‘ญี่ปุ่น’ รีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ 78,985 ตัน ทำ ‘เหรียญ’ รางวัล ‘โอลิมปิก’ 2020
“ญี่ปุ่น” ระดมขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วประเทศรีไซเคิลทำ “เหรียญ” ทอง เงิน ทองแดง โชว์จิตสำนึกเพื่อสิ่งแวดล้อมผ่านการจัดการแข่งขันกีฬา “โอลิมปิก”
เหรียญรางวัลประเภท เหรียญทอง เหรียญเงิน และ เหรียญทองแดง ที่มอบให้นักกีฬาในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก เกมส์ 2020 ไม่เพียงแต่เป็นตัวแทนเกียรติยศของนักกีฬา แต่ยังเป็นโอกาสสำหรับประเทศญี่ปุ่นได้แสดงถึงวัฒนธรรมและความตั้งใจในการสร้างสรรค์ “สังคมสีเขียว” เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมให้โลกรับรู้
คณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกแห่งโตเกียว หรือ “โตเกียว 2020” ได้จัดตั้ง โครงการเหรียญโตเกียว 2020 ขึ้นมาเป็นการเฉพาะกิจ รวบรวมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กจากทั่วประเทศมาผ่านกระบวนการรีไซเคิลเพื่อผลิตเป็นเหรียญรางวัลอันทรงคุณค่า
โครงการนี้ทำให้ “โตเกียว 2020 เกมส์” เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่เปิดโอกาสให้ “พลเมือง” มีส่วมร่วมผลิตเหรียญรางวัล และเป็นเหรียญรางวัลที่ผลิตด้วยวัสดุรีไซเคิลทั้งหมด เนื่องจากโอลิมปิกที่ “ริโอ 2016” และ “แวนคูเวอร์2010” มีเพียงบางส่วนของเหรียญรางวัลที่มีองค์ประกอบจากการรีไซเคิลอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
เหรียญรางวัลทั้งหมดประมาณ 5,000 เหรียญ (ทั้งเหรียญทอง เหรียญเงิน เหรียญทองแดง) ใน “โตเกียว 2020 เกมส์” ล้วนทำจาก โลหะรีไซเคิลจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก ที่ชาวญี่ปุ่นทั่วประเทศบริจาคผ่านองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น จำนวน 78,985 ตัน และ โทรศัพท์มือถือ อีก 6.1 ล้านเครื่องที่บริจาคผ่านร้าน NTT Docomo จากการเปิดรวบรวมระหว่างเดือนเมษายน 2017 ถึงเดือนมีนาคม 2019
เหรียญรางวัลโอลิมปิก "โตเกียว 2020 เกมส์" มีลักษณะ คล้ายก้อนหิน ที่ได้รับการขัดจน ขึ้นเงา และ เปล่งประกาย ตรงตามคอนเซปต์การออกแบบเหรียญที่ต้องการสื่อความหมายว่า “เพื่อหนทางแห่งความรุ่งโรจน์ นักกีฬาต้องพยายามอย่างหนักในการฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ” เปรียบเสมือนการเชิดชูความสามารถและการทุ่มเทของนักกีฬา
ส่วนด้านหน้าและด้านหลังของ เหรียญรางวัล ได้รับการออกแบบให้มีองค์ประกอบครบตามข้อกำหนดของ “คณะกรรมการโอลิมปิกสากล” ซึ่งประกอบไปด้วย
- Nike (นีเคย์) เทพีแห่งชัยชนะของชาวกรีก รูปสลักที่ตั้งอยู่ด้านหน้าของ พานาธิไนกอส (Panathinaikos) สนามกีฬาหินอ่อนโบราณในกรุงเอเธนส์
- ชื่อการแข่งขันอย่างเป็นทางการของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 32
- สัญลักษณ์ 5 ห่วงวงกลมของโอลิมปิก
เหรียญรางวัล “โตเกียว 2020 เกมส์” มีขนาด ดังนี้
- เส้นผ่าศูนย์กลาง 85 มิลลิเมตร
- ส่วนที่บางที่สุด 7.7 มิลลิเมตร
- ส่วนที่หนาที่สุด 12.1 มิลลิเมตร
- น้ำหนัก : เหรียญทอง 556 กรัม มีทองคำไม่น้อยกว่า 6 กรัม, เหรียญเงิน (เงินแท้) 550 กรัม, เหรียญทองแดง (red brass : ทองแดง 95% สังกะสี 5%) 450 กรัม
- ด้านข้างของเหรียญ สลักชื่อประเภทกีฬาเป็นภาษาอังกฤษ
ริบบิ้น ที่ใช้สำหรับคล้องเหรียญรางวัล ยังคงแสดงให้เห็นวัฒนธรรมประจำชาติญี่ปุ่นและจุดมุ่งหมายสู่การเป็น “สังคมสีเขียว” สายริบบิ้นผลิตจาก “เส้นใยโพลิเมอร์รีไซเคิล” ที่กระบวนการผลิตใช้เทคโนโลยีลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่สิ่งแวดล้อม
บนสายริบบิ้นประดับลายตารางสี่เหลี่ยมแบบญี่ปุ่นโบราณสมัยเอโดะที่มีชื่อว่า ichimatsu moyo (อิชิมัตสึ โมโย) ซึ่งเป็นแนวคิดหลักในการออกแบบ “ตราสัญลักษณ์ Tokyo 2020 Games” และลายกราฟิกร่วมสมัยที่จำลองรูปทรงมาจาก kasane หรือการซ้อนกันของเครื่องแต่งกายแบบกิโมโน
แม้กระทั่ง ตลับเก็บเหรียญรางวัล ก็ได้รับการออกแบบโดยมีแรงบันดาลใจจากตราสัญลักษณ์ “โตเกียว 2020 เกมส์” โดยคำนึงถึงผู้เข้าร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิกซึ่งประสบความสำเร็จสูงสุด
ช่างหัตถกรรมชาวญี่ปุ่นผสมผสานงานหัตถศิลป์ญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมและเทคนิคสมัยใหม่เข้าด้วยกัน เพื่อทำ “ตลับเก็บเหรียญรางวัล” ที่มีความแตกต่างกันทุกตลับ
ตลับเก็บเหรียญรางวัลครั้งนี้ทำด้วย “ไม้” ย้อมสีคราม ฝาตลับประดับตราสัญลักษณ์ “โตเกียว 2000 เกมส์” พร้อมคำว่า Tokyo 2020 และสัญลักษณ์โอลิมปิก ห่วงวงกลม 5 ห่วงคล้องกัน แต่ ลวดลายเนื้อไม้บนฝาตลับ จะทำให้ทุกตลับมีลวดลายเป็นของตัวเองไม่ซ้ำกัน เช่นเดียวกับนักกีฬาซึ่งลงสู่สนามแข่งขัน แต่ละคนก็มีบุคลิกลักษณะเป็นของตนเองแตกต่างกันไปนั่นเอง
ขณะที่ ถาดเชิญเหรียญรางวัล ยังคงคอนเซปต์รักษ์โลก ทำจากวัสดุที่ผ่านการรีไซเคิลมาจาก เธอร์โมพลาสติกโพลิเมอร์ (thermoplastic polymer) หรือพลาสติกที่อ่อนตัวและเปลี่ยนรูปร่างเมื่อโดนความร้อน โดยรูปทรงของถาดประยุกต์มาจากรูปลักษณ์ พัดญี่ปุ่นโบราณ
ขอบคุณข้อมูลจาก : olympics.com/tokyo-2020
* * * * *
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โพเดียม ‘โอลิมปิก 2020’ สวยงามมากกว่าที่ตามองเห็น
'โอลิมปิก 2020' จารีต ‘เครื่องแต่งกาย’ ญี่ปุ่น ใน ‘Costume’ ผู้เชิญเหรียญ