"วันสารทจีน" คืออะไร? ทำไมต้องเผา "กงเต็ก" ให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ
ชวนรู้ที่มา "วันสารทจีน" มีความสำคัญกับลูกหลานเชื้อสายจีนอย่างไร? รวมถึงหาคำตอบว่าทำไมต้องเผา "กงเต็ก" ให้บรรพบุรุษ ญาติๆ ผู้ล่วงลับจะได้รับสิ่งของเหล่านั้นจริงหรือไม่?
ลูกหลานมังกรปักหมุดไว้เลย! ปีนี้ "วันสารทจีน" ตรงกับวันที่ 12 สิงหาคม 2565 ตามปฏิทินสากล แต่ถ้าดูตามปฏิทินทางจันทรคติจะตรงกับวันเพ็ญ 15 ค่ำเดือน 7 ของทุกปี สำหรับชาวไทยเชื้อสายจีนก็คงทราบถึงสำคัญของวันสารทจีนกันดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะคนรุ่นพ่อแม่หรืออากงอาม่าที่บ้าน
แต่สำหรับหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่จะรู้หรือไม่ว่า "วันสารทจีน" มีความสำคัญและมีที่มาอย่างไร? กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จะชวนมาหาคำตอบเรื่องนี้กัน
1. "วันสารทจีน" คืออะไร?
วันสารทจีน เป็นวันสำคัญที่ลูกหลานชาวจีนจะแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษผ่าน "พิธีเซ่นไหว้" และยังถือเป็นเดือนที่ประตูนรกเปิดให้วิญญาณทั้งหลายมารับกุศลผลบุญได้ ส่วน "ของไหว้" หลักๆ จะเป็นอาหารคาว-หวาน และผลไม้ โดยเน้นเมนูที่บรรพบุรุษชื่นชอบ อีกทั้งในวันสารทจีน ก็ยังมีการไหว้เจ้าที่ และไหว้ผีไม่มีญาติเป็นการให้ทานอีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- “วันสารทจีน 2565” ตรงกับ 12 สิงหาคม แนะวิธีทำบุญและบอกสิ่งห้ามทำในเดือนนี้
- 10 ข้อห้าม ‘วันสารทจีน’ ในประเทศเพื่อนบ้าน เหมือนหรือต่างกับไทย?
- 'สารทจีน' VS 'ตรุษจีน' ลูกหลานแดนมังกรรู้ไหมต่างกันยังไง?
2. ความเชื่อนรก-สวรรค์ "วันสารทจีน"
ความเป็นมาของ "สารทจีน" ว่ากันว่าเดือน 7 เป็นเดือนที่ประตูนรกเปิด เพื่อพิพากษาส่งดวงวิญญาณไปสู่นรกหรือขึ้นสวรรค์ ตามแต่ผลบุญกรรมที่ได้ทำมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ดวงวิญญาณบรรพบุรุษจะได้มีโอกาสกลับบ้านมาหาลูกหลาน
ลูกหลานจึงต้องมีการตระเตรียมอาหารคาวหวานจานโปรด ผลไม้ และเครื่องดื่ม เพื่อเซ่นไหว้ดวงวิญญาณของท่าน เป็นการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ
3. เปิดตำนานประเพณีไหว้สารทจีน
มีตำนานเกี่ยวกับประเพณีนี้เล่าเอาไว้ด้วย ระบุว่า มีชายหนุ่มผู้หนึ่งชื่อ “มู่เหลียน” เป็นคนเคร่งครัดในพุทธศาสนามาก ผิดกับมารดาที่เป็นคนใจบาปหยาบช้า ไม่เชื่อเรื่องนรกสวรรค์ ปีหนึ่งในช่วง “เทศกาลกินเจ” นางเกิดความหมั่นไส้คนที่นุ่งขาวห่มขาวถือศีลกินเจ นางจึงออกอุบายให้คนถือศีลมากินอาหารเจที่บ้าน แต่นางผสมมันหมูลงไปด้วย การกระทำนี้ถือเป็นกรรมหนัก เมื่อตายไปจึงตกนรกอเวจีขุมที่ลึกที่สุด
เมื่อมู่เหลียนคิดถึงมารดาก็ได้ถอดกายทิพย์ลงไปในนรกภูมิ เห็นมารดาของตนกำลังอดอยาก จึงป้อนอาหารแก่มารดา แต่ถูกบรรดาภูตผีที่อดอยากรุมแย่งไปกินหมด และแม้จะป้อนได้ แต่เม็ดข้าวนั้นกลับเป็นไฟเผาไหม้ปาก แต่ด้วยความกตัญญู มู่เหลียนได้เข้าไปขอยมบาลว่า ตนจะรับโทษแทนมารดา
แต่พระพุทธเจ้าได้เสด็จลงมาโปรดไว้ได้ทัน และให้ทางออกกับปัญหานี้ว่าให้มู่เหลียนสวดคัมภีร์อิ๋วหลันเผิน และถวายอาหารทุกปีในเดือนที่ประตูนรกเปิด จึงจะสามารถช่วยมารดาของเขาให้พ้นโทษได้ นับแต่นั้นเป็นต้นมา ชาวจีนจึงได้ถือปฏิบัติประเพณีนี้สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
4. กระดาษ "กงเต็ก" สิ่งสำคัญในวันสารทจีน
ตามความเชื่อของชาวจีน "กงเต็ก" ถือเป็นสะพานที่เชื่อมโยงระหว่าง "คนเป็น" และ "คนตาย" เริ่มจากความหมายของคำๆ นี้ มาจากการรวมกันของ 2 คำ คือ
- กง แปลว่า การกระทำ
- เต็ก แปลว่า คุณธรรม
แปลรวมได้ว่า การกระทำที่มีคุณธรรม ซึ่งหมายถึง การแสดงความกตัญญูของลูกหลานผ่านพิธีอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ
5. ทำไมต้องเผากงเต็กให้ญาติๆ ผู้ล่วงลับ
ว่ากันว่าการเผากระดาษกงเต็กนั้น ถือเป็นพิธีการอุทิศส่วนกุศลและส่งดวงวิญญาณให้เดินทางไปยังสวรรค์ และอีกนัยหนึ่งคือ เชื่อว่าเป็นการส่งข้าวของ เงินทอง และเครื่องใช้ต่างๆ ผ่านเปลวไฟ เพื่อส่งของต่างๆ ไปให้บรรพบุรุษผู้อยู่อีกภพหนี่งได้ใช้ ซึ่งการเผาสิ่งของต่างๆ ตามความเชื่อนี้ เป็นวัฒนธรรมของคนจีนที่สืบทอดกันมากว่า 1,400 ปีมาแล้ว
ในยุคแรกๆ มีเพียงการเผากระดาษเงินกระดาษทอง โคมไฟ ห้องน้ำ ม้า นก และหีบเสื้อผ้าเท่านั้น แต่ต่อมาก็เริ่มใส่ไอเดียต่างๆ ลงไปในกระดาษกงเต็กมากขึ้นตามยุคสมัย เช่น บ้าน เฟอร์นิเจอร์ เครื่องเสียง รถยนต์ มือถือสมาร์ทโฟน หน้ากากอนามัย หรือแม้กระทั่ง "กงเต็กวัคซีนโควิด" ก็มีให้เห็นกันแล้วในวันสารทจีน 2564
----------------------
อ้างอิง :