ถอดสูตร 'รอมแพง' เส้นทางสู่อาชีพ 'นักเขียน' ยุคใหม่ ทำอย่างไรให้ 'ประสบความสำเร็จ' ?

ถอดสูตร 'รอมแพง' เส้นทางสู่อาชีพ 'นักเขียน' ยุคใหม่ ทำอย่างไรให้ 'ประสบความสำเร็จ' ?

ถอดสูตรความสำเร็จใน "อาชีพนักเขียน" ของ "รอมแพง" กับเคล็ดไม่ลับที่ทำให้ "นักเขียนไส้แห้ง" คนหนึ่ง ขึ้นแท่น "นักเขียน" ชื่อดังที่ "ประสบความสำเร็จ" ในเส้นทางที่ตัวเองรัก แบบไม่ง้อเงินเดือนประจำ

หลังจากละครช่อง 3 เรื่อง "บุพเพสันนิวาส" ดังเป็นพลุแตก ชื่อเสียงของ "รอมแพง" นามปากกาเจ้าของนิยายบุพเพสันนิวาสต้นฉบับที่ถูกนำมาใช้สร้างละครก็ยิ่งเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นตามไปด้วย นอกจากเรื่องบุพเพสันนิวาสแล้ว รอมแพง ยังเป็นเจ้าของผลงานนิยายหลายเรื่องที่ถูกซื้อลิขสิทธิ์มาสร้างละครหลายเรื่องในประเทศ เช่น "ดาวเกี้ยวเดือน" "ดาวเคียงเดือน" และมีผลงานที่ไปไกลถึงต่างประเทศด้วย

หลายคนรู้จักรอมแพง หรือ อุ้ย จันทร์ยวีร์ สมปรีดา ในฐานะนักเขียนที่ประสบความสำเร็จคนหนึ่ง แต่ใครจะรู้ว่าเส้นทางนักเขียนของเธอไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ และก่อนจะมาเป็นนักเขียนอาชีพได้อย่างทุกวันนี้ เคยเป็น "นักเขียนไส้แห้ง" มาก่อน 

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ชวนคุยกับรอมแพง แชร์เรื่องราวตั้งแต่การจรดปากกครั้งแรกจนประสบความ พร้อมเทคนิคก้าวสู่เส้นทาง "นักเขียนอาชีพ" ที่ไม่ใช่แค่เขียนแล้วมีความสุข แต่ยังมีรายได้หล่อเลี้ยงตัวเองได้สบายๆ ในฐานะนักเขียนรุ่นพี่ โดยสรุปสิ่งที่คนอยากเป็นนักเขียนต้องมีเพื่อเป็นบันไดไต่ขึ้นไปสู่เป้าหมายของการเป็นนักเขียนยุคใหม่ตามคำแนะนำสไตล์รอมแพง ดังนี้

162914081362

 อ่านเยอะๆ 

การอ่าน เป็นจุดเริ่มต้นของการเขียนที่ดี รอมแพงเล่าว่าชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก ทำให้มีคลังคำในหัวเยอะ เกิดไอเดียใหม่ๆ อยู่เสมอ ดังนั้น การจะเป็นนักเขียนจึงต้องอ่านเยอะๆ ก่อน 

"สำหรับบางเรื่องที่ต้องใช้ข้อมูลเยอะ จะต้องหาข้อมูล เช่น บุพเพสันนิวาส เริ่มหาข้อมูลตั้งแต่เริ่มเป็นนักเขียนใหม่ๆ อ่านอัตชีวประวัติ เกร็ดประวัติศาสตร์ สะสมข้อมูลจากการอ่าน สะสมข้อมูล 3 ปี เขียนแค่ 1 เดือน มันพรั่งพรูในสิ่งที่อยากจะเล่า เพราะหาข้อมูลมาเต็มที่แล้ว"

 รักการเขียน เริ่มฝึกเขียน และเขียนให้จบ 

"ตอนเป็นนักเขียนแรกๆ เราคิดแค่ว่าเรามีความสุขจังที่เราได้เขียน แล้วคนอ่านฟีดแบคกลับมาว่าชอบมาก เราชื่นใจ มีกำลังใจ"

อย่างไรก็ตาม แม้จะรักการเขียนแค่ไหน แต่ความยากอย่างหนึ่งที่จะเป็นอุปสรรคคือ "ไม่เขียนสักที เขียนไปแล้วไม่จบ มีข้ออ้างว่าตัวเองยังไม่เก่งยังหาข้อมูลไม่ครบ มีข้ออ้างกับตัวเอง กลัวโน่นนี่ การเขียนเป็นการต่อสู้กับตัวเองมากกว่า เขียนยังไงให้จบ ทำยังไงให้ตัวเองลุกขึ้นมาเขียนได้ ลุกขึ้นมาสร้างเรื่องราวได้"

รอมแพงเล่าว่า นักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยหลายคน มองว่าตัวเองไม่เก่ง ทั้งที่มีเรื่องในหัวเยอะไปหมดแต่ไม่กล้าเขียน

"อยากบอกเด็กๆ ที่สนใจในด้านนี้ว่าถ้าอยากจะเขียน เขียนไปเลย ส่วนจะดีหรือไม่ดี มันปรับกันได้ การเขียนเป็นทักษะ ทำซ้ำๆ ได้รับการขัดเกลาได้รับการแก้ไข เรื่องแรกอาจไม่ได้ดีมาก แต่เรื่องถัดๆ ไป เราจะเริ่มเห็นว่าสำนวนยังไม่ใช่ ตรงไหนเปลี่ยนได้ พัฒนาไปเรื่อยๆ ถ้าเราทำซ้ำๆ ๆ ไปเรื่อยๆ ก็มีโอกาสดีขึ้นได้ เช่นเดียวกับนักดนตรี ที่ต้องซ้อมกันหลายชั่วโมงกว่าจะมาเป็นเพลงเพราะๆ ทุกอย่างต้องใช้เวลา
 

 เขียนตามสไตล์ของตัวเอง หาทางตัวเองให้เจอ ไม่ลอก 

"พระเอกเปลี่ยนได้เรื่อยๆ แต่นางเอกต้องเป็นเรา" 

รอมแพงอธิบายว่า สไตล์การเขียนของรอมแพงล้อไปกับตัวตนจริงๆ ของเธอ เสมือนเป็นนางเอกในทุกๆ เรื่องที่เขียน ทำให้ผลงานมีลายเซ็นเฉพาะที่แฟนๆ ต้องติดตามซื้ออ่านกันอยู่ตลอด 

"เอกลักษณ์ของงานเขียนรอมแพงก็คือ ตัวนางเอกคิดไม่เหมือนใคร นางเอกมีบุคคลิกมีความคิดอ่านคล้ายๆ กันทุกเล่ม แม้เนื้อจะต่างกัน เป็นเอกลักษณ์ของเรา คือถ้าเราไม่เอาตัวเองไปอยู่ในงานของเรา จะเขียนไม่ออก เคยลองแล้ว เขียนไม่ออกจริงๆ สำนวนอ่านง่าย บรรยายเห็นภาพ อารมณ์ขันในตัวหนังสือ จิกกัดบ้าง หรือทำให้คนยิ้มได้" 

"งานเขียนเป็นงานศิลปะ คนที่อ่านจะชอบหรือไม่ชอบก็ขึ้นอยู่กับรสนิยม และจริตของผู้อ่าน" เวลาที่มีคนมาคอมเมนต์งานเราจะดูว่าเรื่องนั้นจริงไหม อะไรที่นำมาปรับได้และเป็นประโยชน์ อันไหนที่เป็นการชี้แนะให้เห็นจุดบกพร่องเราก็นำมาปรับปรุงแก้ไข มันจะทำให้งานของเราพัฒนาขึ้นได้ แต่ต้องอย่าลืมว่าต้องไม่ฝืนใจตัวเอง เพราะงานศิลปะขึ้นอยู่กับตัวผู้สร้าง ว่าต้องการสื่อสารอะไรกับผู้อ่าน เพราะมันไม่มีทางที่งานศิลปะชิ้นไหนในโลกไม่มีเลยที่ทุกคนชอบงานศิลปะชิ้นนี้เหมือนกัน เป็นไปไม่ได้" 

 พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ไม่เขียนไปเรื่อย 

"การเป็นนักเขียนจะเขียนไปเรื่อยๆ แล้วนั่งรอวันที่จะแมสไม่ได้ เราจะต้องหาความรู้และพัฒนาสำนวน และอ่านเยอะๆ ที่จะช่วยเกลาสำนวน นำมาปรับใช้กับสำนวนของเราว่าควรจะเล่ายังไงให้เห็นภาพ เพื่อพัฒนางานเขียนของเราให้ดีขึ้นๆ เรื่อยๆ รวมถึงพลอตเรื่อง ยิ่งอ่านเยอะมุมมองยิ่งกว้างขึ้น"

 รู้จักหาแรงบันดาลใจ จุดประกายความคิด เช่น เดินทาง ท่องเที่ยว ดูซีรีส์ ฯลฯ 

ไม่ใช่แค่การอ่านอย่างเดียวที่ทำให้เรารู้เยอะ รู้กว้าง การออกไปท่องเที่ยว ดูซีรีส์ ดูภาพยนตร์ เพื่อช่วยจุดประกายความคิดอะไรบางอย่างของเราที่สั่งสมมา ตั้งแต่เกิด มันจะอาจจะสร้างผลงานที่แปลก แตกต่างเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งมีส่วนทำให้คนที่ติดตามผลงานเราเพิ่มขึ้นมาได้

 อดทน ไม่ใจร้อน งานเขียนต้องใช้เวลาสร้างผลงาน 

รอมแพงเล่าย้อนไปว่า เธอใช้เวลาร่วม 3 ปีกว่าจะมีนักอ่านมาติดตามผลงาน จนอยู่ได้ และมีรายได้มาเรื่อยๆ มีเงินใช้จ่ายคล่องตัวโดยมีรายได้จากงานเขียนเพียงอย่างเดียว เพราะฉะนั้นเราเขียนให้ตรงกับใจเราที่สุด ดีที่สุด 

เพราะฉะนั้น อย่าใจร้อนที่จะประสบความสำเร็จจนเกินไป งานเขียนคือศิลปะอย่างหนึ่งที่ต้องใช้เวลาในการสร้างผลงาน "การเขียนต้องใช้เวลาในการพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ แล้วสุดท้ายคนที่รักเราจริงๆ เขาจะอยู่กับเรา"

 หากทำงานประจำอยู่ อย่าเพิ่งลาออกจากงานประจำ! 

รอมแพง อยากแนะนำคนรุ่นใหม่ที่อยากทำอาชีพนักเขียนเต็มตัว คือ "หากทำงานประจำอยู่ อย่าเพิ่งลาออกจากงานประจำ จนกว่าจะมีคนติดตามมากพอ หรือรายได้จากงานเขียนจะเลี้ยงตัวเองได้"

"ก่อนจะมาเป็นนักเขียนพยายามตามหาตัวเอง เปลี่ยนงานมาประมาณ 11 งาน เช่น พนักงานขายเครื่องสำอางในห้างสรรพสินค้า คอลเซนเตอร์ เลขาฯทนายความ พนักงานธุรการ นักประเมินราคาตกแต่งภายใน เซลล์ขายบ้าน ฯลฯ กว่าจะเริ่มต้นเป็นนักเขียนในงานที่ 12 

หลังจากมีคนมาติดต่อซื้องานเขียน ทันทีเซ็นสัญญาก็เซ็นใบลาออกจากงานประจำต่อทันที ตั้งแต่หนังสือยังไม่ทันตีพิมพ์ กว่าจะตีพิมพ์เป็นเล่มได้ต้องใช้เวลา 6 เดือนเป็นอย่างน้อย ทำให้การเงินขัดสน และต้องตกอยู่ในฐานะนักเขียนไส้แห้งจริงๆ 

รอมแพง ต้องใช้เวลาร่วม 3 ปีกว่าจะมีนักงานมาติดตามผลงาน จนทำให้เราอยู่ได้ และมีรายได้มาเรื่อยๆ เมื่อเขียนเรื่องต่อๆ ไป และมีเงินใช้จ่ายคล่องตัว และปลดหนี้ที่เคยยืมคนอื่นใช้จนเป็นหนี้เป็นสินช่วงตัดสินใจออกมาเป็นนักเขียนใหม่ๆ ร่วม 5 ปี จึงแนะนำให้คนที่อยากเป็นนักเขียนลองฝึกทักษะการเขียนควบคู่กับงานประจำไปก่อนเพื่อพัฒนาตัวเอง เมื่อถึงจุดที่มีคนติดตามมากๆ มีรายได้เข้ามาจากงานเขียนมาพอค่อยขยับมาเป็นนักเขียนเต็มตัว 

 รู้จักหาช่องทางในการสร้างรายได้จากงานเขียน 

แม้จะเริ่มเป็นนักเขียนที่คาบเกี่ยวในยุคอนาล็อกมาก่อน แต่ก็ไม่เคยปิดกั้นโอกาสใหม่ๆ ที่เข้ามาในยุคดิจิทัล ทำให้มีโอกาสสร้างรายได้จากงานเขียนได้หลากหลายรูปแบบมากขึ้น

มีรายได้จากทางไหนบ้าง ? 

  • ผู้จัดหรือช่องซื้อลิขสิทธิ์ไปละคร
  • หลังออนแอร์ มีค่าลงหนังสือพิมพ์ หนังสือเฉพาะกิจ (ปัจจุบันไม่ค่อยมีแล้ว)
  • ขายลิขสิทธิ์ในต่างประเทศ รายได้ดีกว่าขายในไทย แต่ต้องมีชื่อเสียงจากประเทศไทยก่อน
  • ภาพยนตร์ 
  • มีแผนทำละครเวที 
  • การ์ตูน ล่าสุด KAKAO WEBTOON จากเกาหลีติดต่อมาซื้อลิขสิทธิ์เรื่องไปทำการ์ตูน โดยมีแอพพลิเคชั่นในไทยแล้วเมื่อ มิ.ย. 64 ที่ผ่านมา และมีผลงานของรอมแพงให้ติดตามในรูปแบบการ์ตูนผ่านแอพฯ ด้วย

"ทุกวันนี้เป็นนักเขียนได้ง่ายขึ้น มีช่องทางในการขายงานได้มากขึ้น เช่น อีบุ๊ค หรือใช้เรื่องการตลาดเข้ามาช่วย เช่น ให้จองหนังสือจ่ายก่อนรับหนังสือทีหลัง แล้วนำรายได้ไปผลิตหนังสือ เป็นอีกช่องทางที่ช่วยสร้างกำไรเยอะกว่าขายกับสำนักพิมพ์ที่ให้รายได้นักเขียนเป็นเปอร์เซ็นต์ 

นักเขียนสามารถสร้างรายได้เป็นแสนหรือเป็นล้านต่อเดือน หาช่องทางการขายที่ถูกทาง ถูกเวลา ถูกกลุ่มเป้าหมาย ยุคสมัยนี้แนวการเขียนเปิดกว้างมากขึ้น เช่น งานแปลจีนที่คนไทยเขียนสร้างรายได้เยอะ มีหลายตอนคนติดตามอ่านตลอด ถ้าเขียนตลอดรายได้เฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 5 หมื่นบาทเป็นอย่างน้อย"