"ผมรู้แล้วว่า รวยที่สุดไม่มีอยู่จริง" พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์
เปิดใจเจ้าพ่อไอที ผู้ที่แทบเอาตัวไม่รอดจากพิษอินเทอร์เน็ต จนต้องม้วนเสื่อกลับบ้านไปเลียแผล
ใครสักกี่คนที่รู้ว่า ภายใต้บุคลิกสนุกสนาน ร่าเริงเบอร์ใหญ่ของชายผู้มีตรา “ไอที” ติดบนหน้าผากตลอดเวลาอย่าง หนุ่ย-พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ จะเคยเจ็บหนักจากคลื่นยักษ์อินเทอร์เน็ตที่กระแทกธุรกิจอย่างแรงจนสิ่งที่สร้างมาสิบกว่าปีแทบไม่เหลืออะไร
“ตอนนั้น ใครๆ ก็มาบอกว่า ‘คุณหนุ่ย นี่มันถึงเวลาของคุณแล้ว ดิจิทัลทีวี คือ โอกาสของคุณ มันต้องหนุ่ยไอที นี่แหละ’ (หัวเราะ) แล้วผมก็หมดเงินไปกับมันเยอะมากครับ ขึ้น 12 รายการ ใน 6 สถานี แล้วก็เป็นการเจ็บแบบม้วนเดียวจบ พังเลย ไอ้ที่เคยสะสมเงินมาจากการทำบริษัทมา 10 กว่าปี แทบไม่เหลือ” เขาเริ่มต้นบทสนทนากับ ‘จุดประกาย’ ถึงบทเรียนแสนแพงที่เจอกับตัวเมื่อภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยน
เราเคยอยู่ในสื่อหลักอย่างทีวีซึ่งแพง
แต่มีข้อดี คือ บังคับดู เพราะตอนนั้นมันมีอยู่แค่ 4 ช่อง
การได้เวลาเหมือนได้ทอง
แต่เดี๋ยวนี้ การได้เวลาคือภาระ
ถึงแม้ว่า “โชว์ไร้ขีด” จะไม่ใช่ธุรกิจสื่อรายเดียวที่ต้องเจ็บตัวกับฝันหวานๆ ของทีวีดิจิทัล แต่มันก็คงไม่เหมือนตลกร้าย ถ้าไม่ใช่เพราะเขา ในฐานะที่ถูกเรียก “เจ้าพ่อไอที” ที่เชียร์นักเชียร์หนาให้คนหันไปใช้อินเทอร์เน็ตกัน กระทั่งเข้าสู่ยุคของโลกอินเทอร์เน็ตอย่างสมบูรณ์แบบ นั่นแหละ - ที่โลกของสื่อดั้งเดิมอย่างทีวีที่เขาปักหลักอยู่ต้องสั่นสะเทือน
“เราเคยอยู่ในสื่อหลักอย่างทีวีซึ่งแพง แต่มีข้อดี คือ บังคับดู เพราะตอนนั้นมันมีอยู่แค่ 4 ช่อง การได้เวลาเหมือนได้ทอง แต่เดี๋ยวนี้ การได้เวลาคือภาระ ผมเลยตัดสินใจยุติการเช่าทุกอย่าง เลิกเช่าผังเวลา เลิกเช่าสถานที่ทำสตูดิโอ เลิกเช่าตึกออฟฟิศหรูในเมือง และถอนรากถอนโคนกลับบ้านไปเลียแผล”
นั่นคือเรื่องเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ที่หนุ่ยกำเงินก้อนสุดท้าย 2 ล้านบาทกลับมาทำสตูดิโอที่บ้าน พร้อมทีมงานกลุ่มหนึ่งที่เหลืออยู่ซึ่งยินดีที่จะต้องเดินทางไกล ย้ายที่ทำงานจากย่านสุดฮิปอย่างสยามสแควร์ ไปสู่ชายขอบเมืองหลวงย่าน “บางนา”
“ผมจำเป็นต้องทลายวิวทะเลสาบราคาแพงของบ้าน ต้องรื้อห้องนั่งเล่น ทำลายกระจกพาโนรามา เจาะเสาเข็มลงบนสนามหญ้า และสร้างสตูดิโอขึ้นมาบังวิวทะเลสาบ แล้วผมก็ตั้งชื่อสตูดิโอว่า โชว์โนเลค เพราะทำวิวทะเลสาบเราหายไป” หนุ่ยเล่า
พร้อมกับการถอยมาตั้งหลัก ลดค่าใช้จ่าย และพยายามทำสิ่งที่มีอยู่ให้เกิดรายได้ที่สุด ทั้งการปรับปรุงเว็บไซต์ พยายามหารายได้ให้พอใช้จ่ายสำหรับค่านักเขียน จนปัจจุบันมียอดผู้เข้าชม 10 ล้าน UIP ต่อเดือน มีรายได้เข้าอย่างต่อเนื่อง
วันนี้เขากล้าพูดได้เต็มปากว่า แผลที่เคยมี หายดีแล้ว และสามารถกลับมามีออฟฟิศเป็นเรื่องเป็นราวที่อาร์ซีเอซึ่งเพิ่งย้ายเข้ามาอยู่ได้เดือนเศษ
ด้วย Digital Transformation
ผมไม่ต้องกลับไปง้อคลื่นความถี่อีกต่อไป
เพราะอินเทอร์เน็ตพาเราไปถึงปลายทางได้
“4 ปีมานี้ เลียแผลสำเร็จ เรามีรายได้กลับมาสมบูรณ์ดี ปีที่แล้ว คนบอกว่า เศรษฐกิจไม่ดี แต่สำหรับผม เรียกว่า เศรษฐกิจดี วันนี้เราสามารถกลับมาทำออฟฟิศใหม่ได้ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์มี Company trip พาพนักงานไปเที่ยวเซี่ยงไฮ้ ได้กลับมาจ่ายโบนัส ขึ้นเงินเดือนให้พนักงาน กลับมาทำความก้าวหน้าให้ชีวิตพวกเขา”
เขาบอกว่า วันนี้ โชว์ไร้ขีด และ แบไต๋ มีอนาคตที่ค่อนข้างปลอดโปร่ง และชัดเจนว่า กำลังเดินไปทางไหน
“ด้วย Digital Transformation ผมกล้าพูดได้เลยว่า ผมไม่ต้องกลับไปง้อคลื่นความถี่อีกต่อไป เพราะอินเทอร์เน็ตพาเราไปถึงปลายทางได้ แต่เราบังคับใจเขาไม่ได้ เราต้องสิ่งที่เขาชอบ ซึ่งการที่อยู่ในแวดวงอินเทอร์เน็ตมานาน เรารู้อยู่แล้วว่า ทำแบบไหน คนชอบดูเยอะ แต่ถึงบางอย่างเรารู้อยู่ว่าทำแล้วได้เงินแน่นอน เราก็จะไม่ทำ เช่น แบไต๋ จะไม่พูดคำหยาบไม่พาดหัวบิดเบือน เราจะไม่เล่นเรื่องโป๊เปลือยเราจะเน้นขายทาเลนต์ของเรา นี่เป็นเรื่องที่เราคอมมิทกับสังคม”
สถานการณ์ของ หนุ่ย และ แบไต๋ ในวันนี้ เขาบอกว่า มีงานเข้ามาสม่ำเสมอจนถึงชุกมากในบางช่วง โดยเมื่อลูกค้าติดต่อมา ทีมงานจะบอกเงื่อนไขที่ชัดเจน แม้จะเป็น Advertorial แต่ก็จะยังคงต้องซื่อสัตย์กับคนดู
“เราจะบอกเงื่อนไขให้ชัดว่า เราขอวิจารณ์นะ เราจะพูดทั้งบวกและลบ พูดฟีเจอร์ดีอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีข้อสังเกตด้วย นี่อยู่ในเงื่อนไขการซื้อแอดเวอร์ทอเรียลกับแบไต๋ แล้วลูกค้าก็เข้าใจดี”
นั่นคือ จุดที่เขามองว่า ค่อนข้างได้สมดุลแล้ว จากเมื่อก่อนที่เคยเจอปัญหาจากความสุดโต่ง ทั้งประเภทซื้อสินค้ามาทดลองใช้ และวิจารณ์ยับ กับประเภทอวยลูกค้าจนเกินไป ซึ่งอย่างหลังนี้ เขาให้เหตุผลว่า เป็นเพราะพอตัวเองไปเจอลูกค้า และรู้สึกดีด้วย พอรีวิว ก็น้ำไหลไฟดับ จนคนดูถามหาความเป็นกลาง
“ถามว่า วันนี้ เลือกทำงานแบบไหน เราเลือกวิจารณ์ตามเจตจำนงค์เสรี เรามองว่า อะไรดี คนดูควรรู้เราทำ อะไรที่เป็นโฆษณา ให้มาในรูปแบบของแอดเวอร์ทอเรียล มีเงื่อนไขชัดเจนว่า เราต้องวิจารณ์ได้ และติบ้าง ให้ข้อสังเกตบ้าง ก็ลงตัวแล้ว ด้วยวัยนี้แล้ว ผมไม่ได้คิดจะบุ่มบ่าม หรือสร้างความร้าวฉานให้กับผู้คน” เขาบอก
ถ้าถามผมเมื่อก่อน ผมจะตอบว่า
เราต้องการเป็นบริษัทบันเทิงทางเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่
อยากสร้างอาณาจักร อยากรวยที่สุด
จนมาถึงวันนี้ รู้แล้วว่า รวยที่สุดไม่มีอยู่จริง
สำหรับเส้นทางที่วางไว้ให้กับแบไต๋ และ โชว์ไร้ขีด ว่า “เราต้องการจะเป็นผู้ผลิตคอนเทนท์ที่หลากหลายมากพอต่อความต้องการ และยกระดับสังคมและจิตใจคน”
ฟังคำตอบแล้วอาจคิดว่า เขาวิ่งอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์ แต่สำหรับ หนุ่ย - พงศ์สุข ในวัย 41 ปีอย่างวันนี้ เขายืนยันว่า นี่คือสิ่งที่เขาคิดจริงๆ
“ถ้าถามผมเมื่อก่อน ผมจะตอบว่า เราต้องการเป็นบริษัทบันเทิงทางเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ อยากสร้างอาณาจักร อยากรวยที่สุด จนมาถึงวันนี้ รู้แล้วว่า รวยที่สุดไม่มีอยู่จริง เพราะถ้าคุณรวยจริง คุณจะถูกจัดอันดับ และปีถัดมาก็ไม่มีอะไรมากไปกว่า อันดับขึ้น หรืออันดับหล่น ถ้าอันดับหล่นก็เครียด พอขึ้นก็โลภ” เขาตอบ
และบอกว่า ที่อยากจะพาธุรกิจไปให้ถึง คือ ทำให้มีสุขภาพทางการเงินที่แข็งแรงมากพอจะลงทุนกับเรื่องใหม่ๆ ซึ่งอาจยังไม่สามารถสร้างผลตอบแทนได้เร็ววัน แต่มันคือการสร้างรากฐานสู่อนาคต
“ผมไม่ได้อยากรวยที่สุด แต่ผมอยากทำให้ธุรกิจมัน wealth และสามารถลงทุนได้ เพราะธุรกิจหลายอย่าง ทำแล้วอาจยังไม่ได้ตังค์ในตอนนี้ แต่มันคืออนาคต ถ้าเรามีสุขภาพทางการเงินที่ดีพอ ก็จะสามารถลงทุนกับมันได้ แต่ตอนนี้เรายังทำไม่ได้ แล้วเราก็อยากให้ลูกน้องมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อยากให้เขามี wealth เหมือนกัน ซึ่งเรื่องนี้ เราพยายามจะไปให้ถึง และตอนนี้ก็ได้ความพอใจในระดับนึงแล้ว” เขาบอก
“ถามว่า แพสชั่นเมื่อ 20 ปีแล้วกับวันนี้ เหมือนกันไหม ไม่เหมือนหรอกครับคนละเบอร์กันวันนี้ผมอายุ 41 ปี ก็เริ่มมีความคาดหวังแบบอื่น ผมอยากให้สังคมดีกว่านี้ด้วยไอที แต่ที่ผมอัพเซ็ทมาก คือ วันที่ผมเชียร์อินเทอร์เน็ตนี่ ผมไม่เคยรู้ว่า สังคมมันจะเลวร้ายขนาดนี้ แม้ว่าจะไม่ได้เกินการคาดเดาของผมแต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะเป็นขนาดนี้
จำได้ว่า ในวันที่กล้องดิจิทัลตัวแรกออกมา ผมจับกล้องแล้วรีวิวว่า ดีอย่างนั้น ดีอย่างนี้ แต่พอคัทกล้องแล้ว ผมพูดกับทีมงานว่า.. โห อย่างนี้อีกหน่อยภาพโป๊ก็เยอะเลยสิครับ
ผมทายถูกเรื่องนี้นะ แต่วันนั้น ผมไม่คิดว่า ผู้หญิงสวยมาก จำนวนมาก จะออกมาแก้ผ้าให้คนดูฟรีๆ ตอนนั้นผมคิดแค่ว่า จะเกิดการถ่ายรูปโป๊แบบส่วนตัวเยอะขึ้น เพราะมันไม่ต้องไปผ่านคนล้างไง ก็คิดว่า มันน่าจะเป็น private collection คือ เก็บไว้ดูเอง แต่กลายเป็นว่า ทุกวันนี้ มีคนยอมโชว์ อยากโชว์ด้วยซ้ำ มันก็แย่เหมือนกันนะ ในฐานะที่เรามีลูกสาว เราเป็นห่วง ถึงไม่ได้เป็นเจ้าของร่างกายนั้นเอง แต่เราเป็นห่วงมุมมองของคนในตอนนี้”
สำหรับเขา โดยเฉพาะในฐานะของคนเป็นพ่อ การเข้าถึงคอนเทนต์ออนไลน์อย่างง่ายดายคือดาบสองคมที่น่าเป็นห่วง
“คลิปที่ไม่เหมาะสมบนยูทูบ มีคนดูหลายล้านวิว ซึ่งในนี้มันต้องมีเด็กแน่นอน ผมทำเนื้อหาให้คนโตแล้วดูมานาน รู้ดีว่า คนโตแล้ว จะดูได้อย่างมากเท่าไหร่ แต่เด็กเขาว่างครับ ลูกผมเปิดดูยูทูบ ไถดูทั้งวัน 30-50 คลิป ในขณะที่ผู้ใหญ่มีเวลาดูอย่างมาก 5 คลิปต่อวัน เพราะฉะนั้นโอกาสในการเจอคลิปอย่างนี้ มันเยอะมาก ในขณะที่การศึกษาไม่ได้ปรับเปลี่ยนหลักสูตรเลย Digital Literacy (ทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล) พูดกันปากจะฉีกถึงรูหู ว่า ต้องทำ ผมก็ไม่รู้ว่า คนที่มีหน้าที่เรื่องนี้ กำลังทำอยู่หรือเปล่า หรือเขากำลังทำอะไรอยู่"
"..แต่ที่เห็นวันนี้ คือ มันไม่ได้เปลี่ยนห่านอะไรเลยน่ะ แล้วโลกมันเปลี่ยน ก็พังสิ!”