15 กันยายน "วันศิลป์ พีระศรี" เปิดประวัติอาจารย์ชาวอิตาลีสัญชาติไทย
รู้จัก "วันศิลป์ พีระศรี" ที่ตรงกับวันที่ 15 กันยายน ของทุกปี ชวนเด็กสายอาร์ตมาย้อนรอยรำลึกอัตชีวประวัติของศาสตราจารย์ "ศิลป์ พีระศรี" อาจารย์ชาวอิตาลีสัญชาติไทย ที่เข้ารับราชการในไทยตั้งแต่สมัย ร.6
เนื่องใน "วันศิลป์ พีระศรี" ที่ตรงกับวันที่ 15 กันยายนของทุกปี ชวนลูกหลานสายศิลปะชาวไทย มาย้อนรอยรำลึกอัตชีวประวัติของ "ศิลป์ พีระศรี" อาจารย์ชาวอิตาลีสัญชาติไทย ที่เข้ารับราชการในไทยตั้งแต่สมัย ร.6 ซึ่งท่านได้สร้างผลงานด้านจิตรกรรมและประติมากรรมไว้ในแผ่นดินสยามมากมาย
บางชิ้นงานคุณอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่าเป็นผลงานของอาจารย์ท่านนี้ จากวันนั้นถึงวันนี้ ครบรอบวันเกิดของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี มาแล้ว 129 ปี กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนคุณมารู้จักอาจารย์ท่านนี้ให้มากขึ้น
1. “ศิลป์ พีระศรี” เป็นใคร?
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2435 เดิมชื่อ “คอร์ราโด เฟโรชี” (Corrado Feroci) เป็นประติมากรชาวอิตาลี จากเมืองฟลอเรนซ์ ที่เข้ามารับราชการในประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 โดยถือเป็นปูชนียบุคคลคนหนึ่งของไทย ที่ได้สร้างคุณูปการในทางศิลปะ และมีผลงานที่เป็นที่กล่าวขานจนเป็นที่รู้จักกว้างขวาง
ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งและอาจารย์สอนวิชาศิลปะที่โรงเรียนประณีตศิลปกรรม ซึ่งภายหลังได้รับการยกฐานะให้เป็น “มหาวิทยาลัยศิลปากร” โดยดำรงตำแหน่งคณบดีของคณะจิตรกรรม ม.ศิลปากร เป็นคนแรก และท่านมีสุภาษิตติดปากที่นำมาสอนแก่ลูกศิษย์เสมอ นั่นคือ "ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น" ต่อมาสุภาษิตนี้ได้กลายเป็นคำขวัญของมหาวิทยาลัยศิลปากร
ด้วยคุณูปการนี้ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี จึงได้รับการยกย่องให้เป็นปูชนียบุคคลของมหาวิทยาลัยศิลปากร และได้รับยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัย” ของประเทศไทย ต่อมามีการกำหนดให้วันที่ 15 กันยายน ของทุกปีเป็น “วันศิลป์ พีระศรี” เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีที่มีต่อมหาวิทยาลัยและประเทศไทย
2. ช่วงชีวิตวัยหนุ่มของ “ศิลป์ พีระศรี”
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี หรือ “คอร์ราโด” เกิดที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เป็นบุตรของ “นายอาตูโด เฟโรชี” และ “นางซานตินา เฟโรชี” ซึ่งประกอบธุรกิจการค้า และเนื่องจากเกิดและอาศัยอยู่ ณ เมืองฟลอเรนซ์ นครแห่งศิลปะเรอเนซองส์ คอร์ราโดจึงมีความสนใจในวิชาศิลปะมาตั้งแต่วัยเด็ก
โดยเขาชื่นชอบผลงานประติมากรรมของ “มิเกลันเจโล” และ “โลเรนโซ กีแบร์ตี” เป็นอย่างมาก จึงได้สมัครเป็นลูกมือช่วยงานศิลปินที่มีชื่อเสียงตามสตูดิโอต่างๆ ในเมืองฟลอเรนซ์
อีกทั้งเขาได้เก็บสะสมเงินและเข้าศึกษาใน “สถาบันศิลปแห่งนครฟลอเรนซ์” (Accademia di Belle Arti di Firenze) หลักสูตร 7 ปี และจบการศึกษาในปี พ.ศ. 2458 ในขณะที่มีอายุ 23 ปีด้วย “เกียรตินิยมอันดับที่หนึ่ง” และได้รับประกาศนียบัตรช่างปั้นช่างเขียน ต่อมาได้สอบคัดเลือกและได้รับตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์
3. ผลงานน่าทึ่งของ “คอร์ราโด” ในช่วงเริ่มอาชีพศิลปิน
ศาสตราจารย์คอร์ราโดมีความรอบรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ วิจารณ์ศิลป์ และปรัชญา โดยเฉพาะมีความสามารถทางด้านศิลปะแขนงประติมากรรมและจิตรกรรมเป็นอย่างสูง ได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะไว้มากมาย และได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดออกแบบอนุสาวรีย์จากรัฐบาลหลายครั้ง เช่น ผลงานอนุสาวรีย์ผู้กล้าในสงครามโลกครั้งที่ 1 บนเกาะเอลบา และต่อมาในปี พ.ศ. 2466 ศาสตราจารย์คอร์ราโดได้ชนะการประกวดการออกแบบเหรียญเงินตราสยามที่จัดขึ้นในยุโรป เป็นต้น
4. การเข้ารับราชการในแผ่นดินสยาม
ครั้งหนึ่ง ศาสตราจารย์คอร์ราโดมีความต้องการแสวงหาสถานที่ปฏิบัติงานแห่งใหม่ ในช่วงเวลานั้นตรงกับรัชกาลที่ 6 ของประเทศไทย ซึ่งพระองค์ มีพระราชประสงค์ต้องการบุคลากรที่เชี่ยวชาญในด้านศิลปะตะวันตก
เพื่อที่จะเข้ามารับราชการเป็นช่างปั้นในแผ่นดินไทย และทำการฝึกสอนช่างไทยให้มีความสามารถในการสร้างงานประติมากรรมแบบตะวันตกได้
ทางรัฐบาลอิตาลีจึงได้ยื่นข้อเสนอโดยการส่งคุณวุฒิและผลงานของศาสตราจารย์คอร์ราโดให้สยามพิจารณา ในที่สุดศาสตรจารย์คอร์ราโดก็ได้รับการคัดเลือกให้มาปฏิบัติงานในสยาม เขาและครอบครัวจึงเดินทางมายังสยามเพื่อเข้ามารับราชการเป็นช่างปั้นประจำกรมศิลปากร กระทรวงวัง เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2466 ขณะมีอายุได้ 32 ปี และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์สอนวิชาช่างปั้นหล่อ แผนกศิลปากรสถานแห่งราชบัณฑิตยสภา ในปี พ.ศ. 2469
เมื่อแรกเริ่มการเข้ารับราชการ ศาสตาจารย์คอร์ราโดทำสัญญารับราชการในสยามเป็นระยะเวลา 3 ปี ด้วยอัตราเงินเดือน 800 บาท
5. อาจารย์ฝรั่งคนแรกที่คิดหลักสูตรการเรียนศิลปะในไทย
ศาสตราจารย์คอร์ราโด ได้วางหลักสูตรอบรมให้แก่ผู้ที่สนใจในวิชาประติมากรรม โดยไม่เก็บค่าธรรมเนียมใดๆ ซึ่งต่อมาบุคคลที่ผ่านการอบรม ก็ได้เป็นหนึ่งในกำลังสำคัญของกิจการงานปั้นหล่อของกรมศิลปากร ทำให้ทางราชการได้ขอให้ศาสตราจารย์คอร์ราโดวาง “หลักสูตรการศึกษา” รูปแบบเดียวกันกับสถาบันศิลปะในยุโรป
ศาสตรจารย์คอร์ราโดจึงได้วางหลักสูตรวิชาจิตรกรรมและประติมากรรมขึ้น เพื่อใช้ในโรงเรียนประณีตศิลปกรรม สังกัดกรมศิลปากร ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนศิลปากรแผนกช่าง” และพัฒนาการเรียนการสอนเรื่อยมา ต่อมาโรงเรียนนี้ถูกยกฐานะขึ้นเป็น มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2486 โดยได้จัดตั้งคณะจิตรกรรมขึ้นมา และศาสตราจารย์คอร์ราโดก็ได้ดำรงตำแหน่งคณบดีคนแรกของคณะจิตรกรรมด้วย
6. การได้รับสัญชาติไทยของอาจารย์ศิลป์
ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2485 ประเทศอิตาลียอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ชาวอิตาลีในไทยจึงตกอยู่ภายใต้การควบคุมตัวของญี่ปุ่น ครั้งนั้น.. ศาสตราจารย์คอร์ราโดเกือบจะโดนควบคุมตัวไปเป็นเชลยศึกด้วย แต่ทางการไทยนำโดย “หลวงวิจิตรวาทการ” เล็งเห็นว่าท่านได้สร้างคุณูปการให้แก่ประเทศไทยอย่างมาก จึงได้ดำเนินการโอนสัญชาติจากสัญชาติอิตาลีมาเป็นสัญชาติไทย โดยเปลี่ยนชื่อของท่านจากนายคอร์ราโด เฟโรจี ให้มาเป็น "นายศิลป์ พีระศรี" นับแต่นั้นเป็นต้นมา
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี อุทิศชีวิตให้กับวงการศิลปะไทยเรื่อยมาจนถึง พ.ศ. 2505 ท่านได้ล้มป่วยลงด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และได้ถึงแก่อนิจกรรม ในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2505 ที่โรงพยาบาลศิริราช ด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว หลังการผ่าตัดรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ สิริอายุได้ 69 ปี 241 วัน
อัฐิของท่านถูกแยกไปเก็บไว้ 3 ส่วนด้วยกัน คือ ส่วนแรกเก็บที่สุสานชิมิเตโร เดญลี อัลลอรี เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ส่วนที่สองถูกบรรจุในอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ณ ลานศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ณ ม.ศิลปากร และส่วนที่สามถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ ในกรมศิลปากร
7. ผลงานของอาจารย์ “ศิลป์ พีระศรี”
ในช่วงบั้นปลายชีวิตก่อนจะถึงแก่อนิจกรรม อาจารย์ศิลป์ได้อุทิศเวลาที่เหลือให้กับวงการศิลปะไทย ทั้งการสอน การสร้างสรรค์ผลงาน รวมไปถึงการได้ศึกษาศิลปะไทยอย่างลึกซึ้ง เพื่อการสร้างสรรค์งานศิลปะไทยสมัยใหม่ที่ควรจะมีเอกลักษณ์ของไทยไว้ให้สืบต่อไป แม้ความรู้ด้านศิลปะตะวันตกเริ่มแพร่หลายแล้วก็ตาม
ตลอดชั่วชีวิตการทำงานกว่า 39 ปีในประเทศไทย อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้รับหน้าที่ออกแบบปั้นและควบคุมการหล่อพระบรมราชานุสาวรีย์และอนุสาวรีย์สำคัญของไทยจำนวนมาก และมีผลงานที่โดดเด่นมากมาย ได้แก่
- พระพุทธรูปประธาน ที่พุทธมณฑล
- อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
- อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
- พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่วงเวียนใหญ่
- พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
- อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี
- พระบรมราชานุสาวรีย์ของกษัตริย์ไทยอีกหลายพระองค์