5 ข้อคิดที่"โควิด"ช่วยสร้างสรรค์"ศิลปะ"
ในช่วงที่"โควิด-19"ระบาด ศิลปินก็ไม่ต่างจากคนอื่น มีเวลาว่างมากขึ้น แล้วพวกเขาเลือกทำอะไร "ชลิต นาคพะวัน"-คิดเรื่องใหม่แล้วบอกตัวเองว่าฉันทำได้ "วศินบุรี"-จับเจ้าโควิดมาทำเป็นถ้วย Cutevid และเรื่องเล่าอันละเมียดละไมของศิลปินอีกหลายคน...
อยู่ท่ามกลางโควิด ถ้าไม่คิดลบจนเกินไปนัก เราจะพบสิ่งดีๆ แฝงอยู่ในนั้น ลองมาฟัง’ข้อคิด’ของคนในแวดวงศิลปะกันดูบ้างว่า ในช่วงที่ได้อยู่กับตัวเองยาวๆอย่างนี้ พวกเขาพบกับแง่มุมดีๆ ของชีวิตในช่วงโควิดคุกคามกันอย่างไรบ้าง
1. “มีสติในการใช้ชีวิตที่ชัดเจนขึ้น”
อลงกรณ์ หล่อวัฒนา ศิลปินเจ้าของผลงานแนวจิตวิญญาณเชิงสัญลักษณ์ การมาของโควิดทำให้มีเวลาโฟกัสในการทำงานมากขึ้น
จากที่เคยเห็นสัจธรรมของชีวิตชัดบ้าง เบลอบ้าง การแพร่ระบาดของโควิดในระลอกที่ 3 ทำให้มีสติและเห็นสัจธรรมของชีวิตที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
“มีสติในการทำงานมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เห็นว่า ชีวิตมนุษย์เรานั้นแสนสั้น ทำให้หันมาทำงานจิตอาสามากขึ้น
ช่วงนี้มาอยู่บ้านภรรยาที่กาญจนบุรี เห็นคนลำบากก็มาทำโรงทาน ก่อนหน้านี้เป็นจิตอาสาวาดรูปให้หอผู้ป่วยเด็ก โรงพยาบาลน่าน บ้านเกิดเรา
ที่ภูมิใจมากคือ ไปช่วยเพื่อนศิลปากร มิตรชัย ภักตร์เจริญ บูรณะโบสถ์เก่าที่ปทุมธานีและอยุธยา ด้วยการชวนพี่ๆน้องๆรวมกลุ่มจิตอาสาฟ้าประทานวาดรูปจิตรกรรมฝาผนังให้โดยรับค่าตัวเป็นที่พักกับอาหาร ในชีวิตไม่เคยวาดรูปในโบสถ์ 4 วันเสร็จเลยนะ มีความสุขมาก”
อลงกรณ์บอกว่า ต้องขอบคุณโควิดที่บีบบังคับให้มีการวางแผนงานที่กระชับ รัดกุม และแข่งกับเวลา
“งานจิตอาสาสอนให้ใจเป็นสุข ไม่ต้องรอให้รวยแล้วค่อยทำ ยิ่งในช่วงโควิดด้วยแล้ว ถ้าทำอะไรได้ทำเลย ไม่ต้องรอ”
2. “โควิดบังคับให้หาเส้นทางชีวิตใหม่”
เอก ทองประเสริฐ ดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์ Ek Thongprasert ,Curated และผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ W2W (งานออกแบบยูนิฟอร์มที่ให้ความสำคัญของสไตล์การทำงาน)
“ โควิดทำให้แบรนด์แฟชั่นได้รับผลกระทบเต็มๆ คนปรับเปลี่ยนวิธีการแต่งกาย การซื้อเสื้อผ้าลดลง ก็ต้องมาปรับวิธีการทำงานใหม่ เพราะ my set ใหม่ของแฟชั่น คือ essential
เราต้องเปลี่ยนความฟุ่มเฟือยให้เป็นความจำเป็น ให้คนเห็นว่า ฉันจำเป็น คุ้มค่าและสามารถใช้ได้บ่อยขึ้น”
ในช่วงเวลาที่สังคมยากลำบากนี้ งาน ‘ดีไซน์’ เป็นสิ่งที่ดีไซเนอร์คนนี้ทำออกมาให้เห็นว่า มีความจำเป็น คุ้มค่า และมีประโยชน์
“เป็นโปรเจคที่ไม่เคยทำมาก่อน คือ การออกแบบยูนิฟอร์มให้กับโครงการ Food for Fighters เป็นยูนิฟอร์มที่ based on function
ถามว่าชุดกู้ภัยนี้มีความจำเป็นหรือไม่ จำเป็นเพราะว่าต้องเดินทางเข้าไปในพื้นที่ ถ้าไม่สามารถระบุตัวตนได้ว่าคนนี้เป็นใคร เข้ามาทำไม มาดีหรือหรือเปล่า ยูนิฟอร์มจะช่วยให้การทำงานง่ายและสะดวกมาก”
การช่วยเหลือสังคมในสิ่งที่ตนเองถนัด การค้นหาเส้นทางอยู่รอดให้ได้เป็นอนาคตใหม่ที่โควิดบังคับเรา
3. เปลี่ยน Covid ให้เป็น Cutevid
วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ศิลปินศิลปาธร สาขาการออกแบบ ประจำปี 2553
ในความน่ากลัวก็มีความน่ารัก วศินบุรีจับเจ้าโควิดมาทำเป็นถ้วย Cutevid นอกจากน่ารักน่าเอ็นดูแล้ว รายได้จากการจำหน่ายยังร่วมบริจาคเพื่อซื้อเครื่องออกซิเจน ไฮโฟลว์” (Oxygen High Flow) ให้โรงพยาบาลราชบุรี อีกด้วย
“ในเมื่อเราจัดอีเว้นท์ทางศิลปะไม่ได้ เราก็นำศิลปะมาขับเคลื่อนสิ่งดีๆให้กับชุมชน ผมคิดว่ามีหลายคนคิดว่าอยากจะทำอะไร ให้กับชุมชน สังคม ไม่รู้จะทำช่องทางไหน
ผมจึงทำโปรเจคเล็กๆ ขึ้นมาให้หลายคนได้มีส่วนรวม มีคนถามว่าทำไมไม่ทำงานชิ้นใหญ่ชิ้นเดียวแล้วจัดประมูลไปเลย ผมมองว่าถ้าทำอย่างนั้นคนที่ได้งานศิลปะก็มีคนเดียว
ผมอยากให้เกิดความร่วมมือกับหลายๆคน เลยทำงานเป็นชิ้นเล็กๆจำนวน 155 ชิ้น แล้วขายในราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้ เป็นตัวเลขกลางๆ สรุปว่า 155 ชิ้น ราคาชิ้นละ 1,555 บาท”
ต้นคิดของโครงการน่ารักว่ามาจาก “ตู้ปันสุข” ที่กลายเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้เห็นแง่มุมน่ารักของสังคมท่ามกลางความทุกข์ยากลำบาก
“ความน่ารักในโครงการ Cutevid มีด้วยกันหลายอย่างครับ ผมโทรไปติดต่อทำใบ certificate กับโรงพิมพ์ ทางโน้นไม่คุยเรื่องราคาเลยแต่ถามกลับว่า ต้องการกล่องด้วยไหม ? แล้วเขาก็ทำให้เลย
น้องสาวไปซื้อเครื่องซักผ้า พอบอกให้ไปส่งที่เถ้าฮงไถ่ เจ้าร้านถามว่า ใช่โรงงานที่ทำงานศิลปะให้เมืองใช่ไหม
นอกจากลดราคาเครื่องซักผ้าให้แล้ว ยังฝากเงินมาให้ผมเพื่อทำบุญด้วย ผมฟังน้องเล่าแล้วรู้สึกฮึกเหิม บอกตัวเองว่ากูต้องทำ”
วศินบุรี บอกว่า “ถ้ามองในมุมน่ารัก เราจะเห็นสิ่งเหล่านี้ แม้ว่าในความเป็นจริงทุกคนเหนื่อย เจ็บปวด ได้รับผลกระทบมากบ้างน้อยบ้าง ถ้ายังไหวอยู่ ยังแบกไหว ผมอยากเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ที่อยากจะขับเคลื่อนสังคมให้เดินหน้าต่อไปได้”
โปรเจค Cutevid ปิดการจองภายในเวลา 2 ชั่วโมง ได้รับยอดบริจาคเกินเป้าหมายไปมากเพราะหลายคนตั้งใจโอนเงินเกินมา นับเป็นความน่ารักที่โควิดบังคับให้ศิลปินสร้างศิลปะแบบ cute cute ให้ได้มีรอยยิ้มกันได้บ้าง
4. “ถามตอบตัวเองได้มากขึ้น”
นิ่ม นิยมศิลป์ ภัณฑารักษ์อิสระ มีผลงาน curate ให้กับหอศิลปะต่างๆ เช่น Objectifs – Centre for Photography and Film ประเทศสิงคโปร์ หอศิลปร่วมสมัยราชดำเนิน กรุงเทพ, 1PROJECTS และ Subhashok The Arts Centre กรุงเทพฯ และ Forty7 Gallery ลอนดอน เป็นต้น
“นิ่มเอง ปกติมี curate งานนิทรรศการวางไว้เรื่อยๆ พอทุกอย่างหยุด เราก็มีช่องว่างที่จะรับงานโปรเจคที่ไม่เคยรับมาก่อน เช่น งาน art consultant
ทำให้เราได้ทำงานหลากหลาย สร้างเน็ตเวิร์คใหม่ๆ มีเวลาเรียนคอร์สออนไลน์เกี่ยวกับปรัชญา เพื่อทำให้เราเข้าใจงานศิลปะได้มากขึ้น
เป็นช่วงที่เราหันมามองดู direction การทำงานของตัวเอง มีคำถามหนึ่งที่นิ่มเริ่มถามตัวเอง คือ บทบาทความจำเป็นของ curator และการจัดงานบน physical space ยังสำคัญอยู่หรือไม่
ส่วนทางศิลปินนิ่มมองว่า หลายคนพบช่องทางโปรโมทขายงานทางโซเชียลมีเดีย ประกอบกับการขายงาน NFT(Non-Fungible Token สินทรัพย์ดิจิทัลรูปแบบหนึ่ง) อาจจะเป็นไปได้ว่าศิลปินบางคนอาจเห็นความจำเป็นของตัวกลางอย่างแกลลอรี่และ dealer น้อยลงค่ะ”
โควิดมอบช่วงเวลาให้ทบทวน ถาม ตอบชีวิตและทิศทางข้างหน้าได้นานที่สุดเท่าที่แต่ละคนเคยมีให้กับตัวเอง
5. “คิดเรื่องใหม่แล้วบอกตัวเองว่าฉันทำได้”
ชลิต นาคพะวัน ศิลปิน และนักแสดง
“เป็นศิลปินต้องคิดเรื่องใหม่ได้ เมื่อโควิดทำให้เราทำงานโปรเจคใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐและเอกชนไม่ได้ เราก็หาแนวทางทำมาหาเงินจากความสามารถที่มีอยู่ เจอผู้คนไม่ได้เราก็หันมาสนใจโลกโซเชี่ยลมากขึ้น ต้องทันสมัย เฟซบุ๊ค ไอจี ติ๊กต๊อก ทุกอย่างที่เป็นกระแสเราต้องตามให้ทัน”
ชลิต ปลีกวิเวกมาใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านทะเล ริมหาดชะอำ ทำงานศิลปะแล้วโพสต์อินสตราแกรม เฟซบุ๊คทุกวัน ทำให้คนติดตามได้ชื่นชมผลงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ ได้เห็นสุนัข แมว นก ที่แวะมาทักทายทุกวันเป็นเช่นนี้มาหลายเดือนแล้ว
“คนสะสมงานศิลปะ เห็นงานเราในโซเชี่ยลมีเดีย ติดต่อมาซื้องานมากขึ้น เราได้ลูกค้าจากยุโรป อเมริกา ล่าสุดที่คนติดต่อมาจากลอนดอน บอกว่ากำลังทำออฟฟิศใหม่ อยากได้รูปเขียนไปติดที่ห้อง ขอให้ทำตามขนาดที่เขาต้องการ
โควิดทำให้ทุกคนต้องใส่หน้ากาก เราเลยคิดทำเสื้อมัดย้อมเขียนชื่อตัวเอง จะได้รู้ว่าใครเป็นใคร ถามไปในโลกโซเชี่ยลใครอยากได้บ้าง พรีออเดอร์มาเราทำให้เลย
บางวันก็ออกแบบเฟอร์นิเจอร์ เก้าอี้ จะเห็นว่ามีอะไรให้เราทำได้อีกเยอะแยะ ตอนนี้กำลังทำยูทูปสอนการทำงานศิลปะแบบง่ายๆให้พ่อแม่ลูกได้ลองมาทำกิจกรรมด้วยกัน”
ชีวิตคนเราเวลานี้ ชลิตบอกว่า ให้คิดบวกเข้าไว้ คิดแล้วถ้าใช่ให้ลงมือทำทันที อย่ารีรอที่สำคัญอย่าท้อถอย บอกตัวเองว่าฉัน ต้องทำได้
เพราะชีวิตจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
.......................
ผลงานเรื่องนี้ : ตีพิมพ์ในเซคชั่นจุดประกายฉบับพิเศษ เนื่องในวาระครบรอบ 35 ปีหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ (6 ตุลาคม 2564)