กิน ‘มาการอง’ กันมั้ย...
วันที่ 31 พฤษภาคม เป็น “มาการอง เดย์” หรือ ‘วันมาการองแห่งชาติ” ตั้งขึ้นเพื่อชวนกินขนมหวาน ๆ ลูกกลม ๆ สีสวย ที่ไม่ว่าใครเห็นก็ไม่อาจห้ามใจ...
มาการอง (Macaron) มาจากภาษาฝรั่งเศส ไปถามคนแถวนั้นเขาอ่านว่า “มัก-กา-ฮง” ดูจะออกเสียงยาก แต่หากออกเสียงว่า “มาการอง” หรือ “มาการอน” ใคร ๆ ก็รู้จัก แต่รู้มั้ยว่า มาการอง มีต้นกำเนิดที่อิตาลี มาจากคำว่า maccherone แปลว่า cake, biscuit
มาการอง คือคุกกี้ที่ทำจากแป้งอัลมอนด์ ไม่ผสมแป้งชนิดอื่น จึงเป็นขนมอบปราบเซียนที่ต้องใช้วิทยาศาสตร์ล้วน ๆ และฝีมือของเชฟที่ฝึกจนชำนาญ ต้นกำเนิดของมาการองอยู่ที่อิตาลี เกิดยุคเรเนซองส์ โดยพ่อครัวของ พระนางแคทเธอรีน เดอ เมดิชี ผู้ครองนครฟลอเรนซ์ในยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ โดยเมื่อปี ค.ศ.1533 พระนางแคทเธอรีน ได้นำเชฟขนมจากบ้านเกิดไปประเทศฝรั่งเศส ในช่วงที่พระนางเข้าพิธีอภิเษกกับพระเจ้าอองรีที่ 2 แห่งฝรั่งเศส ถ้าเช่นนั้นมาการอง ก็ควรเป็นขนมชาววังและกินกันในหมู่ชนชั้นสูง แต่ก็มีบันทึกของมาการองในปี ค.ศ.1791 ว่าแม่ชีในคอนแวนต์แห่งหนึ่งใกล้เมืองกอร์เมรี (Cormery) ตอนกลางของฝรั่งเศส ได้อบขนมมาการองขาย สมัยนั้นเป็นคุกกี้กลม ๆ แบน ๆ ไม่มีไส้
มาการองเริ่มเป็นที่รู้จักเมื่อปี 1600 และวางขายในงานแฟร์ ที่เมือง Montmorillon ในฝรั่งเศส บันทึกอีกชิ้นหนึ่งระบุว่า ในปี 1682 เชฟขนมของ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เสิร์ฟมาการองให้กับแขกที่มางานฉลองที่พระองค์ไปประทับที่พระราชวังแวร์ซายส์ นับแต่นั้นมาการองก็เป็นขนมแห่งราชสำนัก และได้รับความนิยมเรื่อยมาจนถึงปี 1789 (ปีปฏิบัติฝรั่งเศส)
แต่มาการองไม่ได้หายไปไหน... ปี 1830 มาการองเปลี่ยนเป็นคุกกี้สองชิ้นประกบกัน ตรงกลางสอดไส้แยม, เหล้าผสมเครื่องเทศ ซึ่งรสชาติแตกต่างจากมาการองยุคนี้ ที่วิวัฒน์ไปจนเกินจินตนาการ
มาการองของแท้ ทำจากแป้งอัลมอนด์ น้ำตาล กับไข่ขาว และสีสวย ๆ ที่ผสมลงไป ถ้าเช่นนั้น มาการอง ฉบับออริจินัลจากอิตาลี หน้าตาเป็นเช่นไร สันนิษฐานว่าคงเหมือนคุกกี้หน้าแตก ๆ ที่แม่ชีอบขายหาเงินค่าเช่าบ้านสมัยศตวรรษที่ 17 คนอิตาลีก็บอกว่า สูตรของเขาแตกต่างจากฝรั่งเศส โดยนำไข่ขาวมาตีกับน้ำตาลไซรัปที่ยังร้อนเพื่อทำให้เป็น “เมอแรงก์” แล้วค่อยร่อนแป้งอัลมอนด์และน้ำตาลไอซิ่ง วิธีนี้ทำให้เมอแรงก์กับอัลมอนด์ผสมกันได้เท็กซ์เจอร์ที่เป็นมาการอง ตามคำแปลในภาษาอิตาเลียน
ส่วนวิธีของคนฝรั่งเศสนั้น ให้ตีไข่ขาวจนขึ้นฟูเป็นเมอแรงก์ จากนั้นร่อนแป้งอัลมอนด์กับน้ำตาลทรายแล้วค่อย ๆ เทส่วนผสมลงไปอย่างช้า ค่อย ๆ คนให้เข้ากัน เพื่อไม่ให้อากาศเข้า วิธีนี้คนฝรั่งเศสเรียกว่า Macaronage ความยากยังอยู่ที่การอบ และการใช้น้ำตาลสองชนิด และอีกหลายกระบวนการที่ซับซ้อนไม่น้อย กว่าจะทำให้มาการองยุคนี้มีพื้นผิวหน้าเรียบมัน กัดเข้าไปแล้วรู้สึกถึงผิวบางกรอบและข้างในนุ่ม
มาการองด้านนอกส่วนใหญ่รสชาติไม่ต่างกัน จะแตกต่างที่สี แต่ที่พัฒนาความสามารถของเชฟคือไส้อันหลากหลาย ตั้งแต่ยุคเริ่มแรกใส่แยมผลไม้ เหล้ากับเครื่องเทศ ต่อมาเริ่มมีไส้หลากหลาย เช่น ซอลท์เตด คาราเมล, บัตเตอร์ครีม, บลูเบอร์รี่, พิสตาชิโอ้, วานิลลา, ช็อกโกแลต และราสพ์เบอร์รี่ ตอนนี้เชฟขนมหวานก็ครีเอทไส้ของมาการองอย่างสนุกและหลากหลาย ตั้งแต่ ชาเขียว, วาซาบิ จนถึง ฟัวกราส์ และทรัฟเฟิล เอาของคาวมาใส่ในขนมอบหวาน ๆ ในเมืองไทย สถาบันสอนทำอาหาร เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิตธานี เอาผลไม้ไทย ๆ มาสอดไส้มาการองน่ากินมาก และใช้สีสันตามสีของไส้ผลไม้ เช่น มะนาวสีเขียวอ่อน, ส้มซ่าสีเขียวอ่อนกับส้มอ่อน, ไส้มะลิจากแยมดอกมะลิ, ไส้สะเต๊ะก็มี, ไส้มะขามสีส้มอ่อน, ไส้ตะไคร้, ใบเตย, ชาไทย และข้าวเหนียวมะม่วง อีกไม่นานคงมี...มาการองไส้ส้มตำ, น้ำปลาหวาน, ปลาร้า...
แม่ชีจากคอนแวนต์ยุคเรเนซองส์มาเห็นมาการองยุคนี้คงตบอกดีใจ! ค่าที่ว่ามาการองดูสวยงามน่ารักน่ากิน ขนาดมาตรฐานเส้นผ่าศูนย์กลาง 3-5 เซนติเมตร และเป็นขนมที่แทบจะเรียกได้ว่าเป็นของหวานประจำชาติฝรั่งเศส คนอิตาลีจะค้อนใส่มั้ย... แต่ละแว่นแคว้นแต่ละเมืองในฝรั่งเศส อบมาการองสูตรเฉพาะ ในเมืองไทยมีมาการองเจ้าดังจากฝรั่งเศสวางจำหน่าย คือแบรนด์ Laduree จากปารีส และแบรนด์ของ เชฟปิแอร์ แอร์เม (Pierre Hermé) ที่แข่งกันอบขนมก้อนกลม ๆ เล็ก ๆ มีไส้หลากหลาย แต่ของไทยจาก โรงแรมดาราเทวี เชียงใหม่ ก็ขึ้นชื่อว่าทำมาการอง อร่อยและสีสวยน่ากินไม่แพ้กัน
ส่วน มาการอง เดย์ ฉลองวันกินมาการอง น่าจะคิดขึ้นมาโดยชาวอเมริกันที่มีขนมอบชื่อ มาการูน (Macaroon) ดูรูปทรงคล้าย ๆ กันคือก้อนกลม ๆ (แต่ใหญ่กว่า) เป็นขนมอบที่ชาวอเมริกันดัดแปลงมาจากมาการอง โดยใช้มะพร้าวขูดแทนอัลมอนด์ บางสูตรก็ใส่ทั้งอัลมอนด์และมะพร้าว กับส่วนผสมหลักคือไข่ขาวกับน้ำตาลทราย คนตั้งเขาบอกว่าอุทิศให้กับขนมมาการองของฝรั่งเศส แต่เมื่อมาอยู่ต่างทวีปเลยเติมตัว o เพิ่ม บางคนก็บอกว่าควรเรียกว่า Coconut macaroon อย่างไรก็ดี ชาวปารีเซียงบอกว่า ความจริงที่ปารีสฉลองกินมาการอง วันที่ 20 มีนาคม แต่ชาวอเมริกันบางคนจะเรียก “มาการูน” เป็น “มาการอง” ก็ไม่ว่า
แต่ด้วยหน้าตาที่ไม่เหมือนกัน รสชาติย่อมแตกต่าง คนอเมริกันนั้นนิยมใส่ส่วนผสมสไตล์อเมริกัน เลยเรียกชื่อออกไปหลากหลายเช่น Coconut apricot macaroon (ลงท้ายด้วย macaroon), Coconut cranberry, Key lime pine, Strawberry balsamic, Honey lavender, Pistachio, Velvet, Tiramisu ฯลฯ
ไม่ว่าขนมอบสีสวยจะเป็น มาการอง หรือ มาการูน คนกินก็ไม่เกี่ยง ขนมสีสวยก้อนกลม ๆ มีสารพัดไส้ให้อัศจรรย์ใจ...กินมาการองกันมั้ย ?