13 ตุลาคม วันคล้ายวันสวรรคต รัชกาลที่ 9 จิตรกรรมฝีพระหัตถ์มรดกศิลป์แผ่นดิน

13 ตุลาคม วันคล้ายวันสวรรคต รัชกาลที่ 9 จิตรกรรมฝีพระหัตถ์มรดกศิลป์แผ่นดิน

จินตนาการและเอกลักษณ์ในจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ “รัชกาลที่ 9” น้อมรำลึกพระราชกรณียกิจการทรงงานศิลปะ เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต 13 ตุลาคม

ตลอดระยะเวลาแห่งการทรงครองสิริราชสมบัติ 70 ปี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ทรงประกอบพระราชกรณียกิจอันเป็นคุณประโยชน์ต่อแผ่นดินและราษฎรทุกหมู่เหล่า

พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทั่วทุกภูมิภาคของไทยเพื่อเป็นขวัญกำลังใจพสกนิกรและทหารหาญผู้ปฏิบัติเป็นรั้วของชาติตามแนวชายแดน ที่สำคัญคือ ทรงต้องการทราบถึงปัญหา เพื่อบำบัดความทุกข์ยากโดยพระราชทานความช่วยเหลือได้ตรงตามความต้องการของราษฎรจริงๆ ไม่ว่าเส้นทางเสด็จจะยากลำบากหรือทุรกันดารเพียงใด

13 ตุลาคม วันคล้ายวันสวรรคต รัชกาลที่ 9 จิตรกรรมฝีพระหัตถ์มรดกศิลป์แผ่นดิน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อครั้งทรงงานศิลปะ

เนื่องในวันที่ 13 ตุลาคม วันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  ‘Art and Living กรุงเทพธุรกิจ’ ขอน้อมรำลึกในพระอัจฉริยภาพการทรงงานศิลปะ ผลงาน จิตรกรรมฝีพระหัตถ์ เป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินไทยตลอดจนผู้รักงานศิลปะทุกเพศทุกวัย

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  ทรงมีความสนพระราชหฤทัยและให้ความสำคัญกับงานศิลปะ  ดังพระราชดำรัสในพิธีเปิด งานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2505 ความว่า

“งานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ นอกจากจะมีวัตถุประสงค์เพื่อการส่งเสริมอัจฉริยภาพของศิลปินแล้ว ยังสร้างเกียรติให้แก่ชาติ และอำนวยประโยชน์แก่ประชาชนโดยส่วนรวม ให้มีโอกาสใฝ่ใจในสิ่งที่สวยงาม เจริญตาแลเจริญใจ เป็นผลให้เกิดนิสัยรักความประณีตวิจิตรบรรจง มีความรู้สึกละเอียดอ่อน เกิดความคิดในทางที่ดีงาม เป็นการยกระดับทางจิตใจของประชาชนในชาติให้สูงขึ้น”

13 ตุลาคม วันคล้ายวันสวรรคต รัชกาลที่ 9 จิตรกรรมฝีพระหัตถ์มรดกศิลป์แผ่นดิน

สมเด็จพระราชบิดา, 2504, สีน้ำมันบนผ้าใบ, 38.5x28.5 เซนติเมตร

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเขียนไว้ในหนังสือ ‘ในหลวงกับงานช่าง’ ว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงสนพระราชหฤทัยและทรงมีพระราชอัจฉริยภาพทางด้านศิลปะมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ความว่า

“สมัยที่ท่านอยู่ประถมต้นที่สวิตเซอร์แลนด์นั้น ยกตัวอย่างเช่น การวาดรูปภาพเพื่อให้เข้าใจเส้น เรื่องฟอร์มของรูปนั้น มีแบบฝึกหัดอยู่อันหนึ่ง ครูจะวาดรูปทรงกลม ทรงรี หรือรูปต่างๆ บนกระดาษ แล้วลบทิ้ง แล้วให้เด็กจำ แล้ววาดตาม  เริ่มจากง่าย แล้วยากขึ้นๆ ทุกที เวลายากๆ ท่านบอกว่า เพื่อนทั้งชั้นทำไม่ได้ แต่ท่านทำได้ เพราะมีนิสัยในด้านนี้” 

13 ตุลาคม วันคล้ายวันสวรรคต รัชกาลที่ 9 จิตรกรรมฝีพระหัตถ์มรดกศิลป์แผ่นดิน

Portrait of Her Majesty the Queen ภาพสีน้ำมันบนผ้าใบ ขนาด 33 x 46 เซนติเมตร

ขณะที่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเล่าถึง ที่มาแห่งการเริ่มวาดภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ว่าเริ่มจากการมีผู้นำอุปกรณ์วาดภาพมาถวายสมเด็จพระศรีนคริทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า)  ไว้ในหนังสือพระราชนิพนธ์เรื่อง ‘เจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์ ความว่า

“ท่านชิ้น (หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์) นำเครื่องเขียนครบชุด มีแปรง สี ผ้าใบ ฯลฯ มา จะให้แม่เขียนให้ได้ รู้สึกรำคาญ เลยเอามาเขียนเสียเอง”

หนังสือ จิตรกรรมฝีพระหัตถ์ : พระอัจฉริยภาพล้ำเลิศ(1)  ระบุว่า หลังเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงงานจิตรกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2502-2510 ทรงศึกษาศิลปะด้วยพระองค์เอง ทรงฝึกเขียนจากตำราทรงซื้อและตำราซึ่งเคยมีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายขณะประทับต่างประเทศ

13 ตุลาคม วันคล้ายวันสวรรคต รัชกาลที่ 9 จิตรกรรมฝีพระหัตถ์มรดกศิลป์แผ่นดิน

ครอบครัว (Family), 2507 สีน้ำมันบนผ้าใบ ขนาด 60 x 90.5 เซนติเมตร (มีพระปรมาภิไธยย่อและข้อความ ภอ ๘-๐๗)

เมื่อพระองค์สนพระราชหฤทัยผลงานศิลปินผู้ใด จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมศิลปินผู้นั้นถึ่งที่พัก ทรงมีพระราชปฏิสันถารและทอดพระเนตรวิธีการทำงานจนเข้าพระราชหฤทัยในวิธีคิดและการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปินเป็นอย่างดี

มีบันทึกด้วยว่า ในคราวเสด็จพระราขดำเนินเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศในยุโรป พ.ศ.2507 เมื่อเสด็จถึงประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมนาย ออสการ์ โคคาซกา (Oskar Kokoschka) ศิลปินชาวออสเตรียที่สตูดิโอของเขาในเมืองวิลเนิฟ(Villeneuve) ทรงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแนวทางการสร้างสรรค์กับศิลปิน

13 ตุลาคม วันคล้ายวันสวรรคต รัชกาลที่ 9 จิตรกรรมฝีพระหัตถ์มรดกศิลป์แผ่นดิน

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ, 2504, สีน้ำมันบนผ้าใบ 74x59.5 เซนติเมตร

งานศิลปะของโคคาซกามีลักษณะการแสดงออกในแนวทางลัทธิ เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ สอดคล้องกับแนวทางการสร้างสรรค์ผลงานของพระองค์ที่ทรงใช้ฝีแปรงอย่างอิสระ รวดเร็ว รุนแรง สะท้อนการเคลื่อนไหวที่ประสานสัมพันธ์กัน

นอกจากนี้ เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศสหราชอาณาจักรเป็นการส่วนพระองค์ ปี 2509 เพื่อทรงเยี่ยม สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระชันษา 14 ชันษา ขณะทรงศึกษา ณ โรงเรียนคิงส์มีด เมืองซีฟอร์ด แคว้นซัสเซ็กส์ (King’s Mead School, Seaford, East Sussex) ทรงซื้อตำราทางศิลปะและสีเขียนภาพ เพื่อนำกลับมาทรงงานด้วย

เมื่อทรงศึกษาตำราศิลปะและเข้าพระราชหฤทัยในกระบวนการทำงานของศิลปิน ก็ทรงฝึกฝนด้วยพระวิริยะอุตสาหะ จนกระทั่งทรงพระปรีชาสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานขึ้นตามแนวทางที่มีลักษณะเฉพาะ

ศิลปินอาวุโสหลายท่านในวงการศิลปะเมืองไทยเคยได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายงานด้านการสร้างสรรค์งานศิลปะ อาทิ เหม เวชกร, เขียน ยิ้มศิริ, จำรัส เกียรติก้อง, เฟื้อ หริพิทักษ์, ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์, อวบ สาณะเสน, เฉลิม นาคีรักษ์, พิริยะ ไกรฤกษ์, ม.จ.การวิก จักรพันธุ์ 

13 ตุลาคม วันคล้ายวันสวรรคต รัชกาลที่ 9 จิตรกรรมฝีพระหัตถ์มรดกศิลป์แผ่นดิน

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งทรงพระเยาว์ ภาพสีน้ำมันบนผ้าใบ ขนาด 56 x 71 เซนติเมตร

ม.จ.การวิก จักรพันธุ์ ศิลปินสีน้ำผู้ทรงใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงบรรยายถึง การวาดภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ของ ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ ไว้ในหนังสือ ‘จิตรกรรมฝีพระหัตถ์ : พระอัจฉริยภาพล้ำเลิศ’  ไว้ดังนี้

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเริ่มเขียนภาพเหมือน ซึ่งเหมือนจริงและละเอียดมาก แต่ต่อมาได้ทรงวิวัฒน์เข้ากับภาพของจิตรกรสมัยใหม่ และทรงค้นคว้าแนวทางใหม่ๆ แปลกๆ ที่จะแสดงออกซึ่งความรู้สึกของพระองค์ โดยไม่ต้องกังวลกับความเหมือน อันจะมีอิทธิพลบีบบังคับไม่ให้ปล่อยความรู้สึกออกมาได้อย่างอิสระ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นศิลปินโดยแท้ ทรงชื่นชมในงานของศิลปินอื่นเสมอ และดูจะไม่เคยทรงพอพระราชหฤทัยกับภาพเขียนของพระองค์และวิธีการที่ทรงใช้อยู่แล้ว และแม้ว่าโปรดที่จะทรงค้นคว้าหาวิธีใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ ภาพฝีพระหัตถ์ของพระองค์ก็ยังคงเค้าลักษณะอันเป็นแบบฉบับของพระองค์เองโดยเฉพาะขณะที่ทรงวาดภาพนามธรรมที่มองไม่เห็น และจับต้องไม่ได้ แต่เป็นสาระ ดังเช่นภาพที่พระราชทานชื่อว่า วัฏฏะ, โลภะ, โทสะ, ยุแหย่, อ่อนโยน, บุคลิกซ้อน  ก็ยังทรงเขียนรูปในลักษณะสวยงามน่ารักกระจุ๋มกระจิ๋มได้ดีอีกด้วย ทั้งที่ไม่สู้ตรงกับพระราชอัธยาศัยเท่าใดนัก

ในฐานะจิตรกร ขณะทรงงาน ทรงใส่อารมณ์และความรู้สึกของจิตรกรอย่างเต็มที่ ทรงมีความรู้สึกตรงและรุนแรง ทรงใช้สีสดและเส้นกล้า ส่วนมากโปรดเส้นโค้ง แต่ในบางครั้งบางคราวก็มีข้อดลพระราชหฤทัยให้ทรงใช้เส้นตรงและเส้นแบบฟันเลื่อย”

13 ตุลาคม วันคล้ายวันสวรรคต รัชกาลที่ 9 จิตรกรรมฝีพระหัตถ์มรดกศิลป์แผ่นดิน

บุคลิกซ้อน (Double Personality) เทคนิคสีน้ำมัน


13 ตุลาคม วันคล้ายวันสวรรคต รัชกาลที่ 9 จิตรกรรมฝีพระหัตถ์มรดกศิลป์แผ่นดิน

กุหลาบไทย (Thai Rose) เทคนิคสีน้ำมัน

ผลงานจิตรกรรมของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เริ่มปรากฏสู่สายตาประชาชนครั้งแรกใน งานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 14 ปีพ.ศ.2506 โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน ภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ เข้าร่วมแสดงจำนวน 6 ภาพ ได้แก่ กุหลาบไทย มือแดง ชอบเขียน วัฏฏะ ต่อสู้ และ เขียนที่ภูพิงค์

ต่อมาในโอกาส สมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ครบ 200 ปี พ.ศ.2525 กรมศิลปากรได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัด นิทรรศการจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป จำนวน 47 ภาพ ระหว่างวันที่ 1-30 เมษายน 2525 นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการแสดงงานศิลปกรรมฝีพระหัตถ์พระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว และในปี 2530 มีการจัดแสดง นิทรรศการอัครศิลปิน ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

13 ตุลาคม วันคล้ายวันสวรรคต รัชกาลที่ 9 จิตรกรรมฝีพระหัตถ์มรดกศิลป์แผ่นดิน

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ, เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ

พ.ศ.2549 ในโอกาส ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี กรมศิลปากรได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัด นิทรรศการเคลื่อนที่ ณ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ สงขลา และต่างประเทศที่เมืองโตเกียว โอซากา ประเทศญี่ปุ่น 

มหาวิทยาลัยศิลปากรทูลเกล้าฯ ถวาย ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาจิตรกรรม แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  ตั้งแต่ปีพ.ศ.2508 หลังจากนั้นเป็นต้นมาสถาบันอุดมศึกษาอีกหลายแห่งทั้งในและต่างประเทศได้ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ด้านศิลปกรรมแด่พระองค์

13 ตุลาคม วันคล้ายวันสวรรคต รัชกาลที่ 9 จิตรกรรมฝีพระหัตถ์มรดกศิลป์แผ่นดิน

จิตรกรรมฝีพระหัตถ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

งานจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเท่าที่ปรากฏ จำแนกตามความคล้ายคลึงของรูปแบบศิลปะสากลได้ 3 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่

  1. ภาพเสมือนจริง (Realistic)
  2. ภาพคตินิยมแบบ (Expressionism)
  3. ภาพศิลปะแบบนามธรรม (Abstractionism) 

การที่พระองค์ทรงวาดภาพในแนวดังกล่าว มีส่วนสำคัญยิ่งต่อการสร้างแรงบันดาลใจของจิตรกรให้สร้างผลงานรูปแบบใหม่ๆ ทำให้งานจิตรกรรมของไทยพัฒนาไปสู่สากล

13 ตุลาคม วันคล้ายวันสวรรคต รัชกาลที่ 9 จิตรกรรมฝีพระหัตถ์มรดกศิลป์แผ่นดิน

จิตรกรรมฝีพระหัตถ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

จิตรกรรมฝีพระหัตถ์ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงวาดไว้ มีส่วนสำคัญยิ่งต่อการสร้างแรงบันดาลใจของจิตรกรให้สร้างผลงานรูปแบบใหม่ๆ ทำให้งานจิตรกรรมของไทยพัฒนาไปสู่สากล

และเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ของชาติที่เปี่ยมไปด้วยจินตนาการและเอกลักษณ์เฉพาะที่ทรงคุณค่ายิ่ง

* * * * *

อ้างอิงข้อมูลและภาพ
(1) จิตรกรรมฝีพระหัตถ์ : พระอัจฉริยภาพล้ำเลิศ หนังสือรวบรวมภาพวาดฝีพระหัตถ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ระหว่างช่วงพ.ศ.2502-2510 จำนวนกว่า 60 ภาพ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดทำหนังสือเล่มนี้เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณด้าน ‘ศิลปกรรม’ หนึ่งในพระราชกรณียกิจที่ทรงงานไว้ให้เป็นที่ประจักษ์อย่างกว้างขวาง ในโอกาสการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี พ.ศ.2559 เป็นทรัพย์สินทางปัญญาอันทรงคุณค่าของชาติสืบไป