‘ไวรัสตับอักเสบ ซี’ ตรวจรู้ไว..รักษาหายขาดได้
ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อ “ไวรัสตับอักเสบ ซี” มากกว่า 150 ล้านคน มีอัตราการติดเชื้อในประเทศไทยเฉลี่ยประมาณ 1% ของประชากร ปัจจุบันแพทย์พบวิธีรักษาโดย “หากรู้ตัวเร็วและเข้ารับการรักษาเร็ว ทำให้หายขาดได้”
โรคไวรัสตับอักเสบ ซี เกิดจากการติดเชื้อ ไวรัสตับอักเสบ (Hepatitis) ชนิดซี สามารถติดต่อกันทางเลือดหรือเพศสัมพันธ์คล้ายกับ ไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเมื่อเข้าไปในร่างกายจะแบ่งตัวและอาศัยอยู่ในตับ ระยะแรกทำให้เกิดตับอักเสบเฉียบพลัน ส่วนมากผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการทำให้ผู้รับเชื้อไม่ทราบว่ามีการติดเชื้อ จะทราบได้ก็ต่อเมื่อไปตรวจเลือดแล้วพบค่าการทำงานของตับผิดปกติ หรือบริจาคเลือดแล้วพบว่าติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี อาการแสดง เช่น อาจมีไข้ อ่อนเพลียจากการอักเสบของตับ คลื่นไส้ ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม เบื่ออาหาร น้ำหนักลดและอ่อนเพลีย โดยทั่วไปประมาณ 70-80% ของผู้ติดเชื้อเฉียบพลันจะเข้าสู่ระยะติดเชื้อเรื้อรังเนื่องจากไม่สามารถขจัดเชื้อไวรัสออกจากร่างกายได้ ซึ่งถ้าหากเป็นนาน ๆ หลายปีอาจมีภาวะตับอักเสบเรื้อรัง ทำให้เกิดพังผืดหรือแผลเป็นในตับ นำไปสู่ภาวะตับแข็งและมีโอกาสเกิดมะเร็งตับในที่สุด
จะรู้ได้อย่างไรว่าติดเชื้อ : ต้องใช้วิธีตรวจทางห้องปฏิบัติเท่านั้นถึงจะทราบ ไวรัสชนิดนี้ติดต่อเข้าสู่ร่างกายทางเลือดเป็นหลัก โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มี ประวัติการรับเลือดก่อนปี พ.ศ.2534 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มมีการตรวจกรองหาเชื้อไวรัส ยังพบได้บ่อยในผู้ที่ใช้ยาเสพติดชนิดฉีด การสักด้วยเครื่องมือที่ไม่สะอาด การฉีดยากับหมอเถื่อน และผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง ที่รักษาด้วยการล้างไต ยิ่งไปกว่านั้นยังพบได้มากขึ้นสำหรับ ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ร่วมกับการติดเชื้อ HIV โดยมีอัตราการติดเชื้อในผู้ป่วยกลุ่มนี้สูงถึง 8–10 % และสามารถก่อให้เกิดพยาธิสภาพได้ทั้งภายในตับและภายนอกตับ
แนวทางการวินิจฉัย และรักษาไวรัสตับอักเสบ ซี : การตรวจคัดกรองเบื้องต้นที่บ่งชี้ว่ายังมีการติดเชื้อในร่างกาย คือการตรวจ แอนตี้-เอชซีวี (Anti-HCV) ถ้ามีผลบวกแสดงว่าเคยติดเชื้อไวรัสมาก่อน แต่ไม่สามารถแยกได้ว่ายังมีการติดเชื้อไวรัสในร่างกายหรือหายขาดแล้ว นอกจากนี้ Anti-HCV ยังให้ผลบวกลวงได้ด้วย ดังนั้น เมื่อตรวจ Anti-HCV ให้ผลบวกจึงต้องตรวจยืนยันว่ากำลังมีการติดเชื้อจริงโดยการตรวจปริมาณไวรัสในเลือด (HCV RNA) ด้วยวิธีพีซีอาร์ (PCR) ถ้าตรวจไม่พบปริมาณไวรัสหลัง Anti-HCV ให้ผลบวก แนะนำให้ตรวจซ้ำอีกครั้งใน 3-6 เดือน การตรวจหาปริมาณไวรัสอาจต้องรอผลจากห้องปฏิบัติการ 3 -14 วัน จากนั้นแพทย์จึงจะวางแผนการรักษา และการตรวจปริมาณไวรัสนี้ยังใช้ติดตามการรักษาเพื่อประเมินผลว่ารักษาหายขาดหรือไม่
ข่าวดี... ยารักษาใหม่ ให้ผลการรักษามีโอกาสหายมากกว่า 95% : ศ.นพ.พิสิฐ ตั้งกิจวาณิชย์ นายกสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย อธิบายว่า ในปัจจุบัน บัญชียาหลักแห่งชาติ (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2564 ได้อนุมัติการใช้ยาที่สามารถรักษาครอบคลุมทุกสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสตับอักเสบซี คือยาสูตรผสม Sofosbuvir/ Velpatavir (SOF/VEL) และ/หรือ Ribavirin ซึ่งเป็นยาที่มีกลไกการออกฤทธิ์โดยตรงในการยับยั้งไวรัสตับอักเสบซี (Direct Acting Antivirals: DAAs) และมีประสิทธิภาพในการ รักษาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีได้หายขาดสูงถึง 95% จึงสามารถกล่าวได้ว่า โรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี เป็นโรคที่สามารถรักษาหายขาดได้ ภายใต้การดูแลรักษาของอายุรแพทย์ที่ปฏิบัติงานด้านโรคระบบทางเดินอาหาร ตามเกณฑ์สิทธิประโยชน์การรักษาตามประกาศของบัญชียาหลักแห่งชาติ
ตรวจคัดกรองรู้ผลใน 2 ชั่วโมง : จากความก้าวหน้าของนวัตกรรมทางการแพทย์ การตรวจด้วยเครื่อง อะลินิตี้ เอ็ม (Alinity m) ใช้ตรวจวินิจฉัยเพื่อยืนยันการติดเชื้อและติดตามการรักษาที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว สามารถออกผลการทดสอบได้ภายใน 2 ชั่วโมง ได้ผลเร็วขึ้น 3-4 เท่า จากการตรวจรูปแบบเดิม ซึ่งสามารถตรวจร่วมกับการใช้ยาและระบบติดตามการตรวจ และรักษาคนไข้ที่มีคุณภาพและครบวงจร ลดปัญหาการเดินทางเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลหลายครั้งโดยไม่จำเป็น ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วย อีกทั้งทำให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ
ปัจจุบัน เครื่องดังกล่าวนำไปใช้ตรวจ ไวรัสตับอักเสบ บี และ ไวรัสตับอักเสบ ซี แล้วที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และโรงพยาบาลรามาธิบดี
การป้องกัน : การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ช่วยต้าน ไวรัสตับอักเสบ ซี ได้ นอกจากนี้ยังต้อง
* หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อ เช่น หลีกเลี่ยงการใช้ของมีคมหรือเข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น สวมถุงมือถ้าต้องสัมผัสเลือด คู่สมรสที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบซีสามารถอยู่ร่วมกันได้ตามปกติ มารดาที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีสามารถให้นมบุตรได้ ไม่ใช้มีดโกนหนวด แปรงสีฟันร่วมกัน
* ห้ามใช้อุปกรณ์ในการสักร่วมกัน
* ใช้ถุงยางอนามัยหากมีเพศสัมพันธ์หลายคน
* รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ทานอาหารปรุงสุก ออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ
* ตรวจร่างกายสม่ำเสมอเพื่อประเมินการทำงานของตับอย่างน้อยปีละครั้ง
สมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย ร่วมกับ กรมควบคุมโรค ได้พัฒนาระบบการลงทะเบียนแบบดิจิทัล เพื่อติดตามการตรวจวินิจฉัยและรักษาไวรัสตับอักเสบซี หรือ Nationwide Online HCV Registration เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลส่วนกลางของผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีทั่วประเทศ ให้มีระบบที่สามารถติดตามการตรวจวินิจฉัยและการรักษาของคนไข้แบบออนไลน์ได้ โดยกลุ่มเป้าหมายแรกจะเป็นผู้ติดเชื้อที่อยู่ในราชทัณฑ์ และจะขยายกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมผู้ติดเชื้อทั่วประเทศเป็นลำดับถัดไป
ดังนั้นการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการติดเชื้อและติดตามการรักษาที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ลดปัญหาการเดินทางเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลหลายครั้งโดยไม่จำเป็นอย่างเครื่อง Alinity m ที่สามารถออกผลการทดสอบได้ภายใน 2 ชั่วโมง ร่วมกับการใช้ยาและระบบติดตามการตรวจและรักษาคนไข้ที่มีคุณภาพ จะสามารถช่วยทำให้ประเทศไทย บรรลุเป้าหมาย การยุติปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีได้ภายในปี พ.ศ.2573 ตามเป้าหมายเดียวกับองค์การอนามัยโลก
คุณหมอย้ำว่า “ไวรัสตับอักเสบ ซี เจอช้ารักษายาก เจอเร็วรักษาง่าย และหายขาดได้”