หลังโควิด "ที่เที่ยว" แบบไหนถูกใจคนไทย? ม.มหิดล เผยอินไซต์ Neo Tourism
ม.มหิดล เผยผลสำรวจพฤติกรรมนักท่องเที่ยวไทยกลุ่ม Neo Tourism หรือกลุ่มนักท่องเที่ยวมิติใหม่ มาดูว่าในยุคหลังสถานการณ์โควิด-19 "ที่เที่ยว" แบบไหนจะถูกใจคนไทยมากที่สุด และคนไทยจะมีพฤติกรรมท่องเที่ยวเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน?
เมื่อรัฐบาลประกาศมาตรการ "คลายล็อกดาวน์" (ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 34) ที่มีผลเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ทำให้บรรยากาศแห่งการเที่ยวปลายปี เริ่มคึกคักขึ้นมาอีกครั้ง หลายคนเริ่มเสิร์ชหา "ที่เที่ยว" ที่อยากไปกันแล้ว แต่เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้พฤติกรรมนักท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
แล้วอยากรู้ไหมว่าเทรนด์การท่องเที่ยวไทยในปีนี้และปีหน้า คนไทยอยากเที่ยวที่ไหนมากที่สุด? และอยากเที่ยวรูปแบบไหนบ้าง?
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนหาคำตอบเรื่องนี้ จากผลสำรวจเรื่อง "Neo Tourism - ท่องเที่ยวมิติใหม่ เจาะอินไซต์นักเดินทาง" ของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้สำรวจพบเทรนด์การท่องเที่ยวของคนไทย หลังคลายล็อกดาวน์ในยุคโควิด ระหว่างปี 2564-2565 โดยเราสรุปมาให้แล้ว ดังนี้
1. ความต้องการที่จะออกท่องเที่ยวอีกครั้ง คนไทยพร้อมแค่ไหน?
อันดับ 1 : ยังกังวล อยากรอให้สถานการณ์คลี่คลายก่อน โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่เห็นด้วย 45.8% ส่วนกลุ่มครอบครัวเห็นด้วย 52.2%
อันดับ 2 : รอไม่ไหวแล้ว อยากเที่ยวโดยเร็วที่สุด กลุ่มคนรุ่นใหม่เห็นด้วย 43.8% ส่วนกลุ่มครอบครัวเห็นด้วย 28.3%
จากข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ มีความต้องการอยากออกไปเที่ยวหลังโควิดมากกว่ากลุ่มครอบครัว
หมายเหตุ : สำรวจจากกลุ่มเป้าหมาย 1,048 คน แบ่งเป็น 1.) กลุ่มคนรุ่นใหม่ คือ อายุต่ำว่า 35 ปี สถานภาพยังไม่มีบุตร และ 2.) กลุ่มครอบครัว คือ มีบุตรแล้วและในครอบครัวมี 2 เจเนอเรชั่นขึ้นไป เป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ของสังคมไทยปัจจุบัน
2. นักท่องเที่ยวพร้อมเก็บกระเป๋าออกเดินทางอีกครั้งเมื่อไร?
อันดับ 1 : เมื่อยอดผู้ติดเชื้อลดลงในระดับที่มั่นใจ เหลือน้อยกว่า 500 คนต่อวัน
- กลุ่มคนรุ่นใหม่ 48%
- กลุ่มครอบครัว 48%
อันดับ 2 : เมื่อสัดส่วนประชากรที่ได้รับวัคซีนมากกว่า 70%
- กลุ่มคนรุ่นใหม่ 28%
- กลุ่มครอบครัว 40%
อันดับ 3 : เมื่อตนเองได้รับวัคซีนที่มั่นใจ เช่น วัคซีน mRNA
- กลุ่มคนรุ่นใหม่ 24%
- กลุ่มครอบครัว 12%
3. รูปแบบการท่องเที่ยวที่คนไทยโหยหาที่สุดในตอนนี้
อันดับ 1 คือ การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ
- กลุ่มคนรุ่นใหม่ 45%
- กลุ่มครอบครัว 61%
นอกจากนี้ยังต้องการท่องเที่ยวในประเทศก่อน โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่อยากเที่ยวในประเทศ 71% ส่วนกลุ่มครอบครัวอยากเที่ยวในประเทศมากถึง 92%
4. จังหวัดที่นักท่องเที่ยวอยากไปมากที่สุด คือที่ไหน
- กลุ่มคนรุ่นใหม่ ตอบว่า อันดับ 1 เชียงใหม่, อันดับ 2 ภูเก็ต, อันดับ 3 ชลบุรี
- กลุ่มครอบครัว ตอบว่า อันดับ 1 เชียงใหม่, อันดับ 2 ประจวบคีรีขันธ์, อันดับ 3 ชลบุรี
5. ระยะเวลาในการท่องเที่ยว กี่วันต่อทริป? ใช้งบเท่าไร?
กลุ่มคนรุ่นใหม่ : อยากไปเที่ยว 3 - 4 วันต่อทริป ใช้งบประมาณ "คงเดิม" เหมือนทริปก่อนโควิดคือ ประมาณ 3,000 - 5,000 บาทต่อทริป
กลุ่มครอบครัว : อยากไปเที่ยว 3 - 4 วันต่อทริป ใช้งบประมาณ "ลดลง" น้อยกว่าทริปก่อนโควิดคือ ประมาณ 3,000 - 5,000 บาทต่อทริป
6. ปัจจัยสำคัญในการเลือกที่พัก/ร้านอาหาร/ที่เที่ยว ในยุคหลังโควิด
ผลสำรวจพบว่านักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ Neo Tourism ต้องการใช้บริการทางการท่องเที่ยวที่มีมาตรการเรื่องความสะอาด, การจำกัดจำนวนคน, การตรวจหาเชื้อของพนักงาน, จุดคัดกรอง, มาตรการเว้นระยะห่าง เพิ่มเติมเข้ามา โดย
- กลุ่มคนรุ่นใหม่ : ให้ความสำคัญกับปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ คิดเป็น 29%
- กลุ่มครอบครัว : ให้ความสำคัญกับปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ คิดเป็น 25%
7. ช่องทางที่นักท่องเที่ยวใช้หาข้อมูลก่อนการเดินทาง
- กลุ่มคนรุ่นใหม่ : ค้นหาด้วย Facebook 31.1%, Google 29.4%, Youtube 21.9%
- กลุ่มครอบครัว : ค้นหาด้วย Google 38.6%, Facebook 29.8%, Youtube 19.8%
8. ช่องทางการ "จองที่พัก" เปลี่ยนไปในยุคหลังโควิด
- กลุ่มคนรุ่นใหม่ : จองแบบ Direct เพิ่มขึ้น 2%, จองผ่าน OTA (อโกดา,บุ๊กกิ้ง) ลดลง 5%
- กลุ่มครอบครัว : จองแบบ Direct เพิ่มขึ้น 2%, จองผ่าน OTA (อโกดา,บุ๊กกิ้ง) ลดลง 3%
9. เงื่อนไขการจองที่พักที่ถูกใจนักท่องเที่ยวยุคโควิดมากที่สุด?
- กลุ่มคนรุ่นใหม่ : เลือกที่พักราคาถูก แต่ยกเลิกไม่ได้ 24.8%, เลือกที่พักราคาแพง แต่ยกเลิกได้ 75.2%
- กลุ่มครอบครัว : เลือกที่พักราคาถูก แต่ยกเลิกไม่ได้ 29.8%, เลือกที่พักราคาแพง แต่ยกเลิกได้ 70.2%
10. ความกังวลในการเดินทางในยุคโควิด (เครื่องบิน/รถสาธารณะ)
- เดินทางโดยเครื่องบิน : กลุ่มคนรุ่นใหม่ "กังวลเล็กน้อย" , กลุ่มครอบครัว "กังวลเล็กน้อย"
- เดินทางโดยรถสาธารณะ : กลุ่มคนรุ่นใหม่ "กังวลเล็กน้อย" , กลุ่มครอบครัว "กังวลมาก"
11. ประกันการเดินทางพ่วงประกันโควิด อาจเป็นบริการที่มาแรง
- กลุ่มคนรุ่นใหม่ สนใจซื้อประกัน 59.4%
- กลุ่มครอบครัว สนใจซื้อประกัน 71.7%
12. กิจกรรมร่วมกับคนในชุมชน นักท่องเที่ยวกังวลเสี่ยงโควิดหรือไม่?
- กลุ่มคนรุ่นใหม่ : สนใจในกิจกรรมร่วมกับชุมชน แต่ยังมีความกังวล 36.4%
- กลุ่มครอบครัว : สนใจในกิจกรรมร่วมกับชุมชน แต่ยังมีความกังวล 44.1%
13. ปัจจัยที่ทำให้นักท่องเที่ยวประทับใจจนอยากบอกต่อ
ทั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่และกลุ่มครอบครัว ตอบเหมือนกัน
อันดับ 1 : มาตรการรักษาความสะอาด
อันดับ 2 : บรรยากาศของสถานที่
อันดับ 3 : บริการของพนักงาน
14. การตรวจหาเชื้อโควิด-19 หลังทริปท่องเที่ยว จำเป็นหรือไม่?
- กลุ่มคนรุ่นใหม่ ตอบว่า จำเป็น 70.7%
- กลุ่มครอบครัว ตอบว่า จำเป็น 65.5%
บทสรุป :
สรุปเทรนด์การท่องเที่ยว 2021-2022 ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
1. Nature Seeking ตามหาธรรมชาติ ผลสำรวจชี้ชัดว่าการท่องเที่ยวทางธรรมชาติจะมาแรงมาก เพราะเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด ทำให้ธรรมชาติฟื้นกลับคืนมาสวยงามกว่าเดิม เช่น ทะเล ภูเขา
2. Hygieneaholic ติดสะอาด เกิด New Normal ในเรื่องการระมัดระวังเรื่องความสะอาดมากขึ้น นทท ต้องการมาตรฐานที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น มาตรฐาน SHA
3. Flexi Needed ต้องการความยืดหยุ่น คนต้องการไปเที่ยวในที่ที่สามารถยกเลิกได้ เช่น ยกเลิกการจองที่พัก ยกเลิกร้านอาหาร ยกเลิกการจองตั๋วเข้าชมแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น เพราะในสถานการณ์โควิดมีความไม่แน่นอนสูง
กลุ่ม Young NEO Traveler เป็นสายทำคอนเทนต์ เน้นความปลอดภัย
กลุ่มคนรุ่นใหม่มักจะหาอินสไปเรชั่นในการท่องเที่ยวผ่านการนั่งดูรูปเก่าๆ หรือดูผ่านรายการท่องเที่ยว ส่องเพจรีวิวท่องเที่ยว นิยมค้นหาข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวจากเฟซบุ๊คมากที่สุด โดยหาข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการป้องกันโควิด จำนวนผู้ติดเชื้อในพื้นที่ การบริการ
ต้องการจองผ่านโรงแรมโดยตรงมากขึ้น แต่ต้องสามารถยกเลิกการจองได้ แม้ว่าจะมีราคาแพงกว่า ส่วนแพลนทริปเที่ยว จำกัดจำนวนสมาชิกที่ไปเที่ยวด้วยกัน เฉพาะเพื่อนสนิท และงบค่าใช้จ่ายเท่าเดิม คือ 3,000 - 4,000 บาท และใช้เวลาเที่ยว 3-4 วัน อีกทั้ง รูปแบบท่องเที่ยว มักจะตระเวนร้านอาหารและคาเฟ่ในจุดท่องเที่ยวนั้นๆ และเมื่อกลับจากทริป ต้องการตรวจหาเชื้อโควิด-19
กลุ่ม Family NEO Traveler สายครอบครัว เน้นชัวร์ ไม่ต้องทัวร์ทุกแลนด์มาร์ค
กลุ่มคนรุ่นใหม่มักจะหาอินอินสไปเรชั่น โดยคำนึงถึงกิจกรรมที่สามารถทำร่วมกันได้ในครอบครัว มีการค้นหาข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวจากกูเกิ้ลมากที่สุด โดยหาข้อมูลทั่วไป และหาข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการป้องกันโควิด-19 จำนวนผู้ติดเชื้อในพื้นที่ การบริการ
ด้านการจองที่พัก ต้องการจองผ่านโรงแรมโดยตรงมากขึ้น และจองประเภทห้องรวม และต้องสามารถยกเลิกการจองได้ แม้ว่าจะมีราคาแพงกว่า ส่วนการแพลนทริปเที่ยว จำกัดจำนวนสมาชิกเฉพาะคนในครอบครัว และลดงบค่าใช้จ่ายน้อยลงกว่าเดิม เหลือ 3,000 - 4,000 บาท (ช่วงก่อนโควิดยอมจ่ายแพงกว่านี้) และใช้เวลาเที่ยว 3-4 วัน
อีกทั้ง รูปแบบท่องเที่ยว กลุ่มนี้จะต้องการพักผ่อน/ทำกิจกรรมในที่พักมากขึ้น ลดกิจกรรมข้างนอกเพื่อลดความเสี่ยง และหลังจากกลับจากทริป ต้องการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เช่นกัน
--------------------------------
ที่มา : งานวิจัย Neo Tourism เจาะอินไซต์นักเดินทาง ม.มหิดล (2 ต.ค.64)