เปิด 12 เหตุผล ข้อดีของการจดทะเบียนสมรส
"คู่รัก" หลายคู่ที่แต่งงานแล้ว หรือยังไม่แต่งงาน ลังเลว่าจะต้องจดหรือไม่จดทะเบียนสมรสดีหรือไม่? สำนักงานกิจการยุติธรรม เปิดเผย 12 ข้อดี ของการ "จดทะเบียนสมรส"
ท่ามกลางกระแส "รักควรมีสองคน" ที่ไม่ได้เป็นดราม่าเพียงเรื่องเดียวของเรื่องราวชีวิตคู่มากมายของคู่รักทั้งหลายเท่านั้น เพราะเมื่อคนสองคนตกลงใช้ชีวิตคู่ด้วยกัน ก็จะต้องมีเรื่องให้ตัดสินใจอีกมากมาย
เรื่องหนึ่งที่เชื่อว่า น่าจะเป็นประเด็นถกเถียงในหลายๆ คู่ ก็คือ ควร "จดทะเบียนสมรส" ดีไหม?
ทั้งนี้ ทะเบียนสมรส คือ เอกสารทางกฎหมายที่ยืนยันความสัมพันธ์ของคู่แต่งงาน ที่ใช้เป็นหลักฐานในการยืนยันสิทธิ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นระหว่างสามี – ภรรยา เช่น การรับรองบุตร การแบ่งสินสมรส รวมไปถึงการฟ้องหย่า ให้สามารถได้สิทธิ์อย่างถูกกฎหมายและเป็นไปตามที่ควรได้รับ
โดยคำตอบจาก "สำนักงานกิจการยุติธรรม" ได้หยิบเอา 12 ข้อดีของการจดทะเบียนสมรส มาให้คู่รักได้นำมาประกอบการตัดสินใจ ว่า เหมาะสมกับบริบท สภาพความเป็นจริงของแต่ละคู่หรือไม่?
- 12 ข้อดี ของการจดทะเบียนสมรส
1. สามี – ภรรยา ต้องอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายหนึ่งหาเลี้ยงอีกฝ่าย หรือช่วยกันหาเลี้ยงกันและกันก็ได้ทำให้ทั้งคู่ต้องอุปการะเลี้ยงดูกันและกัน
2. ฝ่ายหญิง หรือ ภรรยา มีสิทธิ์ในการใช้ชื่อสกุลของสามี หรือจะไม่ใช้ก็ได้
3. ถ้าฝ่ายหญิงเป็นชาวต่างชาติ มีสิทธิ์ขอถือสัญชาติไทยตามสามีได้ถ้าต้องการ
4. มีสิทธิ์จัดการทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส หรือที่เราเรียกว่า สินสมรสร่วมกัน
5. มีสิทธิ์รับมรดกของคู่สมรสเมื่ออีกฝ่ายเสียชีวิตไปก่อน
6. มีสิทธิ์รับเงินจากทางราชการ หรือนายจ้าง เช่น กรณีที่คู่สมรสตายเพราะปฏิบัติหน้าที่ หรือจากการทำงาน (บำเหน็จตกทอด) หรือ การรับเงินสงเคราะห์บุตรตามกฎหมายแรงงาน
7. มีสิทธิ์ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายหรือค่าทดแทนจากผู้ที่ทำให้คู่สมรสของตัวเองเสียชีวิตได้
8. สามารถหึงหวงคู่สมรสของตัวเองได้ตามกฎหมาย และหากพบว่าคู่สมรสมีชู้ ก็สามารถเรียกค่าเสียหายได้ทั้งจากคู่สมรสและชู้ได้
9. บุตร มีฐานะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย สามารถใช้นามสกุลพ่อได้ สมัครเข้าเรียนได้ และรับมรดกจากผู้เป็นพ่อได้ (ทั้งนี้ บุตรเป็นสิทธิ์ตามชอบธรรมตามกฎหมายของแม่อยู่แล้ว)
10. ได้รับการลดหย่อนค่าภาษีเงินได้ตามเงื่อนไขการลดหย่อนภาษี
11. สามี-ภรรยา ที่ทำความผิดระหว่างกัน เช่น สามีขโมยเงินภรรยา ภรรยาบุกเข้าบ้านสามี ผู้ที่ทำผิดไม่ต้องรับโทษตามกฎหมาย
12. การจดทะเบียนสมรสทำให้สามีหรือภรรยา ฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ที่ทำร้ายคู่สมรสของตัวเองได้ เช่น หากภรรยาถูกโจรปล้น สามีสามารถฟ้องร้องดำเนินดคีแทนได้
คุณสมบัติของผู้ที่จะจดทะเบียนสมรส
- ชายหรือหญิงมีอายุครบ 17 ปี บริบูรณ์ กรณีมีเหตุอันควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนที่ชายและหญิง มีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ได้
- ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือเป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ
- ไม่เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดามารดา
- ไม่เป็นคู่สมรสของบุคคลอื่น
- ผู้รับบุตรบุญธรรมจะสมรสกับบุตรบุญธรรมไม่ได้
- หญิงหม้ายจะสมรสใหม่ เมื่อการสมรสครั้งก่อนได้สิ้นสุดไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน เว้นแต่
- คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น
- สมรสกับคู่สมรสเดิม
- มีใบรับรองแพทย์ว่าไม่ได้ตั้งครรภ์
- ศาลมีคำสั่งให้สมรสได้
- มีคำสั่งของศาลให้สมรสได้
- ผู้เยาว์จะทำการสมรสได้ต้องได้รับความยินยอมจากผู้มีอำนาจให้ความยินยอมได้ตามกฎหมาย
เอกสารที่ใช้ในการจดทะเบียนสมรส
- บัตรประจำตัวประชนหรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้
- สำเนาหนังสือเดินทางกรณีชาวต่างประเทศ
- หนังสือรับรองสถานภาพบุคคลจากสถานทูตหรือสถานกงสุลหรือองค์การของรัฐบาลประเทศนั้น มอบหมาย พร้อมแปล (กรณีชาวต่างประเทศขอจดทะเบียนสมรส)
- สำเนาทะเบียนบ้าน
ขั้นตอนในการขอจดทะเบียนสมรส
- การจดทะเบียนสมรส สามารถยื่นคำร้องขอจดทะเบียนได้ทุกแห่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงภูมิลำเนาของ คู่สมรส
- คู่สมรสยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสต่อเจ้าหน้าที่หรือนายทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอ กิ่งอำเภอ หรือสำนักทะเบียนเขตใดก็ได้ โดยไม่คำนึงถึงภูมิลำเนาของคู่สมรส
- คู่สมรสที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องนำบิดาและมารดาหรือผู้ปกครองโดยชอบธรรมมาให้ความยินยอม
- พยานบุคคลจำนวน 2 คน
- คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่าย เป็นคนต่างด้าว ต้องขอหนังสือรับรองสถานภาพบุคคล จากสถานทูตหรือกงสุลสัญชาติที่ตนสังกัด
หนังสือรับรองนั้น ต้องแปลเป็นภาษาไทยและมีคำรับรอง การแปลถูกต้อง ยื่นพร้อมคำร้องขอจดทะเบียนสมรสต่อนายทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอ กิ่งอำเภอ หรือสำนักงานเขต
ที่มา : สำนักงานกิจการยุติธรรม