'ผ้าอนามัยแบบสอด' มือใหม่ใช้ให้ถูกวิธี พร้อมเช็คข้อดี-ข้อเสีย

'ผ้าอนามัยแบบสอด' มือใหม่ใช้ให้ถูกวิธี พร้อมเช็คข้อดี-ข้อเสีย

จากกรณี "ผ้าอนามัยแบบสอด" ประกาศให้เป็น "เครื่องสำอาง" โดย อย. ออกมายืนยันแล้วว่าไม่มีการเก็บภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยเพิ่ม ทั้งนี้ชวนสาวๆ มือใหม่ มารู้จักผ้าอนามัยชนิดนี้ให้มากขึ้นว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไร

จากกรณีกฎกระทรวงกำหนดให้ "ผ้าอนามัยแบบสอด" เป็น "เครื่องสำอาง" โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค. 2564 นั้น อย. ได้ออกมาชี้ชัดแล้วว่า "ผ้าอนามัย" ทั้งแบบใช้ภายนอกและชนิดสอด ถูกจัดเป็นเครื่องสำอางตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอางมาโดยตลอด 

ต่อมามีการออก พ.ร.บ. เครื่องสำอาง ฉบับ พ.ศ.2558 ที่มีผลบังคับใช้ ได้กำหนดนิยามของเครื่องสำอางให้ใช้เฉพาะภายนอกร่างกาย จึงทำให้ "ผ้าอนามัยแบบสอด" ไม่เข้าข่ายเป็น "เครื่องสำอาง" เนื่องจากไม่สอดคล้องกับคำนิยามดังกล่าว 

แต่เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค กระทรวงสาธารณสุข จึงเห็นสมควรออกกฎกระทรวงให้ผ้าอนามัยชนิดสอดเป็นเครื่องสำอางดังเดิม เพราะจะได้มีการกำกับดูแลให้ผลิตภัณฑ์ได้มาตรฐานความปลอดภัยแก่ประชาชน

ทั้งนี้ การจะหาซื้อผ้าอนามัยแบบสอดมาใช้ (โดยเฉพาะมือใหม่) ควรศึกษาให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อ เพราะมีลักษณะการใช้งานแตกต่างจากผ้าอนามัยแบบแผ่น ทั้งมีข้อดีและข้อเสียที่ควรพิจารณาให้ถี่ถ้วน รวมถึงต้องรู้วิธีใช้ให้ถูกต้องด้วย กรุงเทพธุรกิจออนไลน์จึงได้รวบรวมข้อควรรู้ต่างๆ มาฝากกัน ดังนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

1. "ผ้าอนามัยแบบสอด" VS "ผ้าอนามัยแผ่น" ต่างกันยังไง?

ผ้าอนามัยแบบสอด มีลักษณะเป็นแท่งคล้ายแท่งสำลีอัดแข็ง และมีเชือกติดอยู่ที่ส่วนปลาย หลักการใช้งานคือ จะสอดผ้าอนามัยชนิดนี้เข้าไปภายในช่องคลอดสำหรับซับเลือดประจำเดือน เมื่อใช้งานเสร็จก็ดึงเชือกเพื่อนำผ้าอนามัยออกมา ต่างจากผ้าอนามัยแบบแผ่น ที่ใช้งานโดยติดไว้กับกางเกงในเพื่อซับเลือดประจำเดือนที่ไหลออกมานอกช่องคลอด

ผ้าอนามัยแบบสอดในท้องตลาดส่วนใหญ่ ผู้ผลิตจะมี "อุปกรณ์ช่วยสอด" ให้มาด้วย (แต่บางยี่ห้อก็ไม่มีให้) ลักษณะเป็นแท่งพลาสติกขนาดเล็ก อยู่ในบรรจุภัณฑ์ ใช้สำหรับดันผ้าอนามัยเข้าไปในช่องคลอด นอกจากนี้ ผ้าอนามัยแบบสอดยังมีหลายขนาดให้เลือก ทั้งชนิดหนาและบางตามปริมาณประจำเดือน (มาน้อย/มามาก) ของผู้หญิงแต่ละคน

2. รู้ข้อดี-ข้อเสีย "ผ้าอนามัยแบบสอด" ก่อนจะซื้อมาใช้

*ข้อดี*

  • ให้ประสิทธิภาพที่ดีกว่าหากต้องเล่นกีฬาหรือกิจกรรมกลางแจ้ง เพราะช่วยเรื่องความคล่องตัว และไม่อึดอัดเหมือนการใช้ผ้าอนามัยแบบแผ่น
  • สามารถใช้ขณะทำกิจกรรมทางน้ำได้ เช่น ว่ายน้ำ ดำน้ำ
  • สะดวกต่อการพกพา เนื่องจากมีขนาดเล็กกว่าผ้าอนามัยชนิดแผ่น

*ข้อเสีย*

เสี่ยงต่อการติดเชื้อรุนแรง และก่อให้เกิดกลุ่มอาการ "ท็อกซิกช็อก" ที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยกลุ่มอาการท็อกซิกช็อก (Toxic Shock Syndrome: TSS) คือ การติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นผลข้างเคียงที่อันตรายที่สุดในการใช้ผ้าอนามัยแบบสอด แม้จะเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้น้อยมาก แต่อาจถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้

สาเหตุของภาวะดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นจากพิษของเชื้อแบคทีเรีย "สแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส" (Staphylococcus Aureus) กลุ่มเอ ที่มีความรุนแรง ซึ่งเกิดขึ้นได้กับผู้ที่ใช้ผ้าอนามัยแบบสอดที่ใช้ค้างไว้นานๆ โดยไม่เปลี่ยนใหม่ จนก่อให้เกิดการติดเชื้อ และเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดได้ในที่สุด โดยมักจะมีอาการป่วย ดังนี้

  • ไข้สูงเฉียบพลัน
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • ท้องเสีย หรืออาเจียนอย่างรุนแรง
  • มีผื่นคล้ายถูกแดดเผาขึ้นบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า
  • ปวดศีรษะ เกิดอาการมึนงง ปวดกล้ามเนื้อ
  • ตา ปาก และคอแดงผิดปกติ
  • หากรุนแรงจะเกิดอาการชัก และอาจเสียชีวิตได้

162704450541

3. วิธีใช้ "ผ้าอนามัยแบบสอด" ที่ถูกต้อง

การใช้ผ้าอนามัยแบบสอดได้อย่างถูกต้องนั้น จะต้องไม่เจ็บขณะสวมใส่ รู้สึกสะดวกสบายและคล่องตัวมากขึ้น ในเบื้องต้น หากเพิ่งเริ่มใส่เป็นครั้งแรกควรเลือกชนิดบาง เพื่อไม่ให้เจ็บหรืออึดอัดมากนัก ซึ่งวิธีการสวมใส่ที่ถูกต้อง มีดังนี้

  • ล้างมือให้สะอาดก่อนใส่ผ้าอนามัยทุกครั้ง
  • นั่งหรือยืนในท่าที่สะดวกต่อการใส่ หากยืนควรให้ขาข้างหนึ่งวางอยู่บนที่ที่สูงกว่า เช่น บนชักโครก หากนั่งให้หย่อนก้นไปข้างหลังเยอะๆ เพื่อเปิดช่องคลอดได้ง่ายขึ้น
  • ใช้มือข้างที่ไม่ถนัด แหวกเปิดอวัยวะเพศ แล้วใช้มือข้างที่ถนัดสอดผ้าอนามัยเข้าไป แล้วค่อยๆ ดันผ้าอนามัยเข้าไปในช่องคลอดให้ลึกประมาณ 1-2 นิ้ว ให้ปลายเชือกห้อยอยู่ด้านนอก
  • หากใช้อุปกรณ์ช่วยใส่ผ้าอนามัย ให้ดันอุปกรณ์เข้าไปจนถึงจุดที่มีเครื่องหมายกำหนดไว้ จากนั้นดันแกนของอุปกรณ์เพื่อให้ผ้าอนามัยเข้าไปอยู่ภายในช่องคลอด จากนั้นนำอุปกรณ์ออก ให้ปลายเชือกห้อยอยู่ด้านนอก

4. ใส่ผ้าอนามัยแบบสอด ปัสสาวะยังไง?

แม้ว่าผ้าอนามัยแบบสอดจะต้องสอดเข้าไปภายในอวัยวะเพศ แต่ก็จะไม่ไปขวางช่องทางเดินปัสสาวะแต่อย่างใด แต่ก็อาจมีโอกาสที่เชือกที่ยื่นออกมานั้น อาจจะโดนปัสสาวะได้ ดังนั้นเวลาปัสสาวะจึงต้องจับปลายเชือกไว้เพื่อไม่ให้เลอะเทอะ

ทั้งนี้ การปัสสาวะขณะใส่ผ้าอนามัยแบบสอดนั้น ถือเป็นเรื่องที่ปลอดภัย ตราบใดที่ไม่ได้อยู่ในภาวะติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ แต่หากอยู่ในภาวะดังกล่าวอาจมีความเสี่ยง จากการที่ปัสสาวะกระเด็นไปโดนเชือกของผ้าอนามัยและเกิดการติดเชื้อ แต่เกิดขึ้นได้น้อยมาก

5. วิธีใช้ผ้าอนามัยแบบสอดให้ปลอดภัย

นอกจากรู้วิธีการใช้งานให้ถูกต้องแล้ว ก็ต้องรู้วิธีใช้ให้ปลอดภัยด้วย เพื่อหลีกเสี่ยงความเสี่ยงที่จะเกิดอาการ "ท็อกซิกช็อก" (Toxic Shock Syndrome: TSS) ที่กล่าวไปข้างต้น โดยมีข้อควรรู้ดังนี้ 

  • เปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย ๆ อย่างน้อยทุก 4-6 ชั่วโมง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าอนามัยแบบสอดที่ดูดซึมได้มากเป็นพิเศษ
  • เมื่อแกะผ้าอนามัยออกจากห่อแล้ว ควรรีบใช้ทันที
  • ล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง ก่อนหรือหลังใส่ผ้าอนามัย
  • ดูแลและรักษาความสะอาดอวัยวะเพศให้มากขึ้นในช่วงมีประจำเดือน
  • ห้ามใส่ผ้าอนามัยแบบสอดเมื่อไม่ได้อยู่ในช่วงมีประจำเดือน
  • ไม่ควรใส่ผ้าอนามัยแบบสอดเวลานอนกลางคืน (มักจะขี้เกียจลุกขึ้นมาเปลี่ยน)
  • หากประจำเดือนมาน้อย ควรเปลี่ยนมาใช้ผ้าอนามัยชนิดแผ่นแทน

-------------------------

อ้างอิง : pobpad