ชัยยุทธ ชินณะราศรี : "น้ำท่วมปี 64" ไม่ซ้ำรอยปี 54

ชัยยุทธ ชินณะราศรี : "น้ำท่วมปี 64" ไม่ซ้ำรอยปี 54

"สถานการณ์น้ำ"ปีนี้น่าเป็นห่วง "ศ.ดร.ชัยยุทธ ชินณะราศรี" นักวิชาการสายนี้ คาดการณ์ว่า ปีนี้น้ำไม่น่าจะท่วมใหญ่เหมือนปี 54 จะเป็นเช่นนั้นหรือไม่...ต้องรอดู

ฝนที่ตกอย่างหนักจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน เตี้ยนหมู่ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในหลายจังหวัดขณะนี้ ทำให้เกิดคำถามว่า “สถานการณ์น้ำท่วมในปี 2564 นี้ โดยเฉพาะพื้นที่ กทม. จะรุนแรงหรือจะซ้ำรอยปี 2554 หรือไม่”

ศ.ดร.ชัยยุทธ ชินณะราศรี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่ปรึกษาอธิการบดีด้านการบริหารการจัดการน้ำ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในปี 2654 จะไม่ซ้ำรอยปี 2554 อย่างที่หลายคนเป็นห่วง เพราะสาเหตุต่างกัน

เช่นเดียวกันพื้นที่รอบนอกกรุงเทพฯ สถานการณ์น้ำท่วมจะไม่รุนแรงเท่าปี 54 แต่ยอมรับว่าสถานการณ์น้ำท่วมปีนี้ค่อนข้างมีความผิดปกติเกิดขึ้น เนื่องจากฝนตกไม่ตามร่องที่เคยเข้า ฝนตกผิดที่ผิดทาง จึงไม่ทันได้เตรียมตัว

"เช่น กรณีเกิดเหตุน้ำท่วมผิดฝั่งในจังหวัดสุโขทัย หรือแม้แต่น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ และลพบุรี ที่เราไม่ค่อยเห็นมาก่อน  ขณะที่หลายจังหวัดทางภาคอีสานตอนบน ที่มักจะประสบปัญหา กลับไม่ค่อยพบปัญหา เป็นต้น

ชัยยุทธ ชินณะราศรี : \"น้ำท่วมปี 64\" ไม่ซ้ำรอยปี 54

แต่ทั้งนี้ยังต้องเฝ้าระวังเรื่องการปล่อยน้ำลงท้ายเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนป่าสักฯ รวมกันแล้วไม่ควรมากเกินกว่า 3,500 ลบ.ม.ต่อวินาที

และไม่ปล่อยน้ำปริมาณมากอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมวลน้ำที่ไหลมาอำเภอบางไทร จังหวัดอยุธยา เป็นน้ำที่มาจากเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนป่าสักรวมกัน

ซึ่งเป็นมวลน้ำที่จะไหลเข้ากรุงเทพฯ ผ่านทุ่งรังสิต ส่งผลให้ระดับน้ำปริ่ม กทม.จึงออกประกาศแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ริมแม่น้ำให้เฝ้าระวัง”

อ่านข่าว : จับตา "สถานีบางไทร" ระบายน้ำ ชี้ชะตาน้ำท่วมกรุงเทพ

ห่วงอย่างเดียว พายุใต้เขื่อน

สำหรับสถานการณ์น้ำในปี 2564 แม้ว่าฝนที่ตกลงมาในเดือนกันยายนมีปริมาณมากกว่าปกติ แต่ก็ไม่ได้มากจนเกินไป

และฝนที่ตกส่วนใหญ่จะตกในพื้นที่หลังเขื่อน ขณะที่ปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ เช่น เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ณ ปัจจุบัน ยังมีปริมาณน้ำอยู่ที่ประมาณ 47% หรือไม่ถึงครึ่งหนึ่งของปริมาณความจุของเขื่อน

"ดังนั้นหากมีฝนตกเหนือเขื่อนในเดือนตุลาคมก็ไม่น่ากังวล ห่วงอย่างเดียวคือการเกิดพายุใต้เขื่อนอีก  

ชัยยุทธ ชินณะราศรี : \"น้ำท่วมปี 64\" ไม่ซ้ำรอยปี 54

ส่วนเขื่อนป่าสักฯ และเขื่อนเจ้าพระยาที่มีปริมาณน้ำในเขื่อนมากจึงต้องเร่งระบายลงพื้นที่ท้ายเขื่อน ส่งผลให้พื้นที่ต่ำลุ่มน้ำใน 5 จังหวัด สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง อยุธยา และสุพรรณบุรี เกิดน้ำล้นตลิ่ง จากการปล่อยน้ำของเขื่อนเจ้าพระยาในปริมาณ 2,800 ลบ.ม./วินาที

ซึ่งก็เป็นอีกจุดที่ต้องเฝ้าระวัง เช่นเดียวกับปริมาณน้ำที่ไหลผ่านสถานีบางไทร ซึ่งเป็นตำแหน่งตรวจวัดน้ำก่อนเข้าสู่ กทม. นั้น ล่าสุดวัดปริมาณน้ำได้ 3,500 ลบ.ม./วินาที เนื่องจากมีน้ำจากแม่น้ำป่าสักเข้ามาเติมด้วย

ถือเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง จุดนี้ถือว่าต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ และควรควบคุมไม่ให้ปริมาณน้ำสูงไปกว่านี้เพราะจะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงกว่าระดับคันกั้นน้ำของพื้นที่ใน กทม.”ศ.ดร.ชัยยุทธ เล่า  

แนวทางแก้ไขและบรรเทาปัญหาที่สามารถทำได้ทันที ศ.ดร.ชัยยุทธ กล่าวว่า จะต้องควบคุมปริมาณน้ำที่ไหลผ่านอำเภอบางไทรไม่ให้สูงเกินกว่า 3,500 ลบ.ม./วินาที โดยควบคุมการปล่อยน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนพระรามหกอย่างเป็นจังหวะ ไม่เร่งระบายน้ำจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง

และระวังเรื่องของระดับน้ำทะเลหนุนสูงในช่วงสัปดาห์ที่หนึ่ง และสัปดาห์ที่สามของเดือนตุลาคม เนื่องจากระดับน้ำทะเลหนุนสูงจะต้านการระบายน้ำจืดจากแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่อ่าวไทย จะทำให้ไม่สามารถเร่งการระบายน้ำในช่วงนี้ได้

ย้อนดูสถานการณ์ปี 54

ศ.ดร.ชัยยุทธ กล่าวว่า หากย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2554 จะเห็นว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ครั้งนั้น มาจากความผิดปกติหลายปัจจัยด้วยกัน อาทิ ปี 54 เป็นปีที่มีพายุเข้าไทยมากถึง 5 ลูกจากปกติเฉลี่ยปีละ 2-3 ลูกเท่านั้น

ขณะที่เขื่อนขนาดใหญ่มีปริมาณน้ำเต็มความจุ เมื่อฝนตกเหนือเขื่อนน้ำจึงไหลเข้าเขื่อนตลอดและยังถูกพายุลูกใหม่เข้ามาซ้ำเติมในพื้นที่ใต้เขื่อน ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำหรือทุ่งรับน้ำ ตั้งแต่ภาคเหนือตอนล่างลงมาถึงภาคกลางจำนวนมากปริมาตรมากกว่า 20,000 ล้าน ลบ.ม. เคลื่อนตัวจากภาคเหนือลงสู่ภาคกลาง

ประกอบกับเขื่อนเจ้าพระยาได้มีการปล่อยน้ำลงมามากกว่า 4,000 ลบ.ม./วินาทีอย่างต่อเนื่อง และภาวะน้ำทะเลหนุนสูงซึ่งเกิดขึ้นเป็นปกติของทุกปีในเดือนตุลาคม

 

ชัยยุทธ ชินณะราศรี : \"น้ำท่วมปี 64\" ไม่ซ้ำรอยปี 54

 

พื้นที่ต่ำลุ่มน้ำ เปรียบเสมือนทุ่งรับน้ำ

นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งตรวจสอบและซ่อมแซม อาทิ คันกั้นน้ำตลอดแนวริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตรวจจุดชำรุด ตรวจสอบเส้นทางน้ำ เพื่อให้การใช้งานของระบบเครือข่ายคูคลองทั้งโซนตะวันออกและตะวันตกของ กทม. เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพ

รวมถึงเร่งตรวจสอบการใช้งานของเครื่องสูบน้ำ ระบบไฟฟ้า ระบบท่อ ทั้งในพื้นที่ กทม. และสมุทรปราการ ให้สามารถใช้งานได้ดีในขณะสูบน้ำ

เพื่อให้มวลน้ำสามารถไหลไปสู่สถานีสูบน้ำ ที่สำคัญต้องยอมให้ปล่อยน้ำเข้าทุ่งรับน้ำเพื่อให้น้ำไหลผ่านพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อระบายน้ำลงสู่แม่น้ำไปสู่ระบบเครือข่ายคลอง และลงสู่อ่าวไทยต่อไป ป้องกันความเสียหายต่อภาคเศรษฐกิจของเมือง  

“พื้นที่ต่ำลุ่มน้ำ เปรียบเสมือนเป็นทุ่งรับน้ำหรือเป็นแก้มลิงตามธรรมชาติ อาทิ ทุ่งเชียงราก ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งบางบาล ทุ่งป่าโมก ทุ่งรังสิต ฯลฯ

หากมองในเชิงกายภาพภูมิประเทศเหล่านี้เป็นพื้นที่รับน้ำหรือเก็บกักน้ำตามธรรมชาติอยู่แล้ว ในอดีตมีกระจายอยู่มากมายในพื้นที่ภาคกลาง

แต่ปัจจุบันถูกบุกรุกในหลายพื้นที่  ทุ่งต่างๆหายไป เช่น บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ หรือพื้นที่ในอำเภอบางบาล จังหวัดอยุธยา ดังนั้น ผู้ที่อยู่อาศัยต้องเข้าใจ ยอมรับและปรับตัวให้อยู่กับสิ่งแวดล้อมและให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ

โดยภาครัฐจะต้องจ่ายค่าชดเชยเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือผู้เสียหายที่อยู่ในพื้นที่รับน้ำ”ศ.ดร.ชัยยุทธ กล่าว

ต้องจัดการน้ำท่วมอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ศ.ดร.ชัยยุทธ ยังได้เสนอแนวทางการบริหารจัดการสถานการณ์น้ำท่วมที่ยั่งยืนว่า หากมองในระดับประเทศ จะเห็นได้ชัดว่าปีนี้พายุที่พัดผ่านภาคเหนือตอนล่างมีเส้นทางที่เปลี่ยนไป ดูได้จากพื้นที่น้ำท่วมที่จังหวัดสุโขทัยซึ่งปกติจะเป็นพื้นที่ที่น้ำไม่ท่วม

ดังนั้น ภาครัฐจะต้องหันมาตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) มากขึ้น ทั้งเรื่องความรุนแรงและความไม่แน่นอนของปริมาณความเข้มของน้ำฝน เส้นทางเดินของพายุ และปริมาณน้ำท่วม ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

รวมถึงการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล โดยจะต้องมีนโนยายในการเตรียมรับมือป้องกันและบรรเทาปัญหาที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง

และกลับมาทบทวนเรื่องการทำ “Flood way” เพื่อระบายน้ำจากนครสวรรค์ให้ไหลลงสู่อ่าวไทยใหม่อีกครั้ง

การทำแก้มลิงชั่วคราว

เพราะเห็นได้ว่า แม้เพียงพายุเข้ามาเพียงหนึ่งลูก ระบบการจัดการน้ำในปัจจุบันซึ่งไม่เพียงพอ จึงได้สร้างผลกระทบต่อประชาชนตามที่เป็นข่าว  และการพัฒนาพื้นที่รอบข้างเส้นทางจะต้องไม่ให้มวลน้ำไหลผ่านพื้นที่เศรษฐกิจ

รวมถึงให้มีการบังคับใช้ผังเมืองอย่างจริงจัง เพื่อจัดแบ่งโซนพื้นที่สำหรับการอยู่อาศัย พื้นที่อุตสาหกรรม หรือพื้นที่เกษตรกรรม

โดยมีเส้นทางการไหลของน้ำที่ชัดเจนและบังคับใช้กฎหมายเรื่องการบุกรุกแหล่งน้ำหรือการถมคูคลองอย่างจริงจัง 

สำหรับกรุงเทพฯ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่มีความสูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางเพียงแค่ประมาณ 1 เมตร จึงอยากเสนอให้พิจารณาการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนา กทม. ให้รับมือน้ำท่วมในเขตเมือง ภายใต้แนวคิด “เมืองฟองน้ำเสมือน หรือ Sponge City”

ซึ่งเป็นเสมือนแก้มลิงชั่วคราว โดยการคัดเลือกหาพื้นที่ชุ่มน้ำ เช่น สวนสาธารณะ หรือพื้นที่แก้มลิงบางขุนเทียน และให้ปรับปรุงทางเดินสาธารณะ  

และโครงการขนาดใหญ่จัดแบ่งพื้นที่ทำระบบฟองน้ำเสมือน เพื่อให้สามารถเก็บกักน้ำได้ชั่วคราวเมื่อเกิดฝนตกหนัก และมีการระบายคายน้ำออกในภายหลัง เพื่อลดปัญหาน้ำท่วมขังหรือน้ำรอการระบายอย่างที่ผ่านมา