"Miles Davis" ผู้พลิกโฉมหน้าวงการดนตรีร่วมสมัย
แม้ "Miles Davis"จะจากไปนาน 3 ทศวรรษ แต่อิทธิพลดนตรีของเขา ยังส่งผลจนถึงปัจจุบัน จะเรียกว่าเป็นผู้พลิกวงการดนตรีร่วมสมัยก็ว่าได้ ลองอ่านเรื่องราวของเขาจากนักวิจารณ์ดนตรีคนนี้
ชื่อของ ไมล์ส เดวิส (Miles Davis 1926-1991) อาจเป็นชื่อที่ “คนส่วนใหญ่บนโลกใบนี้” ในยุคสมัยปัจจุบัน ไม่รู้จักคุ้นเคยนัก แต่ผมเชื่อว่า สำหรับบรรดาผู้รักหลงใหลในเสียงเพลงทุกคน ชื่อนี้ต้องเป็นที่รู้จัก ไม่ว่าจะผ่านพ้นไปถึงยุคสมัยไหนในอนาคตก็ตาม
แม้เขาจะวายชนม์ไปนาน 3 ทศวรรษ (ครบรอบ 30 ปีเมื่อ 28 กันยายน 2021) แต่อิทธิพลดนตรีของเขายังส่งผลสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เสียงเพลงของเขาแทรกซึมลงไปในรูปแบบต่างๆ ดนตรีร่วมสมัย ที่พวกเราเสพฟัง ไม่ว่าจะเป็น เอซิด, เฮาส์, อิเล็กทรอนิกา ฯลฯ
ดังที่มีใครยกตัวอย่างว่า อัลบั้ม Kind of Blue ผลงานขั้นเทพของเขาในสไตล์ Modal Jazz ที่สร้างสรรค์ขึ้นเมื่อปี 1959 และครองอันดับหนึ่งผลงานแจ๊สขายดีตลอดกาล อย่างน้อยๆ “ในทุกๆ 10 ปี จะต้องมีกระแสความสนใจใหม่ที่เกิดขึ้นกับ Kind of Blue เสมอ”
นั่นเท่ากับว่า ผลงานเพลงของ ไมล์ส เดวิส ยังคงได้รับความสนใจจากคนรุ่นหลังอย่างต่อเนื่อง ในฐานะต้นธารของแรงบันดาลใจ ความคิดสร้างสรรค์ และในฐานะงานศิลปะที่ยืนหยัดอยู่เหนือกาลเวลา
ผลงาน‘ไมล์ส เดวิส’
ด้วยรายละเอียดของชีวิตและผลงานที่ไม่ธรรมดา เรื่องราวของไมล์สจึงกลายมาเป็น “ปริศนา” ให้ค้นหา ติดตาม และศึกษา แต่นั่นไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ในการกลั่นกรองข้อเท็จจริงที่มีอยู่มากมาย ในยุคสมัยที่ท่วมท้นด้วยข่าวสารข้อมูล
ดังนั้น สำหรับนักสร้างภาพยนตร์อย่าง สแตนลีย์ เนลสัน (Stanley Nelson) การหยิบแง่มุมหลักๆ ของไมล์สมาบอกเล่าผ่านภาพยนตร์
จึงเป็นทางเลือกที่ช่วยให้ผู้คนในวันนี้ สามารถย้อนมองเรื่องราวในชีวิตของคนๆ หนึ่ง ที่สร้างคุณูปการให้แก่วงการดนตรีได้ชัดเจนขึ้น
ในหนังสารคดีเรื่อง Miles Davis : Birth of the Cool (2019) เราจะได้เห็นตัวตนและความเป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อของ ไมล์ส เดวิส ด้วยการนำเสนอผ่านมุมมองคำบอกเล่าของผู้ใกล้ชิด สมาชิกในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน และนักดนตรีที่เกี่ยวข้อง ฯ
เราจะได้เห็นถึงความกลัว ความอ่อนแอ การค้นหาทางออก การสร้างเสริมพลังใจ ตลอดจนถึงการทุ่มเทชีวิตให้แก่การสร้างสรรค์งานดนตรี ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงเวลารุ่งโรจน์หรือตกต่ำเพียงใดก็ตาม
ด้วยกระบวนการค้นหาข้อมูล ที่สืบค้นไปยังวัตถุดิบที่อยู่ในซอกหลืบของอดีตและความทรงจำ การนำเสนอฟุตเทจเก่า ภาพถ่ายเก่า งานบันทึกเสียงเก่า
และข้อมูลที่สดใหม่อื่นๆ สแตนลีย์ เนลสัน ในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ได้ทำให้ชีวิตของนักดนตรีแอฟริกันอเมริกันคนนี้ ปรากฏออกมาโลดแล่นอย่างมีชีวิตชีวาอีกครั้ง ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้รับนั้นนับว่าไม่ธรรมดาเป็นอย่างยิ่ง
หลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้สำเร็จเสร็จสิ้นลง ในห้วงเวลาการระบาดของโควิด-19 จึงทำให้ช่องทางในการเผยแพร่ปรับเปลี่ยนจากโรงภาพยนตร์ไปสู่แพลตฟอร์มต่างๆ โดยในสหรัฐอเมริกา มีการออนแอร์ภาพยนตร์เรื่องนี้ผ่านทาง PBS ขณะที่ในอังกฤษ เผยแพร่ผ่านทาง BBC
และด้วยคุณประโยชน์ของเทคโนโลยี วันนี้คนไทยสามารถชมภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ ได้ทาง Netflix ที่มีซับไตเติลภาษาไทยช่วยเติมเต็มความเข้าใจได้ดียิ่งขึ้น
......................
ผลงานเขียนชิ้นนี้ : ตีพิมพ์ในจุดประกายฉบับพิเศษ ในวาระครบรอบ 35 ปีหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ (6 ตุลาคม 64)
ภาพยนตร์เล่าเรื่อง‘ไมล์ส’
ภาพยนตร์บอกเล่าเรื่องราวของเด็กวัยรุ่นผิวดำชาวอเมริกันคนนี้ ที่เติบโตมาในครอบครัวมั่งคั่ง คุณพ่อของไมล์สเป็นทันตแพทย์ บ้านมีอาณาบริเวณใหญ่โต มีฟาร์มสัตว์และคอกม้า แต่ชีวิตไม่วาย ต้องมาประสบกับการถูกเหยียดจากสังคม ในฐานะคนผิวดำ
ไมล์ส เกิดที่เมืองอัลตัน จากนั้นครอบครัวย้ายไปย่านอีสต์เซนต์หลุยส์ เขาสนใจดนตรีตั้งแต่เป็นวัยรุ่น และใฝ่ฝันจะเจริญรอยตามไอดอลของเขา นั่นคือ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ (Charlie Parker 1920-1955) นักดนตรีแจ๊สที่มีชื่อเสียงในเวลานั้น ซึ่งอยู่ในห้วงเวลาของสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือราวกลางทศวรรษ 1940s
อีสต์เซนหลยุส์ เป็นเมืองที่ห่างไกลจากศูนย์กลางด้านดนตรี ดังนั้น เพื่อจะได้ติดตามไอดอลของเขา เมื่อจบไฮสกูล ไมล์ส จึงขออนุญาตครอบครัวเพื่อไปศึกษาต่อด้านดนตรี โดยตั้งใจไปเรียนที่สถาบันดนตรีที่มีชื่อเสียง อย่าง “จูลลิอาร์ด” ในนิวยอร์กซิตี
เขาใช้เวลาช่วงแรกๆ ในการเรียนตอนกลางวัน และออกสู่ภาคสนามดนตรีในยามค่ำคืน จนได้พบกับชาร์ลี พาร์คเกอร์สมใจ และชีวิตหักเห จนนำไปสู่การทิ้งการเรียนที่จูลลิอาร์ดลงในที่สุด
ในห้วงเวลานั้น ดนตรีแจ๊สกำลังเปลี่ยนสถานะใหม่พอดี จากดนตรียอดนิยม (popular music) ในรูปแบบของวงสวิงบิ๊กแบนด์ มาสู่แจ๊สแบบ Bebop ซึ่งเป็นแจ๊สสมัยใหม่ ที่ยกระดับจาก “เพลงเต้นรำ” มาสู่การเป็น “งานศิลปะ”
แจ๊สแบบควอนตัม
ด้วยสารัตถะทางดนตรีที่เข้มข้น มีความซับซ้อนในแนวทางการสร้างสรรค์ และมีความท้าทาย จนบางคนเปรียบเปรยแจ๊สแบบบีบ็อพว่า เป็นเสมือน “แจ๊สติดจรวดนิวเคลียร์” หรือ “แจ๊สแบบควอนตัม”
เพราะมีอานุภาพแตกต่างอย่างเห็นเด่นชัด เช่นเดียวกันกับปรากฏการณ์ของระเบิดปรมาณูในยุคนั้นนั่นเอง
ไมล์ส เป็นส่วนหนึ่งของขบวนทัพนักดนตรีผิวดำรุ่นใหม่เหล่านี้ ที่มีมุมมองแตกต่างจากนักดนตรีรุ่นก่อนหน้าอย่างสิ้นเชิง
ขณะที่นักดนตรีรุ่นใหญ่ อย่าง หลุยส์ อาร์มสตรอง (Louis Armstrong 1901-1971) มองสถานะของตัวเองเป็น “ผู้ให้ความบันเทิง” (Entertainer) แต่นักดนตรีแจ๊สบีบ็อพ (และหลังจากนั้น) มุ่งมั่นที่จะสร้างการยอมรับในฐานะ “ศิลปิน” (Artist) เป็นสำคัญ
ไมล์ส เดวิส มีโอกาสอยู่ร่วมในหัวเลี้ยงหัวต่อตรงนี้พอดี เขามีส่วนร่วมในงานบันทึกเสียงแจ๊สแบบบีบ็อพยุคแรกๆ กับ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ ก่อนจะก้าวออกมาค้นหาแนวทางของตัวเอง อายุเพียงยี่สิบต้น ๆ ไมล์สเป็นผู้นำวงของตนเอง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ ไมล์ส เดวิส ได้สร้างสรรค์ดนตรีรูปแบบใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง
จาก บีบ็อพ ไมล์สพาแจ๊สไปสู่สไตล์อื่นๆ อันได้แก่ คูล (Cool); ฮาร์ดบ็อพ (Hard Bop); โมดัล (Modal); ฟิวชัน (Fusion) จนกระทั่งขยายอาณาเขตทางดนตรีไปสู่ความเป็นเอซิด ที่ผสมผสานระหว่างดนตรีร่วมสมัยรูปแบบอื่นๆ บางคนจึงเรียกขานเขาด้วยน้ำเสียงสรรเสริญ(ไม่เกินจริง)ว่า นักปฏิวัติแห่งวงการแจ๊ส (และวงการดนตรีร่วมสมัย)
วิสัยทัศน์ทางดนตรี‘ไมล์ส’
ในด้านดนตรี ภาพยนตร์เรื่องนี้ เผยให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ทางดนตรีไมล์สอย่างชัดเจน ด้วยการเติมรายละเอียดเข้ามาอย่างพอเหมาะพอดี เช่น ในช่วงการเกิดขึ้นของดนตรีร็อคและฟังกี้ ปลายทศวรรษ 1960s ที่มีส่วนอย่างสำคัญในการแย่งจำนวนผู้ฟังคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่
ไมล์ส พบว่า ในระยะหลังๆ การแสดงของเขามีคนดูลดน้อยลงเรื่อย ๆ จนเหลือไม่ถึงครึ่ง โดยไม่รอช้า เขาปรับตัวด้วยชุดความคิดทำนองว่า
“หากนักดนตรีร็อค ซึ่งแทบจะไม่รู้อะไรเกี่ยวกับดนตรีเลย ยังสามารถสร้างความนิยมได้ขนาดนั้น แล้วทำไมตัวเขา ซึ่งมีความรู้เรื่องดนตรีมากมาย จะเรียกความนิยมจากแฟนเพลงใหม่ๆ เหล่านั้นไม่ได้”
ผลงาน Bitches Brew ที่ออกขายในปี 1970 คือผลงานต้นแบบของความเป็น Jazz-Rock Fusion ซึ่งนับเป็นมิติใหม่ของวงการเพลง
แม้นักดนตรีแจ๊สสายอนุรักษ์นิยมจำนวนไม่น้อย (หนึ่งในนั้นคือนักดนตรีรุ่นหลัง อย่าง วินตัน มาร์แซลิส) จะไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว แต่ ไมล์ส สามารถพาแจ๊สออกไปเรียกความสนใจของคนรุ่นใหม่ได้อย่างน่าทึ่ง ด้วยยอดขายนับล้านก๊อปปี้
นับจากนั้น เขาตัดสินใจโยนชุดสูทราคาแพงทิ้ง แล้วหันมาแต่งกายเฉี่ยว-เฟี้ยว-ซ่า ให้สอดคล้องกับแนวทางดนตรีที่มีความร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น
ชีวิตเจ้าชายแห่งความมืดมิด
ในด้านชีวิตส่วนตัว ภาพยนตร์เผยให้เห็นความมีชีวิตและเลือดเนื้อของไมล์ส ปมในครอบครัว การหักดิบเลิกยาเสพติด เซ็กซ์ ความรัก ความโรแมนติก ความหึงหวง หรือผลกระทบเชิงจิตวิทยา ในฐานะ “พลเมืองชั้นสอง”
การถูกเลือกปฏิบัติในฐานะคนดำ ซึ่งเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมอเมริกันมาช้านาน และไม่เว้นแม้กระทั่งศิลปินยอดนิยมอย่างไมล์ส เดวิส
ค่ำวันหนึ่งในฤดูร้อนอันอบอ้าว ไมล์ส เดวิส พาสาวผิวขาวชื่อจูดี ไปส่งขึ้นรถแท็กซี่ตรงหน้าบาร์ในย่านแมนฮัตตันที่เขาแสดงดนตรี อาจจะด้วยขัดใจที่พบเห็นคนผิวดำแต่งตัวดีอย่างไมล์ควงสาวผิวขาว ไมล์สถูกตำรวจนายหนึ่งเรียก และแจ้งให้เขาย้ายก้นออกจากพื้นที่ตรงนั้น
ไมล์สแจ้งตำรวจกลับไปว่า เขาทำงานที่นี่และชื่อของเขาปรากฏหราอยู่บนป้ายหน้าร้าน ระหว่างที่ทั้งคู่กำลังโต้เถียงกันนั้น ก็มีตำรวจอีกนายหนึ่งโผล่มาทางด้านหลังของไมล์ส แล้วเอากระบอกหวดที่ศีรษะของเขาเลือดอาบ !
แรงกดดันในเรื่องเหล่านี้ ส่งผลต่อบุคลิกภาพของเขาอย่างลึกซึ้ง ทำให้ไมล์สดูเป็นคนหยาบคายก้าวร้าว ผนวกกับปัญหากล่องเสียงในลำคอที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น (ในปี 1956)
และไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ไมล์ส กลายเป็นคนเสียงแหบพร่า ดูน่ากลัว เขาจึงเลือกที่จะเงียบมากกว่าสนทนา
ในสายตาของคนภายนอก ชีวิตของ ไมล์ส เดวิส ดูช่างแสนสุข เขาเป็นเสมือน เจ้าชายแห่งความมืดมิด (The Prince of Darkness)
คนผิวดำอย่างเขา ใช้ชีวิตแบบไฮโซ ควงนางแบบสาวสวยไม่ซ้ำหน้า แต่งกายด้วยสูทราคา 3 พันเหรียญ ขับรถซูเปอร์คาร์ อย่าง เฟอร์รารี และลัมโบร์กินี แต่นั่นคือเปลือกนอกเท่านั้น
แก่นแท้ความเป็น‘ไมล์ส’
สิ่งที่ผู้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้จะได้สัมผัส คือ “แก่นแท้” ของความเป็นไมล์ส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความมุ่งมั่นปรารถนาของคนๆ หนึ่ง ที่ต้องการจะสร้างสรรค์งานดนตรีให้เป็นที่จดจำ
ด้วยพื้นฐานทางความคิด อารมณ์ และความรู้สึก ไมล์สถ่ายทอดทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาประสบพบพานในชีวิต ให้ออกมาเป็นเสียงดนตรีได้อย่างจับใจผู้ฟัง
เสียงทรัมเป็ตของเขา ทั้งเหงา ทั้งหวานเศร้า ให้ความสุขสมและสิ้นหวังไปในเวลาเดียวกัน ขณะที่ผลงานดนตรีของเขาจุดประกายความคิดแปลกใหม่และมีแง่มุมลึกซึ้งให้ค้นหาเสมอ
นอกเหนือจากนั้น ไมล์ส ยังมีสายตาแหลมคมเหมือนเหยี่ยว ในการเลือกใช้นักดนตรีรุ่นใหม่ เขาเจียระไนให้นักดนตรีเหล่านั้นแจ้งเกิดและค้นพบแนวทางของตัวเอง กลายมาเป็นศิลปินคนโปรดของประชาชน
ไม่ว่าจะเป็น จอห์น โคลเทรน, บิลล์ เอแวนส์, เฮอร์บี แฮนค็อก, เวย์น ชอร์เตอร์, จอห์น แมคลาฟลิน, มาร์คัส มิลเลอร์ ฯลฯ จนอาจจะกล่าวได้ว่า บรรดานักดนตรีแจ๊สชั้นนำในยุคปัจจุบัน จำนวนไม่น้อย คืออดีตสมาชิกวงของไมล์ส เดวิสทั้งสิ้น
เช่นเดียวกันกับความเห็นของหลายคนที่มีต่อผลงานของ ไมล์ส เดวิส บางทีอัลบั้ม Kind of Blue อาจจะเป็นอัลบั้มแรกที่คนฟังรุ่นใหม่ สามารถซึมซับกับจักรวาลอันงดงามของไมล์ส เดวิส ระหว่างกระบวนการฟัง
สิ่งที่น่าอัศจรรย์ใจยิ่งกว่านั้น คือคุณจะค้นพบรายละเอียดใหม่ๆ เพิ่มเติมในการฟังแต่ละครั้ง และนั่นมักปรากฏในผลงานศิลปะชั้นยอดเสมอ
และไม่ว่าคุณจะเป็นแฟนเพลงของไมล์ส เดวิส หรือไม่ก็ตาม ภาพยนตร์สารคดี Miles Davis : Birth of the Cool จะเป็นประตูทางลัด เพื่อให้คุณเข้าใจในชีวิตของผลงานของบุคคลผู้พลิกโฉมหน้าวงการดนตรีร่วมสมัยได้ดียิ่งขึ้น
Enjoy your listening and watching!
..................