‘โรงเรียน’ จะเปิดแล้ว ต้องจัดระบบอย่างไร ให้เด็กปลอด ‘โควิด’
รู้กันโดยทั่วไปแล้วว่า “การระบายอากาศ” มีส่วนช่วยป้องกันการติดเชื้อโรคไวรัส "โควิด-19" ได้ ในขณะที่โรงเรียนกำลังจะเปิด เด็กๆ ต้องมาอยู่รวมกัน วิศวกรจึงอยากแนะนำวิธีระบายอากาศ เพื่อนำไปปรับใช้ได้ทันท่วงที
โรงเรียนเปรียบเสมือน บ้านหลังที่สอง ของครอบครัว ในเมื่อเราอยู่บ้านแล้วปฏิบัติตัวป้องกันโควิดได้เป็นอย่างดี การส่งเด็กๆ ไปอยู่ที่โรงเรียนทั้งวันก็ควรจะมีความปลอดภัยในเรื่องนี้เท่าเทียมกันด้วย
“ผมค่อนข้างกังวลในช่วงเวลารับประทานอาหารกลางวัน ของเด็กๆ เนื่องจากเป็นช่วงที่นักเรียนทุกคนจะถอดหน้ากาก ซึ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ บางโรงเรียนก็จัดให้นักเรียนรับประทานอาหารในห้องเรียนเลย
ถ้าเป็นไปได้ เราอาจแบ่งเป็นช่วงเวลา เช่น ห้องนี้ทานก่อน หรือย้ายไปในพื้นที่ที่เป็นพื้นที่เปิด ให้เด็กนั่งแยกกันหน่อย
ที่สำคัญในแต่ละพื้นที่ ทุกอย่างต้องชัดเจนว่า มีระยะห่างและมีการระบายอากาศที่ดี มันถึงจะช่วยป้องกันเรื่องไวรัสโควิดได้”
ผศ. ดร. เอกบดินทร์ วินิจกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษทางอากาศ สถาบันเทคโนยีแห่งเอเซีย (AIT) กล่าว ในการบรรยายออนไลน์เรื่อง 'Covid is Airborne แกะรอยโควิด-19 ละอองลอยคือตัวการ' ทางเฟซบุ๊กเพจ Zero C Thailand เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2564
เว้นระยะห่าง ช่วยได้
ในเรื่องนี้ ธนะศักดิ์ พึ่งฮั้ว ที่ปรึกษาด้านนวัตกรรมบริษัทชั้นนำ เจ้าของเพจ 'Airborne มองจากมุมวิศวกร' เห็นด้วยและบอกว่า ในต่างประเทศ มีมาตรการเฝ้าระวังในเรื่องนี้และออกประกาศแนะนำเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมา
"CDC หรือ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention : CDC) มีคำแนะนำและปรับเปลี่ยนแนวทางอยู่เสมอ เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์และความรู้เกี่ยวกับโควิด-19 ว่า
โรงเรียนควรกำหนดให้ใส่หน้ากากและเว้นระยะห่างในจุดบริการอาหาร ให้นักเรียนห่างกันอย่างน้อย 6 ฟุตขณะรับประทานอาหาร
และทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อปรับปรุง ‘การระบายอากาศ’ รวมถึงการใช้พื้นที่กลางแจ้ง ทั้งสหรัฐอเมริกาและอังกฤษก็มีการแนะนำให้แบ่งชั้นเรียนออกเป็นห้องเล็กๆ ซึ่งนั่นก็คือ การเว้นระยะห่าง นั่นเอง
มีอยู่ช่วงหนึ่งรัฐบาลอังกฤษบอกว่า เข้าเรียนไม่ต้องใส่หน้ากาก หลัง จากนั้นก็กลับมาบอกว่าให้ใส่หน้ากากดีกว่า ดังนั้นไม่ต้องคิดมากเลยครับ ใส่หน้ากากทั้งคุณครูและนักเรียนเลย”
อีกเรื่องหนึ่งที่ควรระวังด้วยเช่นกันคือ การส่งเสียงสื่อสารกับเด็กๆ ธนะศักดิ์ แนะนำว่า
“ในการสอนของคุณครูควรใช้ เครื่องกระจายเสียง หรือเครื่องขยายเสียง เพื่อช่วยลดการเปล่งเสียง จะได้ไม่มีละอองฝอย ละอองลอยออกมามากเกินไป
อีกทั้งคุณครูกับเด็กควร เว้นระยะห่าง 2 เมตร ด้วย ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การจัดห้องให้เด็กนั่งห่างกันได้หนึ่งเมตรก็เก่งแล้ว และอาจจะทำได้เพิ่มเติมด้วยการ นั่งหันหน้าไปในทิศทางเดียวกัน อย่าให้นั่งหันหน้าเข้าหากัน"
เรียนในห้องแอร์ มีความเสี่ยง
ตามหลักการแล้ว สถานที่เปิดโล่งหรือกลางแจ้งจะมีอากาศหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะปลอดภัยที่สุด ทำให้ยากต่อการติดเชื้อโควิด ธนะศักดิ์ มองว่า
"ในเรื่องของ การระบายอากาศ โรงเรียนที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศจะปลอดภัยกว่า แต่ต้องเป็นอากาศธรรมชาติ เปิดหน้าต่างกว้างๆ ไว้ หากเปิดหน้าต่างแล้วลมไม่พัด ก็ให้เปิดพัดลมข้างในเพื่อให้อากาศภายในเคลื่อนไหวออกสู่ภายนอก
ส่วน โรงเรียนที่เป็นห้องแอร์ หากไม่ทำอะไรเลย ผมเรียกว่ากำลังเดินทางเข้าสู่ความเสี่ยงสูงสุด ซึ่งการเปิดประตู เปิดหน้าต่าง สามารถช่วยได้ ยอมจ่ายค่าไฟเพิ่มหน่อย ติดพัดลมดูดอากาศเพิ่มหน่อย หรือเพิ่มระบบฟอกอากาศ เพิ่มระบบเติมอากาศเข้าไป"
หากเด็กมีอาการ ต้องหยุดเรียนทันที
ในบางสถานการณ์ แม้ว่าจะทำทุกอย่างแล้ว หากมีเด็กติดเชื้อหรือมีอาการว่าอาจจะติดโควิด ให้แยกเด็กออกมา หยุดเรียน และกักตัวทันที ธนะศักดิ์ แนะนำว่า
“พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องเข้าใจว่า เมื่อใดก็ตามที่ลูกมีอาการ ต้องให้หยุดเรียนและแยกกักตัวทันที ไม่ใช่มองว่าลูกมีอาการนิดหน่อยแล้วให้ลูกไปโรงเรียน เพราะผลกระทบจะหนักมาก
แม้ว่าเด็กติดเชื้อส่วนใหญ่อาการที่แสดงออกมาจะไม่หนัก แต่นั่นคือจุดเริ่มต้นของการระบาด
และเมื่อเกิดการระบาด จากเด็กถึงเด็ก ก็ต่อไปยังผู้ปกครองได้ ที่ประเทศอังกฤษมีการคาดการณ์ว่า หลังจากโรงเรียนเปิด จะเกิดการระบาดเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่ใช่ตัวเลขในโรงเรียนนะครับ แต่เป็นตัวเลขในชุมชน" ธนะศักดิ์ กล่าว
ระหว่างเดินทาง ก็มีความเสี่ยง
ไม่เพียงแต่ในโรงเรียนเท่านั้น ระหว่างการเดินทางไปและกลับจากบ้านมาโรงเรียน ก็ต้องระมัดระวังด้วยเช่นกัน ผศ. ดร.เอกบดินทร์ มีความเห็นว่า ต้องปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัดตลอดเวลา
“การที่นักเรียนเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะหรือระหว่างกลับบ้าน นักเรียนและผู้ปกครอง มักแวะไปตามสถานที่ต่างๆ ก่อนกลับบ้านเสมอ ทำให้มีโอกาสเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น
นอกเหนือไปจากที่ ครู นักเรียน ผู้ปกครอง จะได้รับวัคซีนที่เหมาะสมแล้ว ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ควรต้องระมัดระวังตัวเองอย่างเคร่งครัด"
ขณะที่ ธนะศักดิ์ เสริมว่า มีปัญหามากมายหลายอย่างเกิดขึ้นจากการปิดโรงเรียน เช่น ความเหลื่อมล้ำ, สภาพการเรียนรู้ที่ถดถอย, สภาพจิตใจของเด็ก ครู และผู้ปกครอง และปัญหาอื่นๆมากมาย การเปิดโรงเรียนจึงเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องระมัดระวังให้มาก
“ยังมีอีกปัญหาหนึ่ง คือ เด็กในบ้านเราบางส่วนฝากมื้อกลางวันไว้กับอาหารฟรีที่โรงเรียน พอโรงเรียนปิดก็ไม่มีอาหารกลางวัน เราจึงต้องช่วยกันดูแลให้โรงเรียนได้กลับมาเปิดอีกครั้ง และมีความปลอดภัยมากขึ้น
โดยมีมาตรการลดความเสี่ยงที่เป็นวิทยาศาสตร์ ด้วยหลักการวิศวะ และสร้างความเข้าใจสาเหตุของการระบาดว่า โควิดแพร่ทางอากาศ"