21 มิถุนายน 'วันยีราฟโลก' รู้ 7 ข้อน่าทึ่งสัตว์ตัวสูงที่สุดในโลก

21 มิถุนายน 'วันยีราฟโลก' รู้ 7 ข้อน่าทึ่งสัตว์ตัวสูงที่สุดในโลก

เนื่องใน "วันยีราฟโลก" ที่ตรงกับวันที่ 21 มิถุนายนของทุกปี ชวนรู้ที่มาและความสำคัญของวันดังกล่าว พร้อมเช็ค 7 เรื่องที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน เกี่ยวกับ "ยีราฟ" ยักษ์ใหญ่ใจดีแห่งผืนป่าแอฟริกา

รู้หรือไม่? วันนี้ 21 มิถุนายนของทุกปีเป็น "วันยีราฟโลก" ถูกก่อตั้งขึ้นโดยองค์กร Giraffe Conservation Foundation หรือ GCF เพื่อเฉลิมฉลองให้แก่สัตว์บกที่ตัวสูงที่สุดในโลก สำหรับ "วันยีราฟโลก 2021" ได้จัดแคมเปญในหัวข้อ "การอุทิศให้กับการช่วยชีวิตยีราฟแอฟริกาตะวันตกฝูงสุดท้าย!" (เหลืออยู่เพียงประมาณ 600 ตัว)

ในขณะที่ยีราฟสายพันธุ์อื่นๆ ที่อยู่อาศัยในป่าธรรมชาติ ตอนนี้เหลืออยู่เพียง 117,000 ตัวทั่วโลก โดยสวนสัตว์ โรงเรียน องค์กรพัฒนาเอกชน รัฐบาล สถาบัน บริษัท และองค์กรอนุรักษ์ทั่วโลก สามารถร่วมจัดกิจกรรมในวัน World Giraffe Day เพื่อปลุกจิตสำนึกการอนุรักษ์ยีราฟป่าไม่ให้สูญพันธุ์

เนื่องในวันสำคัญนี้ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์จะชวนไปรู้จักความน่าทึ่งของ "ยีราฟ" ยักษ์ใหญ่ใจดีแห่งผืนป่าแอฟริกา ที่บางเรื่องคุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน

1. ยีราฟ = สัตว์บกตัวสูงที่สุดในโลก

"ยีราฟ" เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในวงศ์ Giraffidae เป็นสัตว์เคี้ยวเอื้อง มีลักษณะเด่น คือ เป็นสัตว์ที่ตัวสูง ขายาว ลำคอยาว มีเขา 1 คู่ ตัวมีสีเหลืองและสีน้ำตาลเข้มเป็นลาย มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา ตัวผู้มีความสูง 4.8 ถึง 5.5 เมตร (16-18 ฟุต) และมีน้ำหนักถึง 900 กิโลกรัม (2,000 ปอนด์) ตัวเมียมีขนาดและความสูงน้อยกว่าเล็กน้อย จัดเป็นสัตว์บกที่มีความสูงที่สุดในโลก

2. "เขายีราฟ" ใช้บ่งบอกเพศผู้/เพศเมีย

ยีราฟมีเขาทั้งตัวผู้และตัวเมีย ไม่ผลัดเขา ที่เขาจะมีขนปกคลุมอยู่ เขาของยีราฟเป็นสิ่งแสดงถึงความแตกต่างระหว่างเพศ

เขายีราฟตัวผู้ : ด้านบนมีลักษณะตัดราบเรียบ และมีความใหญ่อวบกว่า

เขายีราฟตัวเมีย : จะมีขนสีดำปกคลุม เห็นเป็นพุ่มชัดเจน

ยีราฟมีพฤติกรรมอาศัยอยู่รวมเป็นฝูงราว 15-20 ตัว ในทุ่งโล่งร่วมกับสัตว์กินพืชชนิดอื่นๆ เช่น แอนทิโลป ม้าลาย หรือนกกระจองเทศ เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 3 ปีครึ่ง ตั้งท้องนาน 420-461 วัน และมีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 20-30 ปี

162419139394

3. ยีราฟทั่วโลกมีกี่ชนิด?

ยีราฟแบ่งออกเป็นสปีชีส์ได้ทั้งหมด 4 ชนิด จากการลำดับ DNA ซึ่งสรุปได้ว่าทั้ง 4 สายพันธุ์นี้ ไม่ได้มีการผสมข้ามสายพันธ์มากว่า 1-2 ล้านปีแล้ว การสรุปเป็นไปอย่างลงตัวในเดือนกันยายน พ.ศ. 2559 โดยสรุปให้ยีราฟเป็นสกุล ที่ประกอบด้วยยีราฟ 4 ชนิด (จากเดิมที่คาดว่ามีเพียงสายพันธุ์เดียว) ได้แก่  

  • G. camelopardalis (ยีราฟนูเบีย)
  • G. reticulata (ยีราฟลายร่างแห, ยีราฟโซมาลี)
  • G. tippelskirchi (ยีราฟมาไซ)
  • G. giraffa (ยีราฟแอฟริกาใต้)

ลายของยีราฟ สันนิษฐานว่ามีไว้สำหรับพรางตัว เพราะดูแล้วจะกลมกลืนไปกับพุ่มไม้และสภาพแวดล้อม เหมือนสีของแสงและเงาของต้นไม้

4. ยีราฟนอนยังไง?

มีข้อมูลจากเพจ "สำรวจโลก" ระบุว่า ส่วนใหญ่มักจะเห็นว่ายีราฟยืนอยู่ตลอดเวลา โดยยีราฟนั้นได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในสัตว์ที่นอนหลับพักผ่อนน้อยที่สุด ซึ่งเฉลี่ยแล้วพวกมันนอนเพียงไม่กี่นาทีต่อวัน หรืออย่างมากเต็มที่ก็ไม่เกินวันละ 4 ชั่วโมง

ส่วนใหญ่มักจะเป็นการงีบหลับขณะที่ยืนอยู่เป็นเวลาสั้นๆ (2 นาที - 2 ชั่วโมง) เนื่องจากคอที่ยาวนั้นทำให้การนอนของมันนั้นเป็นไปอย่างยากลำบาก แต่อย่างไรก็ตาม พวกมันก็สามารถพับคอนอนบนพื้นได้เหมือนสัตว์สี่ขาอื่นๆ ทั่วไปด้วยเช่นกัน

162418958265

5. ยีราฟต้องกางขาและย่อตัวเพื่อดื่มน้ำ

แต่เมื่อยีราฟจะดื่มน้ำหรือกินอาหารที่อยู่พื้นล่าง ต้องถ่างขาทั้งคู่หน้าออก และก้มคอลง เพราะมีกระดูกที่ข้อต่อต้นคอเพียง 7 ข้อเท่านั้น นับเป็นช่วงที่ยีราฟจะได้รับอันตรายจากสัตว์กินเนื้อที่บุกจู่โจมได้ เพราะเป็นช่วงที่อยู่ในท่าที่ไม่คล่องตัว โดยปกติยีราฟดื่มน้ำน้อยมาก ประมาณ 4-5 วันต่อครั้ง ส่วนใหญ่ร่างกายของมันจะได้รับน้ำที่อยู่ในใบพืชเป็นหลัก

162418958175

6. หัวใจของยีราฟหนักถึง 10 กิโลกรัม

ด้วยความที่เป็นสัตว์ตัวสูง ยีราฟจำเป็นต้องมีหัวใจขนาดใหญ่ หนักประมาณ 10 กิโลกรัม เพื่อหมุนสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงสมอง ยีราฟสามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงสมองได้มากกว่ามนุษย์ถึง 3 เท่า เพื่อไปเลี้ยงสมองที่อยู่สูงขึ้นไปประมาณ 8 ฟุต เสมือนกับปั๊มน้ำที่สูบน้ำขึ้นไปยังตึกสูง

แถมยังมีระบบไหลเวียนโลหิตจึงเป็นแบบพิเศษ เรียกว่า "Rete mirabile" ช่วยป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจากการที่เลือดไปเลี้ยงสมองมากเกินไปเวลายีราฟก้มตัวดื่มน้ำ ระบบไหลเวียนเลือดพิเศษนี้จึงเปรียบเสมือนวาล์วปิดเปิดน้ำ

7. ลิ้นของยีราฟ ทนทานต่อสารพิษได้

ยีราฟ เป็นสัตว์ที่กินพืช กินได้ทั้งหญ้าที่ขึ้นอยู่กับพื้น และพุ่มไม้สูง ๆ โดยเฉพาะพุ่มไม้ประเภทอาเคเซีย (กระถินณรงค์) ที่มีหนามแหลม มีรสฝาด และมีพิษ แต่ยีราฟก็สามารถกินได้อย่างไม่มีปัญหา เพราะมีลิ้นที่ยาวถึง 45-47 เซนติเมตร และมีความหนาสาก ใช้ตวัดกินได้โดยไม่ได้รับอันตราย และทนทานต่อสารพิษจากใบพืชได้ในระดับหนึ่ง

-------------------------

อ้างอิง : สำรวจโลกgiraffeconservation.orgth.wikipedia.org