‘จีน’ พลิกวิกฤติโควิดอย่างไร? เจาะบทเรียนโดย ‘รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น’
ถอดบทเรียน "จีน" เอาชนะวิกฤติโรคระบาดได้อย่างไร ผ่านมุมมอง "รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น" อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ชี้ชัด ชัยชนะของจีนไม่ใช่ปาฏิหาริย์ แต่คือการทำงานอย่างเป็นระบบ
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา กำลังระบาดหนักในไทย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งสูง 15,000 ราย ติดต่อกันหลายวัน ยอดผู้เสียชีวิตก็ทะลุกว่า 100 ราย รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขจึงดำเนินการควบคุมการระบาดไม่ให้ลุกลาม ด้วยมาตรการ "ล็อกดาวน์" 13 จังหวัดสีแดงเข้ม แต่จนถึงวันนี้ (29 ก.ค.) ผ่านมาเกือบ 14 วันแล้ว สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร
ล่าสุด.. มีข่าวว่า สธ. อาจจะเสนอให้ "ล็อกดาวน์" ต่ออีก 2 เดือนเพื่อควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ และผู้เสียชีวิตให้น้อยลง แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาจากผลลัพธ์ของมาตรการล็อกดาวน์ครั้งนี้ ว่าได้ผลดีหรือไม่?
อ่านเพิ่ม : สธ.เสนอ ‘ล็อกดาวน์’ ต่อ 2 เดือน คุมป่วยหนักวันละ 1,500 ราย เสียชีวิตไม่เกิน 200 ราย
ระหว่างรออัพเดทความคืบหน้าในเรื่องนี้ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนคุณมาเจาะลึกบทเรียนการพลิกวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ของ "จีน" ผ่านการวิเคราะห์ของ รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ชี้ชวนให้คิดไปพร้อมกันว่า "จีน" ที่มีประชากรติดโควิดจำนวนมาก แต่สามารถรอดพ้นจากวิกฤติโควิดได้อย่างรวดเร็ว พวกเขาทำได้อย่างไร?
1. กล้าใช้ยาแรง เจ็บแต่จบ
มาตรการต่างๆ ของจีนในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนัก เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนควบคุมสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วเกินความคาดหมาย ดร.อักษรศรี เล่าว่าความเด็ดขาดของจีน คือ "กล้าใช้ยาแรง เจ็บแต่จบ" ตอนที่จีนล็อกดาวน์อู่ฮั่น เมืองถูกปิดตาย 76 วัน มีคำสั่งให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน ไม่ให้สัญจรใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อสกัดการระบาด
เรื่องนี้ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน ลงมาบัญชาการด้วยตัวเอง ลงพื้นที่ไปอู่ฮั่นเมื่อเดือนมีนาคม 2563 ทั้งๆ ที่รู้ว่าเสี่ยง แต่ก็ไป เพื่อสร้างขวัญกำลังให้กับคนอู่ฮั่น
2. สาธารณสุขเข้มแข็ง
สาธารณสุข คือหัวใจสำคัญในการแก้วิกฤติ และรัฐบาลจีนก็ทุ่มทั้งงบฯ และสรรพกำลังต่างๆ ลงไปในด้านสาธารณสุขอย่างมาก เพราะตระหนักว่าในเวลานั้นศัตรูของชาติ คือ "โควิด-19"
นอกจากการปิดเมืองเพื่อสกัดการระบาดแล้ว ยังระดมบุคลากรทางการแพทย์ทั่วจีน ลงไปช่วยอู่ฮั่น จีนไม่มีปัญหาเตียงไม่พอ จีนไม่มีปัญหาหมอไม่พอ จีนไม่มีปัญหาบุคคลากรทางการแพทย์ไม่พอ เพราะเขาจัดการได้ดี
ผู้นำ สี จิ้นผิง รับฟังทีมแพทย์ ปรึกษาทีมผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข เพื่อหาวิธีการมาจัดการปัญหานี้ จึงเป็นที่มาของการสร้างโรงพยาบาลสนามได้อย่างรวดเร็ว
3. เร่ง "ตรวจเชิงรุก" อย่างมีประสิทธิภาพ
จีนให้ความสำคัญกับการตรวจเชิงรุกเป็นอย่างมาก แม้จะทำให้ตัวเลขที่ปรากฏมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูง แต่ก็ทำให้รัฐบาลจีนได้เห็นและเข้าใจสถานการณ์ตามความเป็นจริง เพื่อหาทางแก้ปัญหาได้ถูกจุด จีนมีวิธีการตรวจเชิงรุกที่มีประสิทธิภาพ มีอุปกรณ์ครบครัน เขาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพื่อตัดไฟแต่ต้นลม
4. ระบบการจัดเก็บของมูลประชากรทันสมัย
ด้วยกฎหมายของประเทศจีน ที่ให้อำนาจรัฐบาลในการเข้าถึงข้อมูลของประชากร ประกอบกับมีเทคโนโลยีในการเก็บและรวบรวมข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ กลายเป็นจุดแข็งในการแก้วิกฤติโควิด-19 รัฐบาลจีนเข้าถึงฐานข้อมูลของประชาชนได้เร็ว ทำให้สามารถระดมทรัพยากรทางการแพทย์ ไปจัดการในแต่ละพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ที่สำคัญ คนจีนไม่หวงข้อมูล ไม่หวาดระแวงรัฐ จึงให้ความร่วมมือดี พอรัฐบาลได้ข้อมูลประชาชนมา ก็จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์ แล้วพัฒนาเชื่อมโยงทำดาต้าแพลตฟอร์มอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือต่อได้
5. จีนผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้จำนวนมาก
สิ่งที่ชาวโลกเรียนรู้ก็คือ เมื่อเกิดวิกฤติโรคระบาด มีเพียง "วัคซีน" เท่านั้นที่จะสามารถเอาชนะได้ ฉะนั้น "จีน" และอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก จึงให้ความสำคัญกับการผลิตวัคซีนเป็นอย่างมาก เร่งวิจัยค้นคว้ามาตั้งแต่แรก
จีนเป็นชาติแรกๆ ของโลกที่ผลิตวัคซีนได้สำเร็จ พอจีนผลิตวัคซีนสำเร็จ ก็ระดมฉีดวัคซีนมันที เพราะเชื่อในเรื่องการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity)
6. ไม่มี Walk in แต่ให้ลงทะเบียน "ฉีดวัคซีน"
ด้วยความเข้มแข็งของระบบดาต้าแพลตฟอร์ม ส่งผลให้การจัดการระบบลงทะเบียนเพื่อฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นไปอย่างง่ายดายและสะดวก
ประเทศจีนมีประชากรมาก ถ้าปล่อยให้ Walk in แล้วไม่มีการจัดการ มันจะมั่วมาก คนที่มา Walk in จะรวมตัวแออัด เบียดกัน ดังนั้น จีนเป็นประเทศที่เวลาทำสิ่งต่างๆ เขาจะวางแผนล่วงหน้า การให้ประชาชนลงทะเบียนจึงสำคัญมาก เพื่อป้องกันความวุ่นวาย
7. วิธีจูงใจให้คนจีนพร้อมใจมาฉีดวัคซีน
มีคนจีนจำนวนหนึ่งไม่ต้องการฉีดวัคซีน รัฐบาลจีนจึงต้องอาศัยวิธีจูงใจต่างๆ เช่น แจกไข่ ข้าว ขนม หรือคูปองอาหาร รวมถึงรัฐบาลจีนเขาไม่ให้ประชาชนเลือกวัคซีน มีแต่บอกว่าต้องมาฉีดวัคซีนเพื่อตัวเองและครอบครัว รวมไปถึงสังคม
แต่ทั้งนี้ วัคซีนที่จีนนำมาใช้ฉีดให้แก่ประชาชนนั้น ไม่ได้มีแค่ "ซิโนฟาร์ม" กับ "ซิโนแวค" แต่มีไม่ต่ำกว่า 5 ยี่ห้อ เรียงตามลำกับว่าตัวไหนผลิตเสร็จก่อนใช้ก่อน (ล่าสุดพบว่าจีนประกาศใช้วัคซีน mRNA เพิ่มเติมด้วย อ่านเพิ่ม : จีนก็ใช้ไฟเซอร์! เตรียมฉีด 'mRNA' เข็ม 3 ให้ประชาชนฟรี)
8. จริงหรือไม่? ถ้าจะเข้า "จีน" ต้องฉีดวัคซีนของจีนเท่านั้น
ก่อนหน้านี้มีกระแสดราม่าเกี่ยวกับวัคซีนจีน ระบุว่า ผู้ที่ต้องการเดินทางเข้าประเทศจีน จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของจีนเท่านั้น เรื่องนี้จริงเท็จแค่ไหน? ดร.อักษรศรี ไขคำตอบว่า
โดยหลักการตอนนี้ จีนยังปิดประเทศ ยังคุมเข้ม “ขาเข้า” อย่างเข้มงวด เพราะฉะนั้นไม่ว่าคุณจะฉีดวัคซีนยี่ห้ออะไรก็ตาม หากจะเดินทางไปจีน ก็ต้องกักตัวอย่างเข้มข้นใน state quarantine (SQ) อย่างน้อย 14 วันและในบางเมืองอาจจะให้กักตัว 21 วัน และไม่ฟรี ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายทุกอย่างใน SQ เองด้วย
------------------------
ที่มา : springnews