"CMMU" แนะกลยุทธ์เสริมความยั่งยืนให้ธุรกิจ "ความงาม-อาหารเสริม"
นักวิชาการ CMMU แนะธุรกิจความงาม-อาหารเสริม ใช้สมุนไพรขยายตลาดสู่เวทีโลก พร้อมยก 5 ปัจจัยที่ผู้บริโภคทั่วโลกเลือกเทรนด์สุขภาพ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ดร.กฤษกร สุขเวชชวรกิจ หัวหน้าสาขาการจัดการธุรกิจสุขภาพ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU Mahidol) กล่าวว่า โควิด-19 และประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น เป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการไทยจะต่อยอดผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหรือธุรกิจความงาม แต่ทว่าที่ผ่านมาในอุตสาหกรรมนี้มักประสบปัญหาสงครามโปรโมชั่น ตัดราคากันเอง ใช้เครื่องมือคล้ายกัน ขาดจุดเด่นที่ชัดเจน เห็นได้ว่ามีคลินิกความงามและแบรนด์อาหารเสริมเกิดใหม่ตลอดเวลา พร้อมกับมีที่ปิดตัวลงด้วยเช่นกัน
ลงลึกด้านศาสตร์ชะลอวัย เสริมความแข็งแกร่งธุรกิจความงาม
เมื่อได้ยินคำว่าชะลอวัยหลายคนจะนึกถึงการดูแลบำรุงผิวพรรณ ลดริ้วรอยเหี่ยวย่น แต่นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการรักษาเท่านั้นเอง แท้จริงแล้ว "ศาสตร์ชะลอวัย" เป็นศาสตร์ที่วิเคราะห์ถึงรายละเอียดของร่างกาย ฟื้นฟูความเสื่อมของสุขภาพกายและสุขภาพจิต ปรับสมดุลกลไกต่าง ๆ ให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนเดิม
ปัจจุบัน คลินิกความงามทั่วไปจะเน้นการรักษาอาการที่เป็นอยู่เท่านั้น เช่น เป็นสิวก็รักษาด้วยการกดสิวหรือฉีดสิวให้ยุบ จากนั้นใช้การเลเซอร์ลบรอยแผลที่เกิดขึ้น แต่ศาสตร์ชะลอวัยจะรักษาอาการที่เป็นอยู่ควบคู่กับการตรวจหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ เพื่อลดการเกิดอาการซ้ำอีกด้วยการใช้นวัตกรรมและเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยร่วมกัน อีกทั้งในอนาคตการดูแลสุขภาพจะลงลึกในระดับพันธุกรรม เพราะโรคบางชนิดไม่สามารถตรวจพบได้ในเบื้องต้น อาทิ โรคเบาหวาน การพยากรณ์ความเสี่ยงของการเกิดโรคจึงจำเป็นต้องใช้ข้อมูลเชิงลึกในหลายด้านเพื่อวิเคราะห์
ธุรกิจสุขภาพความงามในอนาคตเปรียบเสมือนการผสมผสานระหว่างแพทย์ผู้ที่ต้องมีความรู้ด้านสุขภาพ รวมกับนักวางแผนการเงินผู้ที่ต้องช่วยจัดสรรพอร์ต กระจายความเสี่ยงในการใช้ชีวิต เพื่อช่วยเตรียมความพร้อมรับมือกับความเสื่อมของสุขภาพที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ผลักดันให้ลูกค้าเริ่มลงทุนตั้งแต่เนิ่น ๆ มุ่งเน้นการดูแลป้องกัน ให้ชีวิตยืนยาวและมีคุณภาพมากที่สุด
5 ปัจจัยควรรู้ ก่อนออกผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ
ในขณะที่สินค้าประเภทอาหารเสริมเป็นอีกกลุ่มอุตสาหกรรมมาแรง เนื่องจากความนิยมในการทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารควบคู่กับการดูแลร่างกายได้เข้ามามีบทบาทในการดำรงชีวิตมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการมองเห็นโอกาสเติบโตทางธุรกิจนี้เช่นกัน แต่อุตสาหกรรมนี้กลับมีวงจรธุรกิจสั้นเพียง 1-2 ปี แล้วก็ต้องออกผลิตภัณฑ์ใหม่ เงินทุนมักหมดไปกับการทุ่มทำการตลาดเพื่อสร้างกระแสให้สินค้าหวังเร่งทำกำไร ซึ่งจะได้ผลดีแค่ในช่วงแรกเท่านั้น หากแต่การทำธุรกิจอาหารเสริมให้มีความยั่งยืน ต้องคำนึงถึงมาตรฐานระดับสากล พัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสอดรับกับความต้องการของผู้บริโภค พยายามขยายไปตลาดต่างประเทศให้ได้
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) มีการจัดทำข้อมูลที่กล่าวถึงเทรนด์ความนิยมอาหารสุขภาพทั่วโลก โดยอ้างอิงจากผลวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคของบริษัท Mintel พบว่า ผู้บริโภคในทวีปยุโรป ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมังสวิรัติ (Vegan) และมีส่วนผสมของน้ำตาลน้อย (Low Lactose)
ขณะที่ผู้บริโภคในทวีปอเมริกาเหนือ เน้นผลิตภัณฑ์ที่ไม่สารตกแต่งพันธุกรรม (GMO Free) และผู้บริโภคในทวีปเอเชียนิยม ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติและปราศจากสารปรุงแต่ง โดยผู้บริโภคทั่วโลกนิยมรับประทานอาหารเสริมและวิตามินในรูปแบบเม็ดแคปซูลมากที่สุด รวมทั้งให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติมากกว่าที่ใส่สารปรุงแต่ง สำหรับแนวโน้มผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผู้บริโภคทั่วโลกให้ความสำคัญมี 5 ปัจจัย ดังนี้
1. การส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม (Holistic Health) ผู้บริโภคทั่วโลกกว่า 70% ต้องการอาหารเสริมหรือวิตามินที่สามารถปรับสมดุลในร่างกาย โดยเฉพาะการรักษาสมดุลของระบบทางเดินอาหาร เพื่อป้องกันโรคภูมิแพ้ ช่วยรักษาผิวพรรณ โดยเน้นสารสกัดจากสมุนไพรธรรมชาติ ไม่ส่งผลเสียกับร่างกาย
2. ความกังวลกับโรคอุบัติใหม่และปัญหาสุขภาพ (New and Emerging Health Concerns) ผู้บริโภคทั่วโลกส่วนใหญ่เลือกซื้อสินค้าที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องดื่มทดแทน ทั้งนี้ ผู้บริโภคชาวไทย 47% ที่ต้องการอาหารเสริมและวิตามินเพิ่มเติม มักซื้อในรูปแบบของอาหารและเครื่องดื่ม
3. การผสมผสานกับอาหารและเครื่องดื่ม (Align with Food and Drink) ผลิตภัณฑ์ที่มาจากพืชและโปรตีนทางเลือกจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคในยุโรป 45% เชื่อว่าการรับประทานอาหารจากพืช (plant-based) ส่งผลดีต่อร่างกายมากกว่า
4. การผสมผสานกับความสวยความงาม (Beauty Benefit) ผู้บริโภคชาวไทยกว่า 51% ให้ความสนใจกับอาหารและเครื่องดื่มที่ทำให้ผิวพรรณดีขึ้น และผู้บริโภคชาวจีนให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์ที่ใส่อาหารเสริมและวิตามินในน้ำผลไม้
5. การมีฉลากที่ชัดเจนและความโปร่งใสของที่มาที่ไปของผลิตภัณฑ์ (Clean Label and Transparency) ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับฉลากที่ชัดเจน บ่งบอกลักษณะสินค้าที่สำคัญ เช่น วัตถุดิบทำจากพืช (plant-based ingredient) ไม่มีสารก่อภูมิแพ้ (Allergy free) เป็นต้น
สำหรับธุรกิจอาหารเสริมในประเทศไทย ควรใช้จุดแข็งจากการเป็นแหล่งสมุนไพรและวัตถุดิบธรรมชาติที่หลากหลาย นำมาผลิตสินค้า โดยนำเทคโนโลยีและใช้การวิจัยที่น่าเชื่อถือมาสนับสนุนเพิ่มเติม จะช่วยต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้สามารถขยายตลาดและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ทั่วโลก แต่เนื่องจากอาหารเสริมที่นิยมกันในปัจจุบันมีหลายกลุ่ม จึงจำเป็นต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ทำความเข้าใจถึงพฤติกรรมและความต้องการ อาทิ กลุ่มวัยทำงานมีพฤติกรรมที่ต้องใช้พลังกายและพลังทางความคิดอย่างหนัก จึงไม่ค่อยมีเวลาดูแลตัวเองทั้งการเลือกรับประทานอาหารและการพักผ่อนอย่างเพียงพอ เสียสุขภาพไปกับการทำงานทั้งวันจนเหนื่อยล้า ทำให้สมองทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ และมีโอกาสเจ็บป่วยได้ง่ายกว่าปกติ เป็นต้น
"บริหารจัดการ-วิทยาศาสตร์การแพทย์-นวัตกรรม" ครบในหลักสูตรเดียว
วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดลได้ออกแบบ หลักสูตรปริญญาโท สาขาการจัดการธุรกิจสุขภาพ: Health Business Management (HBM) ซึ่งรวม 3 องค์ประกอบสำคัญที่จะสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจสุขภาพยุคใหม่ เริ่มด้วยวิชาพื้นฐานการจัดการธุรกิจ ต่อด้วยจุดแข็งของสาขานี้คือการเจาะลึกด้าน Healthcare Management อาทิ วิชา Logistics & Supply Chain Management for Healthcare Business ซึ่งมีความซับซ้อนอย่างมาก หากเกิดข้อผิดพลาดต้องตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าวัตถุดิบหรือจุดบกพร่องมาจากจุดไหนเพราะเป็นเรื่องของความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ หลักสูตรฯ ได้มุ่งเน้นการนำนวัตกรรมล้ำสมัยมาใช้แก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็น AI, Big Data Analytics, Telemedicine หรือ Edge Computing โดยนักศึกษาจะได้เรียนรู้จากกรณีศึกษาจริง หลักสูตรนี้ได้รับความร่วมมือจากหลากหลายหน่วยงาน อาทิ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS และโรงพยาบาลเอกชนอีกหลายแห่ง
หลักสูตรนี้ออกแบบมาสำหรับผู้ประกอบการในทุกระดับตั้งแต่สตาร์ทอัพ จนถึงผู้บริหารที่อยู่ในธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับสุขภาพทั้งหมด ไม่จำกัดเพียงแค่ธุรกิจโรงพยาบาล รวมไปถึงด้านธุรกิจความงาม อาหารเสริม เครื่องมือแพทย์ ฯลฯ ในขณะเดียวกัน นักวิจัยโดยเฉพาะผู้ที่เรียนจบปริญญาตรีทางด้านวิทยาศาสตร์ที่มีองค์ความรู้พร้อม และต้องการต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ยิ่งเป็นโอกาสดีในการมาร่วมสร้างเครือข่ายตั้งแต่ในชั้นเรียน
หลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต สาขาการจัดการธุรกิจสุขภาพ: Health Business Management (HBM) วิทยาลัยการจัดการมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดรับสมัครวันนี้ ถึงวันที่ 20 กันยายน 2564 ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามที่เบอร์โทรศัพท์ 02-206-2000 ต่อ 3206 เว็บไซต์ https://www.cm.mahidol.ac.th/web/index.php/academic-programs/thai-program/hbm หรือ Facebook: CMMU Mahidol