'เศรษฐีใหม่' เปลี่ยนมือ เมื่อโปรดิวเซอร์วง ‘บีทีเอส’ ทำรายได้ชนะผู้บริหาร 'ซัมซุง' 'ฮุนได'

'เศรษฐีใหม่' เปลี่ยนมือ เมื่อโปรดิวเซอร์วง ‘บีทีเอส’ ทำรายได้ชนะผู้บริหาร 'ซัมซุง' 'ฮุนได'

โควิดทำ new rich ของเกาหลีใต้ เปลี่ยนมือจากผู้บริหารแชโบลยักษ์ใหญ่ไปอยู่กับคนในวงการบันเทิงอย่าง “พีด็อก” โปรดิวเซอร์ที่ทำเพลงฮิตให้วง “บีทีเอส” รวมถึงผู้บริหารบริษัท Hybe ต้นสังกัดวง และโปรดิวเซอร์รายวาไรตี้ชื่อดัง

ในช่วงที่เศรษฐกิจหลายภาคส่วนทั่วโลกชะงักงันเพราะโควิด แต่สินค้าทางวัฒนธรรม K-Pop กลับยังคงสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับเกาหลีใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความดังระดับโลกของวง ‘บีทีเอส’ (BTS) ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในช่วงเวลาวิกฤติได้เป็นอย่างมาก

ล่าสุด พีด็อก (Pdogg) โปรดิวเซอร์คู่บุญที่ทำเพลงร่วมกับวงบีทีเอสมาตั้งแต่เข้าวงการเมื่อ 8 ปีที่แล้ว กลายเป็นลูกจ้างบริษัทจดทะเบียนที่ทำรายได้มากที่สุดในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 เหนือว่าบรรดาผู้บริหารแชโบลยักษ์ใหญ่เครือซัมซุง ฮุนได และแอลจี เสียอีก

หนังสือพิมพ์ The Korea Herald รายงานว่าจากข้อมูลที่ Hybe ต้นสังกัดของวงบีทีเอส ยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) พบว่า พีด็อก ซึ่งมีชื่อจริงว่า Kang Hyo-won ทำรายได้ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ไป 40,070 ล้านวอน (ประมาณ 1139 ล้านบาท)

ที่น่าสนใจคือ พีด็อก ไม่ได้นั่งเก้าอี้ผู้บริหารบริษัท Hybe ด้วยซ้ำ เขาเป็นเพียงคนโปรดิวซ์เพลงฮิตให้กับวงบีทีเอสหลายเพลง เช่น Fire, Blood Sweat & Tears, Spring Day, DNA, Idol, Boy With Luv ซึ่งข้อมูลที่แจกแจงต่อตลาดหลักทรัพย์ระบุว่า รายได้มหาศาลของ พีด็อก แบ่งเป็นเงินเดือนหรือค่าจ้างจากบริษัท 38 ล้านวอน รายได้จากการถือหุ้น 39,900 ล้านวอน และเงินโบนัสอีก 111 ล้านวอน

162930120371

พีด็อก คว้าทั้งเงินและกล่องจากการทำเพลงให้ BTS credit : @pddogg twitter

ส่วนผู้ที่มีรายได้มากเป็นอันดับ 2 คือ Chung Mong-koo ประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ของ Hyundai Motor Group ที่มีรายได้รวม 30,200 ล้านวอน ในจำนวนนี้มีค่าชดเชยจากการเลิกจ้างมูลค่า 29,700 ล้านวอน รวมอยู่ด้วย

นอกจากนี้ยังมีผู้บริหารจาก Hybe ทำรายได้ติดอันดับท็อปไฟว์รวมอยู่ด้วยอีก 2 คน คือ Yoon Suk-joon ซีอีโอบริษัท และ Kim Shin-gyu ผู้ดำรงตำแหน่ง Chief Management Director ของบริษัท โดยนายคิมทำรายได้มาเป็นอันดับ 3 ที่ 27,700 ล้านวอน ส่วนนายยุน ครองอันดับ 4 ด้วยรายได้ 23,100 ล้านวอน

อันดับ 5 ก็ยังคงตกเป็นของคนในวงการบันเทิง นั่นคือ นายองซอก (Na Young-seok) ที่คนเกาหลีเรียกว่า นาพีดี (Na PD) หรือ ‘โปรดิวเซอร์นา’ เพราะเขาเป็นผู้ผลิตรายการวาไรตี้โชว์ทางทีวีที่มีชื่อเสียงของประเทศหลายรายการ เช่น 1 Night 2 Days, New Journey to the West, Grandpas Over Flowers, Three Meals a Day

โดยนาพีดีทำรายได้ไปถึง 1,080 ล้านวอน ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 มากกว่ารายได้ของนาย Lee Jay-hyun ประธานบริษัท CJ Group กลุ่มเอ็นเตอร์เทนเมนต์ยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ที่เป็นผู้ผลิตรายการของนาพีดีเสียอีก

ตัวอย่างรายการวาไรตี้ที่ 'นาพีดี' ทำกับ 'บีทีเอส'

ในส่วนของกลุ่มแชโบลยักษ์ใหญ่อย่าง Samsung Group นาย Lee Jae-yong ซีอีโอ ซึ่งควบตำแหน่งรองประธานกรรมการบริษัท Samsung Electronics ด้วยนั้น ไม่มีรายได้จากบริษัทมา 5 ปีติดต่อกันแล้ว แต่เขายังคงติดอันดับบุคคลที่มีสินทรัพย์มากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศอยู่ดี โดยดัชนีจัดอันดับความรวยของบลูมเบิร์ก (Bloomberg wealth index) ระบุว่าเขามีความมั่งคั่งเป็นอันดับ 2 ของเกาหลีใต้ รองจากนาย Kim Beom-suk ผู้ก่อตั้งบริษัท Kakao