คลายปม ‘คน' กับ 'ช้าง’ อยู่ด้วยกันบ้านฉันบ้านเธอ

คลายปม ‘คน' กับ 'ช้าง’ อยู่ด้วยกันบ้านฉันบ้านเธอ

แกะรอยปมปัญหาระหว่าง "ช้าง" กับ "คน" ไขความลับของการอยู่ร่วมกันมาช้านานในวันที่ "ช้างป่า" ไม่ได้อยู่แค่ในป่า แต่มาเยือนบ้านคนจนเป็นปกติ

เป็นที่ฮือฮากันอย่างมากเมื่อช่วงเดือนมิถุนายน กับภาพที่ ช้าง โผล่หัวเข้ามาในบ้านคนที่บ้านห้วยสัตว์ใหญ่ เขต อ.หัวหิน จ.ประจวบฯ สำหรับคนทั่วไปที่ไม่คุ้นเคยอาจจะมองว่าเป็นเรื่องใหญ่โตแล้ว ถึงขนาด ช้างพังบ้านคน ได้ แต่หลังจากเหตุการณ์ ผมได้ลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้าน แม้แต่เจ้าของบ้านที่เกิดเหตุเองก็ได้ไปพูดคุย ชาวบ้านคุ้นชินกับการที่มีช้างมาเดินในชุมชนของเขา ถ้าที่อื่นได้ยินเสียงก๊อกแก๊กนอกบ้านต้องคิดว่าหมาแมว แต่ที่นี่เขาคิดว่าเป็นช้าง ไม่โกรธที่ช้างมาพังบ้าน เพราะเจ้าหน้าที่เขาจะมาซ่อมให้ ที่ห้วยสัตว์ใหญ่ จึงเป็นชุมชนที่อยู่กับช้างอย่างแท้จริง

162891053324

ภาพที่สร้างความฮือฮา

ผมได้เอกสารชี้แจงมาจาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เขาสรุปปัญหาและแนวทางแก้ปัญหา ซึ่งน่าเอามาเล่าต่อ แบบนี้ครับ

ปัจจุบัน ช้างป่า อาศัยอยู่ตามธรรมชาติประมาณ 3,168 - 3,440 ตัว ในพื้นที่อนุรักษ์ทั้งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ ทั้งหมด 69 แห่ง และในป่าสงวนแห่งชาติบางแห่ง เป็นพื้นที่ 52,000 ตร.กม ในกลุ่มป่าใหญ่ๆ เช่น กลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าตะวันออก กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว และกลุ่มป่าแก่งกระจาน โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ราว 8.2 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ซึ่งปัญหาหลักๆ ที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ก็คือ ขนาดพื้นที่อยู่อาศัยและความสมบูรณ์ในพื้นที่ก็ล้วนแล้วลดลง นำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าอยู่เนืองๆ มีไม่กี่แห่งที่เข้าใจช้างแบบที่ห้วยสัตว์ใหญ่

162891089894

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เขาศึกษาและวางแผนแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะยาวเขาทำร่างแผนการจัดการช้างป่าแห่งชาติ (แผน 20 ปี) เป็นกรอบในการอนุรักษ์และการจัดการช้างป่า โดยมีการจัดการช้างป่าระดับกลุ่มป่า (แผน 10 ปี) โดยแต่ละกลุ่มป่าจะมีรายละเอียดต่างกันบ้าง แต่หลักๆ ก็จะเป็นการป้องกันไม่ให้ช้างออกนอกพื้นที่ ทำสิ่งกีดขวาง อย่างคูกันช้าง รั้วกึ่งถาวร รั้วไฟฟ้า และฟื้นฟูความสมบูรณ์ของป่า พัฒนาแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร ทั้งปลูกพืชอาหารช้าง ทุ่งหญ้าอาหาช้าง และโป่ง ให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อดึงช้างป่ากลับสู่ผืนป่าใหญ่ และควบคุมไม่ให้มีประชากรมากเกินกว่าศักยภาพการรองรับได้ของป่า

ส่วนกับสังคมภายนอก เขาก็จะสร้างการรับรู้และสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาช้างป่า ให้ความช่วยเหลือเยียวยาความเสียหายแก่ประชาชนอันเกิดจากช้างป่า สร้างความเข้าใจให้แก่ชุมชนเรื่องพฤติกรรมของช้างป่าและการปฏิบัติต่อช้าง ทั้งท้องถิ่นและประชาชน ในการอยู่ร่วมกันกับช้างป่า รวมทั้งสร้างเครือข่ายชุมชนอนุรักษ์ช้างป่า พัฒนาแหล่งน้ำชุมชนแยกจากแหล่งน้ำช้างป่า ส่งเสริมให้เกิดป่าชุมชนร่วมกับภาครัฐ สร้างกลุ่มอาสาสมัครเฝ้าระวัง ป้องกัน และแจ้งเตือนภัยจากช้างป่า

โดยเขาทำต่อเนื่องกันมานาน แต่ “ช้างป่า” ไม่ใช่ช้างเลี้ยง การเรียนรู้เพื่อความอยู่รอดมีอยู่เสมอ อีกทั้งที่เราเห็นช้างออกมาเดินในชุมชน หรือออกมาเดินบนถนน ไม่ใช่ว่าเหตุผลการออกมาหากินอย่างเดียว ผมว่าบางครั้งเหมือนเขาออกมาเดินเล่นบ้าง ออกมาเที่ยวบ้าง บางครั้งเราจึงเห็น “ช้าง” ออกมาเป็นโขลง นอนขวางถนนบนเขาใหญ่ แบบนี้ก็มี แล้วอย่างที่ผมบอกไปว่าช้างนี่เขาฉลาด มีกี่วิธีการที่เราสร้างเครื่องกั้น จะใช้ได้ผลแค่ช่วงแรกๆ เท่านั้น

162891060897

ช้างบุญช่วย

ผมได้รับเชิญไปดูการแก้ไขปัญหาช้างออกนอกพื้นที่จากกรมอุทยานฯบ่อยครั้ง แต่ต้องยอมรับเลยว่า กันช้างไม่อยู่ในระยะยาว แต่เป็นอุปสรรคสำหรับช้างหรือไม่ ก็เป็นบ้าง แต่พอนานๆ ไป ช้างเขาเรียนรู้ในการแก้อุปสรรคได้ เช่น รั้วไฟฟ้า จะกันได้แค่แรกๆ หลังจากนั้น เขาจะล้มต้นไม้ทับสายไฟ แค่นี้ก็เอาไม่อยู่แล้ว คูกั้นช้าง เราจะเห็นทำกันมากทางกลุ่มป่าตะวันออก เป็นคูลึก ช้างลงก็ยาก ลงไปแล้วก็ขึ้นยาก แต่เขาจะค่อยๆ ถีบขอบบ่อลงทีละนิดจนพอเดินได้ บางทีก็จะมีขอบคูบางจุดชำรุดเขาก็จะข้ามช่องนั้น ผึ้งไล่ช้างก็เหมือนกัน กันได้แค่แรกๆ ผึ้งพอเจอช้างกวนบ่อยๆ เขย่าลวดที่รังไปเกาะบ่อยๆ เข้า ผึ้งก็ทิ้งรัง รั้วกั้นช้างพอเอาอยู่บ้าง เหมือนที่เขากั้นที่เหวนรก แต่พอไปเห็นกล้องดักถ่ายที่ช้างเขาข้ามรั้วที่ป่าละอู ท่านผู้อ่านจะยอมใจเลย ว่าอะไรก็ขวางเขาไม่อยู่ถ้าอยากจะข้ามเสียอย่าง

162891079256

ลวดไฟฟ้าถูกนำมาใช้ แต่ก็จะแก้ปัญหาได้ไม่นาน

162891083489

ผึ้งไล่ช้าง นำมาทดลองใช้ที่ภูหลวง ได้ผลไม่ถึง 3 เดือน

ความอุดมสมบูรณ์ในป่านั้นเท่าที่รู้มา ทางกรมอุทยานฯ เขาทำตลอด แปลงหญ้าอาหาร ทำโป่ง ทำฝาย ทำบ่อ ให้ “ช้าง” ลงไปเล่นได้ แล้วไม่ได้ทำใกล้ชุมชน ทำลึกเข้าไปในป่า ช้างจะได้ไม่ออกมา เรียกว่าเรื่องความจำเป็นในการใช้ชีวิตไม่ขาดแคลนเท่าไร ขนาดบางแห่ง ในหน้าแล้ง เจ้าหน้าที่ต้องขนน้ำไปเติมให้ยังมีเลย แต่อย่างที่ผมบอกว่า ช้างเขาออกมาไม่ใช่เรื่องมาหาอาหารอย่างเดียว บางทีมาเที่ยวเล่นก็มี

162891069298

จิตอาสาสร้างอ่างน้ำช้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี

อย่างที่กรมอุทยานเขารายงานนั่นละครับว่า แนวโน้มของช้างป่าในประเทศไทยเรา มีแนวโน้มมากขึ้นทุกปี เพราะไม่มีสัตว์ผู้ล่า โอกาสที่หมาใน จะได้ลูกช้างไปกินนี่ยากมาก ช้างที่ตายก่อนวัยก็จะมีอย่างเช่น ต่อสู้กันแล้วเป็นแผล ติดเชื้อตาย หรือโดนบ่วงรัดจนเป็นแผล แล้วติดเชื้อ แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ตรวจเจอเสียก่อน ก็จะมีการส่งสัตวแพทย์ไปรักษาทุกครั้ง การตายของช้างในธรรมชาติจึงน้อย

หลายพื้นที่เขาก็พยายามปรับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ดูช้าง ดูสัตว์ป่าไปเลย อย่างเช่นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ซึ่งประสบความสำเร็จมาก ในช่วงที่ยังไม่มีสถานการณ์โควิด ทุกวันจะมีนักท่องเที่ยวไปดูช้าง กระทิง วัวแดง ไปกันทุกวัน ชาวบ้านที่นำพาเข้าไป ทั้งรถยนต์ ทั้งไกด์ท้องถิ่น มีรายได้กันหมด แม้กระทั่งที่ห้วยสัตว์ใหญ่ รีสอร์ตบางแห่งในย่านนี้ ก็ยังเอาการดูช้างจากหน้าที่พัก มาเป็นขุดขายก็มี แม้กระทั่งเขาใหญ่ ใครขึ้นไปก็อยากเห็นช้างทั้งนั้น

162891064238

นักท่องเที่ยวที่มาดูช้างที่กุยบุรี

ดังนั้นจะเห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเขาไม่ได้ดูดาย เขาก็แก้ไปทั้งการป้องกันในระยะยาวและแก้ปัญหาเฉพาะหน้า สิ่งที่อยากให้พี่น้องคนไทยเข้าใจคือแบบที่คนห้วยใหญ่ใหญ่เขาทำ ในเมื่อแยกกันไม่ได้เพราะเป็นพื้นที่เดียวกัน ก็อยู่ร่วมกันเสียเลย เข้าใจเขา หนักนิดเบาหน่อยก็อภัยกัน แล้วเขาก็มีหน่วยงานไว้คอยดูแลความเสียหายให้อยู่แล้ว

เข้าใจกัน ก็อยู่ด้วยกันได้ ทั้งคน ทั้งช้าง...