ความรักของ'วดีลดา' ในช่วงวัยที่เปลี่ยนไป
"วดีลดา เพียงศิริ" นักเขียนที่เล่าเรื่องชีวิตได้สนุกสนาน ส่วนเรื่องราวของเธอ "จุดประกาย"ขอเล่าแทน จากวันที่เคยติดลูกติดสามีมาก หลังจากไปเดินหิมาลัยคนเดียว เธอค้นพบอิสรภาพ หลุดจากการยึดติดได้อย่างไร...
หากใครมีโอกาสคุยกับ อุ๋มอิ๋ม-ลดาวดี วนวิทย์ (วดีลดา เพียงศิริ ) นักเขียนที่มีเรื่องเล่ามากมายในชีวิต ก็จะสัมผัสได้ถึงพลังบวก เธอเคยเป็นครูใหญ่และเจ้าของโรงเรียน Kiddy bear ระดับอนุบาลนานกว่า 25 ปี จังหวัดเชียงใหม่ ตอนที่เปิดโรงเรียน เพราะอยากให้ลูกมีความสุขในการเรียน ก็ทำโรงเรียนซะเลย ปัจจุบันเลิกกิจการโรงเรียนแล้ว และเกษียณมาได้สองปี
ในวัย 58 ปีเธอมีเรื่องให้ทำทุกวัน โดยเฉพาะงานอดิเรก งานเพื่อสังคม และงานบริหารครอบครัว รวมถึงงานที่รักคือ การเขียนหนังสือ ไม่ว่านิยาย เรื่องสั้น เธอยังคงทำต่อไป หลังจากมีผลงานหนังสือกว่า 20 เล่ม อาทิ ถึงเจ้าวายร้ายตัวน้อย ,ระบำหยาดฝน ,กระจกใบไม้, ชิงช้าดอกไม้ไหว ฯลฯ
“ตอนนี้มีความสุขมาก แต่ชาติหน้าไม่เอาแล้ว” อดีตครูอุ๋มของเด็กๆ เริ่มต้นประโยคนี้ พร้อมเรื่องเล่าอีกมากมายที่พรั่งพรูออกมา
“อยู่เชียงใหม่เอื้อให้เรามีความสุข มีชุมชน มีเพื่อนไปมาหาสู่กัน บางทีน้องข้างบ้านก็แบกกล้วยมาแขวนไว้หน้าบ้าน น้องอีกคนขุดหน่อไม้มาแขวนไว้ ถ้าเป็นเมื่อก่อน เราก็จะบอกไปว่า จะมาบ้านเราทำไมไม่บอกฉันก่อน ”
วดีลดา : หิมาลัยทำให้เข้าใจชีวิต
จากที่เมื่อก่อน เพื่อนสนิทมิตรสหายจะไปมาหาสู่ ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า แต่ ณ วันนี้ เธอเปลี่ยนไป ชีวิตไม่จำเป็นต้องตั้งกฎเกณฑ์มากมายขนาดนั้น
แล้วอะไรทำให้เธอเปลี่ยนไปในเรื่องการใช้ชีวิต วดีลดา เล่าถึงจังหวะชีวิตช่วงปี 2557 มีโครงการไปเดินหิมาลัย เนปาลกับสามี แต่เขาทำงานศิลปะติดพัน ไม่อยากไป บอกให้เราล้มเลิกทริป
"ตอนนั้นโกรธมาก เพราะจัดการไว้หมดแล้ว ก็นึกไม่ออกว่า จะไปเดินหิมาลัยคนเดียวยังไง จนไปเล่นเฟซบุ๊คได้รู้จักแอ๋ม เพื่อนลูกศิษย์ เธอทำวิจัยเรื่องสภาวะอากาศที่กาฐมาณฑุ เนปาล ส่งภาพมาให้เราดูเรื่อยๆ ก็บอกแอ๋มว่า จะไปเนปาล ไปเดินที่โพคารา แล้วขึ้นหิมาลัยด้วยตัวเอง ปรากฎว่า แอ๋มจะมารับที่สนามบิน จึงตัดสินใจไปคนเดียว”
เมื่อมีโอกาสอยู่กับธรรมชาติที่หิมาลัยตามลำพังคนเดียว 'วดีลดา' รู้สึกว่า เธอไม่ได้เป็นคนสำคัญของใครเลย เป็นแค่มนุษย์ตัวเล็กๆ
“ตอนไปเดินหิมาลัย อุ๋มจ้างลูกหาบคนหนึ่งและไกด์คนหนึ่ง เราบอกพวกเขาว่า ข้อเข่าไม่ค่อยดีนะ ถ้าวิวตรงไหนสวยก็พักตรงนั้น อย่ามาบังคับฉันให้เดินไปอีกนิด คนอื่นใช้เวลาเดินหิมาลัย 7 วัน อุ๋มเดิน 10 วัน ได้อยู่ตามลำพังคนเดียว ทำให้เราคิดได้ว่า สามีไม่มีจริง เขาคือเพื่อน เรานึกไปเองว่าต้องไปด้วยกัน ส่วนลูกสองคนก็คือเพื่อน ”
ธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ขัดเกลามนุษย์ตัวเล็กๆ ให้รู้ว่า สถานะภาพที่เป็นอยู่ เป็นแค่สิ่งสมมติ วดีลดา สัมผัสความรู้สึกนั้นได้ และมีความสุขมากที่หลุดพ้นจากพันธนาการบางอย่างชั่วขณะหนึ่ง ได้ทบทวนสิ่งที่ทำมาทั้งชีวิต
“จริงๆ แล้วเราไม่ได้ชื่ออุ๋ม ไม่ได้เป็นครูใหญ่ ไม่ได้เป็นภรรยาของพิเชษฐ์ เราไม่ได้เป็นแม่ของทะเลจันทร์และตะวันวาด แต่เราคือมนุษย์ที่เดินอยู่ในอ้อมกอดหิมาลัย เป็นมนุษย์คนหนึ่ง แต่หลงงมงายว่าเราเป็นอะไรสักอย่าง
หลังจากลงจากหิมาลัย เคมีในร่างกายค่อยๆ เปลี่ยน ความคิดที่ว่าติดลูกติดสามี ทำให้เราเปลี่ยน ไปไหนคนเดียวได้ มีความสุขมากขึ้น และเราไม่เคยรู้สึกว่าข้างในเราแก่ตรงไหน เราขอบคุณชีวิตทุกวัน ทำไมเราเป็นคนที่มีความสุขตื่นขึ้นมาแล้วยังเดินได้ ไม่อยากได้อะไรมากกว่านี้ แค่ลุกจากเตียงแล้วเก็บผ้าห่ม ออกมาเดินจงกรม 40 นาที แล้วนั่งสมาธิเพื่ออยู่กับตัวเอง มีเคล็ดลับว่า จะดื่มไวน์วันละแก้วตอนสี่โมง ดื่มแบบรื่นรมย์"
เมื่อเข้าใจว่า ชีวิตไม่ได้มีอะไรซับซ้อน เราไปยึดติดความคิดเอง ความสุขง่ายขึ้น วดีลดา เล่าต่อว่า รู้สึกชอบชีวิตตัวเองมากขึ้น รู้สึกเป็นสิ่งที่น่ารัก น่าทนุทนอม เมื่อก่อนไม่ได้คิดแบบนี้ คิดว่าต้องทนุทนอมลูกและสามีเท่านั้น
“เมื่อใดคิดปรุงแต่งเรื่องอะไร เราก็จะรู้ว่าออกมาจากลิ้นชักไหน จิตไวมาก เมื่อก่อนมาตรฐานสูง คาดหวังสูง ชอบมีข้ออ้างว่าเราเคี้ยวเข็นลูก เรามีมายเซ็ตว่า เราเป็นแม่ที่หวังดี ช่วงวัยหนึ่ง เราเหมือนใส่เสื้อเกราะออกรบ แต่พอวางลงก็เปลี่ยน"
- ความสุขที่เลือกได้ "วดีลดา"
คนเกษียณมากมาย มักบอกว่า เกษียณแล้วไม่มีอะไรทำ แต่สำหรับวดีลดามีเรื่องที่อยากทำเยอะมาก ถ้าเราเลี้ยงหมา ก็ต้องเกลาคอหมา มีเวลาก็ทำงานบ้านเอง จากคนไม่เคยจับไม้กวาดเหมือนเป็นทอม ทุกคนไม่อยากใช้งานเรา เพราะทำอะไรไม่เรียบร้อย เริ่มซักผ้า รีดผ้า สิ่งที่ตามมาคือแข็งแรง ไม่รู้สึกเสียเวลา เวลารีดผ้า ใจอยู่ที่ไหน มือก็อยู่ที่นั่น
“ในชีวิตคนเราต้องมีสักอย่างที่ทำให้เรารู้สึกกระดี๊กระด๊า อะดรีนาลีนหลั่ง แต่ละคนต้องหาเอง ตอนนี้เขียนหนังสือรู้สึกเหนื่อยมาก ใช้พลังในการเปิดปิดโลกความเป็นจริงและโลกของพลัง ไม่เหมือนสมัยสาวๆ เลี้ยงลูกด้วย ปลุกนาฬิกาตี 3 มาเขียนนิยายให้นิตยสารดิฉัน แพรว และลลนา”
ในชีวิตเขียนหนังสือมากว่า 20 เล่ม ตอนนี้งานเขียนเป็นงานอดิเรก ผลงานก็ขายทางออนไลน์ และกำลังจะมีผลงานหนังสือ 3-4 เล่ม
“ตอนนี้เขียนนิยายคาไว้ สามีเก่าไม่สบายต้องไปดูแล และสามีเก่าสามีใหม่ก็เข้ากันได้ดีกว่าดิฉัน อุ๋มเป็นคนแก่ที่ไฮเปอร์มาก ตอนนี้เขียนไว้ในออนไลน์ เพจวดีลดา เพียงศิริ นิยายเล่าเรื่องผี ก็เราเจอผีเป็นอาจิณ อีกเรื่อง สามเมืองในอินเดียไม่เหมือนเมืองอื่น ประสบการณ์การเดินทางและเรื่องราวประวัติศาสตร์นิดหน่อย,อีกเล่ม หิมาลัยยอมให้กอด และอีกเล่ม ความสุขของทะเล เล่าถึงการเดินทางการทำขนมของเชฟเต้น(ลูกสาว) เล่าตั้งแต่จบม.6 ไม่ยอมเรียนมหาวิทยาลัย แล้วไปเรียนทำขนม เราสอนลูกว่า ถ้าชอบอะไรต้องรับผิดชอบสิ่งนั้น ”
นั่นเป็นมุมดีๆที่วดีลดาเล่าให้ฟัง มีทั้งช่วงสุขและทุกข์ โดยเฉพาะช่วงที่หมาตาย เธอตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าพักหนึ่ง แต่ก็ปลดล็อคตัวเอง
“ฝังหมาไปแล้ว เริ่มจะเป็นซึมเศร้า ตอนนั้นมีตั๋วการบินไทยไปปารีส 12,000 บาท แอบซื้อไว้ไม่บอกใคร พอจะเดินทางก็บอกสามีกับลูกคืนนั้น จะไปปารีสคนเดียวสองอาทิตย์ กลับมาเขียนเรื่อง จดหมายถึงโจ เจ้าหมาขาสั้น เอาเงินไปช่วยหมาแมวจรจัดเกือบแสนบาท”
- วดีลดา : ไม่อยากให้คนเห็นแต่ข้อดีของความรัก
เหมือนเช่นที่กล่าวมา พอปลดล็อคตัวเองได้ระดับหนึ่ง การออกไปดูโลกคนเดียวบ้างในบางโอกาส ก็เป็นอีกทางเลือกที่มีความสุข รวมถึงการทำกิจกรรมเพื่อสังคม การเป็นที่ปรึกษาให้กลุ่มทำงานเพื่อสังคม
“เราเป็นสี่คนในครอบครัวที่สนิทกันมาก แม้ลูกจะอายุ 30 กว่าๆ ลูกชายยังนอนตักแม่ให้แม่แคะขี้หู เราเคยติดยึด เอาความสุขทั้งหมดของเราไปอยู่กับสามีและลูก
สามีก็อยู่กับหนังสือทั้งวัน ลูกสองคนก็บ้างาน แรกๆ ก็ซึมเศร้า เพราะติดลูก อยู่กับลูกสนุกมาก แต่ตอนนี้เราเข้าใจแล้ว ความรักความผูกพันก็ยังเหมือนเดิม
ตอนนั้นน้อยใจลูก เรียกร้อง ต่อว่า ประชดประชัน ทำทุกอย่างที่นางอิจฉาทำ พอผ่านกระบวนการลอกคราบที่เจ็บปวด ตั้งแต่ไปหิมาลัยครั้งนั้น เริ่มไปไหนคนเดียวได้ อยู่คนเดียวก็มีความสุขได้
กว่าจะหลุดจากการยึดติดลูกๆ ต้องเห็นจริงๆ ก่อนว่า ยิ่งรักเขามาก ก็ทุกข์มาก โลกมีสองด้านเสมอ คือไม่มีอะไรเลยที่จะทำให้เราทุกข์เท่ากับเรื่องลูก
และไม่มีอะไรทำให้เราชุ่มชื่นใจได้เท่ากับลูก อย่างลูกชายอุ๋ม มีวันหนึ่งเพื่อนสนิทลูกจมน้ำตาย เขาโทรหาเราเป็นคนแรก เป็นความรู้สึกที่ดีมากที่เขานึกถึงแม่ "
ถ้าถามว่า ชีวิตที่เหลืออยากทำอะไรอีกไหม เธอบอกว่า สิ่งที่ปรารถนาอยากทำ ได้ทำทุกวันแล้ว เขียนหนังสือ ไม่อยากให้ใครมาโง่ ไม่อยากให้ใครมาทุกข์เหมือนที่เราเคยเป็น ไม่อยากคนเข้าใจผิดเห็นแต่ข้อดีของความรัก ไม่เห็นอีกด้านของเหรียญ
"นอกจากเขียนหนังสือ ยังให้คำปรึกษากลุ่มทำงานเพื่อสังคม สภาลมหายใจ ช่วยหาเงินในการอนุรักษ์ต้นยาง เอื้อประโยชน์ให้กัลยาณมิตรใช้บ้านเป็นที่ประชุม
และเปิดบ้านหลังใหญ่ ทำเป็นแกลอรี่แสดงภาพ โดยไม่ได้คิดเชิงธุรกิจ และกิจกรรมทางธรรม เชิญผู้รู้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน รวมถึงดูแลให้คำปรึกษาผู้ป่วยระยะสุดท้าย"
เหมือนเช่นที่เธอบอกว่า ชีวิตก็เหมือนเหรียญสองด้าน กว่าจะเข้าใจความรัก ก็เคยโง่เคยทุกข์มาก่อน แต่วันนี้“วดีลดา” ขอมีความสุขง่ายๆ ในทุกวัน