'เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว' ใช้งานยังไง แบบไหนตรวจแม่นยำ?

'เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว' ใช้งานยังไง แบบไหนตรวจแม่นยำ?

เมื่อ "เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว" กลายเป็นสิ่งจำเป็นในยุคโควิดระบาด หลายคนสงสัยว่าเครื่องที่ซื้อมา ตรวจวัดได้แม่นยำแค่ไหน วิธีตรวจที่ถูกต้องทำอย่างไร แบบไหนที่บ่งชี้ว่าผลตรวจคลาดเคลื่อน ชวนหาคำตอบที่นี่

เมื่อผู้ติดเชื้อในไทยวันนี้ (4 ส.ค.64) ทำนิวไฮอีกครั้ง โดยพบยอดผู้ติดเชื้อทะลุ 2 หมื่นกว่าราย ทำให้ทั้งบุคลาการทางการแพทย์ และอาสาสมัครด่านหน้า ยิ่งต้องทำงานหนักขึ้นอีกหลายเท่า โดยเฉพาะอุปกรณ์และยาจำเป็นต่างๆ ก็มีความต้องการพุ่งสูงตามไปด้วย หนึ่งในไอเทมจำเป็นคงหนีไม่พ้น "เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว"

หลายคนยอมควักเงินซื้อเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วด้วยตนเอง เพราะไม่อยากนั่งรอความช่วยเหลืออย่างเดียว แต่ในท้องตลาดตอนนี้พบว่าอุปกรณ์ดังกล่าวมีทั้งแบบราคาแพง ราคาถูก บางครั้งยี่ห้อเดียวกันแต่ราคาต่างกันมาก ทำให้ไม่แน่ใจว่าควรเลือกซื้อแบบไหน? ใช้งานอย่างไร? ถึงจะได้ผลแม่นยำที่สุด

อัพเดทล่าสุด! (5 ก.ค.64) มีข้อมูลจาก อย. ระบุว่า ประชาชนสามารถเข้ามาเช็ครายชื่อ "เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว" ที่ได้รับการอนุญาตผลิต/นำเข้า จากทาง อย. แล้ว จำนวน 52 รายการ คลิกดูได้ที่นี่  เช็คให้ดีก่อนจะเลือกซื้อด้วยตัวเอง

162815627866

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

ทั้งนี้ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ได้รวบรวมข้อควรรู้เกี่ยวกับวิธีการใช้งานอย่างถูกต้องมาให้ทราบกัน ดังนี้

1. รู้หลักการทำงาน "เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว" 

นายแพทย์ธนีย์ ธนียวัน อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคปอด การปลูกถ่ายปอด และวิกฤติบำบัด สหรัฐอเมริกา ได้แชร์ความรู้ผ่านช่องทาง Doctor Tany (2 ส.ค. 64) เกี่ยวกับหลักการทำงานของเครื่องวัดออกซิเจนฯ และวิธีใช้งานเอาไว้ว่า 

เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว มีหลักการทำงานคือ ตัวเครื่องจะปล่อยคลื่นแสงออกมา ไปกระทบกับเส้นเลือดฝอยที่ปลายนิ้วมือ แล้วมันก็จะวัดแสงสะท้อนที่ได้ออกมา แสงสะท้อนดังกล่าวจะเป็นตัวบอกว่าในเส้นเลือดของร่างกายมีปริมาณออกซิเจนอยู่มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความถี่ของแสงสะท้อน ที่สะท้อนกลับมาให้ตัวเครื่องวัดค่าได้

2. เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว มีประโยชน์ยังไง?

คำถามต่อมาที่หลายคนอาจสงสัยคือ ทำไมต้องใช้ "เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว" มาตรวจค่าออกซิเจนกับผู้ป่วย "โควิด-19" ?

คำตอบคือ เพื่อต้องการดูว่าผู้ป่วยโควิดมีภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำหรือไม่ ซึ่งมีประโยชน์มากในกรณีที่ป่วยเป็นโควิด เนื่องจากเมื่อป่วยโควิดแล้ว ผู้ป่วยมักจะเกิดภาวะหนึ่งที่เรียกว่า "Happy Hypoxia" หมายความว่า คนไข้มีภาวะออกซิเจนต่ำแต่กลับดูปกติสบายดี ตรงข้ามกับการป่วยด้วยโรคอื่นๆ ที่หากผู้ป่วยมีภาวะออกซิเจนต่ำขนาดนี้ ร่างกายจะแย่ลงทันทีอย่างเห็นได้ชัด

ดังนั้น การใช้เครื่องมือนี้มาตรวจวัดค่าออกซิเจนในเลือด จึงจะช่วยให้คนป่วยได้รู้ตัวว่าตอนนี้ร่างกายของเขามีภาวะขาดออกซิเจน หรือเชื้อลงปอด หรือเริ่มมีการอักเสบในปอดแล้วหรือยัง นั่นเอง

3. แนะนำวิธีการตรวจวัดที่ถูกต้อง

หมอธนีย์ ยังได้แนะนำถึงวิธีการใช้งานเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว ดังนี้

- ควรตรวจวัดที่นิ้วมือที่ไม่ได้ทาเล็บ เพราะสีทาเล็บอาจจะทำให้วัดค่าได้ผิดเพื้ยนไป ต้องล้างเล็บก่อนตรวจวัด

- ควรตรวจขณะที่มืออุ่น ถ้ามือเย็นจะวัดค่าออกซิเจนได้ต่ำลง ดังนั้นก่อนตรวจต้องทำให้มืออุ่นก่อนเสมอ

- ระหว่างตรวจวัดให้หายใจลึกๆ เข้าออก 2-3 ครั้ง วางมือนิ่งและรอผลแสดงที่หน้าจอ

- ควรสลับนิ้วและตรวจวัดซ้ำๆ ด้วย เพื่อผลที่แม่นยำมากขึ้น

- เมื่อผลตรวจโชว์ที่หน้าจอ ต้องเห็นว่าระบุทั้งค่าออกซิเจน และค่าชีพจร ให้สังเกตจุดแสดงผลค่าชีพจรต้องเคลื่อนที่ไปมาตลอดเวลา เพื่อแสดงว่าเครื่องมือใช้ได้ปกติ

162808221254

4. วิธีอ่านผลตรวจค่าออกซิเจนในเลือด

สิ่งต่อมาที่ต้องรู้คือ วิธีอ่านผลและแปลผลการตรวจ โดยหมอธนีย์มีคำแนะนำ ดังนี้

  • วัดได้ 95-97% ขึ้นไป คือ ค่าปกติ ออกซิเจนในร่างกายปกติ
  • วัดได้ 94% ลงไป คือ ผิดปกติ มีภาวะออกซิเจนต่ำ

ทั้งนี้ เครื่องตรวจเหล่านี้โดยปกติจะวัดค่าได้ไม่ตรงเป๊ะๆ จะมีความคลาดเคลื่อนบวกลบอยู่ประมาณ 2%-3% แล้วแต่ตัวเครื่อง ใครที่วัดได้ 100% อาจจะไม่ใช่เรื่องปกติ โดยทั่วไปไม่มีใครที่จะสามารถมีออกซิเจนในเลือดได้ 100% เว้นแต่กำลังได้รับการให้ออกซิเจนด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ ดังนั้นหากวัดค่าได้ 100% เป็นไปได้ว่าเครื่องตรวจมีความคลาดเคลื่อนนิดหน่อย แต่ก็ไม่ได้เป็นข้อน่ากังวลใดๆ

แต่หากวัดค่าออกซิเจนในเลือดได้ 94% หรือต่ำว่านั้น ก็ต้องมาเช็คอาการของตนเองก่อนว่า มีอาการป่วยโควิดอยู่หรือไม่ เช่น มีไข้ ไอ หอบเหนื่อย เพลีย ท้องเสีย ไม่ได้กลิ่น ไม่รับรส แบบนี้จึงจะชัดเจนว่าติดโควิด ซึ่งการวัดออกซิเจนได้ต่ำขนาดนี้ เป็นไปได้ว่าเชื้อลงปอดแล้ว

ถ้าวัดค่าออกซิเจนในเลือดได้ต่ำกว่า 94% แต่ไม่มีอาการป่วยโควิดเหล่านี้เลย เป็นไปได้ว่าตรวจผิดวิธี เช่น อาจจะทาสีเล็บมืออยู่ หรือนิ้วที่ใช้ตรวจเย็นเกินไป ต้องแก้ไขก่อนแล้วตรวจซ้ำอีกที หรืออีกอย่างคือไม่ได้ป่วยโควิด แต่สงสัยได้ว่ามีภาวะของโรคอื่นๆ อยู่ เช่น โรคหัวใจ โรคปอด ซึ่งก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจและวินิจฉัยให้แน่ชัด

5. เลือกซื้อ "เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว" ยี่ห้อไหนดี?

สำหรับวิธีการเลือกซื้อเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว มีคำแนะนำเรื่องนี้จากอาสาสมัครมูลนิธิกระจกเงา ที่เคยโพสต์ข้อความผ่านโซเชียลไว้ว่า ทางมูลนิธิต้องการรับบริจาคเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วเพิ่มเติม เนื่องจากบางเครื่องที่มีอยู่ไม่ได้มาตรฐาน วัดค่าไม่ได้ เปิดเครื่องไม่ติด หรือวัดค่าได้คลาดเคลื่อนมากๆ จึงแนะนำเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วที่ทางทีมงานมูลนิธิได้ตรวจสอบความแม่นยำแล้ว ว่ามี 5 ยี่ห้อ คือ Yuwell, Beurer, Jumper, Microlife, Contec

ทั้งนี้ ราคาของแต่ละยี่ห้อ ทางทีมข่าวฯ ได้สำรวจตามเว็บไซต์ E-Marketplace หลากหลายแห่ง พบว่ามีราคาแตกต่างกันไปดังนี้ 

  • Yuwell ราคาประมาณ 790-990 บาท
  • Beurer/Beurer po30 ราคาประมาณ 1,990-2,650 บาท
  • Jumper ราคาประมาณ 890 - 1,200 บาท
  • Microlife ราคาประมาณ 2,400-2,700 บาท
  • Contec ราคาประมาณ 890 - 1,500 บาท

-------------------------

อ้างอิง : 

นายแพทย์ธนีย์ ธนียวัน (2 ส.ค. 64)

มูลนิธิกระจกเงา (29 ก.ค. 64)

ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจรวบรวมราคา