ปัญหา 'โควิด' กับ 8 กฎฟื้นฟูสุขภาพจิตให้ดีขึ้นหลังการทะเลาะ

ปัญหา 'โควิด' กับ 8 กฎฟื้นฟูสุขภาพจิตให้ดีขึ้นหลังการทะเลาะ

ในยุค "โควิด" ระบาด คู่รัก กลุ่มเพื่อน ครอบครัว ต่างก็ต้องแยกกันอยู่ บวกกับความเครียดจากสถานการณ์ล็อกดาวน์ ปัญหาปากท้อง ทำให้หลายคนทะเลาะกันจน "สุขภาพจิต" ย่ำแย่ แบบนี้จะฮีลใจยังไงดี?

ขณะที่พวกเราใช้ชีวิตท่ามกลางสถานการณ์ "โควิด" ระบาด พ่วงมาด้วยการ "ล็อกดาวน์" เคอร์ฟิว ปัญหาปากท้อง การเงินย่ำแย่ ฯลฯ สิ่งหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้คือ ปัญหาความเครียดและสุขภาพจิตที่แย่ลง โดยเฉพาะเมื่อโควิด-19 ทำให้คู่รัก กลุ่มเพื่อน ครอบครัว ต้องเว้นระยะห่างซึ่งกันและกัน บางครั้งก็ทำเอาหงุดหงิดและทะเลาะกันได้ง่ายขึ้น

ความสัมพันธ์แบบเว้นระยะห่างและทะเลาะกันบ่อยแบบนี้ ยิ่งทำให้ชีวิตไปต่อได้ยาก แบบนี้จะมีวิธี Heal ใจ หรือฟื้นฟูความสัมพันธ์ให้กลับมาดีดังเดิมได้อย่างไร? กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนมาหาคำตอบไปพร้อมกัน

มีข้อมูลจาก แรนดี กุนเธอร์ นักจิตวิทยาคลินิก (Ph.D.) และผู้ให้คำปรึกษาด้านความสัมพันธ์ในเซาธ์แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ที่ทำงานสายอาชีพนี้มาเกือบ 40 ปี ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีฟื้นฟูความสัมพันธ์ เปลี่ยนการทะเลาะให้เป็นการทำความเข้าใจกันและกันให้มากขึ้น ด้วยกฎ 8 ข้อ ดังนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

1. เว้นระยะห่างทางกาย แต่ใจต้องไม่ห่าง

ยิ่งอยู่ห่างกัน เวลาคุยไม่เข้าใจจนทะเลาะกัน(ผ่านการโทรหรือวิดีโอคอล)ทีไร หลายคนมักจะเผลอขึ้นเสียงหรือตะคอกเสียงดังได้ง่าย ก็เพราะมันง่ายที่จะแสดงออกแบบนั้นในระยะไกล โดยไม่รู้สึกผิด ซึ่งนั่นไม่ดีเลย! จริงๆ แล้วยิ่งกายห่างกัน ก็ยิ่งต้องให้ใจใกล้กันเข้าไว้

วิธีแก้เมื่อบรรยากาศพาไปถึงจุดที่ใกล้จะทะเลาะกัน คือ หายใจลึกๆ พยายามใจเย็น ชวนอีกฝ่ายมาค่อยๆ พูดจากันอย่างสงบ โต้แย้งอย่างสันติ ให้เกียรติกัน อย่ามัวแต่จะเอาชนะ! ทำให้เห็นว่าทั้งคู่ยังมีใจที่จะแก้ปัญหาไปด้วยกัน ไม่ใช่จะทำลายล้างกัน

2. เน้นการอธิบาย และเต็มใจฟังกันและกัน

เมื่อมีเรื่องที่ไม่เข้าใจกัน แน่นอนว่าการพูดคุยช่วยแก้ปัญหาได้ดี แต่ก็ต้องทำเมื่ออีกฝ่ายเต็มใจที่จะรับฟังจริงๆ ไม่ใช่พอไม่เข้าใจอะไรกันก็จะทะเลาะอย่างเดียว บังคับให้อีกฝ่ายฟังและทำตาม เพราะถ้าทั้งทะเลาะไปด้วยและอธิบายไปด้วยการพูดประชดหรือใส่อารมณ์ เมื่อนั้นความเต็มใจที่จะฟัง จะหายไปทันที คนเราจะปิดกั้นความสามารถในการได้ยินและการทำความเข้าใจ เมื่อโกรธ โมโห จนไม่มีสติ ดังนั้น

3. อย่าเอาข้อเสียเปรียบของอีกฝ่าย มาพูดตอนทะเลาะกัน

แน่นอนว่าคู่รักหรือเพื่อนๆ ที่คบกันมานาน ย่อมรู้ข้อดีข้อเสียของกันและกัน เวลาทะเลาะกัน ถ้าดึงข้อเสียเปรียบของอีกฝ่ายขึ้นมาพูด รับรองว่าจบไม่สวยแน่นอน ข้อด้อยของคนที่เรารักเป็นเหมือนของต้องห้าม ไม่ควรหยิบยกมันขึ้นมาพูดเมื่อกำลังทะเลาะกัน มันเหมือนเป็นการต่อยใต้เข็มขัดเพื่ออยากเอาชนะอย่างเดียว โดยไม่ใส่ใจถึงความรู้สึกของอีกฝ่าย

หากเผลอทำลงไป จะกระทบกับความไว้ใจของอีกฝ่ายแน่นอน และทิ้งแผลเป็นไว้ตลอดไป แม้ว่าคุณจะรู้สึกผิดและขอโทษมากแค่ไหน อีกฝ่ายก็อาจจะไม่ให้อภัยอีกต่อไป ถ้าจะทะเลาะเรื่องอะไรก็ให้พูดถึงเฉพาะเรื่องนั้นเรื่องเดียว ไม่ต้องโยงไปอย่างอื่น และพยายามปรับความเข้าใจด้วย อย่าทะเลาะเพื่อเอาชนะ

4. อย่าตอกกลับอีกฝ่าย ด้วยการวิจารณ์สิ่งเดียวกัน

จุดที่แย่ที่สุดของการทะเลาะคือ การอยากเอาชนะอีกฝ่าย แม้ว่าจะแลกมาด้วยการทำให้อีกฝ่ายรู้สึกผิดมากแค่ไหนก็ตาม ดังนั้นเราต้องรู้เท่าทันอารมณ์ตรงนี้ เวลาไม่เข้าใจกันจนเกิดทะเลาะขึ้นมา พยายามเลี่ยงการทำให้อีกฝ่ายรู้สึกผิดและเงียบไปเอง แบบนี้ยิ่งจะสร้างแผลในใจมากขึ้น เช่น 

A : “คุณใจร้ายมาก ไม่สนใจกันเลยใช่มั้ย?”

B : “อะไร? คุณไม่เคยใจร้ายกับฉัก่อนงั้นเหรอ ทำไมไม่ดูตัวเองบ้าง”

ลองเปลี่ยนจากการทะเลาะมาเป็นการพูดคุยเพื่อปรับความเข้าใจ เช่น “ช่วยให้ฉันเข้าใจมากขึ้นได้ไหม ฉันรู้ว่าบางครั้งฉันก็ใจร้ายเกินไป และฉันก็ไม่ควรเป็นแบบนั้นเลย บอกฉันสิว่าคุณอยากให้ฉันพูดหรือทำอะไรให้คุณสบายใจขึ้น” เป็นต้น

5. หยุดพูดประโยคเดิมซ้ำๆ

หลายต่อหลายครั้ง การทะเลาะกันของบางคนมักจะมาพร้อมกับคำพูดเดิมๆ แพทเทินประโยคเดิมๆ ไม่ว่าจะทะเลาะกันกี่ทีก็เป็นเรื่องเดิม แบบนี้สะท้อนให้เห็นว่าพวกคุรไม่ได้พัฒนาหรือปรับความเข้าใจในเรื่องนั้นๆ เลย ยิ่งทะเลาะก็ยิ่งแย่ ลองหยุดพูดคำเดิมๆ แล้วหาวิธีการพูดคุยแบบใหม่ เพื่อให้อีกฝ่ายเข้าใจสิ่งที่ต้เองการให้มากขึ้น

6. ไม่มีวาระซ่อนเร้น

เวลาคนเราทะเลาะกัน มักมีแรงจูงใจในการตอบสนองความต้องการบางอย่างของตนเองอยู่ ทั้งๆ ที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องที่กำลังทะเลาะอยู่ด้วยซ้ำ เช่น ทะเลาะกันเรื่องทำความสะอาดบ้าน ก็ต้องยอมรับว่าทำไมถึงไม่อยากทำมันจริงๆ ไม่ใช่แค่เพราะว่าขี้เกียจ 

หากคู่รักต้องการการแก้ปัญหาที่แท้จริง พวกเขาต้องแสดงสิ่งที่พวกเขาต้องการจากกันและกันอย่างตรงไปตรงมา และตามความเป็นจริง อย่าทำเพราะหวังผลอย่างอื่นที่จะตามมา เพราะทั้งคู่ย่อมต้องการความซื่อสัตย์และความเป็นธรรม ต้องแก้ปัญหาโดยไม่กระทบกับความเชื่อใจของกันและกัน

7. อย่าเอาพวกมาเสริม ทำให้อีกฝ่ายดูด้อยกำลังลงไป

อย่าทะเลาะแล้วอยากเอาชนะมากจนต้องหาพวกหรือหาตัวช่วยมาเสริม เพื่อให้ตัวเองดูยิ่งใหญ่และกดให้อีกฝ่ายด้อยกว่า เช่น “แม้แต่เพื่อนสนิทของคุณก็ยังเห็นด้วยกับฉัน”

ซึ่งการกระทำเหล่านี้ ยิ่งทำให้การทะเลาะแย่ลงไปอีก การทะเลาะควรเป็นเป็ฯเรื่องจของคนสองคนที่เห็นต่าง และพยายามจะปรับจูนความเข้าใจให้ตรงกัน พยายามแก้ไขปัยหาไปด้วยกัน ไม่ใช่เรื่องการเอาชนะ!

8. เน้นที่การแก้ไขปัญหาร่วมกัน ไม่ใช่เน้นเรื่องที่เอามาทะเลาะ

เวลาคนเราทะเลาะกันจนหัวร้อน เรามักลืมสังเกตว่าอีกฝ่ายยังรับข้อมูลไหวไหม เหนื่อยหรือเฮิร์ตเกินจะคุยกันต่อรึเปล่า อย่าลืมดูมวลบรรยากาศรอบๆ ตัวระหว่างทั้งคู่ด้วย เพราะถ้าอีกคนไม่ไหวแล้ว ทะเลาะกันต่อก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา วิธีแก้คือ เน้นการพูดคุยเพื่อหาทางออก หาทางแก้ไข มากกว่ามุ่งแต่จะพูดถึงว่าใครผิดใครถูก หรือเรื่องนี้มันเป็นปัญหาใหญ่แค่ไหน เป็นต้น

------------------------------

อ้างอิง : psychologytoday.com