รู้จักแล้วจะรัก 'ไวน์แอฟริกาใต้'
"ไวน์แอฟริกาใต้” นำเข้ามาเมืองไทยราว 30 ปีเป็นอย่างน้อย แต่การเติบโตค่อนข้างช้าและอยู่ในกลุ่มเล็ก ๆ เพราะคนไทยในยุคนั้นฝังหัวอยู่กับไวน์ยุโรปโดยเฉพาะฝรั่งเศส ทั้งที่ไวน์จากแอฟริกาใต้คุณภาพดีไม่แพ้ไวน์จากยุโรป
อย่างไรก็ตามในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ไวน์แอฟริกาใต้ นำเข้ามาหลากหลายขึ้น จากเดิมในยุคแรกมี 2-3 แบรนด์ ปัจจุบันน่าจะนำเข้ามากว่า 20 แบรนด์ ส่วนหนึ่งเพราะโลกเปิดมากขึ้น ผู้คนได้เดินทางไปแอฟริกใต้ได้ชิมไวน์และมีความชื่นชอบ และคนรุ่นใหม่ที่เรียนรู้เรื่องไวน์ อยากชิมไวน์จากประเทศอื่น ๆ นอกจากยุโรป
ผมไปแอฟริกาใต้หลายครั้งและได้ชิมไวน์แอฟริกาใต้มากมาย บางแบรนด์ บางรุ่น คุณภาพเหนือกว่าไวน์ยุโรป เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี ฯลฯ ที่ขายราคาแพง ๆ ในบ้านเรา
ขณะที่ในเมืองไทยกิจกรรม ชิมไวน์แอฟริกาใต้ จัดครั้งล่าสุดประมาณปลายปี 2019 ที่โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ ก่อนที่โควิด-19 จะระบาดจนกระทั่งทุกวันนี้ โดยไวน์ที่ชิมวันนั้นเป็นของบริษัท KWV หนึ่งในผู้ผลิตไวน์คุณภาพของแอฟริกาใต้ และมีขายในเมืองไทย นำเข้าโดยบริษัท บางกอก ลิกเกอร์ จำกัด
ประเทศแอฟริกาใต้ มีภูมิศาสตร์ที่แตกต่างไปจากประเทศอื่นในทวีปเดียวกัน ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศที่ตั้งอยู่ในขั้วโลกใต้ด้วยกันแล้ว เขตปลูกองุ่นของแอฟริกาใต้อยู่แถว ๆ เมืองเคปทาวน์ หรืออยู่ในเส้นลองติจูดที่ 34 องศา เส้นเดียวกับ ฮันเตอร์ แวลลีย์ รัฐนิวเซาธ์เวลส์ ของออสเตรเลีย
ตำนานการปลูกองุ่นของแอฟริกาใต้ ต้องย้อนไปเริ่มต้นประมาณศตวรรษที่ 17 โดยฝีมือของชาวดัตช์ โยฮัน ฟาน ไรบิค (Johan Anthoniszoon "Jan" Van Riebeeck) เป็นคนแรกที่เริ่มปลูกองุ่นทำไวน์ในปี 1655 และทำไวน์ขวดแรกออกสู่ท้องตลาดในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 1659 ต่อมาเขามีความจำเป็นต้องเดินทางกลับฮอลแลนด์ ในปี 1965 จึงขายกิจการให้ ไซมอน ฟาน เดอ สเทล ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นตำนานหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ไวน์แอฟริกาใต้ เขาเป็นผู้ก่อตั้งไวน์ยี่ห้อ กรูท คอนสแตนเทีย (Groot Constantia) ในปี 1665
ไวน์กรูท คอนสแตนเทีย มาโด่งดังสมัยที่นายเฮนดริก โคลเอท (Hendrik Cloete) เป็นเจ้าของ ในปี 1778 ส่งไปยุโรปและถูกใจบรรดาขุนนางและราชวงศ์ ต่อมาไร่องุ่นถูกฟีลล็อกซีรา (Phylloxera) ทำลายจนหมด และล้มละลาย ทุกอย่างตกเป็นของรัฐ จนกระทั่งปี 1980 นายดักกี โจสต์ (Duggie Jooste) เข้ามาซื้อกิจการและทำให้ไวน์ยี่ห้อนี้โด่งดัง
ย้อนไปในปี 1688 ฝรั่งเศสทำสงครามชนะฮอลแลนด์ จึงได้ครอบครองแอฟริกาใต้ด้วย คนฝรั่งเศสเข้ามาอยู่ในแอฟริกาใต้เป็นจำนวนมาก ตรงนี้เองคงเป็นส่วนหนึ่งที่คนฝรั่งเศสทิ้งวิชาการทำไวน์ไว้ให้คนแอฟริกาใต้ ปี 1805 ฝรั่งเศสเสียดินแดนแอฟริกาใต้ให้กับอังกฤษ น่าจะสาเหตุที่โลกได้รับรู้รสชาติของไวน์จากแอฟริกาใต้ เพราะคนอังกฤษนำออกไปเผยแพร่
เขตปลูกองุ่นที่ดีที่สุดจะอยู่ตรงปลายของทวีป ที่เรียกว่า แหลมกู๊ดโฮป (Good Hope) แถวเมืองเคปทาวน์ เมืองสเตลเลนบอสช์ เมืองคอนสแตนเทีย และเมืองพาร์ล ซึ่งแม้ส่วนใหญ่อากาศจะร้อน แต่โชคดีที่ได้ไอเย็นจากมหาสมุทรแอตแลนติกมาช่วยทำให้อากาศเหมาะสมกับการปลูกองุ่นพันธุ์ต่าง ๆ ที่นำเข้ามาจากยุโรป
รูปแบบการทำไวน์ของแอฟริกาใต้ เป็นการผสมผสานระหว่างฝรั่งเศสกับสเปน ถ้าบริเวณไหนอากาศค่อนข้างร้อน เช่น แถวเมืองพาร์ล ก็จะผลิตเหล้าแชร์รี่แบบสเปน โดยใช้องุ่นพันธุ์ปาโลมิโนเหมือนในสเปน ถ้าบริเวณไหน อากาศเย็นริมฝั่งมหาสมุทร เช่นเมืองสเตลเลนบอสช์ จะผลิตไวน์แดง ไวน์ขาวทั่ว ๆ ไป
อุตสาหกรรม ไวน์แอฟริกาใต้ นั้นไม่ได้ราบรื่นเหมือนอีกหลาย ๆ ประเทศ ต้องเผชิญชะตากรรมมากมายหลายครั้ง กว่าจะมีวันนี้ เช่น ปี 1861 อังกฤษ ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ ได้ยกเลิกกำแพงภาษีไวน์ฝรั่งเศส ทำให้ไวน์ฝรั่งเศสกลับมาราคาถูกกว่าไวน์แอฟริกาใต้ ส่งผลให้ตลาดส่งออกของไวน์แอฟริกาใต้ปั่นป่วน
เท่านั้นยังไม่พอในปี 1886 ไร่องุ่นในแอฟริกาใต้ถูกแมลงมหาภัย ฟีลล็อกเซรา (Phylloxera) ทำลายต้นองุ่นจนตายเกือบหมดทั้งประเทศ ขณะที่ตลาดส่งออกยังมีปัญหา แถมยังมาโดนภัยที่ชาวไร่องุ่นกลัวกันที่สุด
หลังจากที่เริ่มต้นนับศูนย์ปลูกองุ่นกันใหม่ เป็นการโหมปลูก และระดมผลิตไวน์กันอย่างเต็มที่หวังจะกอบกู้เงินเงินทองที่สูญเสียไปในสองครั้งแรกให้กลับคืนมาโดยเร็ว ปี 1918 มีการปลูกองุ่น 87 ล้านต้น ผลผลิตไวน์กว่า 56 ล้านลิตร ซึ่งมากจนดื่มกันเองในประเทศเป็นปี ๆ ก็ไม่ไหมด แถมยังขายไม่ออก คนทำไวน์ต้องเทไวน์ทิ้ง ส่วนหนึ่งก็นำมาประท้วงเพื่อให้รัฐบาลหาทางช่วย
ปี 1924 รัฐบาลแอฟริกาใต้ยื่นมือเข้ามาช่วยชาวไร่องุ่น ด้วยการออกกฎหมายควบคุมคุณภาพไวน์ ให้มีคณะกรรมการชื่อ KWV (Ko – Opertive Wijinbowers Veneniging) และกำหนดให้ไวน์คุณภาพเป็นเกรด WO (Wine of Origin System) เพื่อควบคุมปริมาณการผลิตไวน์และตรึงราคาไวน์ไม่ให้ราคาตกต่ำ ส่วนหนึ่งเพื่อ ส่งเสริมให้นำน้ำองุ่นไปกลั่นเป็นบรั่นดี และฟอร์ติไฟด์ ไวน์ ขณะเดียวกันในปี 1957 มีการนำระบบโควต้ามาใช้ เพื่อจำกัดพื้นที่การปลูกองุ่นใหม่ ๆ มีการควบคุมการนำเข้าพันธุ์องุ่นและอุปกรณ์จากต่างประเทศ และสร้างกฎเกณฑ์มากมายเพื่อให้การทำไวน์ยุ่งยากขึ้น
ปี 1980 เป็นยุคมืดอย่างแท้จริงของไวน์แอฟริกาใต้ เมื่อนโยบายเหยียดผิวในแอฟริกาใต้หรืออพาร์เธด (Apartheid) รุนแรงมากขึ้น จนนานาชาติต้องใช้นโยบายกดดันทางด้านการค้าหรือ International Trade Sanction ทำให้แอฟริกาใต้ต้องปิดประเทศเพราะไม่มีประเทศใดทำมาค้าขายด้วย ไวน์แอฟริกาใต้ส่งออกไม่ได้ เคราะห์กรรมตกอยู่กับเกษตรกรผู้ปลูกองุ่นและคนทำไวน์อีกครั้ง และเป็นครั้งที่สาหัสยิ่ง
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 1990 ประธานาธิบดี F. W. de Klerk (Frederik Willem de Klerk) ทนแรงบีบคั้นจากนานาชาติไม่ไหว จึงประกาศนโยบายสมานฉันท์ เลิกการเหยียดผิวในแอฟริกาใต้ และปล่อยนาย เนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela) ผู้นำต่อต้านของชาวผิวดำออกจากคุก ทำให้นานาชาติพอใจ และค่อย ๆ ยกเลิกการแซงชั่น (Sanction) กลับมาค้าขายกับแอฟริกาใต้ดังเดิม
วงการไวน์แอฟริกาใต้กลับมาคึกคัก และกลับมาสู่ตลาดโลกอีกครั้ง ขณะที่ชาวต่างชาติจากยุโรปที่เห็นศักยภาพและปัจจัยเอื้ออำนวยในการทำไวน์ของแอฟริกาใต้ ต่างพากันหอบหิ้วเงินทองมาลงทุนซื้อที่ทางปลุกองุ่น ตั้งโรงงานทำไวน์
วันที่ 9 พฤษภาคม 1994 เนลสัน แมนเดลา ชนะการเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดี คนแรกของแอฟริกาใต้ เขามีสายตาที่กว้างไกลมองเห็นว่าไวน์แอฟริกาใต้สามารถสู้กับต่างชาติได้ และจะเป็นผลผลิตสำคัญของประเทศ จึงกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ และส่งเสริมอุตสาหกรรมไวน์แอฟริกาใต้อย่างจริงจัง ทำให้วันนี้แอฟริกาใต้มีไวเนอรีกว่า 600 แห่ง
พันธุ์องุ่นสำคัญที่ถือเป็นองุ่นแดงประจำชาติแอฟริกาใต้คือ ปิโนทาจ (Pinotage) ตามภาษาท้องถิ่นเรียกว่า เฮอร์มิตาจ (Hermitage) เป็นการพัฒนาสายพันธุ์มาจาก ปิโนต์ นัวร์ (Pinot Noir) ผสมกับ แซงโซลต์ (Cinsault) ในปี 1925 โดย ดร.อับราฮัม ไอแซค เพอโรลด์ (Dr.Abraham Izak Perold) ศาสตราจารย์ทางด้านการปลูกองุ่นทำไวน์ (Viticulture) คนแรกของมหาวิทยาลัยสเตลเลนบอสช์ (University of Stellenbosch) เพื่อต้องการองุ่นที่ทำไวน์แดงได้คุณภาพเยี่ยม แต่ปลูกและดูและรักษาง่าย
ส่วนองุ่นเขียวเพื่อทำไวน์ขาว แอฟริกาใต้ชื่อว่าเป็นบ้านหลังที่สองของ เชอแนง บลอง (Chenin Blanc) รองจากแคว้นลัวร์ ของฝรั่งเศส และชาวแอฟริกาใต้เรียกองุ่นพันธุ์นี้ว่า สตีน (Steen) เป็นองุ่นที่ปลูกมากที่สุดในแอฟริกาใต้ นอกจากนั้นก็มีพันธุ์คลาสสิกอีกหลายพันธุ์
อีกอย่างหนึ่งที่โลกต้องบันทึกไว้คือ แอฟริกาใต้เป็นชาติแรกที่ใช้คำว่า เอสเตท ไวน์ (Estate Wine) หรือ Estate Wine of Origin หรือ Landgedwyn มาระบุในฉลากไวน์ระดับคุณภาพ เป็นการยืนยันหรือรับรองคุณภาพว่า ไวน์ขวดนั้นเจ้าของไร่องุ่นทำเอง บรรจุขวดเอง ไม่ได้นำไวน์ของคนอื่นมาผสมผสาน กระทั่งผู้ผลิตไวน์โลกใหม่หลายชาตินำคำนี้ไปใช้อย่างกว้างขวาง
ท่านที่สนใจไวน์แอฟริกาใต้ดังกล่าว สอบถามที่บริษัท บางกอก ลิกเกอร์ จำกัด 02-6747901