สายรุ้งทางสังคมวัฒนธรรม หลังโควิดสมัย
ว่าด้วยอำนาจกำหนดกระแสสังคมวัฒนธรรมหลากมุม ไม่ว่ากระแสลิซ่า โลกที่เปลี่ยน สังคมไทยที่หยุดอยู่กับที่...วิพากษ์โดยนักเขียนนวนิยาย ซึ่งเคยเป็นนักเขียนสายศิลปวัฒนธรรมจุดประกาย
ปรากฏการณ์ทางสังคมใหม่ ๆ ผุดขึ้นเร็วรี่ มิใช่เพราะมีเหตุการณ์หรือสถานการณ์เกิดขึ้นมากกว่า ถี่กว่าสมัยก่อนเกิดโรคระบาดโควิด – 19 หรือกว่าสองปีที่ผ่านมา
ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารหลากหลาย ลื่นไหลไปตามกระบวนทัศน์ของ ‘ภูมิทัศน์สื่อ’ ซึ่งเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วก่อนหน้านั้นนานแล้ว
ตัวแปรสำคัญดังกล่าวส่งผลต่อการคลี่คลายทางสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อเกิดคำถามและความคับข้องใจจากคนรุ่นใหม่ ต่อสภาพสังคมกระแสหลักแบบเก่า
...เก่าเพียงระดับก่อนคนรุ่นใหม่เกิด!
พื้นที่สำแดงตนของคน Gen. Z
กระแสลูกชิ้นยืนกิน สถานีรถไฟบุรีรัมย์ ผลิตโดย ไอดอลเคป๊อปสาวชาวไทย นาม ลลิษา มโนบาล หรือ สาว ‘ลิซ่า’ ถูกยกย่องแบบห้อยโหนจากหน่วยงานรัฐด้านวัฒนธรรมของประเทศไทย ให้เป็น Soft Power ปลุกเศรษฐกิจระดับจุลภาคมาถึงระดับมหภาค ยกระดับลูกชิ้นไม้ละ 3 บาท ให้มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจระดับแสนบาทต่อวัน
และน่าจะดันไปแตะหนึ่งล้านบาทในไม่ช้า เมื่อห้างสรรพสินค้าสุดหรูกลางกรุงทาบทามให้เหล่าแม่ค้าลูกชิ้น ย้ายวิกจากย่านสถานีรถไฟต่างจังหวัด สู่พื้นที่(ทางสังคม) ภายในห้างสรรพสินค้านั้น ๆ
นี่คืออำนาจกำหนดกระแสสังคมวัฒนธรรม ที่สาวลิซ่าใช้ความสามารถและความมุ่งมั่นส่วนตนไปสู่ความสำเร็จระดับสากล แล้วค่อยส่งอิทธิพลกลับสู่ดินแดนบ้านเกิดอีกทอดหนึ่ง
ต่างกันสุดขั้วจากสภาพคนชั้นกลางเมืองกรุงที่บางส่วนต้องตกงาน อดอยากปากแห้ง เนื่องจากโรคระบาดโควิด-19 ผนวกกับมาตรการของภาครัฐ ที่ร้องขอให้ประชาชนอด (ทน) อยู่แต่ในที่พัก ป้องกันการระบาดของเชื้อร้าย
เรา ๆ ท่าน ๆ จะสร้างความหวังหลังโควิดสมัยผ่านพ้นกันอย่างไร หากโอกาสการเข้าถึงทรัพยากรทางสังคมของคนกลุ่มต่าง ๆ ปราศจากความเท่าเทียม
และอำนาจการกำหนดวาระความเป็นความตายของประชาชนถูกยึดโยงกับอำนาจการเมืองของกลุ่มผู้ปกครอง กลุ่มทุนเบ็ดเสร็จ และรัฐราชการอันเก่าแก่
อภิสิทธิ์ชนในบริบททางสังคมการเมืองไทย จึงเป็นกลุ่มที่สำแดงอำนาจในการกำหนดวาระต่าง ๆ แม้กระทั่ง ‘ความหวัง’ ของปวงชน
หากเรามองไปยังคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่ออกไปเรียกร้องประชาธิปไตยตามท้องถนน มุ่งขับไล่ระบอบเผด็จการทหาร เรียกร้องการปฏิรูปทุกมิติ ในห้วงเวลาเกือบสองปีที่ผ่านมา ไล่เลี่ยกับระยะเวลาโรคโควิด-9 ระบาดในไทย
เราจะพบว่า ไม่มีหน่วยงานรัฐทางด้านวัฒนธรรมของบ้านเราออกมาแสดงท่าทีหนุนนำความเคลื่อนไหวนี้แต่อย่างใด
หนำซ้ำหน่วยงานรัฐด้านการศึกษากลับสำแดงตนเป็นปฏิปักษ์ต่อความเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่
การประกาศชำระตำราประวัติศาสตร์ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา ให้เน้นเรื่องที่ผู้มีอำนาจต้องการ จึงเป็นความพยายาม ‘เฮือกก่อนสุดท้าย’ ของรัฐล้มเหลว
ตอกย้ำประเด็นที่ว่า เมื่อรัฐรณรงค์เรื่องใด ๆ นั่นแสดงว่าเรื่องนั้น ๆ อยู่ในภาวะวิกฤติ !
การจัดการในสภาวะวิกฤติ หากเป็นไปโดยปราศจากการรับฟังความแตกต่างหลากหลายของกระแสสังคม ย่อมถึงทางตันในที่สุด
ด้วยว่า อนาคตของชาติอยู่ที่คนรุ่นใหม่ เป็นพลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนสังคมวัฒนธรรมร่วมสมัยโดยแท้
สายรุ้งแห่งความหวัง…Next Generation
รูปแบบการดำรงชีวิตหลังโควิดสมัยผ่านพ้น มิได้หมายเพียงโรคระบาดนี้จะสูญสิ้น ทว่ามันน่าจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต
พลเมืองไทยและพลเมืองโลก จำต้องดำรงชีวิตร่วมกับโรคอุบัติใหม่ทั้งหลาย พื้นที่ทางวัฒนธรรมจะเกิดพลวัตใหญ่หลวง คำว่า New Normal จะเป็นเพียงศัพท์เก่าสำหรับอนาคต
แฟชั่นหน้ากากปิดปากปิดจมูก น่าจะวิวัฒน์ไปสู่รูปแบบและเทคโนโลยีใหม่ ๆ การรักษาระยะห่างทางกายภาพ นำไปสู่ระยะห่างทางสังคมเต็มรูปแบบ
ภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมจะขยายสู่ ‘พื้นที่ไร้รูป’ อันปลอดพ้นจากอำนาจรัฐ เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการแลกเปลี่ยนสังสรรค์ของคนรุ่นใหม่
กระบวนการเรียนรู้ขยายพ้นจากระบบเก่า ผู้คนสามารถเข้าชมคลังข้อมูล เข้าชมพิพิธภัณฑ์ ชมมหรสพและการกีฬาจากทั่วโลก เข้าเยี่ยมศาสนสถาน เข้าร่วมกิจกรรมชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย ผ่านพื้นที่ไร้รูปทั้งหลาย
มีความเป็นไปได้ว่าอาจเกิดศาสดาของศาสนาใหม่ ๆ ในอนาคต สำหรับพลเมืองโลกกลุ่มต่าง ๆ
หน่วยงานเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมจะกลายเป็นตัวตลกตกยุค และถูกยกเลิกไปในที่สุด
คนกลุ่มที่ไม่เคยเข้าถึงโอกาสกำหนดความหวังของตนเองจะยังคงมีอยู่ เว้นคนรุ่นใหม่ที่สามารถพาตนเองไปสู่พื้นที่ไร้รูปหลากหลาย ได้ด้วยวิธีต่าง ๆ
สายรุ้งแห่งความหวังจะถูกรังสรรค์โดยคนรุ่นใหม่
ทำงานที่บ้าน...ประชุมออนไลน์...เรียนทางไกล...ทำบุญดิจิทัล ฯ อาจถูกจดจารในจดหมายเหตุความทรงจำสำหรับคนในอนาคต สมัยที่ประเทศพัฒนาแล้วต่างมีระบบขนส่งมวลชนปราศจากผู้ขับขี่ และมีพาหนะขับเคลื่อนบนอากาศหลากหลายรูปแบบ
50 ปี ถัดไป สังคมไทยน่าจะตามทัน…อย่างน้อย นี่ก็เรียกได้ว่า ‘ความหวัง’
....................
ผลงานเขียนชิ้นนี้ : ตีพิมพ์ในเซคชั่นจุดประกายฉบับพิเศษ เนื่องในวาระครบรอบ 35 ปี หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ (6 ตุลาคม 64)