‘รอมแพง’ ผู้ปั้น ‘บุพเพสันนิวาส’ ดึงนักอ่านยุคดิจิทัลติดหนึบได้อย่างไร
ชวนคุยกับ อุ้ย จันทร์ยวีร์ สมปรีดา เจ้าของนามปากกา "รอมแพง" ผู้ปลุกปั้น "บุพเพสันนิวาส" เธอมาบอกเล่าถึงชีวิตนักเขียนจากยุคหน้ากระดาษ แต่ยังคงรักษาผู้อ่านให้ติดหนึบได้ในยุคดิจิทัล
เมื่อชีวิตของคนยุคนี้เปลี่ยนผ่านจาก 'ออฟไลน์' สู่ 'ออนไลน์' วงการหนังสือและนวนิยายจึงถูกหยิบมาถกเถียงกันอย่างหนัก หนังสือกำลังจะตาย? นักเขียนที่ถูกนิยาม “ไส้แห้ง” ต่อท้าย กำลังจะไปไม่รอด แต่คงไม่ใช่กับ “รอมแพง” นักเขียนเจ้าของผลงานแห่งปีอย่าง “บุพเพสันนิวาส” ที่ฮิตติดลมบนจนหยุดไม่ได้
ด้วยพล็อตเรื่องมีความแปลกใหม่ ความสนุกของตัวละครในโลกอีกใบ ข้อมูลเชิงลึกที่บรรยายด้วยภาษาสละสลวย เหล่านี้คือสิ่งที่นักอ่านหลายคนยังคงติดตามนักเขียนผู้ซึ่งใช้นามปากกาว่า “รอมแพง” แต่ไม่ใช่ว่าใครนึกอยากจะเขียน แล้วจะประสบความสำเร็จได้ทุกคน
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนมาพูดคุยกับ อุ้ย จันทร์ยวีร์ สมปรีดา เจ้าของนามปากการอมแพง ที่จะมาบอกเล่าถึงชีวิตนักเขียนจากยุคหน้ากระดาษ แต่ยังคงรักษาผู้อ่านให้ติดหนึบได้ในยุคดิจิทัล
- เริ่มจากชอบอ่าน สู่การชอบเขียน
หากถามถึงแรงบันดาลใจของใครสักคนที่อยากเป็น "นักเขียน" ส่วนใหญ่มักพูดตรงกันว่าเกิดจาก ความหลงใหลในการอ่าน จึงผลักดันมาสู่การเป็นนักเขียน ซึ่งสิ่งนี้ก็เป็นแรงบันดาลใจของ อุ้ย จันทร์ยวีร์ เช่นกัน
“เราเป็นคนอ่านหนังสือออกได้เร็วมาก ประมาณสัก 6-7 ขวบ ก็อ่านหนังสือออกแล้ว หนังสือที่อ่านในช่วงแรกๆ ก็จะเป็นพวกนิทานอีสปก่อน”
กิจกรรมส่วนหนึ่งในวันเด็กของรอมแพง คือการใช้เวลาในห้องสมุด นิยายเรื่องแรกที่อ่านคือ ในฝัน ของ โรสลาเลน (ทมยันตี) แล้วก็อีกเรื่องคือ สัมผัสที่หก ของ ตรี อภิรุม โดยนิยายที่อ่านไม่ได้เน้นว่าจะเป็นแนวไพรัชนิยาย แต่จะเป็นลักษณะอ่านไปเรื่อยๆ
“โดยส่วนตัว เราจะชอบแบบแนวแฟนตาซี อย่างเรื่องในฝันก็เช่นเดียวกัน แต่จะเป็นแบบลิเกเจ้าหน่อย หรืออย่าง สัมผัสที่หก ก็จะเป็นแนวพลังจิต เหนือธรรมชาติ ซึ่งหลังจากนั้นเราก็อ่านหนังสือประเภทนี้มาโดยตลอด”
ในสมัยเรียนมัธยมอุ้ยมีการเขียนบทละครเวทีบ้าง ซึ่งได้รับรางวัลไปไม่น้อย และชีวิตในแต่ละวันจะมีการเขียนคล้ายๆ บันทึกประจำวันในแบบฉบับการจดบันทึกความฝัน “คือเราฝันว่าอะไรบ้าง เราจะรีบจดเอาไว้”
- แค่เริ่มต้นก็เข้าสู่ยุคไส้แห้งเลย
คำถามที่นักเขียนหลายๆ คนต้องเคยโดนถามคือ นักเขียนไส้แห้งจริงไหม? อุ้ย จันทร์ยวีร์ หัวเราะแล้วตอบกลับมาว่า เคยค่ะ
อุ้ยเล่าว่าเรียนจบคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ เมื่อเรียนจบจึงเข้าทำงานในหลายๆ อาชีพ เช่น BA ขายเครื่องสำอาง เซลล์ขายบ้าน เลขานุการทนายความ ธุรการ พนักงานประมาณราคาของบริษัทตกแต่งภายใน พนักงานพิสูจน์อักษร ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว อุ้ยยอมรับว่า ตนเองไม่ได้ทำงานตรงกับตรงสายการเรียนที่จบมา
โดยระหว่างนั้นก็เริ่มเขียนนิยายลงเว็บไซต์พันทิป (Pantip) และมีผู้ติดตาม หรือนักอ่านประจำอยู่จำนวนหนึ่ง จึงได้มีการติดต่อกับสำนักพิมพ์เพื่อตีพิมพ์ผลงาน ตั้งแต่หนังสือยังไม่ทันตีพิมพ์ กว่าจะตีพิมพ์เป็นเล่มได้ต้องใช้เวลา 6 เดือนเป็นอย่างน้อย ทำให้การเงินขัดสน และต้องตกอยู่ในฐานะนักเขียนไส้แห้งจริงๆ
“เราเปลี่ยนงานบ่อยมาก และคิดว่าแต่ละอาชีพที่ผ่านมามันไม่เหมาะกับเรา ทำแล้วไม่มีความสุข เลยตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาเป็นนักเขียนแบบเต็มตัว ตอนช่วงแรกๆ ของการเป็นนักเขียน เรียกว่าไส้แห้งได้เลย”
รอมแพง ต้องใช้เวลาร่วม 3 ปีกว่าจะมีนักอ่านมาติดตามผลงาน จนทำให้เราอยู่ได้ และมีรายได้มาเรื่อยๆ เมื่อเขียนเรื่องต่อๆไป และมีเงินใช้จ่ายคล่องตัว และปลดหนี้ที่เคยยืมคนอื่น ช่วงตัดสินใจออกมาเป็นนักเขียนใหม่ๆ ร่วม 5 ปี จึงแนะนำให้คนที่อยากเป็นนักเขียนลองฝึกทักษะการเขียนควบคู่กับงานประจำไปก่อนเพื่อพัฒนาตัวเอง เมื่อถึงจุดที่มีคนติดตามมากๆ มีรายได้เข้ามาจากงานเขียนมาพอค่อยขยับมาเป็นนักเขียนเต็มตัว
- ตัวตนที่อยู่ในตัวหนังสือ
ชื่อของ รอมแพง ถูกรู้จักเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่มีกระแสละครพีเรียด “บุพเพสันนิวาส” แต่สำหรับคอนักอ่านแล้ว รอมแพง ถูกพูดถึงผลงานหลายต่อหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น มิติรักข้ามดวงดาว, สายลับลิปกลอส, ปักษานาคา, พรานพรม, ดาวเกี้ยวเดือน
“เวลาเราเขียนจะใช้เวลาเรื่องละหนึ่งเดือน แต่บางเรื่องเก็บข้อมูลนานมาก อย่างเรื่องบุพเพสันนิวาสใช้เวลาหาข้อมูลประมาณ 3 ปี”
เรื่องแนวแฟนตาซีประวัติศาสตร์คือแนวที่รอมแพงถนัด อุ้ยเล่าว่าเพราะความชอบส่วนตัว และจากประสบการณ์การเรียนมหาวิทยาลัย สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ จึงทำให้มีข้อมูลลึกกว่าคนอื่นๆ แต่ใช่ว่านวนิยายประวัติศาสตร์จะได้รับความนิยมมากมาย จึงพยายามใส่ความสนุก และอารมณ์ขันตามสไตล์ที่อุ้ยชอบ
“เรารักในเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ซี่งเราอยากจะสื่อสารออกไป แต่มีความรู้สึกว่าหลายๆ เรื่องในส่วนนี้มันรู้สึกเครียด แล้วเราจะใส่ไปยังไงให้ไม่รู้สึกเครียดมากนัก เราก็เลยใช้วิธีในสไตล์ของเราเข้าไป”
นอกจากความสนุก ตัวละครหลักของอุ้ยยังถูกเล่าผ่านผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเหล่านักอ่านล้วนลงความเห็นว่าจุดเด่นของนิยายรอมแพงอย่างหนึ่งคือ
"นางเอกจะต้องเข้มแข็ง เก่งกาจ ขาลุย ซึ่งเราพยายามสะท้อนออกมาให้เป็นตัวเรามากที่สุด และไม่อิงกับค่านิยมของนางเอกสมัยก่อน ที่ต้องได้รับการปกป้องเพียงอย่างเดียว"
- รอมแพงในยุคดิจิทัล
บุพเพสันนิวาสโลดแล่นจากหนังสือ ไปสู่จอจอเงิน และกำลังจะโลดแล่นไปสู่จอภาพยนตร์ ล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ ได้ร่วมมือกับ Kakaowebtoon ในเครือของ Kakao entertainment ประเทศเกาหลี จับมือกันนำเสนอ บุพเพสันนิวาส ในขั้นแรกจะนำเสนอในรูปแบบการ์ตูนให้ได้อ่านในแอพพลิเคชั่น kakaowebtoon ในช่วงปลายปี 2564
“คือเราไม่ได้คาดหวังว่าละครมันจะดังมากๆ ก่อนทำก็มีการคาดหวังไว้ระดับหนึ่ง แต่ผลพลอยได้คือให้คนไทยได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ซึ่งถ้าเราช่วยให้ความเป็นไทยมันไปไกลได้ ยิ่งดีเข้าไปใหญ่”
จากการจับมือของรอมแพง และเว็บการ์ตูน Kakao อุ้ยยอมรับว่าตื่นเต้นที่จะได้เห็นบุพเพสันนิวาสในรูปแบบใหม่ ซึ่งจะมีการตีความและถูกวาดโดยศิลปินชาวเกาหลี แต่ถึงอย่างนั้น แม้บุพเพสันนิวาสจะดังมากๆ และสร้างรายได้อย่างมหาศาล แต่อุ้ยก็ไม่หยุดเขียนหนังสือ พร้อมสร้างสรรค์เรื่องราวใหม่ให้แก่นักอ่านต่อไป
“จุดสำเร็จของการเป็นนักเขียน คือการได้เขียนหนังสือให้นักอ่านได้อ่านตลอด จนกว่าจะหมดแรงเขียน ความดังอาจจะเป็นผลพลอยได้ เพราะว่ามันคือสิ่งที่เรารัก และขอบคุณทุกคนที่คอยสนับสนุนรอมแพง” เจ้าของนามปากการอมแพง กล่าวทิ้งท้าย