จากเคส ‘ผกก.โจ้’ เปิดข้อกฎหมาย ‘นายสั่งมา’ ถ้าเป็นเรื่องผิด ลูกน้องไม่ทำได้ไหม?
จากเคส "ผมสั่งเอง" ของ อดีต "ผกก.โจ้’ แห่งสภ.เมืองนครสวรรค์ ที่สั่งลูกน้องเอาถุงคลุมหัวผู้ต้องหาจนเสียชีวิต "กรุงเทพธุรกิจ" ชวนเปิดข้อกฎหมาย กรณี "นายสั่งมา" ถ้าเป็นเรื่องผิด ลูกน้องไม่ทำได้ไหม? และต้องทำอย่างไร เมื่อเจอสถานการณ์แบบนี้
จากเรื่องคดีฆ่าคลุมถุง ที่นำโดย พันตำรวจเอกธิติสรรค์ อุทธนผล อดีต “ผกก.โจ้” แห่ง สภ.เมืองนครสวรรค์ ซึ่งโฟนอินให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนวานนี้ (26 ส.ค.) โดยยอมรับผิดแต่เพียงผู้เดียว ส่วนลูกน้องนั้นทำตามคำสั่งของตน
“ผมยอมรับผิด ผมสั่งลูกน้องให้ทำเอง ลูกน้องไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง และห้ามผมแล้ว ผมขอรับผิดแต่ผู้เดียว ผมเป็นนาย สั่งลูกน้อง ลูกน้องก็ต้องทำ”
ประเด็นคลาสสิกตลอดกาล ว่าด้วยเรื่อง “นายสั่ง” ว่า ลูกน้องทั้งหลาย มีแต่ต้องทำตามสถานเดียวหรือไม่.. แล้วถ้าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย หรือไม่เหมาะ ไม่สมควรล่ะ ลูกน้องควรทำอย่างไร?
คำตอบจากเฟซบุ๊คเพจ คลินิกกฎหมายแรงงาน มีคำตอบให้ ว่า ถ้าเกิดเหตุในกรณีคล้ายคลึงกัน คือ เมื่อนายสั่งให้ทำเรื่องผิด หรือเห็นว่าการปฏิบัติตามคำสั่งนั้นจะเสียหาย ลูกจ้าง/ผู้ใต้บังคับบัญชาจะไม่ทำได้หรือไม่
โดยแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ ข้าราชการ หรือลูกจ้างในสายงานราชการ และ พนักงานเอกชน ว่า ควรทำอย่างไรหากนายจ้าง หรือผู้บังคับบัญชาให้ทำเรื่องผิด หรือเห็นว่าการปฏิบัติตามคำสั่งนั้นจะเสียหาย
รายละเอียดดังนี้ ..
สายงานราชการ
สำหรับข้าราชการ หรือลูกจ้างในสายงานราชการ หากต้องเจอกรณีเช่นนี้ มีขั้นตอนอยู่สักหน่อย โดยแยกเป็นสองประเด็น ดังนี้
- กรณีถูกผู้บังคับบัญชาสั่งให้ทำ
1) ต้องทำหนังสือโต้แย้ง หรือให้ผู้บังคับบัญชาทบทวนคำสั่งหรือให้ยืนยันคำสั่งก่อนปฏิบัติ
2) หากกระทำความผิดตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาไปแล้ว ต้องแจ้งให้ป.ป.ช.ทราบถึงเบาะแส ข้อมูลหรือข้อเท็จจริง ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้กระทำการนั้น (มาตรา 134 พรบ.ประกอบรัฐธรรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561)
- กรณีเห็นว่าการปฏิบัติตามคำสั่งนั้นทำให้เสียหายแก่ราชการ หรือจะเป็นการไม่รักษาผลประโยชน์ของทางราชาร
1) ต้องเสนอความเห็นเป็นหนังสือทันที เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาาทบทวนคำสั่งนั้น
2) เมื่อได้เสนอความเห็นแล้ว ถ้าผู้บังคับบัญชายืนยันให้ปฏิบัติตามคำสั่งเดิม ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาต้องปฏิบัติตาม (อ้างอิงมาตรา 82 แห่งพรบ.ระเบียบข้าราชการพลเพรือน พ.ศ. 2551)
พนักงานบริษัทเอกชน
1. เนื่องจากพรบ.คุ้มครองแรงงาน ไม่ได้กำหนดแนวทางไว้เช่นเดียวกับระเบียบข้าราชการ ดังนั้น จะนำแนวทางของราชการมาปรับใช้โดยอนุโลมก็ได้
2. ไม่ต้องทำตามคำสั่งนั้นเลยก็ได้ และถ้านายจ้างเลิกจ้างเพราะเหตุดังกล่าวก็ไม่ต้องกลัว ดูตัวอย่าง ฎีกาที่ 4535/2549
เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลย ขอให้จำเลยส่งเงินเดือนของ ส. ให้ตามคำสั่งอายัด โจทก์ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการทั่วไปของบริษัทย่อมมีหน้าที่จัดการกิจการภายในของบริษัท จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องปฏิบัติตามคำสั่งอายัดดังกล่าว แต่จำเลยกลับมีคำสั่งไม่ให้โจทก์ส่งเงินตามคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยให้โจทก์ทำหนังสือลงนามแจ้งว่า ส. ไม่ได้ทำงานในบริษัทจำเลย เพื่อปฏิเสธไม่ส่งเงินตามคำสั่งอายัดอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย คำสั่งของจำเลยจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ การที่โจทก์ไม่ทำตามคำสั่งจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) ทั้งมิใช่การจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 583