‘ยำ’ หัวปลี เปิดตำราทำเองตาม 'เชฟ' อาหารไทยร้าน ‘ทองหล่อ’
ทำเองง่ายๆ “ยำ” รสเด็ดระดับ "เชฟ" กับคุณค่าของดีพื้นบ้าน “หัวปลี” เพิ่มการออกกำลังกาย ช่วยเลี่ยงและป้องกันภาวะ “น้ำตาลในเลือดสูง” สาเหตุโรคเบาหวาน หนึ่งใน 7 โรคเสี่ยงเสียชีวิตหากติด "โควิด"
วันนี้ขอชวนทำ ยำ รสเด็ดอีกสักหนึ่งยำ โดยมี หัวปลี เป็นวัตถุดิบหลักให้เข้ากับสถานการณ์ โควิด อย่างที่คุณหมอพยายามเตือนว่า โรคเบาหวาน คือ 1 ใน 7 โรคประจำตัวที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้ผู้ซึ่งเป็นโรคนี้เสียชีวิตหากติดโรคโควิด-19 ซึ่งโรคเบาหวานมีความเสี่ยงอยู่ในอันดับที่สองเลยทีเดียว
ใครชอบกิน “หัวปลี” อยู่แล้วก็ดีเลย ถ้าใครยังไม่เป็นแฟนหัวปลี ลองมาดูข้อมูลหัวปลีเชิงทางแพทย์ เวลาไปร้านอาหารไทย อาจทำให้คุณมองเมนูที่มีหัวปลีเป็นส่วนประกอบขึ้นมาบ้าง
หัวปลี ที่ผู้หลักผู้ใหญ่ชอบรับประทาน กำลังเป็นกระแสอาหารเพื่อสุขภาพที่นิยมมากในต่างประเทศ เนื่องจากหัวปลีมีเส้นใยเหนียวแน่น ให้รสสัมผัสคล้ายเนื้อสัตว์ แต่แคลอรี่ต่ำ ซ้ำยังเปี่ยมด้วยคุณประโยชน์ คนต้องการลดน้ำหนักก็สนใจเทรนด์กินหัวปลีมากเช่นเดียวกัน
เว็บไซต์ ส่วนอำนวยการและสารบรรณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ระบุว่า การศึกษาในวารสาร Phytoterapy Research เมื่อปี 2000 เผยผลการวิจัยฤทธิ์ของ หัวปลี กับ การลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยทดลองให้หนูกินหัวปลี 0.15-0.25 กรัมต่อน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) ตลอดระยะเวลา 30 วัน พบว่า ระดับน้ำตาลในเลือดของหนูลดลง และ มีระดับฮีโมโกลบินเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การทดลองนี้ยังอยู่ในขอบเขตของสัตว์ทดลองเท่านั้น ส่วนการทดลองในคนยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
ขณะที่สรรพคุณในด้าน ลดการอักเสบในร่างกาย การศึกษาพบว่า ในหัวปลีมีสารต้านอนุมูลอิสระที่เรียกว่า มีทานอล ซึ่งงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Food Science and Biotechnology เมื่อปี 2010 พบว่า สารสกัดจากหัวปลีมีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่ค่อนข้างมาก และเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันเซลล์ถูกทำลาย ป้องกันการอักเสบในร่างกายได้
อย่างไรก็ตาม หากมีช่องทางหรือโอกาสควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ ก็ย่อมเป็นเรื่องที่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทั้งอันตรายและรุนแรง
ดังนั้น เมนูสู้ โควิด ด้วยการระวังระดับน้ำตาลในเลือดวันนี้.. จึงขอเสนอการนำ ‘หัวปลี’ มาทำเป็นอาหารประเภท ยำ จานเด็ด แถมยังมีเนื้อ กุ้ง ที่ให้ทั้งโปรตีนและแร่ธาตุสำคัญอย่างแคลเซียม ฟอสฟอรัสและแมกนีเซียม ชะลอการเกิดอาการหลักโรคกระดูกพรุน และ ไข่ต้ม ไข่ขาวให้โปรตีนช่วยสร้างกล้ามเนื้อ ไข่แดงมีธาตุเหล็กช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง เสริมภูมิต้านทานให้ร่างกาย และสมุนไพรอีกหลายอย่างที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะ "หอมแดง"
เมนูนี้ก็คือ ยำหัวปลีไข่ยางมะตูม เป็นสูตรเด็ดของ เชฟโธมัส-วรพล อิทธิคเณศร เชฟใหญ่ประจำร้าน “ทองหล่อ” ร้านอาหารไทยพื้นบ้านดั้งเติม รสชาติที่ผู้ใหญ่หลายคนคุ้นเคยและเคยกินมาตั้งแต่เด็กๆ
เชฟวรพลเคยเป็นครูสอนทำอาหารไทยที่ ‘วิทยาลัยการอาชีพวังไกลกังวล’ ให้กับผู้สนใจอาหารไทยได้เรียนรู้ ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ทางไกลผ่านดาวเทียมซึ่งตั้งอยู่ข้าง ‘วังไกลกังวล’ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ยำหัวปลีไข่ยางมะตูม
เครื่องปรุงและวัตถุดิบที่ต้องเตรียม
- หัวปลี 1 หัว
- กุ้ง 10 ตัว
- หมูสับ ½ ถ้วย
- มะพร้าวคั่ว ½ ถ้วย
- หอมแดงซอย 5 หัว
- หอมแดงเจียว 2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำพริกเผา 2 ช้อนโต๊ะ
- พริกขี้หนู 5-10 เม็ด
- น้ำปลา 2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำตาลปี๊บ 1 ช้อนโต๊ะ
- น้ำมะนาว 4 ช้อนโต๊ะ
- หัวกะทิ 1/2 ถ้วย
- ไข่ต้มยางมะตูม 2 ฟอง
ขั้นตอนวิธีทำ
- แกะหัวปลีเอาที่อ่อนๆ นำไปเผาแล้วหั่นตามขวาง หรือหั่นแล้วเอาไปลวกให้สุก
- ลวกหมูสับและกุ้งให้สุก พักไว้
- นำหัวกะทิขึ้นตั้งไฟให้พอเดือด ยกลง จากนั้นใส่น้ำพริกเผา พริกขี้หนู น้ำมะนาว น้ำตาลปี๊บ น้ำปลา แล้วใส่หัวปลี กุ้ง และหมูสับลงไป ตามด้วยหอมแดง คลุกให้เข้ากัน
- ตักใส่จาน โรยหน้าด้วยหอมเจียวและมะพร้าวคั่ว จัดเสิร์ฟพร้อมไข่ต้มยางมะตูม
ข้อมูลจาก กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แสดงคุณค่าทางโภชนาการของหัวปลีในปริมาณ 100 กรัม ดังนี้
- พลังงาน 28 กิโลแคลอรี
- น้ำ 92.3 กรัม
- โปรตีน 1.4 กรัม
- ไขมัน 0.2 กรัม
- คาร์โบไฮเดรต 5.2 กรัม
- กากใยอาหาร 0.8 กรัม
- เถ้า 0.9 กรัม
- แคลเซียม 28 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 40 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 0.7 มิลลิกรัม
- วิตามินเอ 26 ไมโครกรัม
- ไทอะมีน 0.01 มิลลิกรัม
- ไรโบฟลาวิน 0.02 มิลลิกรัม
- ไนอะซิน 0.6 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 25 มิลลิกรัม
เว็บไซต์ ศูนย์บริการพาธแล็บ ระบุว่า ผู้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลให้เกิด “โรคเบาหวาน” หรือโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว
สาเหตุที่ส่งผลให้ ระดับน้ำตาลในเลือดสูง เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย อาทิ พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง น้ำหวาน ขนมหวาน ยาชูกำลัง แอลกอฮอล์, รับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป, ขาดการออกกำลังกาย, ความเครียด
ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารสักหน่อย เพิ่มการออกกำลังกาย ก็จะช่วยเลี่ยงและป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเกินไปได้ทางหนึ่งเหมือนกัน