รู้จัก 'โกฐจุฬาลัมพา' สมุนไพรน่าจับตามองในยุคโรคระบาด

รู้จัก 'โกฐจุฬาลัมพา' สมุนไพรน่าจับตามองในยุคโรคระบาด

ชวนรู้จัก "โกฐจุฬาลัมพา" สมุนไพรในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ล่าสุดนักวิจัยต่างชาติค้นพบว่ามีสารสำคัญที่ช่วยต้านเชื้อไวรัสได้ในห้องปฏิบัติการ ย้อนรอยตำรับยาโบราณจากโกฐจุฬาลัมพา พร้อมส่องสรรพคุณที่น่าสนใจ

เรียกเสียงฮือฮาได้ไม่น้อย หลังจากที่มีรายงานข่าว (1 ส.ค.64) ว่า "โกฐจุฬาลัมพา" พืชสมุนไพรที่ไทยใช้เป็นยามาตั้งแต่สมัยโบราณ ถูกนำมาวิจัยโดยทีมวิจัยต่างชาติและพบว่ามีสารสำคัญสามารถยับยั้งไวรัสได้ 

โดยมีงานวิจัยจาก Columbia University และ University of Washington ที่ทีมนักวิจัย 7 คน ค้นพบว่า สารสกัดรวมของ "โกฐจุฬาลัมพา" มีประสิทธิภาพสูงในการยับยั้งเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ได้ในห้องปฏิบัติการ ทั้งนี้ นักวิจัยเชื่อว่าสารที่มีบทบาทสำคัญในการยับยั้งไวรัสดังกล่าวก็คือ artemisinin และยังมีองค์ประกอบของสารอื่นๆ ร่วมด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม วิจัยชิ้นนี้เป็นเพียงการวิจัยขั้นต้นในระดับห้องทอดลองเท่านั้น ยังต้องศึกษาวิจัยและทดสอบกันต่ออีกยาว ส่วนใครที่อยากรู้จักโกฐจุฬาลัมพาให้มากขึ้น ในแง่ของสรรพคุณทางยาสมุนไพร เรารวบรวมและสรุปมาให้แล้ว ดังนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

162788962874

1. "โกฐจุฬาลัมพา" พบใช้เป็นยาโบราณหลายตำรับ

โกฐจุฬาลัมพา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Artemisia vulgaris L. จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE) มีชื่อสามัญว่า Common wormwood ในบัญชียาจากสมุนไพรที่มีการใช้ตามองค์ความรู้เดิม

ตามประกาศของคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา (ฉบับที่ 5) มีปรากฏการใช้สมุนไพรโกฐจุฬาลัมพาในหลายตำรับ ได้แก่

ยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต(ยาแก้ลม) ที่มีส่วนประกอบของโกฐจุฬาลัมพาอยู่ในพิกัดโกฐทั้งเก้า ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆอีกในตำรับ ซึ่งมีปรากฏใน 2 ตำรับคือ

  • ตำรับ “ยาหอมเทพจิตร”
  • ตำรับ “ยาหอมนวโกฐ”

ยาแก้ไข้ ก็มีปรากฏการใช้ส่วนผสมของโกฐจุฬาลัมพาร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ อีกในตำรับ มีปรากฏใน 2 ตำรับ คือ

  • ตำรับ “ยาจันทน์ลีลา”
  • ตำรับ “ยาแก้ไข้ห้าราก” 

2. สรรพคุณทางยา "โกฐจุฬาลัมพา" 

ส่วนที่ใช้ทำยาของโกฐจุฬาลัมพา คือ ลำต้นแห้ง มีสรรพคุณเป็นยาแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน และแก้ลมจุกแน่นในท้อง

ในตำราสรรพคุณยาไทยโบราณระบุว่า โกฐจุฬาลัมพามีสรรพคุณแก้ "ไข้เจลียง" (เป็นไข้จับสั่นประเภทหนึ่ง) แก้ไข้ ลดเสมหะ แก้หืด แก้ไอ ใช้เป็นยาขับเหงื่อ โดยโกฐจุฬาลัมพาจัดเป็นโกฐชนิดหนึ่งในพิกัดโกฐทั้ง 5 (เบญจโกฐ) โกฐทั้ง 7 (สัตตโกฐ) และโกฐทั้ง 9 (เนาวโกฐ)

ส่วนในตำรายาแผนจีนโบราณ ได้ระบุข้อบ่งใช้ไว้ว่า ใช้แก้ไข้อันเกิดจากความร้อนในฤดูร้อน แก้ไข้ต่ำๆ ที่ไม่มีเหงื่อ แก้ไข้อันเนื่องจากวัณโรค และไข้จับสั่น

3. รายงานการวิจัยที่พบในปัจจุบัน

มีข้อมูลจากการศึกษาวิจัยพบว่า โกฐจุฬาลัมพามีสาร "ชิงฮาวซู" แสดงฤทธิ์ต้านเชื้อไข้จับสั่นชนิดฟัลซิพารุม (Plasmodium falciparum) และชนิดไวแวกซ์ (Plasmodium Vivax) โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่ดื้อยา ปัจจุบันสารชนิดนี้กับอนุพันธุ์กึ่งเคมีสังเคราะห์ของสารชนิดนี้ ถูกนำมาใช้เป็นยาแก้ไข้จับสั่นในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย

162788962618

4. สารสำคัญในโกฐจุฬาลัมพา

โกฐจุฬาลัมพามีสารอนุพันธ์ "เซสควิเทอร์พีนแลกโทน" (sesquiterpene lactones) หลายชนิด แต่ที่สำคัญคือ ซิงฮาวชู (qinghaosu) หรือ อาร์เทแอนนูอิน (arteannuin) หรือ อาร์เทมิซินิน (artemisinin) และพบสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ (flavonoids) อีกหลายชนิด เช่น คาสทิซิน (casticin), เซอร์ซิลินีออล (cirsilineol),  คริโซพลีนอล-ดี (chrysoplenol-D), คริโซพลีเนทิน (chrysoplenetin)

5. แหล่งกำเนิดโกฐจุฬาลัมพา

พืชชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปยุโรป ภาคเหนือของทวีปแอฟริกา และในทวีปเอเชีย

ในจีนมักพบเกิดขึ้นได้ทั่วไปตามเนินเขา ข้างทาง ที่รกร้าง หรือตามชายป่าที่สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 200-3,650 เมตร ต่อมามีผู้นำมาทดลองปลูกในประเทศไทยและพบว่าขึ้นได้ดี ออกดอกและเป็นผลได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน

โกฐจุฬาลัมพาที่มีขายในท้องตลาด มักได้มาจากการปลูกในมณฑลเหอเป่ย์ ชานตง เจียงซู หูเป่ย์ และฝูเจี้ยน ของประเทศจีน

-------------------

อ้างอิง : 

Artemisia annua L. extracts inhibit the invitro SARS-CoV-2

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก