'ทวิดา กมลเวชช' คลี่ปมบริหารวิกฤติ‘โควิด’ เมื่อผิดพลาดต้องแก้ตรงไหน

'ทวิดา กมลเวชช' คลี่ปมบริหารวิกฤติ‘โควิด’ เมื่อผิดพลาดต้องแก้ตรงไหน

ในช่วงวิกฤติ"โควิด"ไม่ว่ารัฐจะออก"นโยบาย"อะไรออกมา ทำไมประชาชนไม่เกิดความเชื่อมั่น มองลบมากกว่าบวก  ฯลฯ เรื่องนี้มีคำอธิบาย 

ถ้าจะให้วิเคราะห์ นโยบายสาธารณะของภาครัฐ ที่ไม่ได้มองแค่มหภาค เป็นเรื่องที่ ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำมาตลอดในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ และที่ปรึกษาหลายแห่ง อาทิ ที่ปรึกษาคณะกรรมการยุทธศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขฉุกเฉินแห่งชาติ ปี 2560-2561

อาจารย์ทวิดา ร่ายยาวจากนโยบายโยงไปถึงคนตัวเล็กตัวน้อย และยกตัวอย่างการบริหารวิกฤติกรณีหนึ่งให้ฟังว่า

"ทีมสื่อสารกับทีมมาตรการต้องทำงานกัน คล้ายจะเป็นผัวเมียกัน ถ้าทีมมาตรการออกนโยบายมาดี แต่ทีมสื่อสารพูดไม่รู้เรื่อง ก็ไม่ก่อให้เกิดความเชื่อมั่น ไม่มีประโยชน์” 

ดังนั้นการเอาข้อมูลมาช่วยวิเคราะห์ หาทางออกให้วิกฤติบ้านเมือง ให้ความรู้และคำตอบ จึงเป็นอีกแนวทางในการแก้ปัญหาสังคม ซึ่งเป็นอีกภาระกิจของนักวิชาการ

และนี่คือบทสนทนาระหว่าง “จุดประกาย-กรุงเทพธุรกิจ" กับผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสาธารณะ...

 

  • การบริหารจัดการวิกฤติโควิดครั้งนี้ สาธารณสุขบ้านเรารับมือไม่ไหว คนติดเชื้อและตายเยอะ อาจารย์วิเคราะห์เรื่องนี้อย่างไร

ต้องยอมรับว่า รัฐคาดการณ์หลายอย่างผิดพลาด การจัดการทางการแพทย์และสาธารณสุข ถ้าตัวใดตัวอย่างหนึ่งแย่ มันไม่เวิร์คทั้งหมด

การระบาดของโควิดระลอก 1 ตอนนั้นนำด้วยการจัดการทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งแข็งแรงมาก อาจจะแย่ช่วงหนึ่ง แล้วก็จัดการได้ ครั้งนั้นไม่ร้ายแรงเท่าครั้งนี้

แต่หลังจากนั้นเราเรียนรู้เรื่องนี้น้อยมาก มาครั้งนี้จัดการพลาดจนกระทบการจัดการทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งปกติจัดการดีอยู่แล้ว 

พอโควิดระลอก 2-3 สาธารณสุขบ้านเราเรียนรู้ซ้ำได้เร็ว จัดการโรงพยาบาลสนามได้เร็ว สามารถจัดการคนไข้ปกติในโรงพยาบาลได้ดีขึ้น แต่ถามว่าฝั่งการจัดการตอนนั้น มัวแต่บ้าตัวเลขคนติดเชื้อที่ 0 

ทั้งๆ ที่ประเทศอื่นเจอโควิดระลอก 2 เร็วกว่าเรา ก็ไปคิดว่าเขาไม่มีพรก.ฉุกเฉิน ไม่เว้นระยะห่าง ส่วนหนึ่งก็ใช่ แต่ลืมไปว่าเขาเรียนรู้ได้เร็ว แต่รัฐไทยไม่ได้สะสมเรื่องเหล่านี้เลย

อย่างการระบาดโควิดที่ จ.สมุทรสาคร ต้องยอมรับว่าสาธารณสุขไทยเก่ง ควบคุมภายในจังหวัดได้ ทำให้การจัดการไม่ยาก แต่คนสมุทรสาครก็อยู่ไม่เป็นสุขพักหนึ่ง และผู้ว่าฯก็ติดเชื้อ

ตอนนั้นแรงงานที่ไม่ใช่คนไทยไม่ได้ไปไหน ไม่เหมือนปิดแคมป์คนงานไทย พวกเขาอยากกลับบ้าน แล้วไม่มีมาตรการรองรับ

สองกรณีนี้ต่างกัน แทนที่รัฐจะพิจารณาแล้วเตรียมพร้อม แต่ไม่ทำ ไปเคาะอีกแบบแล้วบอกว่า “มีมาตรการที่ดี ฉับไวและเสียสละ เวลาเกิดวิกฤติคนไทยช่วยกันอยู่แล้ว” รัฐอย่าดราม่ากับมันมาก ไม่ใช่เอาแต่สั่งสอนประชาชน

163028618547

(นโยบายการเลือกวัคซีนให้คนไทยทั้งประเทศ หนึ่งในความผิดพลาดของการบริหารจัดการ) 

ประเทศอื่นตัดสินใจแบบไหน ได้รับผลกระทบยังไง ถ้ารัฐศึกษาแล้วประยุกต์ให้เข้ากับสถานการณ์จะจัดการได้ดีกว่านี้ โดยส่วนตัวก็สงสัยเหมือนกัน จนอยากทะลุเข้าไปดูในศคบ.ว่า การตัดสินใจแต่ละครั้งให้น้ำหนักกับอะไร อาทิเช่น การไม่เข้าร่วม“โคแวกซ์”ที่มีคนพูดหลายครั้ง เป็นการตัดสินใจที่ไม่ถูกต้อง 

การให้เหตุผลของรัฐ ไม่อยากใช้คำว่าฟังไม่ขึ้น แต่ฟังไม่รู้เรื่อง บางจังหวะบอกว่า เราไม่ใช่ประเทศยากจน บางจังหวะก็บอกว่า ต้องลงทุนเยอะ ลงทุนโดยไม่รู้ผล บางจังหวะก็บอกว่า ไม่อยากให้ประชาชนเป็นตัวทดลอง

คำพูดเหล่านี้ อธิบายหลักวิธีคิดไม่ได้ ทุกประเทศในหลายภูมิภาค หรือประเทศที่ฐานะไม่ดีกว่าเรา ก็เข้าร่วม วัคซีนแต่ละตัวอนุมัติแบบฉุกเฉินทั้งสิ้น รัฐก็เลยทำให้สังคมปั่นป่วนหนักไปอีก

  • ช่วงแรกๆ ที่มีการนำเข้าวัคซีน คนไทยไม่ค่อยอยากฉีดวัคซีน อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไร 

สิ่งที่รัฐทำมาตลอดคือ โทษประชาชน คำถามคือ รัฐเอาวัคซีนเข้ามา ประชาชนก็รู้และเห็นคุณภาพวัคซีน เห็นความหลากหลายของวัคซีนในประเทศเพื่อนบ้าน 

ประเทศที่ขยับก่อนอย่างมาเลเซีย เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ปี 63 จองวัคซีนและเข้าโคแวกซ์ ก็เกิดการเปรียบเทียบ สถานการณ์เราแย่กว่า แล้วทำไมรัฐไม่คิดเรื่องนี้

ความปั่นป่วนเกิดจากการตอบคำถามไม่ได้ ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งไม่เชื่อมั่นระบบรัฐ มันไม่ใช่การสื่อสารวาทศิลป์ ไม่ใช่แค่การพูดไม่รู้เรื่อง สิ่งที่รัฐกระทำมาตลอด อธิบายลำบากมาก 

จึงไม่ใช่แค่เรื่องประชาชนดื้อ ไม่ใช่เรื่องการ์ดตก ถามว่าประชาชนที่ไม่ระมัดระวังมีอยู่ไหม...มี แต่สิ่งที่ประชาชนต้องการคือ วัคซีนที่เชื่อถือได้

  • ถ้าจะผ่านวิกฤติไปให้ได้ หรือสถานการณ์คลี่คลายลงบ้าง ต้องแก้ปัญหาอย่างไร

ถ้าจัดการเรื่องวัคซีนได้ ก็ขยับไปจัดการทางการแพทย์ ในแง่การจัดการ ก่อนที่จะเข้าสู่วิกฤติ ช่วงวิกฤติ และช่วงออกจากวิกฤติ นั่นคือมาตรการฟื้นฟู รัฐจะจัดการยังไง

ตอนนี้การจัดการทางการแพทย์และสาธารณสุข รับมือมากไปกว่านี้ไม่ได้แล้ว ต้องอาศัยด่านหน้ามาช่วยจัดการทางการแพทย์ ต้นเดือนกันยายน 64 จะเริ่มเห็นการติดเชื้อคงที่ ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องการปรับวัคซีนที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพ วัคซีนต้องให้เร็วที่สุด มีประสิทธิภาพมากที่สุด 

ถ้าถามว่า จะพ้นจากตรงนี้ไปได้ยังไง เราไม่ได้คุยแค่เรื่องวันนี้ อยากให้รัฐเปลี่ยนวิธีคิด คิดแบบนี้มาตลอดคือ คิดตามหลังวิกฤติ การตัดสินใจในการบริหารวิกฤติหรือการสื่อสารในวิกฤติ คุณต้องสื่อสารอนาคต บริหารอนาคต คุณไม่ต้องเอาตัวเลขเมื่อวานนี้มารายงานแต่เช้าตรู่ ตื่นขึ้นมาเหมือนฝันร้าย ถ้าคิดจะออกจากวิกฤติ ต้องวางแผนไว้เลย

 

     

163028595868

(ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู่้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสาธารณะ)

  • มาตรการที่ออกมาจะโยงกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างไร

 เมื่อรัฐออกมาตรการมา กว่ามาตรการจะมีผลต้องรอกี่วัน พอถึงวันนั้นสถานการณ์ยังเท่าที่คิดไว้ไหม มาตรการจึงต้องออกมาดักหน้า อย่างมาตรการเว้นระยะห่าง ก็ต้องพึ่งเครื่องมือจากรัฐ ไม่ใช่ว่า ถึงเวลาให้กลับมาทำงานพร้อมกันทั้งประเทศ 

ยกตัวอย่าง คนทำงานกลุ่มข้าราชการ ส่วนใหญ่โดยสารรถสาธารณะ ถ้าจะให้ออกมาทำงาน ควรเหลื่อมเวลาให้เป็นทางการ หรือเวลาเปิดทำการธนาคาร ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ เฮไปธนาคารกรุงไทย เพราะมาตรการเยียวยา

เมื่อรัฐต้องกู้เงินอยู่แล้ว ถ้าจะแก้ปัญหาแท็กซี่ไม่มีรายได้ ทำไมรัฐไม่ซื้อแผ่นพลาสติกกั้นระหว่างคนขับกับคนนั่งให้ คนใช้บริการแท็กซี่จะได้มีทางเลือก หรือนำมาตรการจ่ายคนละครึ่งมาใช้กับแท็กซี่ เท่านี้คนขับแท็กซี่ก็ออกมาทำงานมีรายได้ แล้วเต้นท์ที่ตั้งไว้เป็นด่านตรวจนั่งเหงาๆ มาเปิดเป็นจุดฆ่าเชื้อรถสาธารณะไม่ดีกว่าหรือ

ที่กล่าวแบบนี้ เพราะนี่คือมาตรการเว้นระยะห่างที่ผูกพันกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ อย่างวินมอเตอร์ไซค์ ตอนนี้ใครจะกล้าซ้อนท้าย หน่วยงานรัฐ สำนักงานเขตต่างๆ ก็จ้างส่งอาหารให้ศูนย์พักคอยได้ ตอนนี้เทศบาลนครยะลา จ.ยะลา ทำเรื่องนี้อยู่

  • มีตัวอย่างอื่นๆ อีกไหม

ตอนนี้ศูนย์พักคอย หรือ โรงพยาบาลสนามหลายแห่งไม่ค่อยน่าอยู่ ทำไมไม่หาโรงแรมเล็กๆ ที่ไปไม่ไหวแล้ว ทำไมรัฐไม่แชร์ค่าใช้จ่ายไปที่โรงแรมเหล่านั้น

การเยียวยาสามพันห้าพัน มาตรการแบบนี้ต้องให้อยู่เรื่อยๆ ยังไงก็ไม่พอ เรามาช่วยให้เขาฟื้นด้วยตัวเองไม่ดีกว่าหรือ เรื่องเหล่านี้รัฐทำได้เลย 

ปกติการจัดการวิกฤติให้ฟื้นตัว เขาจะพยายามให้คนรู้สึกมีกำลังใจก่อน ตื่นขึ้นมาออกไปขับแท็กซี่ได้ หรือวินมอเตอร์ไซค์ปากซอย จ้างไปซื้อของระหว่างตลาดสด ก็ช่วยให้เขามีรายได้

ถ้ารัฐทำเป็นกลไกทั้งประเทศ จะช่วยประชาชนได้เยอะ นอกจากจะค่อยๆ ฟื้นเศรษฐกิจได้ ประชาชนยังรู้สึกว่า รัฐใส่ใจ

แต่ที่รัฐไม่ทำเพราะยุ่งยาก ก็ต้องยอมรับว่ายุ่งยากจริงๆ เพราะรัฐไม่เคยเก็บข้อมูลเรื่องเล็กๆ น้อยๆ และรัฐไม่เคยเชื่อมสัมพันธ์กับบริษัทแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ 

จริงๆ แล้วมีกลไกอยู่ ศคบ.ออกแบบได้ ไม่ใช่ว่าจะถล่มมาตรการอะไร ก็คิดเดี๋ยวนั้น คิดไม่ถี่ถ้วน ทำแล้วเลิกเลย การบริหารวิกฤติต้องคิดล่วงหน้าอย่างน้อย 14 วัน หรือ 28 วัน ส่วนมาตรการอื่นๆ ก็ทยอยออกมา ออกแบบให้เว่อร์กับสถานการณ์ปัจจุบันหน่อยหนึ่ง

163028671640

("มาตรการระยะสั้นไม่ใช่ออกวันนี้ มาตรการระยะยาวเดี๋ยวค่อยออก" อีกหนึ่งคำวิพากษ์จากอาจารย์ทวิดา)

  • คนจำนวนมากมีปัญหาเรื่องทำมาหากิน มาตรการเยียวยาก็จ่ายได้ไม่กี่ครั้ง มีทางออกที่ดีกว่านี้ไหม

การเยียวยาแบ่งเป็นสองแบบ คือ มาตรการระยะสั้น ช่วยเหลือคนเดือดร้อนอย่างฉับพลัน ต้องเกื้อหนุน เงินแบบนี้ต้องมีไว้ให้

ขณะที่ใช้มาตรการระยะสั้น มาตรการระยะยาวต้องออกมาด้วย เพราะผลคนละช่วง ซึ่งรัฐไม่เข้าใจว่า มาตรการระยะสั้นไม่ใช่ออกวันนี้ มาตรการระยะยาวเดี๋ยวค่อยออก

ในแง่เงินเยียวยา รัฐต้องจ้างงานหรือแชร์การจ้างงาน ต้องมองไกลกว่านั้น ต้องพยุงภาคธุรกิจ ช่วยให้เกิดการจ้างงาน ในขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังมาไม่ได้ เพราะยังไม่ปลอดภัยในเรื่องการแพร่เชื้อ 

รัฐต้องทำให้คนกลางๆ คนเล็กคนน้อยใช้ชีวิตปกติได้ก่อน ส่วนราชการสามารถประกาศวันหยุดตอนที่สถานการณ์คลี่คลาย ให้ข้าราชการหยุดสามวันห้าวัน ไม่หยุดพร้อมกัน แบ่งกันหยุด

แล้วให้โอกาสไปเที่ยวจังหวัดรองที่เราอยากฟื้นฟูเศรษฐกิจ คนที่เครียดอยู่ในพื้นที่ได้พัก คนปลายทางได้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ท่องเที่ยวภายในให้ได้ก่อน ส่งเสริมธุรกิจที่ทำให้คนจนแบบฉับพลัน 600 วัน เกิดการใช้จ่าย เศรษฐกิจอาจไม่หวือหวามูลค่าพันล้าน หมื่นล้านเหมือนการท่องเที่ยวจากภายนอก อย่างน้อยข้างในเราต้องแข็งแรงก่อน

  • การบริหารจัดการวัคซีนผิดพลาด อาจารย์มองว่าปัญหาอยู่ตรงไหน

นอกจากตัดสินใจผิด ยังจัดการแย่ เพราะประสานงานไม่ละเอียดพอ อย่างเช่น สาธารณสุขบอกว่า แอสตร้าซิเนก้า จะเข้ามาเดือนมิถุนายน 64 กทม.วางแผนว่าฉีดให้ประชาชนทุกวัน โดยไม่ถามสาธารณสุขว่าวันที่เท่าไร จะบริหารจัดการได้กี่วันต่อโดส ถ้าพวกเขาคุยกัน คงไม่ปล่อยให้ประชาชนเข้าไปจองวัคซีนทุกวัน แบบนี้เรียกว่าจัดการไม่เป็น

อีกอย่าง รัฐทำให้ระเบียบวิธีการขั้นตอนมันยาก จะอะไรนักหนา ทั่วโลกฉีดวัคซีนกันหมดแล้ว ยังมานั่งตรวจสอบตามขั้นตอนราชการ นี่เป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน ขณะที่ WHO ยังอนุมัติวัคซีนแบบฉุกเฉินได้

ส่วนเรื่องคอรัปชั่น ดิฉันยังไม่มีข้อมูล แต่ที่ทำให้สูญเสียความมั่นใจในการจัดสรรวัคซีน ก็ข่าวมีนอก มีใน มีวีไอพีไปฉีดวัคซีนก่อน การจัดการวัคซีนที่ทำให้คนรู้สึกว่า คนไม่เสมอกัน ไม่เท่ากัน

163028779398

(ปกติการจัดการวิกฤติให้ฟื้นตัว ต้องพยายามให้คนรู้สึกมีกำลังใจก่อน ตื่นขึ้นมาออกไปทำงานได้)

  • เป็นความผิดพลาดของการสื่อสาร?

ทีมสื่อสารกับทีมมาตรการต้องทำงานกัน คล้ายจะเป็นผัวเมียกัน ถ้าทีมมาตรการออกนโยบายมาดี แต่ทีมสื่อสารพูดไม่รู้เรื่อง ก็ไม่ก่อให้เกิดความเชื่อมั่น ไม่มีประโยชน์

  • ในภาวะวิกฤติการสื่อสารของนายกรัฐมนตรีแต่ละครั้งไม่เป็นที่ไม่พอใจของประชาชน อาจารย์มีความเห็นอย่างไร

ซิงเกิล คอมมานด์ (คำสั่งเดียว) ถูกส่งทอดไปอย่างมีทิศทางเดียวกัน ทุกคนถือปฏิบัติเหมือนกัน ตามพันธกิจและภาระความรับผิดชอบ อาทิ สั่งให้จัดวัคซีนให้ 7 กลุ่มเสี่ยงทั้งประเทศก่อน

สิ่งที่ต้องคุมเข้าสู่ศูนย์กลางไม่ใช่ตัวคำสั่ง หรือการรวมศูนย์รวมอำนาจ สิ่งที่ควบคุมและกระทบให้ตรงกันทั้งประเทศคือ ข้อมูล รวมศูนย์เข้าส่วนกลาง

ปล่อยวัคซีนไปตอนเช้าแต่ละจังหวัด อย่ามาบอกว่าคุมไม่ได้ ไม่มีหน้าที่ จะไม่มีหน้าที่ได้ยังไง...ในเมื่อเป็นผู้บัญชาการชาติ

ถ้าเป็นวัคซีนบริจาค รับมาก็ต้องรายงานคนที่ให้ ถ้าเป็นวัคซีนที่ซื้อมาก็ต้องทบกับงบที่ซื้อไปให้จังหวัดไหนเท่าไร แต่ละวันเช็คยอดได้ ถ้าจะบอกว่า คนทำงานไม่ฟังคำสั่ง มีปัญหาคุณเปลี่ยนคนได้ เปลี่ยนวิธีการจัดการได้

สิ่งที่ใช้คุมทีมงานไม่ใช่ไปสั่งทุกคณะกรรมการ คุณต้องคุมเขาด้วยข้อมูล ผู้ว่าราชการฯ และสาธารณสุขก็รายงานเข้ามา แทนที่จะมาดูแค่ตัวเลขคนตาย

หลักการเป็นยังไง ทุกคนรู้หมด แต่สิ่งที่ทุกคนไม่ใช้เวลากับมันคือรายละเอียด ถ้าหลายเรื่องหลายคณะกรรมการเกินไป เหมือนที่ท่านนายกฯทำ ท่านมองไม่เห็นทั้งหมดหรอก

ทีมที่ต้องเจ๋งมากๆ คือทีมมาตรการ ทีมสื่อสารต้องไม่ใช่แค่นักสื่อสาร ต้องเป็นนักบริหารวิกฤติ ต้องเข้าใจว่าทีมมาตรการทำงานยังไง ถ้าเป็นเรื่องทางการแพทย์และสาธารณสุข พวกเขาทำได้ อธิบายได้ดี

  • การทำงานของศบค.กลาง ในเรื่องการสื่อสารกับคนในสังคม อาจารย์คิดเห็นอย่างไร

ต้องบริหารอีกรูปแบบ จะแถลงการณ์หรือแถลงข่าว ถ้าแถลงการณ์เพื่อรวมน้ำใจเป็นหนึ่งเดียว เป็นหน้าที่นายกรัฐมนตรี ไม่ใช่หน้าที่หมอทวีศิลป์ 

แล้วนายกฯ ออกมาก็อย่าเหวี่ยง เพราะมีเป้าหมายรวมความร่วมมือ ต้องกำกับคาแรคเตอร์ของนายกฯให้ได้ อันนี้เป็นเรื่องตัวนายกฯมากกว่าสาร

ต้องรู้ว่า นายกฯเป็นคนพูดตรงๆ พูดเหวี่ยงๆ ซึ่งมีเสน่ห์บางอย่าง คนที่ชอบเขา ก็จะชอบความเด็ดขาดทุบโต๊ะ เหวี่ยงวีนไม่ปั้นคำ แต่เขาไม่เหมาะกับสารที่แสดงความเห็นอกเห็นใจ 

แต่เหมาะกับสารประเภทนี้ “สิ่งที่เกิดขึ้นที่ผับทองหล่อ ผมจะไม่ยอมให้มันเงียบหาย ผมจะติดตามแก้ปัญหา และจะมารายงานการแก้ปัญหาทุกสามวัน” ไม่ต้องให้เขาพยายามยิ้มแหยๆ ใช้เขากับประโยชน์แบบนี้ให้บ่อยๆ

วันนั้นดิฉันก็บอกท่านนายกฯว่า ท่านไม่เคยสื่อสารอนาคตเลย จากนั้นมาเขาแถลงว่า “อีก120 วันจะเปิดประเทศ” อย่างน้อยก็ตอบสนองสิ่งที่เราว่าไป แต่ไม่สื่อสารเรื่องนี้ต่อ...