‘บางโฉลงโมเดล’ ต้นแบบชุมชนอัจฉริยะน่าอยู่ของ ‘การเคหะแห่งชาติ’
จากความสำเร็จหนึ่งสู่แรงผลักดันการพัฒนาต่อ “บางโฉลง” ชุมชนอัจฉริยะและน่าอยู่อย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ของ “การเคหะแห่งชาติ” ที่กำลังผนึกภาคีสำคัญ เดินหน้าเสริมแกร่งโครงการ (Smart and Sustainable Community for Better Well - being : SSC)
จากชุมชนธรรมดาที่ไม่ได้โดดเด่นอะไร วันนี้ บางโฉลง กลายเป็นชุมชนต้นแบบของการพัฒนาในโครงการชุมชนอัจฉริยะและน่าอยู่อย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ของ การเคหะแห่งชาติ ด้วยความร่วมมือของทุกคนในชุมชน เพราะมองประโยชน์ร่วมที่จะเกิดขึ้นหลังจาก การเคหะและภาคีเครือข่าย เสนอโครงการ Smart and Sustainable Community for Better Well - being : SSC เข้ามา
วิชัย คำบุญเรือง ผู้นำชุมชนโครงการบ้านเอื้ออาทร บางโฉลง นิติ 1 เปิดเผยว่า การดำเนินการเกี่ยวกับ SSC ที่บางโฉลงในช่วงแรกได้รับความร่วมมือจากกลุ่มเล็กๆ ในชุมชน ต่อมาการเคหะแห่งชาติ และหน่วยงานภาคี เข้ามาสนับสนุนเพิ่มเติมทำให้สามารถขยายกิจกรรมมากขึ้น เมื่อเกิดตัวอย่างที่สร้างประโยชน์ได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม ความร่วมมือจากสมาชิกผู้อยู่อาศัยในชุมชนก็เพิ่มมากขึ้น โดยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนโดยใช้พลังกลุ่มเยาวชนซึ่งมุ่งเน้นการสร้างการมีส่วนร่วม
“สิ่งสำคัญอย่างมากคือกลุ่มผู้นำชุมชน ต้องตั้งใจ ทำให้เห็นเป็นตัวอย่างเชิงประจักษ์ เมื่อเราจับมือร่วมกันทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งตนเองและส่วนรวมไปด้วยกัน พลังจากความตั้งใจและการลงมือทำนี้ จะทำให้มีแนวร่วม แล้วในที่สุดการพัฒนาและความสุขที่ยั่งยืนก็จะเกิดขึ้นในชุมชนของเราครับ”
การเคหะแห่งชาติได้ดำเนินการเกี่ยวกับ “โครงการชุมชนอัจฉริยะและน่าอยู่อย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น (Smart and Sustainable Community for Better Well - being : SSC)” มาตั้งแต่ปี 2560 โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ในการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาร่วมสนับสนุนการดำเนินโครงการ “SSC” ในมิติ ที่แตกต่างกัน จนเดินหน้าโครงการนำร่องที่โครงการบ้านเอื้ออาทรบางโฉลง (นิติ 1) ได้อย่างเป็นรูปธรรม
และเป็นแนวทางสำคัญของการต่อยอดสู่ โครงการบ้านเคหะสุขประชา “บ้านเช่าพร้อมอาชีพ” ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยการเคหะแห่งชาติกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ตามนโยบายของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า “แนวคิดในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Community) ของการเคหะแห่งชาติได้ดำเนินงานร่วมกับภาคีสำคัญข้างต้นครอบคลุมทั้ง 4 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 การมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบ มีการเปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ให้โอกาสในการตัดสินใจเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของตนเอง และการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะ
มิติที่ 2 ความมั่นคงของระบบนิเวศ มุ่งดำเนินการใน 5 ด้าน คือ คุณภาพอากาศ น้ำ และพลังงาน การบริหารจัดการขยะ การจัดการน้ำเสีย และการจัดการพื้นที่สีเขียว เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับผู้อยู่อาศัยในชุมชน
ขณะที่มิติที่ 3 ความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้ดำเนินการให้ความรู้ เพื่อสร้างอาชีพให้กับชุมชนในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่เพื่อสร้างรายได้ รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ สร้างความตระหนัก และพัฒนาชุมชนให้สามารถประหยัดค่าไฟในครัวเรือน
ส่วนมิติที่ 4 สุขภาวะทางสังคม มีการดำเนินการด้านสุขภาพที่เพียงพอให้กับชุมชน ให้ชุมชนมีความปลอดภัยและมีสุขภาวะที่ดี มีสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตร ต่อสุขภาพ รวมถึงความสามารถในการปรับตัวในสภาวะต่างๆ”
ตัวอย่างสำคัญของการดำเนินการ ได้แก่ “Sensor for All” ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้อาศัยในชุมชนติดตามและป้องกันตนเองจากฝุ่นควันและมลพิษ ทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
“ปัจจุบันการเคหะแห่งชาติได้ติดตั้งเครื่องเซนเซอร์ตรวจวัดฝุ่นและคุณภาพอากาศแล้ว จำนวน 32 เครื่อง ที่บริเวณสำนักงานใหญ่การเคหะแห่งชาติ จำนวน 2 เครื่อง และติดตั้งบริเวณสำนักงานเคหะนครหลวงและสำนักงานเคหะจังหวัดในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล 10 พื้นที่ จำนวน 30 เครื่อง ได้แก่ ร่มเกล้า, หนองจอก, รามคำแหง, นวมินทร์, ออเงิน, บ่อนไก่ นนทบุรี, ปทุมธานี, นครปฐม และสมุทรปราการ
นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินการด้านจัดการน้ำเสีย การทดลองปรับพื้นที่เพื่อการใช้ประโยชน์และเพิ่มพื้นที่สีเขียว การส่งเสริมโมเดลการจัดขยะ 3 ประเภท คือ ขยะรีไซเคิล ขยะอาหาร ขยะอันตราย และการทำถังหมักรักษ์โลก (Green Cone) รวมถึงยังมีแนวทางด้านการจัดการพลังงานด้วยการการติดตั้ง Smart Meter (เครื่องมือวัดพลังงานแบบไร้สาย) เพื่อวัดการใช้พลังงานของแต่ละอาคาร โดยแสดงผลการใช้พลังงานผ่านการแสดงผลในรูปแบบ Dashboard ซึ่งทำให้ผู้พักอาศัยภายในโครงการรับรู้ข้อมูลการใช้พลังงานของตน และเกิดการมีส่วนร่วมในการช่วยกันลดการใช้พลังงานผ่านการจัดกิจกรรมต่างๆ
และยังอยู่ระหว่างวางแผนติดตั้ง Solar Powered Pump โดยนำพลังงานไฟฟ้าที่ได้มาใช้ในการสูบน้ำเข้าถังเก็บน้ำ และกรณีที่ไม่มีการทำงานของปั๊มน้ำ พลังงานไฟฟ้าที่ได้จะถูกส่งไปที่ตัวอาคารเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ภายในอาคารต่อไป รวมถึงอยู่ในระหว่างวางแผนจะติดตั้ง Solar Powered Aerator เพื่อเติมอากาศบำบัดบ่อน้ำเสีย” ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติกล่าว
เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมานี้ “การเคหะแห่งชาติ” และหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันจัดงานเสวนาออนไลน์ขึ้น ในหัวข้อ “การพัฒนาความยั่งยืนให้ชุมชน” พร้อมทั้งเผยแพร่ในรูปแบบนิทรรศการออนไลน์ ซึ่งก็มีทั้งเนื้อหาวิชาการ และสื่อมัลติมีเดียหลายรูปแบบ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงและเข้าใจแนวคิด “SSC” มากยิ่งขึ้นอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีแผนดำเนินการขยายผลต่อเนื่อง ในปี 2565 อีก 4 ชุมชน ได้แก่ โครงการบ้านเอื้ออาทรบางบัวทอง 2 บ้านเอื้ออาทรรังสิตคลอง 10/2 บ้านเอื้ออาทรราชบุรี 3/2 และบ้านเอื้ออาทรเศรษฐกิจ 3
ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติย้ำถึงเจตนารมณ์ว่ายังต้องการให้ทุกชุมชนภายใต้การดูแของการเคหะพัฒนาตามรอยของ “บางโฉลง” และเป็นชุมชนอัจฉริยะน่าอยู่กันอย่างพร้อมเพรียง
“การเคหะแห่งชาติมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับภาคีสำคัญในการผลักดันนำพาทุกชุมชนของการเคหะ ก้าวไปสู่ Smart and Sustainable Community โดยการบูรณาการด้วยหลัก 3P ได้แก่ Profit ผลกำไร, People คุณภาพชีวิตของประชาชน และ Planet สิ่งแวดล้อม โดยเน้นความสำคัญของการมีส่วนร่วมจากผู้อยู่อาศัยเป็นประเด็นหลัก เพราะท้ายที่สุดแล้วการพัฒนาทุกอย่างก็เพื่อประโยชน์และความสุขอย่างยั่งยืนของพี่น้องประชาชนผู้อยู่ในอาศัยในชุมชนของการเคหะแห่งชาตินั่นเอง”