ทำไม ‘เอหิปัสสิโก’ เกือบถูกแบน ‘จงมาดู’ ด้วยตาคุณเอง
หนัง “เอหิปัสสิโก” เกือบถูกกองเซ็นเซอร์แบนเพราะนำเสนอประเด็นอ่อนไหวในสังคมไทย หรือจะมีเหตุผลอื่นซ่อนอยู่กันแน่ ในโอกาสที่ Netflix นำหนังเรื่องนี้มาฉาย เราจึงมาวิเคราะห์เจาะลึกว่ามีอะไรน่าสนใจถึงขนาดติดอันดับ 1 คอนเทนต์ยอดนิยมในไทยอยู่ขณะนี้
‘เอหิปัสสิโก’ เป็นคำภาษาบาลี มีความหมายว่า ‘จงมาดู’ และเป็นคำที่ ‘ไก่-ณฐพล บุญประกอบ’ เลือกมาใช้เป็นชื่อภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับความขัดแย้งของวัดพระธรรมกายได้อย่างเหมาะเจาะลงตัวที่สุด
นั่นเป็นเพราะณฐพลทำหนัง ‘เอหิปัสสิโก’ ออกมาในแบบที่ไม่ตัดสิน ไม่ชี้นำคนดูให้เชื่อไปในทางใดทางหนึ่ง แต่พยายามนำเสนอแง่มุมต่างๆ ให้รอบด้าน แล้วชวนเชิญคน ‘มาดู’ หรือ Come and See (ตามชื่อหนังในภาษาอังกฤษ) เพื่อที่จะได้ตัดสินใจกันเอาเองว่า หลังจากดู ‘เอหิปัสสิโก’ จบแล้ว คุณรู้สึกอย่างไร และได้เกิดการตั้งคำถามอะไรขึ้นมาในใจบ้างไหม
‘ณฐพล บุญประกอบ’ เป็นที่รู้จักจากการกำกับภาพยนตร์สารคดี ‘2215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว’ ที่ตามติดการวิ่งจากใต้สุดสู่เหนือสุดของตูน บอดี้สแลม เพื่อระดมทุนให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ในโครงการก้าวคนละก้าว
ส่วน ‘เอหิปัสสิโก’ นั้น จริงๆ แล้วเป็นสารคดีที่ ‘ไก่ ณฐพล’ ทำเป็นวิทยานิพนธ์จบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านการทำสารคดีที่ประเทศสหรัฐอเมริกา สำหรับในไทย ด้วยความที่เรื่องวัดพระธรรมกายเป็นประเด็นอ่อนไหว เขาจึงคิดที่จะนำหนังออกฉายในแวดวงเล็กๆ เพื่อการพูดคุยเสวนากันเท่านั้น แต่พอนำไปให้กองเซ็นเซอร์พิจารณาแล้วมีข่าวว่าจะถูกแบนขึ้นมาจึงกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต มีคนให้ความสนใจ ‘เอหิปัสสิโก’ ถึงขนาดตีตั๋วเข้าไปดูกันล้นโรงภาพยนตร์
เท่านั้นยังไม่พอ ธีสิสจบการศึกษาชิ้นนี้ของณฐพลยังมาไกลถึงขนาดได้รับการติดต่อจากผู้ให้บริการสตรีมมิงระดับโลกอย่าง Netflix ให้นำออกฉายเมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา และตอนนี้ ‘เอหิปัสสิโก’ ก็ติดอันดับ 1 คอนเทนต์ยอดนิยมในประเทศไทยไปเป็นที่เรียบร้อย
ต่างมุมมอง…หลากความเชื่อ
-
ที่นี่ไม่มีเรื่องไสยศาสตร์มาปนเลย ความงมงายที่ไม่ใช่พุทธ ที่นี่ไม่มี
-
หย่าเมียเพราะเข้าธรรมกาย เงินหมด ประเคนหมด
-
ที่นี่ไม่ได้บังคับให้ทำบุญ ศรัทธาถึงทำ
-
เป็นที่ซ่องสุม ฟอกเงินให้กองทัพบางอย่าง
‘เอหิปัสสิโก’ เปิดเรื่องด้วยภาพการประจัญหน้ากันอย่างตึงเครียดของคณะเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ และกลุ่มผู้สนับสนุนวัดพระธรรมกาย ก่อนจะย้อนกลับไปเล่าถึงที่มาที่ไปของเหตุการณ์ดังกล่าว โดยนำคำพูดของหลายฝ่ายมาตัดสลับให้ชมกัน
ทั้งในมุมมองของพระลูกวัด (พระสนิทวงศ์ วุฑฒิวังโส ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย ) พระสงฆ์ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวัดพระธรรมกายเลย (พระไพศาล วิสาโล) ตลอดจนพระที่เคยดำรงตำแหน่งระดับสูงในวัดก่อนจะขอลาออกไปในภายหลัง (มโน เลาหวณิช หรือ เมตตานันโท อดีตพระนักวิชาการวัดพระธรรมกาย ระหว่างปี 2517-2538)
ในฝั่งคนธรรมดา มีการนำเสนอทั้งในมุมของคนที่มีศรัทธาแก่กล้าในคำสอนของวัดพระธรรมกาย และในตัวของพระธัมมชโย (คุณบำเพ็ญ สมาชิกวัดตั้งแต่ปี 2541 ชักนำครอบครัวและคนรอบตัวมาเข้าวัดได้อีกหลายคน, คุณผะอบ นักการศึกษาที่เป็นสมาชิกวัดตั้งแต่ปี 2529, คุณสวาท แม่ค้าขายอาหาร สมาชิกวัดตั้งแต่ปี 2537) และมุมมองของอดีตสมาชิกวัดที่ปัจจุบันไม่หลงเหลือความนับถืออยู่แล้ว (คุณสาว อดีตสมาชิกวัดระหว่างปี 2516-2545 ที่กู้ยืมเงินมาบริจาคให้กับทางวัดเป็นจำนวนมาก)
ทางฟากฝั่งของนักวิชาการนั้นเล่า ผู้กำกับณฐพล บุญประกอบ ได้ไปสัมภาษณ์ขอความคิดเห็นจากนักวิชาการหลายสาขามานำเสนอ ทำให้เราได้เห็นมุมมองที่หลากหลายทั้งในด้านการศาสนา สังคมศาสตร์ การปกครอง ตลอดจนความมั่นคง เช่น
-
ศาสตราจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และสังคมศาสตร์คนสำคัญของประเทศไทย
-
ไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
-
ดร.บรรจบ บรรณรุจิ เปรียญธรรม 9 ประโยค ผู้รอบรู้ในข้ออรรถข้อธรรม เคยดำรงตำแหน่งอดีตอนุศาสนาจารย์ ประจำกรมยุทธศึกษาทหารบก และกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ
-
วิจักขณ์ พานิช นักวิชาการอิสระด้านปรัชญาศาสนาหัวสมัยใหม่ ผู้จบปริญญาโทด้านประวัติศาสตร์ศาสนาจากมหาวิทยาลัยนาโรปะ รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา เคยฝึกปฏิบัติกับ เรจินัลด์ เรย์ ธรรมาจารย์ชาวตะวันตก ผู้เป็นศิษย์เอกของเชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช
-
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ และนักข่าว
- ทุ่มทำบุญ ซื้อวิมานบนสวรรค์
ความโดดเด่นของ ‘เอหิปัสสิโก’ อยู่ตรงการนำเสนอประเด็นที่เป็นข้อกังขาเกี่ยวกับวัดพระธรรมกายออกมาจากหลายมุมมอง เช่น การบริจาคเงินซื้อวิมานบนสวรรค์ ซึ่งเป็นประเด็นที่ทางวัดถูกโจมตีค่อนข้างหนัก เราก็ได้รับฟังข้อมูลจากทั้งฝั่งที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย เช่น
คุณสวาท แม่ค้าขายอาหารที่ทำบุญกับวัดพระธรรมกายไป 14 ล้านบาท บอกว่า จากประสบการณ์ส่วนตัว ทำบุญแล้วมีแต่รวย เพราะคนเราถ้าไม่มีกำลังบุญชีวิตจะลำบาก อุปสรรคจะเยอะ
ขณะที่คุณสาว ผู้เคยเป็นแม่บุญทุ่มถึงขนาดไปกู้เงิน นำทรัพย์สินไปขายเพื่อมาทำบุญกับวัด บอกว่า เบื่อการระดมทุน เบื่อการตะกายบุญ ไปวัดแล้วเหมือนไปค้าบุญเพราะต้องแข่งกันหายอด แข่งกันทำยอด เลยออกมาแล้วไม่หันกลับไปอีกเลย
- คำสอนผิดหลักพระพุทธศาสนาจริงหรือ?
ส่วนประเด็นเรื่องคำสอนผิดหลักศาสนาพุทธนั้น เราได้รับฟังความเห็นทั้งจากผู้ที่แม่นเรื่องหลักธรรมคำสอนอย่าง ดร.บรรจบ บรรณรุจิ ที่บอกว่าวัดพระธรรมกายถูกต่อต้านหนักเพราะสอนว่า ‘นิพพาน’ มีรูปร่าง มีตัวตน มีสถานที่ ซึ่งขัดหลักความเชื่อพื้นฐานของนิกายเถรวาทในสังคมไทย
หรือความเห็นจาก พระไพศาล วิสาโล ที่ว่า
อย่างไรก็ตาม ความคิดเห็นที่อาจจะกระแทกเข้าไปกลางแสกหน้าของใครหลายคนมาจากทางฝั่งนักวิชาการอิสระอย่าง ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ที่บอกว่า จริงๆ แล้วธรรมกายก็แค่นำความเป็น ‘พุทธแบบไทย ๆ’ มาทำให้มันสุดโต่งจนคนช็อก รับความจริงไม่ได้ จึงเกิดการต่อต้านขึ้น
“ผมว่าปัญหาของธรรมกายจริงๆ คือมันสะท้อนว่าเราเป็นคนยังไง ธรรมกายบอกว่าเราเป็นใครชัดเจนจนเราไม่อยากเห็น”
ภัยพระพุทธศาสนาหรือความมั่นคงของรัฐ?
นอกเหนือจากความขัดแย้งทางศาสนาแล้ว ประเด็นน่าสนใจที่ ‘เอหิปัสสิโก’ นำเสนอคือเรื่องที่ว่า จริงๆ แล้วสาเหตุที่วัดพระธรรมกายถูกล้อมปราบนั้นเป็นเพราะทางวัดเป็นภัยต่อพระพุทธศาสนา หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐกันแน่
เรื่องนี้มีความเห็นที่หลากหลายทั้งจาก มโน เลาหวณิช อดีตพระนักวิชาการประจำวัดที่ขอลาออกเพราะไม่เห็นด้วยกับแนวทางของวัด ให้ความเห็นว่า วัดพระธรรมกายไม่ใช่แค่ฟอกเงิน รับของโจร แต่เป็นอาณาจักรยิ่งใหญ่ที่กลายมาเป็นรัฐเอกราช หรือแม้แต่จะกินรวบประเทศไทยก็ได้ถ้าร่วมมือกับนักการเมือง
ศาสตราจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ มีความเห็นว่า ธรรมกายเข้าไปขยายอิทธิพลทั้งในวงการคณะสงฆ์ และวงราชการ แล้วอิทธิพลก็สูงขึ้น ๆ จนกลายเป็นความน่ากลัวและคุกคามคนกลุ่มอื่น
ขณะที่ ดร.บรรจบ บรรณรุจิ กล่าวว่ามีโอกาสได้คุยกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่บอกว่า มีสถาบันหนึ่งที่จะมั่นคงได้ด้วยความรัก ความศรัทธาของประชาชน แต่เมื่อความรักความศรัทธาดังกล่าวถูกแบ่งไปที่วัดพระธรรมกายเลยเกิดความหวั่นเกรง แล้วมองว่าธรรมกายเป็นภัยต่อสังคม ประเทศชาติ
เช่นเดียวกับ ไพบูลย์ นิติตะวัน ที่วิเคราะห์ว่า กรณีธัมมชโยเป็นการไปท้าทายอำนาจรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยตรง และกลายเป็นความสัมพันธ์ในแบบที่คนหนึ่งอยู่อีกคนต้องไป ไม่มีการ ‘วิน-วิน’ อย่างเด็ดขาด
ถึงแม้ว่า ‘เอหิปัสสิโก’ จะเป็นภาพยนตร์ที่นำเสนอความขัดแย้งเกี่ยวกับวัดพระธรรมกายเป็นหลัก แต่ดูเหมือนว่าการที่ Netflix นำกลับมาฉายให้ชมกันในช่วงนี้จะกลายเป็นเรื่องประจวบเหมาะพอดี เพราะประชาชนคนไทยที่กำลังตกอยู่ท่ามกลางความหวาดกลัวการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-14 และความคิดเห็นที่แบ่งแยกเป็นฝักเป็นฝ่ายในทางการเมืองจะได้หวนกลับมาทบทวน และตระหนักว่า
ในยามที่เกิดความขัดแย้งไม่ว่าจะเรื่องใดขึ้นมา เราต้องเปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง สังคมและประเทศชาติถึงจะอยู่รอดอย่างสันติ
Fun Fact เกร็ดเบื้องหลัง 'เอหิปัสสิโก'
(ข้อมูลจากเฟสบุค underDOC Film)
-
ภาพยนตร์สารคดี ‘เอหิปัสสิโก’ ใช้เวลาถ่ายทำทั้งหมด 46 วัน กินเวลาทั้งหมด 2 ปีครึ่ง
-
แบ่งการถ่ายออกเป็น 3 ช่วงใหญ่ๆ คือ มิถุนายน 2559 – สิ้นเดือนมกราคม 2560
-
เริ่มถ่ายช็อตแรก 23 มิถุนายน 2559 วันที่เจ้าหน้าที่ตรวจค้นหาอาวุธใต้โบสถ์
-
ช่วงที่เกิดการปะทะกันกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ‘ไก่ ณฐพล’ กลับอเมริกาเลยต้องฝากเพื่อนถ่าย โดยเจ้าตัวจะคอยดูข่าวทางทวิตเตอร์แล้วโทรปลุกเพื่อนตอนตี 5
-
มีการสัมภาษณ์เพิ่มเติม ช่วงเดือนกรกฎา-สิงหาคม 2560
-
ขับรถไปกลับ 10 ชม เพื่อสัมภาษณ์พระไพศาล
-
บินไปเชียงใหม่เพื่อสัมภาษณ์อาจารย์นิธิ
-
ถ่าย insert เพิ่มเติมช่วงต้นปี 2018
-
ซีนสุดท้ายคือ ถ่ายงานสวดภาณยักษ์ที่วัดแถวบ้าน
-
ระยะเวลาการถ่ายภายในวัดรวมสัมภาษณ์ คือ 22 วัน (ไม่รวมเหตุการณ์หน้าวัด)
-
เข้าฉายในเทศกาลหนังต่างประเทศครั้งเดียว คือ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซานปี 2019
-
เข้าฉายในโรงภาพยนตร์อย่างเป็นทางการ 6 เมษายน 2564
-
รวมเวลาทั้งสิ้น 4 ปี 10 เดือน
#ComeAndSee #เอหิปัสสิโก