ครูนกเล็ก ยูทูบเบอร์ แนะวิธีทำคลิปให้โดนใจเด็กๆ

ครูนกเล็ก ยูทูบเบอร์    แนะวิธีทำคลิปให้โดนใจเด็กๆ

ไม่มีอะไรหยุดนิ่งกับที่ โดยเฉพาะเรื่องการเรียนรู้ มีเรื่องใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวัน ครูก็ต้องปรับตัว เท่าทันความต้องการของเด็ก ทันยุคทันสมัย เฉกเช่น "ครูนกเล็ก" ยูทูบเบอร์ขวัญใจเด็กๆ

“ในยุคที่เด็กประถมสามารถรีทัชภาพถ่ายได้คุณภาพสูงกว่าภาพขาลอยกลางสายน้ำ ที่ผู้บริหารกระทรวงใช้งบประมาณประเทศจ้างทำประชาสัมพันธ์” 

นี่คือบทสรุปความสามารถของเด็กไทยในปัจจุบัน ในมุมมองของ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ที่กล่าวไว้ในโลกโซเชียลมีเดีย บ่งบอกได้ว่า โลกของเด็กก้าวไปไกลกว่าโลกของผู้ใหญ่ในปัจจุบันนี้มาก อีกทั้ง ดูเหมือนว่า ระบบการศึกษาในประเทศไทยก็ยังก้าวตามไม่ทันความต้องการของเด็ก

โชคดีที่เรายังมี ‘คุณครูพันธุ์ใหม่’ ที่เข้าใจเด็ก สนใจ และรับรู้ว่า เด็กต้องการเรียนรู้อย่างไร เธอจึงได้ออกแบบ ทุ่มเท สร้างสรรค์ เรียนรู้เครื่องไม้เครื่องมือใหม่ๆ

คิดผลิตสื่อการเรียนการสอนออกมาเผยแพร่ สื่อสารกับเด็กทั้งประเทศผ่านทางโลกโซเชียลมีเดีย ส่งผลให้ได้รับความนิยมมากมาย

ครูนกเล็ก ยูทูบเบอร์    แนะวิธีทำคลิปให้โดนใจเด็กๆ ครูนกเล็ก จีรภัทร สุกางโฮง

'ครูนกเล็ก' จีรภัทร์ สุกางโฮง ยูทูบเบอร์ เจ้าของช่อง 'ครูนกเล็ก' ในปัจจุบัน ณ วันนี้ (1 ตุลาคม 2564 ) มีผู้ติดตามใน YouTube ถึง 9.05 ล้านคน, มีคนถูกใจเพจเฟซบุ๊ค ถึง 4.2 แสนคน

และนี่คือบทสนทนาระหว่าง จุดประกาย กรุงเทพธุรกิจ กับครูนกเล็ก...

ความฝันในวัยเด็ก เคยคิดไหมว่า โตขึ้นอยากทำอาชีพอะไร

ตอนเด็กๆ ก็มีหลากหลายอาชีพในความฝันที่อยากเป็น แต่พอโตขึ้น ความฝันก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ นะคะ ตอนเด็กๆ อยากเปิดร้านขายขนม อยากมีร้านไอศกรีม เราเห็นร้านไอติมที่เขาตกแต่งร้านน่ารักดี 

เพราะที่บ้านพ่อแม่ทำไร่ทำนา เป็นเกษตรกร ไม่มีฐานะให้เราไปซื้อขนมซื้อไอติมมากินได้ ก็คิดว่าถ้าเราเปิดร้านขายขนม ขายไอติม เราก็จะได้กิน นั่นก็คือความคิดแบบเด็กๆ แต่พอโตขึ้นเรียนมัธยมปลายก็เริ่มอยากทำอาชีพครู

ทำไมถึงอยากทำอาชีพครู

เพราะตอนที่เรียนอยู่ชมรมดนตรีไทย มีครูที่ดูแลเอาใจใส่ ท่านสอนดนตรีไทย แล้วดูแลเราดีเหมือนคนในครอบครัว ก็เลยรู้สึกว่าถ้าเราได้มาเป็นครู เราจะได้ให้โอกาสทางการศึกษา แล้วก็ได้เรียนหนังสือ แล้วก็สามารถช่วยเหลือครอบครัวได้

ครูนกเล็ก เรียนจบคณะครุศาสตร์ เอกดนตรีศึกษา ดนตรีไทย จากสถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา บรรจุเป็นข้าราชการครู ปีพ.ศ.2552 ที่โรงเรียนวัดราชโกษา เขตลาดกระบัง แต่อยู่ไกลบ้าน เลยขอย้ายมาที่โรงเรียนบางมด (ตันเปาวิทยาคาร) แทน ครูนกเล็ก ยูทูบเบอร์    แนะวิธีทำคลิปให้โดนใจเด็กๆ ครูนกเล็ก จีรภัทร สุกางโฮง

ทำไมถึงเลือกเรียนสาขาดนตรีไทย

ตอนม.1 เห็นรุ่นพี่ในชมรมดนตรีไทย เขามาบรรเลงดนตรีไทยในงานต่างๆ ก็เพราะดี แล้วอยากเล่นเป็น พอเขาให้เลือกชมรม ก็เลยไปขอเรียน และอยู่ในชมรมดนตรีไทยตั้งแต่นั้นมา เรียนด้านดนตรีไทย เอกเครื่องสาย เครื่องมือประจำคือ ซออู้ 

พอเรียนจบก็มาเป็นครู ตอนเด็กๆ เรามองว่าอาชีพครูสบาย แต่งตัวสวย มาเล่นกับเด็ก คุยกับเด็ก สอนหนังสืออย่างเดียว แต่พอมาทำอาชีพครูจริงๆ แล้ว มีหน้าที่อีกหลายอย่างที่ต้องทำ แล้วเราก็ต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา ต้องคอยตอบคำถามเด็กๆ อะไรที่เด็กไม่รู้ เราจะหาคำตอบมาได้อย่างไร

ครูสมัยเราเป็นเด็กกับครูในสมัยปัจจุบัน แตกต่างกันไหม

ค่อนข้างต่างกัน ในมุมมองของครูนกเล็กเอง ตอนเด็กๆ เราจะมองว่าครูต้องมีความรู้ทุกอย่าง รู้ทุกเรื่องเลย ถามครู เดี๋ยวครูตอบได้ แต่พอมาเป็นครูเองก็ค้นพบว่า ความจริงแล้วการเป็นครูไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง 

แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ เราจะหาความรู้ หรือจะบอกให้เด็กไปหา ไปค้นคว้า แล้วแหล่งข้อมูลคำตอบที่เด็กเขาอยากรู้ มันเป็นจริงไหม นี่คือสิ่งสำคัญที่เราจะต้องบอกเขาเหมือนชี้แนวทาง เป็นเหมือนผู้ให้คำปรึกษา

จุดเริ่มต้นของการทำคลิปสอนบนออนไลน์ ? 

ตอนเรียนจบเอกดนตรี บรรจุเป็นครู ตอนแรกได้สอนวิชาเอกของตัวเอง แต่พอย้ายโรงเรียน เขามีครูวิชาดนตรีอยู่แล้วและชั่วโมงมันน้อย ครูคนเดียวสอนได้ เนื่องจากโรงเรียนมันเล็ก เราก็ต้องไปช่วยสอนวิชาอื่น ซึ่งเป็นวิชาที่เราไม่ได้จบมา นั่นก็คือวิชา วิทยาศาสตร์

ตอนเด็กๆ ไม่ชอบวิชาวิทยาศาสตร์เลย ไม่เข้าใจ แต่พอมาศึกษาจริงๆ ได้พูดคุยกับครูเอกวิทยาศาสตร์แล้ว บอกเลยว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัว มันคือเรื่องชีวิตประจำวันของเรานี่ล่ะค่ะ แต่บางทีเรามองไม่เห็นเท่านั้นเอง เหมือนเส้นผมบังภูเขา    

เราก็เลยอยากให้เด็กได้เรียนวิทยาศาสตร์อย่างสนุกสนานและได้ความรู้ไปด้วย ไม่อยากให้เรียนแล้วเบื่อ หรือว่าไม่เข้าใจ ก็เลยผลิตสื่อการสอน เป็นคลิปละครสั้นๆ  ให้เขาเห็นว่า วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัว อยู่ในชีวิตของเรา แล้วความตั้งใจของครูก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาอยากจะอยู่กับเรา อยากดูเรา

แบ่งเวลามาทำคลิปอย่างไร

เวลาสอน เราก็สอนเต็มที่ในเวลาปกติ แต่ตอนเย็น หรือเสาร์อาทิตย์ก็เป็นเวลาครอบครัว บางคลิปที่เราถ่ายเสาร์อาทิตย์ เราก็เอาไปเป็นสื่อการสอนที่วางแผนไว้ในสับดาห์ต่อไปได้ 

ล่าสุด เปิดให้เด็กได้เข้ามามีส่วนร่วมในคลิปด้วย

เราเห็นเด็กๆ อยากมาพูดคุยกับเรา เพิ่งทำไป EP แรก ‘ครูนกเล็กคุยกับนักเรียน’ คุยกับเด็กๆ บ้าง ต้อง in box เข้ามารอบละสิบคน หรือทำกิจกรรมร่วมกัน เหมือนที่ครูนกเล็กสอนในออนไลน์

มีเด็กติดต่อมาเยอะค่ะ แต่จำกัดรอบละสิบคน เพราะเด็กที่เข้ามา อยากคุยกับเรา แต่ถ้าเข้ามาเยอะ การพูดคุยก็ไม่ทั่วถึง แต่เดี๋ยวจะจัดให้บ่อยๆ หลายๆ รอบ ก็จะได้สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมา

ในภาวะโรคระบาด เด็กๆ จะต้องทำยังไง ถ้าไม่ได้ไปโรงเรียน

ครูนกเล็กคิดว่าเรื่องการบริหารเวลา เป็นสิ่งสำคัญมาก ทำยังไงให้เวลาเกิดประโยชน์สูงสุด แล้วอีกเรื่องหนึ่งคือการปรับตัวใช้เทคโนโลยีให้มีประโยชน์ เทคโนโลยีอยู่รอบตัวเราอยู่แล้ว

ส่วนใหญ่มีไลน์ มีเฟสบุ๊ค มีช่องทางการสื่อสาร ที่สามารถติดต่อกับครูได้ เพียงแค่หยิบเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนการสอน ทำให้มันมีประโยชน์เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน

ผู้ปกครองบางคนบอกว่า เด็กทำไม่ได้ อย่าเพิ่งไปขีดข้อจำกัดเด็กว่า เขาทำไม่ได้ ยังไม่ได้ลองเลย ก็รีบไปบอกแล้วว่า เขาทำไม่ได้ อันนี้ค่อนข้างใจร้ายกับเขานิดหนึ่ง ให้ลองก่อน ลองซ้อมกับเขาก่อน ลองสอนเขาก่อน

ความจริงแล้วเด็ก ป.1 เขาทำได้ เปิดปิดไมค์เองเป็น เราก็สอนให้เขาเข้าเอง เดี๋ยวนี้เด็กๆ ในห้องครูนกเล็กเขาก็เข้าเองได้ โปรแกรมมันเซ็ทระบบของมันอยู่แล้ว แค่ล็อกอินเข้าไป ซักซ้อมทำความเข้าใจกับเขาสักหน่อย แค่นั้นเอง

ครูนกเล็ก ยูทูบเบอร์    แนะวิธีทำคลิปให้โดนใจเด็กๆ

การเรียนการสอนในปัจจุบัน ครูนกเล็กมองว่าจะต้องเป็นอย่างไร

เราจะใช้วิธีอย่างเดิมๆ ไม่ได้ เพราะว่าโลกทุกวันนี้ มันเปลี่ยนไป เราก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตาม ให้มันทันโลก ทันเทคโนโลยี แน่นอนว่าสมัยก่อน ครูหาความรู้มาเองทุกอย่าง เด็กอยากรู้อะไร ครูก็บอกก็สอน แต่ทุกวันนี้นอกห้องเรียนมีความรู้เยอะแยะ 

ความรู้ความสนใจของเด็กก็หลากหลาย ไม่ได้อยากจะรู้เรื่องนั้นเรื่องเดียว เด็กเขาต้องไปค้นคว้าหาความรู้ในสิ่งที่เขาสนใจแล้วไปต่อยอดของเขาเอง นั่นเป็นสิ่งที่สำคัญ

เด็กในแต่ละยุคสมัยมีความแตกต่างกันไหม

เด็กสมัยนี้มีความชัดเจนมากกว่าเด็กสมัยก่อน ชอบอะไร สนใจอะไร เขาจะรู้ตัวเองเร็ว เร็วกว่าสมัยที่เราเป็นเด็ก เช่น เด็กสมัยนี้เขาสนใจที่จะทำเกม อายุ 10-11 ขวบ แต่เราตอนอายุเท่านี้ยังวิ่งเล่น กระโดดยาง แต่เด็กบางคนสนใจเรื่องเทคโนโลยี การประดิษฐ์ ศิลปะที่เป็นตัวตนของเขา ทักษะเรื่องนี้เราต้องปรับตัวให้ไว ต้องรู้ให้ทันด้วย

ระบบการศึกษาไทยตอนนี้ คุณครูมองว่าเป็นอย่างไร

ภาพรวมก็ยังน่าห่วงอยู่ ถ้าไม่ปรับปรุงหลักสูตร ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก ต้องปรับให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน ตอนนี้ทุกอย่างมันก็ยังนิ่งอยู่ เราพูดถึงเรื่องการปรับหลักสูตร การปฏิรูปการศึกษา เราพูดกันมานานแล้ว แต่ยังไม่เป็นรูปธรรม เรายังใช้หลักสูตรแบบเดิมอยู่ ตัวชี้วัดก็ยังเยอะอยู่

คุณครูมีมุมมองในการใช้ชีวิตยังไงให้ร่าเริงสดใส มีพลังในการทำงาน

ครูนกเล็กไม่ได้มองงานที่ทำอยู่ทุกวันนี้ว่ามันเป็นงานที่จะต้องทำ ถ้าคิดว่าเราจะต้องทำ มันก็จะรู้สึกบีบบังคับตัวเอง แต่ถ้าเราทำด้วยใจ อยากจะทำ มันก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว

ส่วนเรื่องการแต่งเพลง แต่งละคร แต่งเรื่อง ก็ขึ้นอยู่กับเรา เราต้องฟังให้เยอะ ดูให้เยอะ ฟังนี่หมายถึงฟังเด็กๆ ด้วยนะคะ เด็กเขาชอบอะไร เด็กเขาพูดอะไร เด็กคุยอะไร เขามีความคิดเห็นยังไง อันนี้เราก็ต้องฟังเขา

แรงบันดาลใจส่วนใหญ่ก็มาจากเด็กๆ มาจากคนรอบข้าง แล้วก็ดูโน่นดูนี่ แล้วก็หยิบยกเอามา อะไรที่เป็นกระแส เด็กเขาชอบอะไร เราก็ทำตามที่เด็กๆ เขาสนใจ โลกหมุนไป เราก็ต้องหมุนตามไป ให้ทัน

ความสุขตอนนี้อยู่ที่ไหนบ้าง

ความสุขของคุณครูอยู่ที่ 'การสอนหนังสือ' ได้ฟังว่าเด็กเขาพูดว่าอะไร เด็กเขาน่ารักค่ะ คำถามหนึ่งคำถาม อาจจะได้หลายร้อยคำตอบ บางคนคิดแบบนี้ ตอบแบบนี้ อีกคนคิดแบบนั้นตอบแบบนั้น ซึ่งเราก็ไม่ได้บอกว่าผิดหรืออะไร มันก็คือความคิดเขา

อาจจะมีครูบางท่านอยากทำคลิปสื่อการสอนบ้าง แต่คิดว่ามันน่าจะยาก มีคำแนะนำไหม

นี่ล่ะ ความคิดของคน ทุกคนชอบจำกัดตัวเอง ทุกคนชอบตั้ง Mindset ตัวเองว่า ทำยาก ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ลงมือทำเลย ครูนกเล็กเมื่อ 8-9 ปีก่อนก็ไม่ใช่แบบนี้ แต่ที่เป็นอย่างทุกวันนี้ เพราะทำบ่อยๆ ก็เกิดทักษะ

ทักษะเกิดจากการทำซ้ำๆ ทำบ่อยๆ เดี๋ยวก็ทำได้เองค่ะ ลองผิด ลองถูก เราเรียนรู้ไปพร้อมกันได้ ขณะที่เราลงมือทำ เราได้ความรู้ไปด้วย เราได้เรียนรู้ เราก็เปลี่ยน เดี๋ยวทำแบบใหม่ ถ้ามันไม่โอเค.อีก เราก็เปลี่ยน

จำเป็นไหมว่าต้องมีอุปกรณ์ให้ครบก่อน

เครื่องมือเป็นแค่ส่วนหนึ่ง ใจความสำคัญคือ เราต้องเปลี่ยนมายด์เซ็ทของเราก่อนว่า เราทำได้ มีปัญหาเดี๋ยวก็แก้ได้ ต้องมีทางออก เดี๋ยวก็ไปของมันเองได้ ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ แค่ลงมือทำ ผิดพลาดก็แก้ไข ก็แค่นั้นเอง

เรื่องเครื่องมือ บางคนรออันนี้ยังไม่มี ยังไม่ทำ แล้วเมื่อไรจะได้ทำ ถ้าคิดจะทำ ทำเลยค่ะ แล้วเรียนรู้ไปพร้อมกับการลงมือทำนั่นล่ะดีที่สุด

เดี๋ยวนี้คุณครูหลายคนเก่งๆ ทั้งนั้นเลย ตั้งแต่กลับมาจากสอนออนไลน์ บางท่านจากที่ถ่ายวิดีโอไม่เป็น ก็ถ่ายเองได้ บางคนตัดต่อวิดีโอไม่เป็น ก็ได้ลองตัดต่อ เก่งๆ กันทั้งนั้นเลย อันนี้ต้องชื่นชมคุณครูหลายๆ ท่าน

ล่าสุด ครูนกเล็กเพิ่งได้รับรางวัล ผู้เสียสละเพื่อสังคม ? 

เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เขาจัดงานมอบรางวัล ก็ตื่นเต้น ดีใจค่ะ รู้สึกว่าเราก็เป็นส่วนหนึ่งส่วนเล็กๆ อยากมอบสิ่งดีๆ ให้เด็กๆ ก็หวังว่าเด็กๆ เขาจะมาสร้างสรรค์สังคม ให้น่าอยู่ต่อไป

อยากเชิญชวนเด็กๆ ที่สนใจทำคลิปวิดีโอ ให้สร้างสรรค์ออกมาเยอะๆ รางวัลนี้ ทำให้รู้สึกภูมิใจ เพราะเขาคัดเลือกมาเอง ไม่ได้เลือกจากที่เราส่งไปเพื่อขอรางวัลค่ะ