มติถอดถอน "สุชาติ สวัสดิ์ศรี" จาก"ศิลปินแห่งชาติ" อยู่ในขั้นตอนยื่นคำร้อง

มติถอดถอน "สุชาติ สวัสดิ์ศรี" จาก"ศิลปินแห่งชาติ" อยู่ในขั้นตอนยื่นคำร้อง

เมื่อไม่นานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ มีมติยกเลิกประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ "สุชาติ สวัสดิ์ศรี" ศิลปินแห่งชาติ แต่กระบวนการยังอยู่ในขั้นให้ยื่นคำร้องคัดค้านมติ

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้มีมติยกเลิกการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี พ.ศ.2554 ด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ ขณะนี้กระบวนการอยู่ระหว่างขั้นตอนต่อไป โดยให้ นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี ยื่นคำร้องคัดค้านมติดังกล่าว

นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี นับเป็นศิลปินแห่งชาติคนแรก ที่โดนยกเลิกการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ จากกฎกระทรวงวัฒนธรรมที่ระบุไว้ ว่า

หากปรากฎว่า ศิลปินแห่งชาติ ผู้นั้นมีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ คณะกรรมการโดยมติด้วยคะแนนเสียงอย่างน้อยสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

อาจยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติได้ เมื่อได้ยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ใดเป็นศิลปินแห่งชาติตามวรรคสอง ให้งดการจ่ายประโยชน์ ตอบแทนตั้งแต่วันที่คณะกรรมการมีมติ

ทั้งนี้ ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่กฎกระทรวงกำหนดสาขา คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกและประโยชน์ตอบแทนของศิลปินแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2563 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 29 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ.2553 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในข้อ 5 แห่งกฎกระทรวงกำหนดสาขา คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกและประโยชน์ตอบแทนของศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.2555 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ 5 ศิลปินแห่งชาติต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

(1) มีสัญชาติไทย (2) มีชีวิตอยู่ในวันประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ (3) เป็นผู้มีคุณธรรม มีความรู้ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานดีเด่นเป็นที่ยอมรับ ของวงการศิลปะในสาขานั้น (4) เป็นผู้สร้างสรรค์และพัฒนาศิลปะในสาขาที่ได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ

(5) เป็นผู้ผดุง ถ่ายทอด เผยแพร่ หรือเป็นต้นแบบศิลปะในสาขาที่ได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ (6) เป็นผู้ทุ่มเท อุทิศตนเพื่องานศิลปะ และมีผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม (7) ไม่มีความประพฤติเสื่อมเสีย (8) ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ”

ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในข้อ 10 แห่งกฎกระทรวงกำหนดสาขา คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือก และประโยชน์ตอบแทนของศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.2555 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 10 ในกรณีที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรมตรวจสอบคุณสมบัติ เอกสาร หลักฐาน และรายละเอียดที่เกี่ยวข้องแล้ว ถ้าเห็นว่าถูกต้องและครบถ้วน ให้เสนอผลการตรวจสอบ รวมทั้งเอกสาร หลักฐาน และรายละเอียดที่เกี่ยวข้องต่อคณะกรรมการ เพื่อพิจารณาประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ เป็นศิลปินแห่งชาติ เมื่อได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ใดเป็นศิลปินแห่งชาติแล้ว

หากปรากฎว่าศิลปินแห่งชาติผู้นั้นมีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ คณะกรรมการโดยมติด้วยคะแนนเสียงอย่างน้อยสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

อาจยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติได้ เมื่อได้ยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ใดเป็นศิลปินแห่งชาติตามวรรคสอง ให้งดการจ่ายประโยชน์ ตอบแทนตั้งแต่วันที่คณะกรรมการมีมติ”

ให้ไว้ ณ วันที่ 18 พ.ค.2563

สุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นนักเขียนที่มีนามปากกาว่า สิงห์สนามหลวง เป็นผู้ก่อตั้ง รางวัลช่อการะเกด ให้นักเขียนหน้าใหม่ส่งผลงานเข้ามาประกวด เพื่อแจ้งเกิดในวงการวรรณกรรมไทย เป็นบรรณาธิการ วารสารรายสามเดือนของสมาคม สังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์เมื่อปี พ.ศ. 2554

พร้อมกับการประกาศศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2554 ใน 3 สาขา อีกจำนวน 9 คนโดยในสาขาวรรณศิลป์มี 2 คน ได้แก่ นายประภัสสร เสวิกุล (นวนิยายและกวีนิพนธ์) นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี (เรื่องสั้นและกวีนิพนธ์)

โครงการศิลปินแห่งชาติเริ่มต้นขึ้นในปี 2527 และประกาศผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติในปี 2528 ปัจจุบันมีศิลปินสาขาต่างๆ ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติแล้วรวม 221 คน