"วันกาแฟโลก" 1 ตุลาคม ...ประโยชน์ของกาแฟ และ 10 เมนูกาแฟ ยอดนิยม
“กาแฟ” เป็นเครื่องดื่มอันดับ 2 ที่คนดื่มมากที่สุดในโลก ดื่มเพื่อความรื่นรมย์ เพื่อสังสรรค์ เพื่อเจรจาธุรกิจ ดื่มแล้วอารมณ์ดี “วันที่ 1 ตุลาคม” เป็น “วันกาแฟโลก” จึงควรฉลองกันด้วย กาแฟสักแก้ว...
วันกาแฟโลก (International Coffee Day) แรกก่อตั้งเมื่อปี 2015 ที่มิลาน ประเทศอิตาลี โดย องค์กรกาแฟโลก (The International Coffee Organization) หรือ ICO ก่อตั้งในลอนดอน เมื่อปี 1963 เพื่อสนับสนุนผลผลิตกาแฟและการค้าอย่างเป็นธรรม โดยมีประเทศผู้ปลูกกาแฟร่วมเป็นสมาชิก ได้แก่ หลายประเทศในทวีปอเมริกาใต้, แอฟริกา, ในเอเชียเช่น ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย อินเดีย เนปาล รวมถึงสมาชิกผู้นำเข้ากาแฟ ได้แก่ กลุ่มสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น นอร์เวย์ รัสเซีย สวิตเซอร์แลนด์ ตูนีเซีย และอังกฤษ อีกหลายปีต่อมาจึงตั้ง วันกาแฟโลก
(ภาพ : HalfHalfTravel.com)
อย่างไรก็ดี วันกาแฟ มีหลายวัน แต่ละประเทศไม่เหมือนกัน มีตั้งแต่ต้นปีจนถึงปลายปี เช่น วันที่ 28 - 29 กันยายน และ 1 ตุลาคม เป็น วันกาแฟ ของหลายประเทศ ตั้งแต่อเมริกา อังกฤษ อินเดีย สวีเดน ไต้หวัน สิงคโปร์ เยอรมนี ไอร์แลนด์ เม็กซิโก ฯลฯ ก่อตั้งขึ้นเพื่อโปรโมทกาแฟ ให้คนเข้าร้านดื่มกาแฟมากขึ้น จัดรายการซื้อ 1 แถม 1 หรือลดราคาอุปกรณ์กาแฟ เมล็ดกาแฟ ฯลฯ ก็เพื่อให้คนมาจิบกาแฟ แสวงหาบรรยากาศรื่นรมย์
อย่างที่รู้กันว่า กาแฟ มีที่มาจากคนเลี้ยงแพะชาวเอธิโอเปีย ชื่อ คาลดี้ (Kaldi, Khalid) เห็นแพะของตัวเองดูกระปรี้กระเปร่าผิดไปจากเดิม เมื่อตามไปดูก็พบว่าเจ้าแพะไปกินผลกาแฟที่เพิ่งสุกเป็นสีแดง เรียกว่า “เชอร์รี่” เขาจึงลองชิมดู ปรากฏว่าอาการง่วงซึมหายไปทันที คาลดี้ กลับไปเล่าเรื่อง “แพะเต้นระบำ” หรือ Dancing Goats ให้คนในหมู่บ้านฟัง จึงเป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางของกาแฟ จากศตวรรษที่ 6 ในหมู่บ้านคาฟฟา (Kaffa) ที่คาลดี้อยู่สู่นักบวช ไปถึงพ่อค้าชาวอาหรับ จนถึงศตวรรษที่ 13 เมล็ดกาแฟที่แต่เดิมพ่อค้าชาวอาหรับนำไปบดผสมกับเนยกี (Ghee) ปั้นเป็นก้อนไว้เคี้ยวกินระหว่างเดินทาง ก็มีผู้ทดลองนำเมล็ดกาแฟไปต้มชงเป็นเครื่องดื่มและได้รับความนิยมในเวลาต่อมา
กาแฟเวียนนา (ภาพ : stremio.com.au)
กว่ากาแฟจะมาอยู่ในแก้วเราก็ผ่านเวลามาหลายร้อยปี ทุกวันนี้ผู้คนนิยมดื่มกาแฟเป็น “อาหารเช้า” บ้างจิบระหว่างวัน ดื่มระหว่างประชุมงาน ดื่มเมื่อจบมื้ออาหาร ดื่มเมื่อเครียด ดื่มเมื่อหายเครียด และอีกหลายเหตุผลที่ทำให้กาแฟเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมอันดับ 2 รองจากชา (ไม่นับน้ำเปล่า) และดูเหมือนทุกคนก็ยอมรับ คาเฟอีนในกาแฟ เว็บไซต์ Pobpad.com ให้ข้อมูลว่า ผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีสามารถดื่มกาแฟได้โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ การดื่มกาแฟก็เช่นเดียวกับอาหารหรือสมุนไพรอื่น ๆ ที่อาจมีผลข้างเคียงหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้เมื่อรับประทานเกินพอดี โดยเฉพาะเมื่อใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์บางประการ หรือดื่มร่วมกับยาบางชนิด ผู้ใช้จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อความปลอดภัย
(ภาพ : EskiPaper.com)
ดื่มกาแฟได้แค่ไหน : กาแฟวันละ 6 แก้ว ถือว่าเกินพอดี อาจทำให้นอนไม่หลับ กระวนกระวาย อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว และผลข้างเคียงอื่น ๆ
กาแฟวันละ 5 แก้ว อาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยโรคหัวใจ และผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจสูงและดื่มกาแฟทุกวันแต่ไม่เกินวันละ 1 แก้ว มีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะกล้ามเนื้อหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันสูงขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ผู้ป่วยโรควิตกกังวลอาจมีอาการที่แย่ลงได้จากการดื่มกาแฟ ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการมีเลือดออกผิดปกติ การดื่มกาแฟอาจยิ่งทำให้อาการแย่ลงได้ ยังมีข้อควรระวังอื่น ๆ หากมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เมื่อจะดื่มกาแฟควรปรึกษาแพทย์
การดื่มกาแฟที่ปลอดภัย : กาแฟยามเช้าช่วยปลุกสมองให้ตื่นตัว ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยพบว่าใช้กาแฟในปริมาณต่าง ๆ ป้องกันโรคหลายอย่าง เช่น ป้องกันโรคพาร์กินสัน โรคนิ่วในถุงน้ำดี โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เก๊าท์ อัลไซเมอร์ หืด มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งปอด และมะเร็งเต้านม เป็นต้น โดยระบุถึงงานวิจัยจากผลของการดื่มกาแฟ เช่น
รักษาอาการปวดศีรษะ ดื่มกาแฟวันละ 250 มิลลิกรัม
เพิ่มความรู้สึกตื่นตัว ดื่มกาแฟวันละ 250 มิลลิกรัม หรือประมาณ 2 แก้ว
ป้องกันโรคพาร์กินสัน ดื่มกาแฟที่มีคาเฟอีนวันละ 3 - 4 แก้ว โดยแต่ละงานวิจัยใช้กาแฟที่มีคาเฟอีนประมาณ 421 - 2,716 มิลลิกรัม แต่ถ้าดื่ม 124 - 208 มิลลิกรัม หรือประมาณ 1 - 2 แก้ว ก็อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคพาร์กินสันได้อย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน ทั้งนี้สำหรับผู้หญิงควรดื่มวันละ 1 - 3 แก้วจะให้ผลดีที่สุด
ป้องกันโรคนิ่วในถุงน้ำดี ได้รับคาเฟอีนในปริมาณวันละ 400 มิลลิกรัมขึ้นไป หรือเทียบเท่ากับกาแฟมากกว่า 2 แก้ว อย่างไรก็ตาม การดื่มกาแฟอย่างน้อยวันละ 800 มิลลิกรัมนั้นน่าจะมีประสิทธิภาพดีที่สุด
เมนูกาแฟยอดนิยม : กาแฟมีหลากหลายเมนู ร้อนและเย็น เลือกแบบไหนดี สำรวจมาพบ 10 เมนูกาแฟยอดนิยม ดังนี้
เตอร์กิช คอฟฟี่ (ภาพ : Victoria Morgan on Unsplash)
1) เตอร์กิช คอฟฟี่ หรือ กาแฟตุรกี กาแฟที่ใครไปประเทศนี้ก็ต้องซื้อกาต้มกาแฟทองเหลือง (หรือทองแดง) ที่เรียกว่า เชสเว (Cezve) กลับบ้าน สวยและคลาสสิก ถ้าไปกินตามร้านอาหาร พนักงานจะรินกาแฟจากเชสเว ที่ต้มจนมีฟองเดือดปุด ๆ เมื่อเทใส่แก้วจะเติมน้ำตาล ครีม หรือนมตามชอบ ส่วนใหญ่คนตุรกีจะใส่คาร์ดามอมลงไปเล็กน้อย และเข้ากันดีกับของหวาน เช่น เตอร์กิช ดีไลท์, บาคลาวา กาแฟตุรกีจะมีกากกาแฟจมอยู่ก้นแก้ว และมีวิธีทำนายดวงชะตาจากกากกาแฟ
กาแฟใส่ชีส (ภาพ : laboratorioespresso.it)
2) กาแฟชีสสวีเดน : Kaffeost (coffee cheese) สวีเดนได้ชื่อว่าเป็นคนที่ดื่มกาแฟมากที่สุดในโลก ไปเที่ยวสวีเดนและฟินแลนด์จะได้ชิม กาแฟชีส คือกาแฟดำใส่ชีสรูปเต๋า เรียกว่า leipajuusto บ้างเป็นชีสชิ้นสี่เหลี่ยมผืนผ้าหรือรูปสามเหลี่ยมที่จุ่มลงไปในแก้วกาแฟเลย ชีสขึ้นอยู่กับฤดูกาลและแต่ละท้องถิ่น รสชาตินุ่มนวล ทำจากนมวัวหรือนมกวางเรนเดียร์ วิธีทำตัดชีสใส่ในแก้วกาแฟแล้วรินกาแฟดำร้อน ๆ ลงไป
3) กาแฟเฟรปเป้จากกรีซ : กาแฟเย็น Freppe คือเครื่องดื่มคลายร้อน เริ่มจากประเทศกรีซ เมื่อปี 1957 โดยพนักงานร้าน Nescafe ที่บังเอิญชงกาแฟสำเร็จรูปแล้วเผลอเทโฟมนมมากไปหน่อย ต่อมาก็ได้รับความนิยมในแถบเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งแสนจะเข้ากันดีกับฤดูร้อนกลางทะเลสีฟ้า กาแฟเย็นใส่โฟมนมเยอะ ๆ เติมน้ำตาลกำลังดี เขย่าหรือปั่นให้เข้ากัน
กาแฟเม็กซิโก (ภาพ : stonestreetcoffee.com)
4) กาแฟเม็กซิโก : Café de olla ที่เหมาะสมกับแก้วกาแฟดินเผาสไตล์เม็กซิกันเรียกว่า jarritos de barro คือแก้วหรือเหยือกเพ้นท์สีลวดลายแบบเม็กซิกัน และต้องมีส่วนผสม ได้แก่ น้ำตาลทรายแดงทรงโคน ชาวเม็กซิกันเรียกว่า piloncillo อบเชยแท่ง กานพลู และโป๊ยกั๊ก คือกาแฟดำใส่เครื่องเทศ และต้องต้มหรือรินใส่แก้วดินเผาของเม็กซิโก เพื่อให้กลิ่นดินโชยขึ้นมาผสมกลิ่นหอมของกาแฟ มีกลิ่นเครื่องเทศอีก บางสูตรใส่ผิวส้มลงไปด้วย
กาแฟเวียดนาม (ภาพ : delightfulplate.com)
5) กาแฟเวียดนาม : Ca Phe Sua Da ชงจากแก้วดริป ใครไปเวียดนามต้องซื้อที่ดริปแบบนี้กลับบ้าน เป็นเครื่องชงแบบบ้าน ๆ คนเวียดนามเรียกว่า Phin ทำจากอลูมิเนียมหรือโลหะ มีหลายเกรดหลายไซส์ ประกอบด้วยถ้วยกาแฟ ฝาปิด ที่กดกาแฟ และแผ่นกรอง เหมือนเราชงกาแฟดริป (กระดาษ) วิธีชงก็ง่ายมาก วางที่ดริปบนแก้วกาแฟ เติมกาแฟ เทน้ำร้อน รอให้กาแฟดริปลงไปในแก้ว จะเติมนม น้ำตาล หรือดื่มเป็นกาแฟดำก็ได้ แต่สูตรออริจินัลคือเทนมข้นหวานลงไปก่อนแล้วตามด้วยกาแฟดริป
กาแฟเอธิโอเปีย (ภาพ : littlecoffeeplace.com)
6) กาแฟเอธิโอเปีย : เอธิโอเปียเป็นแหล่งปลูกกาแฟและส่งออกกาแฟขายทั่วโลกตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 เริ่มต้นจากหนุ่มเลี้ยงแกะ Kaldi เมื่อปี ค.ศ.850 จนถึงวันนี้ใครดื่มกาแฟเอธิโอเปีย หมายถึง ได้ชิมรสชาติกาแฟต้นกำเนิด ใครไปถึงถิ่น ชาวบ้านผู้ปลูกกาแฟจะให้ชิมกาแฟที่คั่วสดใหม่จากเตา บดเป็นผงและชงเสิร์ฟร้อน ๆ
กาแฟเวียนนา (ภาพ : taste.com.au)
7) กาแฟเวียนนา : Weiner Melange กาแฟจากประเทศออสเตรีย เวียนนาเป็นศูนย์กลางของอารมณ์กาแฟกับขนมเค้ก กาแฟเวียนนาคือเอสเพรสโซ่เข้มข้นกับนมร้อน โปะวิปครีม โรยผงโกโก้อีก ดูหรูหราน่าละเลียด และเหมาะสมกับเค้กช็อกโกแลตโฮมเมดเข้มข้น สอดไส้แยมแอพริคอท ที่เรียกว่า Schertorte
กาแฟบราซิล (ภาพ : aboutbrasil.com)
8) กาแฟบราซิล : Cafezinho เป็นกาแฟเอสเพรสโซ่เข้มข้น สีดำสนิท มีกลิ่นหอมของผลไม้ สูตรของบราซิลเลี่ยนคือกาแฟชงผ่านฟิลเตอร์ผ้า คล้ายกาแฟโบราณบ้านเราสมัยก่อนแต่ใช้กาแฟสด แล้วเติมน้ำตาล คนที่นั่นดื่มกาแฟดำหวาน ไม่เติมนมหรือครีม แต่บางคนบอกว่าสูตรดั้งเดิมคือกาแฟดำ ขม เข้ม ไม่ใส่น้ำตาลเพื่อเข้าถึงรสแท้ของกาแฟ อเมริกาโน่ชิดซ้ายไปเลย
กาแฟใส่วิสกี้ ไอริชคอฟฟี่ (ภาพ : tastyeverafter.com)
9) ไอริชคอฟฟี่ : กาแฟจากไอร์แลนด์เป็นที่รู้จักจาก กาแฟที่ใส่วิสกี้ น้ำตาล และครีมข้น แน่นอนต้องเป็นไอริชวิสกี้ มีบันทึกว่าคนต้นคิดเป็นเชฟอยู่ในภัตตาคารในท่าอากาศชื่อ Joseph Sheridan คิดสูตรนี้ไว้เมื่อปี 1943 เพราะอยากให้ผู้โดยสารชาวอเมริกันรู้สึกกระปรี้กระเปร่า หลังเที่ยวบินดีเลย์จากสภาพอากาศ ซึ่งก็ได้ผล กาแฟใส่วิสกี้ทำให้คนมีชีวิตชีวาขึ้นทันที แล้วก็กลายเป็นสูตรกาแฟใส่เหล้าที่ดังที่สุด
Affogato (ภาพ : mydominicankitchen.com)
10) กาแฟอิตาลีใส่ไอศกรีม Affogato : คนอิตาลีพิถีพิถันเรื่องกาแฟมากที่สุด นอกจากมีสูตรพาสต้ามากมายแล้ว สูตรกาแฟก็สร้างสรรค์ไว้ไม่น้อยอย่างที่เรารู้จักกันในชื่อต่าง ๆ และสูตรนี้พิเศษที่เป็น กาแฟใส่ไอศกรีม สูตร : เอสเพรสโซ่เข้มข้น 1 ช็อต อยากเข้มกว่านี้ให้ชงกาแฟสำเร็จรูปเข้ม ๆ ผสมลงไปด้วย ตักไอศกรีมวานิลลาลงในแก้ว เทเอสเพรสโซ่ร้อน ๆ ลงไป บางคนเติมเหล้า Amaretto ลงหน่อย (เหล้าอิตาลีทำจากอัลมอนด์ผสมเครื่องเทศ) โรยถั่วพิสตาชิโอ้และเกล็ดดาร์กช็อกโกแลต เสิร์ฟทันที