'Ready-to-drink' เทรนด์มาแรงตลาด 'กาแฟพิเศษ'

'Ready-to-drink' เทรนด์มาแรงตลาด 'กาแฟพิเศษ'

จาก “กาแฟร้อน” สู่ “กาแฟเย็น” ในรูปแบบ "Ready-to-drink" เครื่องดื่มพร้อมดื่ม ธุรกิจเซกเมนต์นี้ขยับขยายจากตลาดของเชนกาแฟยักษ์ใหญ่ที่เป็นเจ้าถิ่นเดิม เข้าสู่ธุรกิจอีกเซกเมนต์ของร้านและโรงคั่ว "กาแฟพิเศษ" (specialty coffee)

กาแฟพร้อมดื่ม หรือ Ready-to-drink (RTD) เป็นหนึ่งในเซกเมนต์ของตลาดเครื่องดื่ม กาแฟ ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั่วโลกค่อนข้างสูงทีเดียวในช่วง 2-3 ปีหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้ร้านกาแฟเปิดบริการไม่ได้ตามปกติ อีกทั้งลูกค้าจำนวนไม่น้อยทีเดียวต้องทำงานอยู่กับบ้าน ตามมาตรการป้องกันการติดเชื้่อไวรัสตัวร้าย บรรดาผู้ประกอบการในธุรกิจกาแฟทั่วโลกแทบจะทุกเซกเมนต์จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อสนองตอบ และรองรับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคและรูปแบบใช้ชีวิตใหม่ของลูกค้า

จาก “กาแฟร้อน” สู่ “กาแฟเย็น” ในรูปแบบเครื่องดื่มพร้อมดื่ม ธุรกิจเซกเมนต์นี้ก็ขยับขยายจากตลาดของเชนกาแฟยักษ์ใหญ่ที่เป็นเจ้าถิ่นเดิม เข้าสู่ธุรกิจอีกเซกเมนต์ของร้านและโรงคั่ว "กาแฟพิเศษ" (specialty coffee)

หนึ่งในความเคลื่อนไหวปรับตัวเพื่อเข้าถึงลูกค้าทุกประเภทให้มากที่สุดไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ในบ้านหรือออฟฟิศ ก็คือ การกระโดดเข้าสู่ธุรกิจกาแฟพร้อมดื่มที่มีแนวโน้มการขยายตัวสูง ซึ่งเป็นกระแสที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมไปถึงตลาดกาแฟในเมืองไทยเราด้วย ด้วยศักยภาพการเติบโตในระดับสูง ทำให้ผู้เล่นเจ้าใหญ่ระดับโลกในตลาดซึ่งมีผลิตภัณฑ์อยู่แล้วก็ "แตกไลน์" สินค้าใหม่ๆ ออกมา ไม่ว่าจะเป็น สตาร์บัคส์ (Starbucks), ดังกิ้น โดนัท (Dunkin Donuts), เนสท์เล่ (Nestlé), อิลลี่ (Illy), ยูซีซี (UCC) และ ฯลฯ

ขณะที่ร้านกาแฟหรือโรงคั่วชั้นแนวหน้าระดับดาวค้างฟ้าและกลุ่มดาวรุ่งที่เพิ่งเข้าวงการในเซกเมนต์กาแฟชนิดพิเศษ ต่างทยอยกระโดดเข้ามาร่วมวงตลาดกาแฟพร้อมดื่มเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนี้พวกโรสเตอร์ก็มี สตัมป์ทาวน์ (Stumptown), บลู บอทเทิ่ล (Blue Bottle), ลา โคลอมเบ (La Colombe), คอสต้า ค๊อฟฟี่ (Costa Coffee) ฯลฯ มีวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทั้งในหน้าร้านเองและทางออนไลน์ เพื่อหวังเข้าถึงผู้บริโภคในทุกช่องทาง หลังจากมองเห็นตัวเลขยอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในตลาดกาแฟขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐ, ออสเตรเลีย และเอเชีย

162339668335

กาแฟสกัดเย็นพร้อมดื่มของโรงคั่วบลู บอทเทิล ในสหรัฐ / ภาพ : Changyoung Koh on Unsplash

"กาแฟสกัดเย็น" แบบพร้อมดื่มถือเป็นหนึ่งในเมนูสุดฮอตของร้านกาแฟพิเศษของสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนผู้บริโภครุ่นใหม่ที่หันมาดื่มกาแฟชนิดนี้แทน “เครื่องดื่มผสมโซดา” แน่นอนว่าเมื่อพฤติกรรมการบริโภคเกิดปรับเปลี่ยนไปในคนเจนใหม่เช่นนี้ มีหรือที่บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มอย่าง "เนสท์เล่" และ "โคคา โคล่า" จะไม่จับตามอง "ตลาดใหญ่" มาแรงอย่างใกล้ชิด

ตัวอย่างที่เด่นชัดสดๆ ร้อน เมื่อเดือนมกราคมปีนี้เอง บริษัท"โคคา-โคล่า" ประกาศเปิดตัว "โค้กผสมกาแฟ" สูตรไม่มีน้ำตาล หวังเจาะตลาดกาแฟพร้อมดื่มที่เติบโตเร็วในกลุ่มคนวัยรุ่นของสหรัฐ โดยวางจำหน่ายในร้านค้าทั่วประเทศ ทว่าไม่ได้วางบนชั้นน้ำอัดลมเหมือนเดิม  แต่ไปอยู่บนชั้นกาแฟพร้อมดื่มแทน

ผู้เขียนยอมรับเลยว่า อยากมีประสบการณ์ลองดื่มดูบ้าง อยากรู้ว่า โค้กรสชาติกาแฟนั้นเป็นเช่นไร

การบุกตลาดกาแฟของโค้กไม่ใช่ "เรื่องใหม่" เพราะโค้กก็มีธุรกิจกาแฟส่วนใหญ่อยู่ในตลาดญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งนิยมดื่มกาแฟกระป๋องจากตู้หยอดเหรียญ ผ่านทางแบรนด์กาแฟ  "จอร์เจีย" ซึ่งเป็นบริษัทที่โค้กตั้งขึ้นมา และใช้รัฐบ้านเกิดของโค้กเองตั้งเป็นชื่อบริษัทลูกแห่งนี้  แต่การทำเครื่องดื่มไฮบริดที่ผสมผสานระหว่างโค้กกับกาแฟ ก็เป็น "เรื่องใหญ่" ไม่น้อยทีเดียว คงต้องจับตาดูว่าจะสะเทือนเลือนลั่นขนาดไหน

ในรายของเนสท์เล่นั้น ก็เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ เนสกาแฟ โคลด์ บรูว์ เป็นกาแฟพร้อมดื่มบรรจุขวดที่ทำจากกาแฟสกัดเย็น 

อีกแบรนด์ดัง "อิลลี่" จากอิตาลี หลังจากทำเฉพาะร้านกาแฟและตลาดเมล็ดกาแฟ ก็ต้องรุกเข้าสู่ตลาดกาแฟพร้อมดื่มเมื่อต้นปีที่แล้ว ด้วยการเปิดตัว "กาแฟสกัดเย็นพร้อมดื่ม" ในรูปแบบกระป๋องเป็นครั้งแรก เริ่มจำหน่ายตามร้านเครือข่ายของบริษัท และทางเว็บไซต์ออนไลน์ รวมทั้งในตลาดสหรัฐอเมริกาในเดือนเมษายนปีเดียวกัน

หรือในบ้านเราเอง อย่างบริษัท "พาคามาร่า" แบรนด์กาแฟระดับท็อปของไทย ก็ออกผลิตภัณฑ์ในหมวดเครื่องดื่มพร้อมดื่มประเภท ชา กาแฟ และช็อกโกแลต ถึง 4 สไตล์ด้วยกัน ภายใต้ชื่อ Unicorn เมื่อต้นปีค.ศ. 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่บริษัทธุรกิจส่วนใหญ่มีนโยบายให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน ในจำนวนนี้้เป็นกาแฟพร้อมดื่ม 2 ชนิด คือ Black Cold Brew กับ Thai Style Espresso ตัวหลังนี้เป็นกาแฟสไตล์ไทยใส่นมข้นหวาน

162339663566

กาแฟพร้อมดื่ม Unicorn Series ของพาคามาร่า แบรนด์กาแฟไทย / ภาพ : facebook.com/pacamaracoffee

ค่อนข้างชัดเจนว่ากาแฟพร้อมดื่มชนิดเย็นที่ทำขายกันมาก แทบจะเป็น "ตัวหลัก" ของแต่ละค่ายแต่ละแบรนด์เลย ก็เห็นจะไม่พ้นไปจากเมนูยอดนิยมในระดับสากลอย่าง "กาแฟสกัดเย็น" (Cold brew) กับ "กาแฟนม" (Milk coffee) ซึ่งกาแฟนมนี้ซอยย่อยออกมาเป็น 3 เมนู ได้แก่ คาปูชิโน่, ลาเต้ และ มัคคิอาโต้ แล้วก็มีความหลากหลายของบรรจุภัณฑ์มากทีเดียว ทั้งในรูปแบบกระป๋อง ขวดแก้ว ขวดพลาสติก กล่องกระดาษ และถุงพลาสติกพีอีมีจุกล็อกพร้อมฝาเกลียวหรือที่เรียกกันทั่วไปว่าถุงบรรจุของเหลว ที่มักมาพร้อมๆ กับคำโฆษณาว่า ดีไซน์ทันสมัย คุณภาพเยี่ยม รสชาติอร่อยลงตัว

อันที่จริงกาแฟพร้อมดื่มเย็น ซึ่งบางทีก็เรียกกันว่ากาแฟกระป๋องหรือกาแฟปรุงสำเร็จพร้อมดื่มในกลุ่มที่เป็นกาแฟใส่นม มีขายกันมานานพอสมควรแล้วในตลาดเอเชีย บ้านเราก็มีทำกันหลายเจ้า วางขายตามร้านสะดวกซื้อ ร้านโชวห่วย และตู้เครื่องดื่มยอดเหรียญ แต่เป็นคนละตลาดกับกาแฟพร้อมดื่มของร้านกาแฟสดยุคใหม่ที่เน้นคุณภาพของเมล็ดกาแฟซึ่งเดิมทีนั้นก็ขายกาแฟกันตามออร์เดอร์ ชงใส่แก้วแล้วก็ไปเสิร์ฟให้ลูกค้าตามโต๊ะหรือบริการแบบ take away 

พอมีข่าวว่า สตาร์บัคส์ประสบความสำเร็จจากการนำกาแฟ "แฟรปปูชิโน่" (Frappuccino) มาบรรจุขวดขายเป็นกาแฟพร้อมดื่มทั่วสหรัฐเมื่อปีค.ศ.1995 โดยร่วมมือกับ "เป๊ปซี่" ยักษ์ใหญ่อีกรายในวงการน้ำอัดลม ก็เลยกลายเป็นข่าวโด่งดังไปทั่ววงการกาแฟโลก เพราะเพียงในปีต่อมาเท่านั้น เชนกาแฟรายนี้ ก็ทำรายได้มากกว่า 52 ล้านดอลลาร์ จากแฟรปปูชิโน่แบบบรรจุขวดเพียงตัวเดียว ปัจจัยหนุนนำนั้นคาดว่าน่าเป็นเรื่องของการใช้ "นมไขมันต่ำ" ในสูตรกาแฟ ซึ่งโดนใจคอกาแฟสายสุขภาพในสหรัฐมากทีเดียว  

แฟรปปูชิโน่จึงได้รับความนิยมไปพร้อมๆ กับการเติบโตอย่างรวดเร็วของเซกเมนต์กาแฟพร้อมดื่มระดับ "พรีเมี่ยม"

162339674381

แฟรปปูชิโน่ แบบบรรจุขวดจากสตาร์บัคส์ / ภาพ : commons.wikimedia/Vikiçizer

ในยุโรป ค่ายกาแฟอิลลีก็จับมือกับบริษัทน้ำอัดลมโคคา-โคล่า เพื่อบุกเข้าสู่ตลาดกาแฟพร้อมดื่มของอังกฤษตั้งแต่ปีค.ศ. 2007 ครั้งนั้นมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่ชื่อ "Illy Issimo” เป็นเครื่องดื่มกาแฟผสมนม อีก 5 ปีต่อมา บริษัท เอ็มแอนด์เอ็ม (M & M) แบรนด์สินค้าจำพวกช็อกโกแลตและลูกกวาด ก็เข้าไปทำตลาดกาแฟในอังกฤษเช่นกัน

นอกจากความนิยมที่มีเป็นทุมเดิมอยู่แล้ว กาแฟพร้อมดื่มเย็นก็มาได้ปัจจัยบวกจากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีทั้งมาตรการเว้นระยะห่างและการทำงานอยู่กับบ้าน มีผู้เล่นหน้าใหม่จำนวนมากกระโดดเข้าสู่ธุรกิจตลาดกาแฟพร้อมดื่ม แล้วก็มีผู้ประกอบการธุรกิจกาแฟพิเศษไม่ว่าจะเป็นร้านค้าหรือโรงคั่วจำนวนไม่น้อยทีเดียว ประมาณว่า "ถนนทุกสายล้วนมุ่งสู่ตลาดกาแฟพร้อมดื่ม” ทำให้มีการคาดการณ์กันว่า มูลค่าตลาดโลกของกาแฟพร้อมดื่มจะเพิ่มขึ้นไปเป็น 42,360 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีค.ศ. 2027 จาก 22,400 ล้านดอลลาร์ในปีค.ศ. 2019

ตลาดกาแฟพร้อมดื่มในเมืองร้อนอย่าง “เอเชีย” ก็จัดว่าไม่ธรรมดาเลย ถือเป็นตลาดที่ใหญ่มากภูมิภาคหนึ่งของโลก เพราะตัวเลขในปีค.ศ. 2019 พบว่า มูลค่าตลาดกาแฟเซกเมนต์นี้ของเอเชียอยู่ที่ 14,750 ล้านดอลลาร์ มากกว่าครึ่งของมูลค่าตลาดโลกเลยทีเดียว

ยิ่งเวลาผ่านไป ก็ยิ่งมีการเน้นความสำคัญมากขึ้นกับคุณภาพกาแฟทั้งกลิ่น รสชาติ และระดับการคั่ว อย่างกาแฟสกัดเย็นแบบพร้อมดื่มนั้น ร้านที่วางตัวเองเป็นร้านกาแฟพิเศษ นำเสนอกาแฟเกรดพรีเมี่ยมที่คั่วเอง มีกลิ่นรสเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง หลายเจ้ามีการนำกาแฟตัวดังๆ จากแหล่งปลูกที่มีชื่อเสียงทั่วโลกมาทำเป็นกาแฟพร้อมดื่ม เช่น เอธิโอเปีย, โคลอมเบีย และ คอสต้าริก้า ฯลฯ

มีทั้งแบบเมล็ดกาแฟที่มาจากแหล่งเพาะปลูกเดียว มีรสชาติ และเอกลักษณ์ตามกรรมวิธีการผลิต และแหล่งที่เพาะปลูก ที่เรียกกันว่า ซิงเกิ้ล ออริจิน (Single Origin) และแบบ “เบลนด์” (Blend) หรือกาแฟมากกว่า 2 ชนิดมาผสมรวมกันเพื่อสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัว

เรียกว่า...จับกาแฟดริปร้อนมาใส่ขวดหรือกล่องเป็นกาแฟสกัดเย็นได้อย่างลงตัว โดยเฉพาะกาแฟคั่วอ่อนและคั่วกลางแนวกลิ่นรสแบบฟลอร่า&ฟรุ๊ตตี้ ถือเป็นเมนู "ขึ้นหิ้ง" ที่ขาดไปไม่ได้เลยสำหรับธุรกิจร้านและโรงคั่วกาแฟพิเศษ

หรืออย่างกาแฟนมพร้อมดื่มในตลาดสหรัฐและออสเตรเลีย พวกเมนูลาเต้และคาปูชิโน ก็คัดสรรนมที่นำมาผสมอย่างพิถีพิถัน มีการเลือกใช้ "นมทางเลือก" (Non-Diary Milk) เช่น นมอัลมอนด์, นมข้าวโอ๊ต, นมวอลนัต, นมถั่วเหลือง, นมมะพร้าว และนมพิสตาชิโอ มาใช้เป็นทางเลือกให้กับลูกค้าที่แพ้นมวัว วางตำแหน่งสถานะของร้านให้เป็นที่โดนใจกลุ่มลูกค้าสายสุขภาพ ว่ากันตามตรง กาแฟพร้อมดื่มลาเต้สูตรนมอัลมอนด์หรือนมข้าวโอ๊ต เป็นเมนูยอดฮิตของร้านกาแฟพิเศษในสองประเทศนี้เลยทีเดียว

"สตัมป์ตัน ค๊อฟฟี่ โรสเตอร์ส" โรงคั่วกาแฟแถวหน้าของสหรัฐ ซึ่งเป็นเจ้าแรกที่ทำกาแฟสกัดเย็นบรรจุกระป๋องออกสู่ตลาดในปีค.ศ. 2011 ได้ร่วมมือเป็นพันธมิตรกับแบรนด์นมข้าวโอ๊ตของสวีเดนชื่อว่า "โอ๊ตลี่" เพื่อทำนมข้าวโอ๊ตของแบรนด์นี้มาเป็นส่วนผสมของกาแฟสกัดเย็นพร้อมดื่มของตนเอง ส่วนไมเนอร์ ฟิกเกอร์ (Minor Figures) ผู้ผลิตกาแฟไนโตรโคลด์บรูว์ ก็ใช้นมข้าวโอ๊ตมาใช้กับชาอินเดียในสไตล์ที่เรียกว่า "ชานมไนโตร"

ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2016 โรงคั่ว "ลา โคลอมเบ้" ได้ออกเมนูกาแฟนมพร้อมดื่มบรรจุกระป๋องชื่อ "Draft Latte" ให้รสสัมผัสและรูปโฉมไปต่างไปจากกาแฟไนโตร ด้วยความแปลกใหม่กระมัง ภายในระยะเวลา 18 เดือนเท่านั้น เมนูตัวนี้ก็กลายเป็นกาแฟพร้อมดื่มที่มีอัตราเติบโตรวดเร็วที่สุดในสหรัฐอเมริกา

162339679088

กาแฟนมพร้อมดื่มบรรจุกระป๋อง "Draft Latte" / ภาพ : instagram.com/lacolombecoffee

นอกจากนั้นแล้ว การรับซื้อเมล็ดกาแฟก็เริ่มเปลี่ยนรูปแบบไปเช่นกัน "แคลิเฟีย ฟาร์ม" (Califia Farms) บริษัทในธุรกิจเครื่องดื่มพร้อมดื่มในสหรัฐ ก็เริ่มจัดหากาแฟอาราบิก้า  ผ่านทางซัพพลายเชนที่ใช้ระบบตรวจสอบของเทคโนโลยี "Blockchain" ไม่ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ อย่างน้อยก็ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่สะท้อนถึงคำ "คุณภาพ" ในธุรกิจกาแฟที่แพร่เข้าสู่ตลาดเครื่องดื่มพร้อมดื่ม

สำหรับสินค้าหลักอีกตัวของตลาดกาแฟพร้อมดื่มที่มาแรงมากๆ ในระยะหลังก็คือ กาแฟสกัดเย็นแบบพร้อมดื่ม ซึ่งจากข้อมูลของบริษัทวิจัย แกรนด์ วิว รีเสิร์ช ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา นั้นคาดการณ์ไว้ว่า มูลค่าตลาดกาแฟสกัดเย็นพร้อมดื่มทั่วโลกจะปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 1,630 ล้านดอลลาร์ ภายในปี ค.ศ.2025 จากการขยายตัวของกาแฟเซกเมนต์นี้ใน "อเมริกาเหนือ" และ "เอเชีย-แปซิฟิก"

ย้อนไปในปีค.ศ. 2017 "เนทส์เล่" ได้เข้าซื้อกิจการ "คาเมเรียน โคลด์ บรูว์" (Chameleon Cold Brew) แบรนด์กาแฟสกัดเย็นแบบออร์แกนิคของสหรัฐ หวังใช้เป็นฐานสำหรับเจาะตลาดกาแฟของคนเจนใหม่ อีก 2 ปีต่อมา "โคลา-โคล่า" ทุ่มเงินซื้อกิจการ "คอสต้า ค๊อฟฟี่" เชนกาแฟรายใหญ่ของอังกฤษ ตามแผนรุกเข้าสู่ตลาดกาแฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดกาแฟพร้อมดื่ม

จุดเด่นของตลาดกาแฟพร้อมดื่มในรูปแบบกาแฟสกัดเย็นและกาแฟนม นอกจากเป็นสองเมนูยอดฮิตติดชาร์ตแล้ว ก็คงไม่พ้นไปจากเรื่องความสะดวกสบายในการซื้อหา โดยลูกค้าไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่ร้านกาแฟ เพราะมีวางขายตามร้านสะดวกซื้อหรือซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป หรือจะซื้อผ่านบริการแบบเดลิเวอรี่ก็ได้ เพราะด้วยรูปแบบของบรรจุภัณฑ์ที่เป็นขวดหรือกล่องมีจุกปิดแน่นหนา ทำให้ง่ายต่อการขนส่ง เมื่อลูกค้าได้รับแล้วก็สามารถนำไปแช่ในตู้เย็นเพื่อดื่มด่้ำรสชาติตามความต้องการ

ในเครื่องดื่มที่เป็นกาแฟผสมนมอย่างพวก ลาเต้ หรือ คาปูชิโน ถ้าเป็นร้านที่ดูแลเอาใจใส่ลูกค้า ก็จะระบุรายละเอียดไว้ในฉลากกาแฟบนบรรจุภัณฑ์ว่า ควรแช่ความเย็นเอาไว้ตลอด หรือควรดื่มภายในกี่วันเพื่อรสชาติที่ดีที่สุด รวมไปถึงบอกถึงช่วงเวลาที่เครื่องดื่มหมดอายุด้วย

ไม่ว่ากาแฟสกัดเย็นหรือจะเป็นกาแฟนม ล้วนแต่เป็นเมนูประจำร้านที่ได้รับความนิยมอยู่แล้วในตลาดผู้บริโภค ยิ่งหากว่ามีการยกระดับเพิ่มคุณภาพ การคัดสรร และใส่ใจด้านสุขภาพลงไป ให้มีความ “พิเศษ” มากกว่า “ธรรมดา” ก็ถือว่า "เข้าทาง" ร้านและโรงคั่วกาแฟแบบพิเศษทีเดียว เพราะมีความชำนาญการในด้านนี้อยู่แล้ว จนกลายเป็นกาแฟที่ได้รับความนิยมสูง ท่ามกลางสถานการณ์ที่บังคับให้ธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวเข้าหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และเพิ่มช่องทางการขาย เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าทุกกลุ่มมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

162339683211

กาแฟสกัดเย็นพร้อมดื่ม เมนูขวัญใจคอกาแฟรุ่นใหม่ / ภาพ : The Creative Exchange on Unsplash

หากถือว่าวันที่ “แฟรปปูชิโน่” แบบบรรจุขวดออกสู่ตลาดเป็นครั้งแรก เป็นวันแห่งการ “ปฎิวัติ” วงการกาแฟพร้อมดื่มแบบพรีเมี่ยมแล้วไซร้ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปสู่วิถีใหม่จากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ประกอบกับเทรนด์การดื่มกาแฟของคนเจนใหม่ ก็ถือเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ตลาดกาแฟพร้อมดื่มทุกระดับมีอัตราเติบโตสูงต่อเนื่อง ธุรกิจกาแฟพิเศษก็อ้าแขนรับเซกเมนต์นี้ไว้ใน "อ้อมใจ" กันมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ก็ยังไม่มีใครตอบได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า วิถีการดื่มกาแฟจะเปลี่ยนแปลงไปอีกหรือไม่ และอย่างไร?  แต่ตัวผู้เขียนค่อนข้างมั่นใจว่า ตลาดกาแฟพร้อมดื่มแบบพิเศษหรือพรีเมี่ยมจะปักหลักเติบโต เป็นเมนูอยู่คู่กับร้านกาแฟยุคใหม่อย่างถาวรเลยทีเดียว