‘Ethiopia Forest Coffee’ ปฏิบัติการพิทักษ์ ‘กาแฟป่า’
จากป่าสู่เมือง เล่าทุกเรื่องราวของ “กาแฟป่า” จากดินแดนกาฬทวีป “Ethiopia Forest Coffee” กาแฟป่าเอธิโอเปียที่ผูกพันกับทั้งสังคมและวัฒนธรรมและเชื่อมโยงกับการอนุรักษ์ผืนป่าด้วย
เอธิโอเปีย มีชื่อเสียงมายาวนานในฐานะผู้ผลิต กาแฟอาราบิก้า คุณภาพสูงที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เป็นประเทศต้นกำเนิดสายพันธุ์ กาแฟ เฉพาะถิ่นที่เติบโตตามป่าธรรมชาติอยู่มากมาย ก่อนที่สายพันธุ์เหล่านี้จะถูกนำออกไปจากดินแดนกาฬทวีปเมื่อหลายร้อยปีก่อน เข้าสู่ดินแดนโพ้นทะเลทั้งในทวีปเอเชียและอเมริกากลาง/ใต้ จนกลายเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจำนวนมหาศาลในปัจจุบัน
กาแฟในเอธิโอเปีย นั้นเป็นมิติทางสังคมที่ถักทอจนเป็นผืนผ้าแห่งวัฒนธรรมมาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว ผ่านพิธีชงกาแฟต้อนรับแขกผู้มาเยือน และด้วยคำพูดทักทายที่ใช้สื่อสารกันจนติดปากจนเป็นวิถีของคนพื้นถิ่นที่นี่ก็คือ "buna tetu" ซึ่งแปลว่า "ดื่มกาแฟ" แล้วก็ยังมีสำนวนที่ว่า "buna dabo naw" แปลว่า "กาแฟคือขนมปังของเรา" แสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญยิ่งของกาแฟในฐานะแหล่งสร้างรายได้หล่อเลี้ยงชีวิตที่ดำเนินมาอย่างยาวนานในระบบเศรษฐกิจ
แต่มาวันนี้ กาแฟป่าในเอธิโอเปีย (Ethiopia Forest Coffee) ในพื้นที่ราว 400,000 ไร่ เดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เป็นจุดที่ต้องรีบหาแนวตั้งรับเมื่อเผชิญเข้ากับภัยคุกคามครั้งใหญ่ในอนาคต จากสภาพแปรปรวนของอากาศที่เรียกกันว่า "ภาวะโลกร้อน" ที่เป็นปัญหาใหญ่ที่หลายฝ่ายกำลังช่วยกันแก้ไข
ย้อนกลับไปในอดีต กาแฟป่าสายพันธุ์อาราบิก้าจากเอธิโอเปียถูกค้นพบครั้งแรกในศตวรรษที่ 6 จนเริ่มได้รับความนิยมในฐานะตัวกระตุ้นความสดชื่น แก้อาการง่วงเหงาหาวนอน ทำให้ “กาแฟป่า” ถูกเก็บเกี่ยวโดยคนพื้นเมืองแล้วขายให้พ่อค้าชาวอาหรับที่ส่งเมล็ดกาแฟข้ามทะเลแดงไปยัง ท่าเรือมอคค่า ในเยเมนิอีกทอด เพื่อจำหน่ายภายในคาบสมุทรอาระเบีย
ต่อมา ชาวดัทช์เป็นผู้ลักลอบนำ “กาแฟ” ซึ่งเป็นสินค้าต้องห้ามออกไปปลูกยังดินแดนอาณานิคมโพ้นทะเลเมื่อปีค.ศ. 1600 จนมีการแยกแยะกาแฟดังกล่าวออกเป็น 2 สายพันหลักๆ ได้แก่ ทิปปิก้า (Typica) กับ เบอร์บอน (Bourbon) ไม่นานนัก กาแฟ 2 สายพันธุ์นี้ได้แตกลูกแตกหลานเป็นกาแฟเชิงพาณิชย์อีกจำนวนมาก ผ่านทางการพัฒนาโดยมนุษย์หรือกลายพันธุ์ตามธรรมชาติ
เอธิโอเปียตั้งอยู่ในเขต "จะงอยแห่งแอฟริกา" (Horn of Africa) เป็นประเทศผู้ผลิตกาแฟเป็นอันดับ 5 ของโลก มีสถานะเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่สุดในแอฟริกา มีปริมาณการส่งออกราว 230,000 ตัน ในปีค.ศ. 2018 คิดเป็นมูลค่าราว 862 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินรายได้ถึง 1 ใน 4 ของรายได้จากการส่งออกทั้งหมด และในจำนวนประชากรกว่า 100 ล้านคนนั้น มีอยู่ถึง 15 ล้านคนที่ทำงานอยู่ในตลาดธุรกิจกาแฟไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ปัจจุบัน “เอธิโอเปีย” แบ่งรูปแบบการผลิตกาแฟออกเป็น 3 แบบตามแหล่งผลิต คือ
- กาแฟป่า (Forest Coffee) เป็นกาแฟที่เติบโตขึ้นเองในป่าธรรมชาติ มีคนท้องถิ่นในพื้นที่เข้าไปเก็บเอามาขายเช่นเดียวกับผลไม้ป่าอื่นๆ
- กาแฟสวน (Garden Coffee) เป็นสวนกาแฟขนาดเล็กที่ปลูกควบคู่ไปกับพืชผักอื่นๆ เป็นรูปแบบผลิตส่วนใหญ่ของประเทศ
- กาแฟไร่ (Plantation Coffee) ปลูกกาแฟกันเป็นไร่ขนาดใหญ่ ทว่ามีจำนวนไม่มากนัก
กาแฟที่ปลูกกันตามสวนกาแฟโดยเกษตรกรรายเล็กๆ นั้น มีประมาณ 40 สายพันธุ์ ได้รับการปรับปรุงสายพันธุ์เพื่อให้ทนทานต่อโรคและให้ผลผลิตสูงโดยศูนย์วิจัยพันธุ์พืชจิมม่า (JARC) ทำให้กาแฟเหล่านี้มีชื่อเรียกกันว่า "สายพันธุ์เจเออาร์ซี" ส่วนกาแฟที่เติบโตตามป่าเอธิโอเปียนั้น ตามข้อมูลบอกว่ามีมากกว่า 10,000 สายพันธุ์ แล้วส่วนใหญ่ก็ยังไม่มีการจำแนกพันธุกรรมของกาแฟอย่างเป็นเรื่องเป็นราว
ประมาณการกันว่า ราว 45 เปอร์เซ็นต์ ของตัวเลขการผลิตกาแฟทั้งระบบนั้น เป็นส่วนกาแฟที่เก็บเกี่ยวจากในป่าธรรมชาติ
ส่วนโซนปลูกกาแฟนั้นแบ่งออกเป็นหลายโซนด้วยกันตั้งแต่ ซิดาโม (Sidamo), เยอร์กาเชฟ (Yirgacheffe), ลิมู (Limu), จิมมา (Jimma), ฮาร์รา (Harrar), ดีจิมา (Djima), กูจิ (Guji ), เกนนิก้า (Genika), คาฟฟา (Kaffa), เบนช์มาจิ (BenchMaji), บาเล (Bale) ไปจนถึง เลเคมติ (Lekempti)
เนื่องจากไม่มีข้อมูลด้านพันธุกรรมของกาแฟ ทำให้บริษัทต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาซื้อ "กาแฟพิเศษ" (specialty coffee) ในเอธิโอเปีย กำหนดความแตกต่างของกาแฟโดยใช้โซนปลูก, ระดับความสูง และคะแนนคัปปิ้งสกอร์ เป็นสำคัญ ดังนั้น เมื่อไม่รู้ว่าเป็นกาแฟสายพันธุ์ไหน เลยเหมาเรียกรวมๆ เหมือนกันว่า "แฮร์ลูม" (Heirloom ) ที่ภาษาอังกฤษ แปลว่า “มรดกสืบทอด”
ในฉลากกาแฟจากเอธิโอเปีย เรามักจะเห็นคำว่า แฮร์ลูม คำนี้จึงไม่ได้หมายถึงพันธุ์กาแฟ แต่หมายถึงกาแฟพันธุ์ "ดั้งเดิม" ที่พบและปลูกกันในเอธิโอเปีย ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นสายพันธุ์ไหนในจำนวนกว่า 10,000 สายพันธุ์ อาจเป็นกาแฟป่า หรือผสมรวมๆ กันมาก็ได้ ขึ้นอยู่กับการจำแนกแยกแยะระหว่างโพรเซส และการให้ข้อมูลรายละเอียดของผู้ปลูกแต่ละรายแต่ละไร่ อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่า เกษตรกรท้องถิ่นก็มีคำเรียกชนิดของต้นกาแฟในภาษาตนเอง ส่วนใหญ่เป็นชื่อเรียกที่ตั้งขึ้นตามลักษณะทางกายภาพของต้นกาแฟนั้นๆ
อย่าง "กาแฟวูชวูช" (WushWush) ที่เริ่มได้รับความนิยมในตลาดโลก รวมทั้งธุรกิจกาแฟไทยเราก็นำเข้ามาคั่วขายในแบบ “กาแฟพิเศษ” จัดเป็นกาแฟที่ค่อนข้างหายากและผลผลิตมีจำนวนน้อย ชื่อเรียกก็มาจากโซนหรือสถานที่ที่พบเป็นครั้งแรกเช่นเดียวกับกาแฟเอธิโอเปียตัวอื่นๆ โดยแหล่งปลูกกาแฟตัวนี้ อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเอธิโอเปีย ไม่ไกลจากโซนปลูกจิมมาและซิดาโมเท่าใดนัก
และเช่นเดียวกับสายพันธุ์กาแฟที่มีชื่อเสียงของโลกระดับนางงามจักรวาลอย่าง "เกสชา/เอิชา" (Geisha) ซึ่งมีถิ่นกำเนิดมาจากเอธิโอเปีย “กาแฟวูชวูช” ถูกนำเข้าไปยังอเมริกาใต้ราว 30 ปีก่อนหน้านี้ ปัจจุบันปลูกกันอยู่ในโคลอมเบีย
เมื่อไม่กี่ปีมานี้้เอง บรรดาสายพันธุ์ “กาแฟป่า” จาก “เอธิโอเปีย” ดูเหมือนว่ากลายเป็นสายพันธุ์ที่ถูกจัดสถานะให้มีความเสี่ยงต่อการ "สูญพันธุ์" (endangered species) เป็นครั้งแรกไปเสียแล้ว หลังจากนักวิทยาศาสตร์แห่งสวนพฤกษศาสตร์หลวงเมืองคิว (Royal Botanic Gardens, Kew) ในกรุงลอนดอน ได้เผยแพร่ผลงานการวิจัยออกมาในปีค.ศ. 2019
งานวิจัยจาก "สวนคิว" ระบุว่า ภาวะโลกร้อนเป็นปัจจัยคุกคามต่อสายพันธุ์กาแฟป่าทั่วโลก ทำให้มีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ค่อนข้างสูง โดยสายพันธุ์กาแฟป่าที่ตกอยู่ในสถานการณ์นี้มีประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่ เนเจอร์ แพลนท์ส (Nature Plants) วารสารทางวิทยาศาสตร์ของอังกฤษ ระบุในงานวิจัยว่า "ปริมาณฝน" ที่ตกในช่วงฤดูแล้งของเอธิโอเปียลดลงระหว่าง 15-20 เปอร์เซ็นต์ มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ การวัดปริมาณน้ำฝนพบว่า ปริมาณฝนลดลงมากกว่า 40 นิ้วนับจากปีค.ศ. 1950 เป็นต้นมา นั่นหมายความว่า ความแห้งแล้งได้ทวีเพิ่มขึ้นทุกขณะ เอธิโอเปียอาจสูญเสียพื้นที่ปลูกกาแฟถึง 39-59 เปอร์เซ็นต์ ภายในสิ้นศตวรรษนี้ จากผลของภาวะโลกร้อน
งานวิจัยดังกล่าวได้นำไปสู่ความร่วมมือระหว่าง "รัฐบาลเอธิโอเปีย" กับ "เทคโนเซิร์ฟ" องค์กรไม่แสงผลกำไรระหว่างประเทศ จัดทำโครงการระยะ 8 ปี ชื่อว่า "หุ้นส่วนแห่งป่า” (Partnerships for Forests) เพื่อหาแนวทางอนุรักษ์กาแฟป่าเอธิโอเปีย ช่วยปกป้องผืนป่าจากภาวะโลกร้อนและปัญหาการบุกรุกตัดไม้ มีการระดมทุนผ่านทางกระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนาแห่งสหราชอาณาจักร
เป้าหมายของโครงการนี้ นอกจากจะโฟกัสไปยังการคุ้มครองผืนป่าแล้ว ยังให้ความสำคัญกับเรื่อง"การตลาดกาแฟป่า" โดยตามแผนนั้น จะมีการนำกาแฟป่าที่เก็บเกี่ยวผลโดยคนท้องถิ่น มาเข้าสู่กระบวนการแปรรูปและผลิตตามระบบของ “กาแฟพิเศษ” เพื่อออกจำหน่ายให้กับคอกาแฟในตลาดต่างประเทศด้วย
สำหรับผู้ที่ซื้อกาแฟมาดื่มนั้นจะได้รับประโยชน์ถึง 2 ทางด้วยกัน คือ หนึ่งมีส่วนร่วมในการช่วยพิทักษ์รักษาความหลากหลายทางชีวภาพของผืนป่า และสองได้ดื่มกาแฟคุณภาพดีๆ อีกด้วย
โครงการนี้ประเดิมงานชิ้นแรกด้วยการจัดทำหนังสือคู่มือหน้า 70 หน้า เนื้อหาว่าด้วยเรื่องราว “กาแฟป่าเอธิโอเปีย” ที่กำลังตกอยู่ในภาวะเปราะบางจากสถานการณ์โลกร้อนและปัญหาตัดไม้ทำลายป่า จนเป็นปัจจัยคุกคามวิถีการผลิตกาแฟแบบดั้งเดิมและชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ พร้อมกับแสดงแผนที่โซนปลูกกาแฟไว้อย่างละเอียดทีเดียว
เทคโนเซิร์ฟ เป็นเพียงหนึ่งในบรรดาหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชนระหว่างประเทศ ที่ให้ความสนใจกระโดดเข้าร่วมอนุรักษ์ “กาแฟป่าเอธิโอเปีย” แล้วสรุปสถานการณ์ สะท้อนภาพปัญหา และจัดทำโครงการช่วยเหลือออกเผยแพร่สู่สายตาชาวโลก เพราะปัจจัยลบจากภาวะโลกร้อนไม่ได้เป็นเพียงปัญหาใหญ่เพียงเรื่องเดียวของกาแฟป่าเอธิโอเปียเท่านั้น ยังมีจากปัญหาตัดไม้ทำลายป่าซึ่งมีผลคุกคามต่อทั้งผืนป่า กาแฟป่า และสิ่งมีชีวิตทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในนั้นด้วย
“เอธิโอเปีย” เป็นชาติเดียวในโลกที่มีต้นกาแฟป่าเติบโตในไพรกว้าง ใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ในผืนป่าอันกว้างใหญ่ซึ่งเป็นบริเวณที่ติดต่อกับเขตแดนประเทศซูดานใต้ เป็นป่าธรรมชาติซึ่งชาวบ้านยังคงใช้ประโยชน์จากการเดินเข้าป่าไปเก็บผลเชอรี่สุกสีแดงของกาแฟมาขาย ในลักษณะที่เรียกเข้าไป "เก็บของป่า" โดยไม่ต้องลงแรงทำไร่กาแฟแต่ประการใด
ในจำนวนป่ากาแฟ 400,000 ไร่นั้น มีบางส่วนยังคงเป็นป่ารุ่นเก่าที่ยังคงรักษาสภาพดั้งเดิมเอาไว้ได้ เช่นที่ คาฟฟา (Kaffa), เชก้า (Sheka) และเบเลเต้-เกรา (Belete-Gera) นอกจากป่าจะมีประโยชน์ในด้านการกักเก็บคาร์บอนในปริมาณสูง และเป็นแหล่งอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว ยังเป็นสถานที่ศึกษาพันธุกรรมของกาแฟอาราบิก้าดั้งเดิมอีกด้วย โดยเฉพาะในป่าของโซนคาฟฟาเพียงโซนอย่างเดียว มีกาแฟป่ามากกว่า 5,000 สายพันธุ์เข้าไปแล้ว
จะว่าไปแล้ว ป่ากาแฟในโซนคาฟฟา ห่างจากอาดดิสอาบาบา เมืองหลวงของประเทศ ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ราว 300 ไมล์นั้น ก็ถือว่ามีความสำคัญมากในระดับที่ต้องใช้คำว่า "หัวใจ" ของ “กาแฟเอธิโอเปีย” เลยก็ว่าได้ เนื่องจากเป็นจุดที่มีการค้นพบกาแฟป่าเป็นแห่งแรกของโลก หรืออีกนัยหนึ่ง นี่คือสถานที่ "นับหนึ่ง" ของเครื่องดื่มที่ต่อมาได้รับความนิยมสูงสุดไปทั่วโลก ก็คงไม่ผิดจากนี้นัก
ที่ผ่านมา สาเหตุหลักของการบุกรุกพื้นที่ป่าในเอธิโอเปีย มาจากการขยายพื้นที่ทำเกษตรกรรมและความต้องการไม้เพื่อทำเชื้อเพลิง ส่งผลให้พื้นที่ป่าธรรมชาติรวมไปถึงป่ากาแฟ ลดลงไปถึง 1 ใน 3 อย่างไรก็ตาม ป่ากาแฟที่หลงเหลืออยู่ยังคงมีชาวบ้านเข้าไปเก็บผลกาแฟสุก แล้วขายให้คนซื้อในราคาที่ต่ำมาก ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว “กาแฟป่าเอธิโอเปีย” ถือว่ามีคุณภาพสูง เป็นที่ปรารถนาของตลาด “กาแฟพิเศษ” ทั่วโลก
กาแฟจากเอธิโอเปียมีชื่อเสียงมากในเรื่องกลิ่นรสโทน "ผลไม้&ดอกไม้" เมื่อดื่มแล้วรับรู้ได้ถึงความหอมเหมือนกลิ่นดอกไม้แห้ง รสชาติหวานอมเปรี้ยวนิดๆ ให้ความสดชื่นและกระชุ่มกระชวย จึงเป็นที่ต้องการของคอกาแฟเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ คาเฟ่แนวกาแฟพิเศษทุกร้านทั่วโลกหนีไม่พ้นที่จะต้องมีกาแฟจากเอธิโอเปียอย่างน้อยหนึ่งตัวมาประดับเป็นเมนูหลักเพื่อเรียกลูกค้าเข้าร้าน
บรรดาผู้ทำโครงการอนุรักษ์ “กาแฟป่าเอธิโอเปีย” เองก็ตั้งความหวังเอาไว้ว่า เมื่อชาวบ้านได้รับประโยชน์มากขึ้นจากการเก็บผลสุก “กาแฟป่า” มาขาย จะเป็นแรงดึงดูดใจให้ช่วยกันปกป้องผืนป่าและกาแฟป่าที่หลงเหลืออยู่
“กาแฟเอธิโอเปีย” มีต้นกำเนิดจากป่า เป็นต้นทางของกาแฟที่ปลูกกันเป็นไร่อย่างในปัจจุบัน ไม่น่าเชื่อ...จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ก็ยังมีต้นกาแฟป่าหลงเหลืออยู่ที่นั่นตรงที่มันเกิดแรกๆ ยืนต้นแผ่กิ่งก้าน ออกดอกออกผล ภายใต้ร่มไม้ใหญ่ในผืนป่าที่มีความพิเศษเฉพาะตัว และเต็มไปด้วยทรัพยากรอันทรงคุณค่า เป็นแหล่งหล่อเลี้ยงครอบครัวชาวพื้นเมืองนับพันๆครอบครัว นี่ยังไม่นับรวมไปถึงความสำคัญในฐานะที่เป็นเสมือนธนาคารเก็บรวบรวมพันธุกรรมของสายพันธุ์กาแฟดั้งเดิม
...จึงควรค่าแก่การสงวนรักษาเอาไว้ให้เป็นสมบัติแห่งมวลมนุษยชาติเพื่อศึกษาและใช้ประโยชน์สืบต่อไปในอนาคต