ้าง
ผมขอเริ่มจากสจ๊วตก่อนก็แล้วกัน อาชีพนี้ให้ความตรงต่อเวลา เพราะเครื่องบินไม่สามารถรอคนหนึ่งคนที่มาไม่ตรงเวลาได้ และผมจะเผื่อเวลาไว้ ซึ่งหลายคนอาจจะเป็น เช่น นัด 09.00 น. ผมต้องไปถึง 07.30 น. เผื่อกินข้าว เข้าห้องน้ำ พอถึงเวลานัดเป๊ะ เขาจะต้องเห็นผมแล้ว อาชีพนี้น่าจะให้เรื่องวินัยและเวลา
อาชีพเชฟ ทำให้ผมมีโอกาสถ่ายทอดความสุขไปให้หลายๆ คน ผ่าน “อาหาร” ถ้าผมถ่ายทอดไปแล้ว เขารับได้ ผมก็จะแฮปปี้มากๆ เมื่อทำอาหารให้คนทานรู้สึกอร่อยและมีความสุข
การระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้บทเรียนอะไรบ้าง
ถามว่าโควิด-19 ให้อะไรผม ก็ให้ลูกผมมาคนหนึ่งไง(หัวเราะ) พร้อมกับเศรษฐกิจที่สะบักสะบอม เพราะ“การบินไทย” มันคือรายได้หลักของผม ตอนนี้รายได้หลักเป็นศูนย์ เพราะโควิด-19 มา การบินทำไม่ได้ ผมเลยต้องมาทำธุรกิจตรงนี้
พอไวรัสโควิด-19 ระบาดระลอก3 ผมว่ารอบที่แล้ว ยังไม่น่ากลัวมาก เพราะคนตายไม่เยอะ คนติดเชื้อไม่เยอะ ปีนี้คนตายเยอะมาก เผลอๆ อาหารเดลิเวอรี่เอง คนก็ไม่กล้าสั่ง เพราะถ้าคนทำเป็นโควิดล่ะ เขาจะกล้ากินไหม
อีกอย่างที่น่าจะชัดสำหรับโควิด-19 รอบนี้ ผมว่าคนทุกอาชีพต้องรู้จักเก็บเงิน เพื่อดูแลครอบครัวตัวเอง ผมเห็นครอบครัวเพื่อนๆ ลูกเรือหลายคน เช่น คุณพ่อเป็นนักบิน แฟนเป็นแอร์โฮสเตส สุดท้ายลูกต้องออกจากโรงเรียนอินเตอร์ บ้านต้องขาย ประกันชีวิตก็ต้องทิ้ง
ทุกอย่างในชีวิตพังเละเทะหมดเลย ผมเองถือว่ายังโชคดีที่ไม่มีหนี้ ผมว่าใครรอดจากพายุโรคระบาดครั้งนี้ไปได้ ต้องแกร่งมากๆ การบินไทยเฉพาะลูกเรือ จาก 5,000 คนตอนนี้เหลือ 2,700 คน ผมยังอยู่ แต่ก็ยังไม่ได้บินอยู่ดี
หากร้านอาหารไปได้ดี จะเป็นงานหลักของผมเลยล่ะทีนี้ ประสบการณ์ครั้งนี้ทำให้เรารู้ว่า คุณไม่ควรจะมีความสามารถอย่างเดียว ไม่ควรมีอาชีพเดียวในอนาคต ถ้าทำอาชีพเดียว แล้วเกิดมีปัญหาที่คาดไม่ถึง เราก็จะไปต่อไม่ได้เลย ใครจะคิดว่าสายการบินแห่งชาติจะล้มได้ กัปตันขับเครื่องบินยังมาเรียนทำขนมขาย เพราะไม่มีรายได้แล้ว