เนียนยิ่งกว่า 'Fake news' รู้จัก DeepFake คลิปปลอมใบหน้าคนดัง

เนียนยิ่งกว่า 'Fake news' รู้จัก DeepFake คลิปปลอมใบหน้าคนดัง

เมื่อเทคโนโลยี A.I. ก้าวหน้าไปไกล จนถึงขนาดว่ามีคนทำคลิปปลอม ด้วยการนำใบหน้าคนดังมาสวมเป็นใบหน้าตัวเองได้ ชวนเจาะกระแส DeepFake คลิปปลอมที่เป็นไวรัลในต่างประเทศ ที่อาจแฝงอันตรายยิ่งกว่า "Fake news"

เมื่อไม่นานมานี้ มีกระแสคลิปวิดีโอของคนดังในต่างประเทศ กลายเป็นไวรัลในโลกออนไลน์อยู่มากมายหลายชิ้น ที่น่าสนใจคือ คลิปเหล่านั้นเป็น "คลิปปลอม" ในรูปแบบที่เรียกว่า "DeepFake" ถูกทำขึ้นด้วยเทคโนโลยี A.I. โดยการนำใบหน้าของคนดัง (ศิลปิน นักแสดง นักการเมือง เซเลบริตี้) มาสวมใส่แทนใบหน้าของตน ซึ่งการพูดและการเคลื่อนไหวทุกอย่างในคลิป เหมือนว่าเจ้าของใบหน้าตัวจริงมาออกคลิปเอง!

กระแสนี้ทำให้หลายคนอยากรู้ว่าเทคโนโลยี "DeepFake" คืออะไร? คนที่ทำคลิปเหล่านี้ พวกเขาทำมันได้อย่างไร? แล้วสิ่งนี้จะอันตรายยิ่งกว่า Fake news หรือไม่?

DeepFake คืออะไร?

เรื่องนี้มีคำตอบจาก ดร.มนต์ศักดิ์ โซ่เจริญธรรม ผู้อำนวยการฝ่ายเดตาโซลูชันส์ภาครัฐ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) ซึ่งได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีการทำ DeepFake เอาไว้ว่า 

"DeepFake เป็นชื่อเทคโนโลยี มาจากคำว่า Deep แปลว่า ลึก Fake แปลว่า ปลอม คือ ปลอมอย่างลึกซึ้ง แปลไทยเป็นไทยคือ มองไม่ออกว่าของปลอม 

มันเป็นเทคโนโลยีที่ทำเกี่ยวกับภาพ ทำเอฟเฟ็กต์ได้มากที่สุดคือ ภาพใบหน้าของคน เรานำภาพของนาย A แล้วนำภาพของนาย B มาซ้อนกับนาย A ทำให้นาย A ทำท่าหรือพูดจาตามที่นาย B ต้องการได้ เหมือนชักใยหุ่นกระบอก เพียงแต่ว่าเราต้องใช้วิดีโอในการทำ" ดร.มนต์ศักดิ์ อธิบาย

163057712365       ดร.มนต์ศักดิ์ โซ่เจริญธรรม ผอ. ฝ่ายเดตาโซลูชันส์ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA)

DeepFake ทำขึ้นมาได้อย่างไร?

การผลิตคลิปวิดีโอ DeepFake จะต้องมีเทคโนโลยี A.I. ที่เรียกว่า Generative Adversarial Network (GAN) เป็นการสอนให้จักรกลอัจฉริยะประมวลผลเชิงลึก (Deep Learning) แปลง่ายๆ ก็คือ มันจะสามารถ merge สองวิดีโอเข้าด้วยกันได้ คือวิดีโอต้นฉบับของจริงจากคนจริง กับวิดีโออีกอันหนึ่งที่คุณอยากจะใช้เป็นต้นทาง เพื่อทำให้มันไปเปลี่ยนปลายทาง

เมื่อก่อนดูภาพอาจจะหลอนๆ นิดหน่อย เพราะมันไม่ละเอียดมาก แต่เดี๋ยวนี้ภาพมีความคมชัดมาก จนแทบจะมองไม่ออก แล้วก็สามารถสร้างสิ่งที่เมื่อก่อนเป็นไปไม่ได้เลย เช่น ทำให้ Barack Obama ใบหน้าหนุ่มขึ้นอีก 20 ปี 

ดร.มนต์ศักดิ์ เล่าเพิ่มเติมว่า การทำ DeepFake ในประเทศไทยยังไม่มีปรากฎให้เห็น แต่ในเมืองนอกมีมานานแล้วตั้งแต่ปี 2014 โดยนักวิจัยในต่างประเทศได้สร้าง Generative Adversarial Networks (GANs) พอเริ่มมีอัลกอริทึม มีการปล่อยสูตรออกมา ก็ทำให้มีคนนำเทคโนโลยีนี้ไปพัฒนาให้แอดวานซ์ขึ้นไปเรื่อยๆ และตอนนี้ก็เริ่มมีการสร้างซอฟต์แวร์ตรวจจับพวกนี้มากขึ้นด้วย

163057103635        ที่มาภาพ : ict-imgs.vgcloud.vnmiro.medium.comi.insider.commiro.medium.com2

ตัวอย่าง DeepFake ที่โด่งดังในต่างประเทศ

1. DeepTomCruise

ที่เห็นได้ชัดคือ แชนแนล TikTok ของนักแสดงชาย Miles Fisher ซึ่งมีหน้าตาละม้ายคล้าย Tom เป็นทุนเดิม เขาได้ผลิต Fake วิดีโอขึ้นมาและเผยแพร่ในช่อง DeepTomCruise คอนเทนต์ของเขาคือการทำวิดีโอรูปแบบ DeepFake โดยสวมใบหน้าดาราดังอย่าง Tom Cruise แล้วมาทำกิจกรรมต่างๆ เช่น มาเป็นคนทำความสะอาด เป็นพนักงานล้างจาน ฯลฯ ซึ่ง Miles Fisher เคยให้สัมภาษณ์​เรื่องนี้ผ่านสื่อว่าเขาและเพื่อนทำวิดีโอนี้ขึ้นเพื่อความบันเทิงเท่านั้น

2. Linda Carter

คนนี้เคยเป็นนางงามอเมริกา เมื่อประมาณปี 1976 หรือประมาณ 40 กว่าปีที่แล้ว เธอเคยเล่นหนังเรื่อง Wonder Woman ไว้ ตอนนี้ก็น่าจะอายุ 70 ปีแล้ว พอมีกระแส DeepFake ก็มีคนเอาภาพตอนสาวของเธอมา merge เข้าไปใน Wonder Woman ในเวอร์ชัน 2021 แล้วก็เผยแพร่บนโลกออนไลน์ จนกลายไวรัลไปทั่วโลก

ความอันตรายของ DeepFake สร้างความเสียหายได้

หากมองอีกมุมหนึ่ง DeepFake อาจกลายเป็นเครื่องมืออันตราย ที่สร้างความตื่นตระหนกให้สังคมได้เช่นกัน ยกตัวอย่างกรณีมีคนทำคลิปปลอมในอเมริกา ที่เอาวิดีโอ Barack Obama มา แล้วก็เอาวิดีโอของพิธีกรคนหนึ่ง มาขยับทำปากพูดในเรื่องที่อยากให้ Obama พูด แล้วนำมา merge รวมกัน มันก็จะกลืนภาพเข้าไปกับ Barack Obama ของต้นฉบับ แล้วทำให้ได้ออกมาเป็นคอนเทนต์ที่มันเป็น Fake News คือแถลงเรื่องที่ไม่เป็นจริง หรือพูดเรื่องที่ทำให้เสียหายร้ายแรง 

กรณีนี้ วิดีโอดังกล่าวทำประกาศปล่อยออกมาตอนตี 2 ระบุว่า Barack Obama ขอประกาศลาออก ขอประกาศยุบสภา ขอประกาศการปฏิวัติ ภาวะฉุกเฉินตอนตี 2 กระจายไปทั่ว ทุกคนแตกตื่น เห็นวิดีโอนึกว่าจริง เพราะว่าเอาผู้นำประเทศมาทำเป็น Fake วิดีโอ แก้ข่าวกันไม่ทัน ก็เกิดความเสียหายได้

สรุปแล้ว DeepFake เป็นเทคโนโลยีที่มีประโยชน์หรือโทษกันแน่?

ดร.มนต์ศักดิ์ ตอบว่า Deepfake เป็นเหมือนดาบสองคม มีทั้งประโยชน์และอาจจะมีโทษได้ด้วย ประโยชน์คือ ถ้าคุณมี Skill สร้าง Fake วิดีโออะไรก็ได้ คุณจะมีอาชีพที่มีค่าตัวแพงมาก เนื่องจากในวงการสื่อโฆษณาหรือภาพยนตร์ มีความต้องการใช้งานด้านนี้สูงมากในการสร้างหนัง และช่วยลดเวลาการผลิตลงได้ 10 เท่า นี่เป็นโอกาสของแรงงานรุ่นใหม่ที่มี Skill ด้านนี้

ส่วนในมุมลบ ก็อาจจะมีคนนำเทคโนโลยีไปใช้ในทางที่ผิด เช่น นำไปสร้างข่าวปลอม Fake news ต่างๆ สร้างความเข้าใจผิด สร้างความตื่นกลัว ตรงนี้คนเสพข่าวสารจึงจำเป็นที่จะต้องรู้เท่าทัน รู้จักคิดวิเคราะห์มากขึ้น แล้วก็อย่าตกเป็นเหยื่อ 

กรณีสื่อมวลชน ควรมีวิธีตรวจสอบข่าวปลอม/คลิปปลอม อย่างไร?

สื่ออาจจะต้องลงทุนด้านเทคโนโลยีด้าน A.I. คือ อาจจะตรวจสอบด้วยแรงงานคนไม่ไหวแน่ ก็ต้องมีเทคโนโลยีหรือซอฟต์แวร์ที่มาแก้กัน อย่างน้อยๆ ก็สามารถช่วยฟิลเตอร์ได้ระดับหนึ่ง ซอฟต์แวร์บางตัวจะบอกได้ว่าคอนเทนต์แบบไหนเป็น Fake news ซึ่งมีความแม่นยำประมาณ 90% แต่ก็ต้องใช้คนมาดูเป็นด่านสุดท้ายด้วย

อีกประการหนึ่งหนึ่งคือ สื่อต้องพยายาม disrupt ตัวเองให้เท่าทันยุคสมัย เผยแพร่ข่าวในเชิงลึกมากขึ้น และทำการบ้าน เช่น การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ การเชื่อมโยงข้อมูล การเล่าเป็นสตอรี่ นำข้อมูลจากหลายแหล่งมารวมกัน อันนี้มันจะ copy ยาก แล้วก็ทำซ้ำกันยาก หรืออาจเชื่อมโยงข้อมูลวิชาการ ข้อมูลต่างประเทศ ในประเทศ เป็นต้น ลักษณะนี้จะทำให้ Value ของสื่อมีมากขึ้น

----------------------------

ที่มา : 

DeepTomCruise Tiktok Breakdown

Building the metaverse with content created by AI

Deepfake master behind those viral Tom Cruise videos

Tom Cruise deepfake videos on TikTok

springnews

ที่มาภาพ : ict-imgs.vgcloud.vnmiro.medium.comi.insider.commiro.medium.com2