‘หม้ออะนะโอริ’ กับ‘อาหารไทย’ โดย ‘เชฟโบ-ดวงพร ทรงวิศวะ’
ได้รับเทียบเชิญให้ไปชิม “อาหารไทย” ที่ปรุงจาก “หม้ออะนะโอริ” หรือ อะนะโอริ คะคุกะมะ ซึ่ง “เชฟโบ” ดวงพร ทรงวิศวะ และ เชฟดีแลน โจนส์ ผู้ก่อตั้ง ร้านโบ.ลาน เป็นหนึ่งใน 24 เชฟระดับโลก ในโปรเจ็กต์ระดับนานาชาติ ANAORI Naturality Tour
ต้องยอมรับในฝีมือ “อาหารไทย” ของ “เชฟโบ-ดวงพร ทรงวิศวะ” เพราะครั้งนี้เธอได้รับเลือกในโปรเจ็กต์ระดับนานาชาติ ที่ชื่อว่า ANAORI Naturality Tour เป็นการร่วมงานกับเชฟระดับโลก 24 คนในระยะเวลากว่า 6 เดือน โดยออกทัวร์ไปตามประเทศต่างๆ เริ่มจากประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2021 กับเชฟผู้มีชื่อเสียงหลายท่าน เช่น เชฟเอจิ ทะนิกุฉิ (Eiji Taniguchi) จากร้านอาหาร เลโว (L'évo) เมืองโทยามะ (https://levo.toyama.jp/) เชฟโทรุ โอคุดะ (Toru Okuda) เชฟประจำร้าน กินซ่า โคจิว (Ginza Kojyu)ชื่อดังในกรุงโตเกียว (http://www.kojyu.jp/) และเชฟริคุ ยาคุชิจิน(Riku Yakushijin)จากร้าน ยูนสิ์(Unis) ร้านอาหารอีกแห่งในโตเกียว (https://unis-anniversary.com/)
“เชฟโบ- ดวงพร ทรงวิศวะ” และ "เชฟดีแลน โจนส์" คู่สามีภรรยาที่ร่วมกันก่อตั้ง ร้านอาหารโบ.ลาน เมื่อปี 2009 เป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลด้านการทำงานร่วมกับผู้ผลิตในท้องถิ่น รวมถึงได้รับการยกย่องด้านการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพของไทย ร้าน โบ.ลาน ได้รับการจัดอันดับโดย The World's 50 Best Restaurants Academy ให้เป็น 1 ใน 50 ร้านอาหารที่ดีที่สุดในเอเชีย และเป็น 1 ใน 50 อันดับแรกของโลก อีกทั้งยังได้รับมิชลินสตาร์ 1 ดวง เป็นระยะเวลานานจนกระทั่งร้านปิดตัวลงเมื่อเดือนพฤษภาคม 2021ทั้งคู่เปิดร้านอาหาร เออ (Err) ในปี 2013
ช่วงนี้ “ร้านโบ.ลาน” เปิดบริการเฉพาะกิจ เพื่อทำเชฟเทเบิ้ล สำหรับ 8 ท่าน ในโครงการ ANAORI Naturality Tour ได้ลิ้มรส “อาหารไทย” ภายใต้คอนเซ็ปต์ “เรื่องกล้วยๆ กินหัว กินหาง กินกลางตลอดตัว” โดยเมนูพิเศษที่ “เชฟโบ” รังสรรค์ขึ้นโดยใช้ “หม้ออะนะโอริ” หรือ “อะนะโอริ คะคุกะมะ” ปลีกล้วยนวล จากบ้านปางมะกล้วย อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ อบโดยใช้หม้อ “อะนะโอริ”
เริ่มจากเซตเมนูเรียกน้ำย่อย ที่ชื่อ เริ่มแรกระเริงรส มี ซาวน้ำสัปปะรดอินทรีย์, ข้าวทอดปลาอินทรีย์ปัตตานี, เนื้อไทยแบ็คโคราชย่างแจ่วแห้ง เรียกได้ว่า อาหารเซตแรกช่วยเปิดประสาทสัมผัสต่อมรับรสให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่าได้ดีมาก ก่อนเข้าสู่เซตที่สอง เปิดรส เปิดตัวเมนูอาหารที่ทำด้วย “หม้ออะนะโอริ” นั่นก็คือ “ปลีกล้วยนวลอบ”
จากนั้นเป็นอาหารสำรับใหญ่ Palate Opening มี ยำมะม่วงหลากพันธุ์อย่างอัมพา ใส่กุ้งอ่าวพังงาย่างบนเตาถ่านโกงกาง,น้ำพริกขี้กา แนมผักพื้นบ้านตามฤดูกาล และ ไก่ต้มน้ำปลากงไกรลาส
จากนั้นโชว์ความสามารถของ "หม้ออะนะโอริ"
โดย "เชฟดีแลน โจนส์" สาธิต โดยนำภาชนะที่คงความร้อนได้ยาวนานดังกล่าว ออกมาจากเตาไฟเพื่อทำ "ผัดฉ่า" เพื่อพิสูจน์ว่า “เตาคาร์บอน” สัญชาติญี่ปุ่นนี้มีความพิเศษจริงๆ หมูหวานได้ชิม “ผัดฉ่าตับหมู หมึกปากบาราและใบจันทน์ และ สุรากลั่นลุงบุญมี” รสเข้มข้นโดนใจจริงๆ
ทว่าความอร่อยยังไม่หมดเพียงเท่านั้น “แกงหยวกกล้วยคอหมูย่างผลกล้วยดิบ อย่างท่านผู้หญิงเปลี่ยน” รสจัดจ้านจนต้องขอเติม “ข้าวอินทรีย์ จากศรีษะเกษ” ไป 3 รอบเลยทีเดียว แถมยังได้ซดน้ำแกงเผ็ดร้อน จากเมนูที่ชื่อ “แกงแตงโมเมืองชลอย่างตำรับสายปัญญา” เรียกได้ว่า “อาหารไทย” ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นยา รับประทานแล้วรู้สึกว่าภูมิคุ้มกันแข็งแรงแน่นอน
อาหารไทย ฝีมือ “เชฟโบ-ดวงพร ทรงวิศวะ” กับ “เชฟดีแลน โจนส์” ยังคงเอกลักษณ์พิเศษ ก่อนจบมื้ออาหารสวยๆ ของโครงการ ANAORI Naturality Tour ด้วยเมนูหวาน “ตะโก้สาคูพัทลุง” และ “กระยาสารทอบควันเทียน” แนมด้วย “กล้วยเล็บมือนาง”
“อะนะโอริ คะคุกะมะ คือความสนุกที่แท้จริง! ตั้งแต่เราได้รับอุปกรณ์เหล่านี้มา เราก็ทึ่งไปกับความสวยงามที่เหนือชั้น อย่างแรกเลยที่นึกถึงคือข้าว ซึ่งแน่นอนว่ามันสามารถใช้หุงข้าวออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่ที่เราทึ่งมากที่สุดคือความอเนกประสงค์ของอุปกรณ์ที่ทำให้มันกลายเป็นเครื่องมือที่ขาดไม่ได้ในครัวของที่บ้าน แถมเรายังสนุกกับการนำมันมาใช้ปรุงอาหารที่ร้าน โบ.ลาน ด้วย ตั้งแต่ทอดไปถึงย่าง และทุกสิ่งเท่าที่อุปกรณ์นี้จะมอบให้ได้” เชฟดิลลัน โจนส์ ผู้ก่อตั้งร้านอาหารโบ.ลาน กล่าว
“หม้ออะนะโอริ” เป็นผลิตภัณฑ์จากคาร์บอน กราไฟท์ ผสานเทคโนโลยีและวัสดุธรรมชาติเข้าไว้ด้วยกัน ผ่านการออกแบบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เกิดจากวัยเด็กคุณพ่อของ เออิจิ อะนะโอริ (Eiichi Anaori) ผู้ก่อตั้งแบรนด์ดังกล่าว มักนำถ่านคาร์บอนจากโรงงานมาย่างมันเทศให้เขากิน ความทรงจำที่ดีในวันนั้นเป็นแรงผลักดันให้เขาก่อตั้ง บริษัท อะนะโอริ(ANAORI Inc.)ขึ้นมา โดยพาร์ตเนอร์กับเชฟชาวญี่ปุ่นระดับตำนานอย่าง ฮิโระชิสะ โคะยามะ (Hirohisa Koyama) เพื่อพัฒนาอุปกรณ์ทำอาหารประเภทคาร์บอน กราไฟท์ ที่ได้แรงบันดาลใจจากภูมิปัญญาของการทำอาหารญี่ปุ่นดั้งเดิม
ซึ่งมีรากฐานมาจากประเพณีการใช้ชีวิตที่กลมกลืนเข้ากับธรรมชาติ ความเป็นธรรมชาติในความหมายของ “อะนะโอริ” จึงหมายถึงความเข้าใจในกฎเกณฑ์ของธรรมชาติโดยไม่ไปฝืนหรือเผชิญหน้าแต่เป็นการทวีคูณพลังแห่งธรรมชาติโดยมีการแทรกแซงให้น้อยที่สุด เพื่อที่จะใช้มันได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุดนั่นเอง พูดถึง “หม้ออะนะโอริ” หรือ อะนะโอริ คะคุกะมะ รูปทรงคิวบ์ดูเรียบง่าย จะไม่มีขอบมุม ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากพิธีชงชาของญี่ปุ่น อิโมะ-กะตะ หรือ หม้อก้นกลม เป็นรูปทรงนิยมในยุคสมัยเอโดะ (1603-1868) เหมาะกับการปรุงอาหารโดยใช้ความร้อนจากฟืนในสมัยโบราณ เพราะกระจายความร้อนทั่วถึง และสม่ำเสมอนั่นเอง