‘ภูฝอยลม’ งามสมเมืองอุดรฯ
พา “เที่ยวหน้าฝน” ที่ “ภูฝอยลม” ชมความงามของธรรมชาติต้องห้ามพลาดแห่งจังหวัดอุดรธานี
ช่วงนี้ ท่านผู้อ่านจะเห็นว่าผมนำเสนอถึงเรื่องราวทางภาคอีสานค่อนข้างถี่ ก็อย่างที่เคยบอกไปหลายครั้งแล้วว่า พอเข้าฤดูฝนมา ไม่มีที่ไหนที่จะน่าท่องเที่ยวเท่าภาคอีสานอีกแล้ว
เนื่องจากแผ่นดินอีสานเป็นพื้นที่ที่ราบที่เป็นดินทราย ยกตัวเทลาดไปทางตะวันออก แล้วอีสานตอนบนจะมีแนวเทือกเขาภูพาน ขวางแนวเหนือใต้ แบ่งอุดรฯ กาฬสินธุ์และสกลนครเป็นสองแอ่งใหญ่ คือแอ่งโคราช และแอ่งสกลนคร ส่วนทางด้านใต้นั้น แผ่นดินยังยกตัวสูงขึ้น แบ่งเป็นแผ่นดินของกัมพูชาและของอีสานเรา เทเลี้ยงมาทางเหนือ ผลคือ เมื่อฝนตก หรือลำห้วยลำธาร จะไม่ไหลลงมาภาคกลาง และจะไม่ไหลลงไปทางกัมพูชา แต่จะไหลลงมาสู่แอ่งโคราช ไหลวกไปวนมา แต่สุดท้ายไหลลงแม่น้ำโขง
แม่น้ำมูลที่เกิดจากป่าของอุทยานแห่งชาติทับลาน แถวๆ ครบุรี เสิงสาง ของนครราชวีมา แล้วก็ไหลวกวนไปออกที่อุบลฯ แม่น้ำชีก็มาจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ด้านตะวันออก ไหลเข้าชัยภูมิไปขอนแก่นอะไรโน่น แล้วไปรวมแม่น้ำมูลแถววารินชำราบ แล้วไหลลงโขงไป นี่ว่าแค่แม่น้ำสายหลักๆ ในอีสาน ที่ไหลลงโขง ไม่ไหลลงมาทางภาคกลาง ซึ่งจริงๆ ยังมีแม่น้ำสายย่อยๆ ที่ไหลลงแม่น้ำโขงอีกมาก
เล่าให้ฟังเพราะอยากให้เห็นสภาพภูมิประเทศของภาค ซึ่งผมก็มักเล่าเรื่องภูเขาทางภาคอีสานที่เป็นรูปทรงเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะถ้าเราหลับตานึกภูมิประเทศออก ก็จะเห็นสภาพพื้นดิน เห็นสภาพป่า และเห็นสภาพธรรมชาติของภูมิภาค ภาคอีสาน ฝนตกมานิดหน่อย ต้นไม้ใบใหญ่ก็จะรีบผลิดอกออกใบ แม้จะเป็นแค่ช่วงพฤษภา-มิถุนายน เพียงต้นฝน แต่ธรรมชาติทางภาคอีสานก็เขียวขจีแล้ว ลำห้วยลำธารมีน้ำเป็นน้ำตกแล้ว ครั้งนี้ เลยจะพาไปเที่ยว ภูฝอยลม ที่อุดรด้วยกัน
อย่างที่ผมเล่าไปว่า ทางอีสานตอนเหนือๆ จะมีเทือกเขาภูพานกั้นแอ่งโคราชกับแอ่งสกลนคร ภูพานนี่ก็ทอดยาวอุดร กาฬสินธุ์ ไปนั่นเลย น้ำที่เกิดจากเทือกภูพาน ก็ไหลลงทั้งทางสกลนครและลงทางกาฬสินธุ์ อุดร ลงเขื่อนลำปาว ทีนี้มันจะมีเทือกภูพานน้อย ซึ่งเป็นภูขาที่เล็กกว่าภูพาน ซึ่งผมชอบเรียกผมเองว่าเป็นภูเขาบริวาร ส่วนของเทือกเขาภูพานน้อยในเขต อ.หนองแสง จ.อุดรธานีนี่เอง จะมีป่าสงวนแห่งชาติพันดอน-ปะโค ซึ่งจะมีวนอุทยานน้ำตกธารงามดูแลพื้นที่ 40,000 ไร่ ซึ่งในวนอุทยานน้ำตกธารงามนี้ ถือได้ว่าเป็นน้ำตกที่เป็นที่นิยมมาก ไม่ใช่แค่จากคนหนองแสงเท่านั้น แต่คนอุดรหรือที่ไหนๆ พอเข้าหน้าฝน ก็จะชอบไปเล่นน้ำ หิ้วอาหารไปดื่มกินกันเป็นที่ครื้นเครง น้ำตกก็ไม่ได้สูงมาก แต่บรรยากาศนั้นร่มรื่น
ในพื้นที่ 40,000 ไร่ ของวนอุทยานธารงามนั้น จะมีพื้นที่ราว 300 ไร่ ที่เขาจัดตั้งเป็นสวนพฤกษศาสตร์ ใช้ชื่อทางการว่า สวนพฤกษศาสตร์ภูฝอยลม 60 พรรษา มหาราชินี ในส่วนนี้ก็จะทำการศึกษาวิจัยพืชพรรณ ที่โดดเด่นก็คือกล้วยไม้ ที่นี่เขาเพาะเลี้ยงและคืนกล้วยไม้สู่ป่ามามากแล้ว กับอีกโครงการหนึ่งคือ โครงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศภูฝอยลม สองหน่วยงานนี้ก็อยู่ด้วยกันบนยอดภูพานน้อยนี่แหละ ดูแลโดยสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 10 (สบอ.10 อุดรธานี)
ส่วนสวนพฤกษศาสตร์นั้น เขาจัดทำเป็นแปลงดอกไม้ด้านหน้า จัดพื้นที่ได้สวยงาม ดอกไม้บานสะพรั่งทั้งปี คือลำพังแค่ส่วนนี้ก็เรียกให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปถ่ายรูปกันได้มากมายแล้ว เพราะนอกจากสวนดอกไม้ที่ว่าแล้ว ยังมีหน้าผาชมเมืองอุดร ให้นั่งชิลๆ จิบกาแฟชมความงามของพื้นที่ อีกทั้งความร่มรื่นของป่าธรรมชาติและป่าปลูกที่เขาฟื้นสภาพขึ้นมาจนกลายเป็นป่าสมบูรณ์ จึงทำให้ที่นี่เป็นป่าธรรมชาติกลางเมืองโดยแท้ ใครอยากนอนพักแรมเขาก็มีลานกางเต็นท์ รวมทั้งบ้านพัก (ติดต่อได้ที่ร้านอาหารบนนั้น) มีร้านอาหารที่แม่ครัวฝีมือดีไว้บริการนักท่องเที่ยว แล้วตอนเช้าๆ จะมี พระจากวัดป่าภูฝอยลม 2-3 รูปออกมาบิณฑบาตทุกเช้า อากาศบนนั้นเย็นสบายแทบตลอดปี เพราะอยู่บนความสูงจากระดับทะเลปานกลาง 600 เมตร เรียกว่าครบเครื่องเรื่องมาพักแรมทีเดียว
ชื่อ “ฝอยลม” มาจากชื่อของไลเคนชนิดหนึ่ง เข้าใจว่าหลายคนคงเคยเห็น ที่อยู่บนยอดเขาที่หนาวๆ เป็นสาย ฝอยๆ ห้อยไหวไปมา เข้าใจว่าเดิมบนนี้คงมีจะเยอะ แต่ตอนนี้สภาพอากาศน่ามีเปลี่ยนแปลง เลยไม่ค่อยเห็นฝอยลมบนนี้
กิจกรรมสำหรับ “ภูฝอยลม” นอกจากการมาถ่ายรูปเช็คอินกับแปลงดอกไม้สวยๆ ที่ทางพื้นที่จัดไว้แล้ว เขายังมีเส้นทางเดินป่าเล็กๆ ระยะทางไม่เกิน 3 กิโลเมตร เดินลงเขาไปอีกด้านหนึ่ง ซึ่งระหว่างทางจะเป็นป่าดงดิบแล้ง ซึ่งในฤดูฝนจะมีพืชพรรณสารพัด แตกกิ่ง ผลิใบ สวยงาม เป้าหมายที่ไปคือ น้ำตกถ้ำบ้วง
น้ำตกนี้ อยู่ในลำธาร ที่เรียกว่าไหล่เขา คือลงไปจากยอด ที่เป็นที่ตั้งของสวนพฤกษศาสตร์ภูฝอยลมลงไปก็จะเจอร่องห้วยที่เป็นธารน้ำ ที่เป็นลานหิน ถ้าข้ามธารน้ำนี้ไปก็จะเป็นทางลงเขาต่อ ทีนี้ลำธารน้ำที่เป็นลานหินทรายนี่แหละ มันจะเป็นเพิง ซึ่งเป็นปกติของธรณีสัณฐานที่เป็นหินทราย จะมีเพิงหินแบบนี้มาก แล้วเพิงหินนี้ ก็มีรูขนาดใหญ่ ซึ่งรูนี้ จริงก็คือกุมภลักษณ์นั่นเอง บังเอิญเป็นกุมภลักษณ์ที่ทะลุลงไป เมื่อเพิงหรือรูนี้ไปอยู่กลางลำห้วย ในสภาวะปกติ น้ำจะไหลลงตามรอยแตกทะลุไปด้านล่างของเพิง แต่ถ้าฝนตกมากๆ น้ำจะหลากลงไปในรู แล้วตกลงเพิงด้านล่าง เป็นภาพที่สวยงาม เสียดายว่า ช่วงที่ผมไปฝนไม่ลงมาก น้ำเลยไม่ไหลลงรู มีแต่ที่ไหลลอดพื้นหิน แต่กระนั้นบรรยากาศของน้ำตกถ้ำบ้วงก็ยังน่าอภิรมย์มาก
นอกจากนั้น เราจะเห็นสถานี ควบคุมท่อแก๊สปรากฏบนยอด “ภูฝอยลม” ซึ่งเป็นแก๊สที่ขุดเจอในบ้านเรา โดย ปตท.สผ. ลำเลียงไปใช้ที่โรงไฟฟ้าที่น้ำพองนั่นเอง
เพราะอากาศดี มีมุมสวยงามมากมาย “ภูฝอยลม” จึงเป็นที่ที่ถูกใช้จัดกิจกรรมดูดาวหลายครั้ง กิจกรรมกางเต็นท์รับลมหนาวช่วงต่อปี ถูกเลือกให้เป็นหนึ่งใน ป่าในเมืองที่คนสามารถมาใช้ประโยชน์จากป่าผืนนี้ได้ ถ้ามาพักแรมด้านบนอาจจะติดระเบียบของทางกรมอุทยานฯ ลงมาด้านล่างก็มีรีสอร์ทชื่อเคียงดอยฝอยลม ตรงทางขึ้น ไปใช้บริการและเฮฮาได้
“อุดรธานี” นั้น นอกจากมีสาวงาม บ้านเมืองงามน่าไปเที่ยวชมแล้ว ก็ “ภูฝอยลม” แห่งนี้แหละที่อวดใครต่อใครเขาได้...