"ทำเรื่องตลกให้เป็นรายได้" รู้จัก Meme เรื่องตลกบนภาพที่ทำเงินเพิ่มรายได้
ภาพตลกๆ เอามาใส่ข้อความที่เกี่ยวข้องกับตนเองในเชิงล้อเลียน เสียดสี ถูกนิยามว่าคือ มีม ( Meme) ใครจะคิดว่าเรื่องขำๆ เหล่านี้ก็แปลงให้เป็นเงินได้ โดยเฉพาะในยุคที่ใครๆ ที่หาเงินได้บนโลกอินเทอร์เน็ต
ภาพเด็กหญิงหันมายิ้มฉากหลังเป็นบ้านกำลังไฟไหม้ หรือภาพของ Drake ในเอ็มวีเพลง Hotline Blink กลายเป็นไวรัลอย่างรวดเร็วบนโลกออนไลน์ ส่วนหนึ่งคือความแปลกของภาพ แต่ในความจริงความเป็นไวรัลส่วนใหญ่มาจากการที่ชาวโซเชียลเอาภาพเหล่านั้นมาใส่ข้อความล้อเลียน จนเกิดเป็นกระแสมากกว่า
สังคมออนไลน์จึงทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า มีม (Meme) ขึ้นมา มีมในความหมายที่เข้าใจกันในปัจจุบัน คือการเลียนแบบ
โดยสรุปความหมายในเชิงสังคม ภาพมีม (meme) เป็นรูปแบบของความคิดทางวัฒนธรรม สัญลักษณ์ หรือการปฏิบัติ ที่สามารถส่งความรู้สึกต่างๆ จากบุคคลหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งได้ ผ่านการเขียน พูด ท่าทาง ภาพล้อเลียน และคำศัพท์ต่างๆ ในภาพที่มีความหมายเชิงตลก สนุกสนาน หรือการลอกเลียนแบบอื่นๆ
ซึ่งคำว่ามีมนี้ ถูกคิดค้นขึ้นคำแรกโดย Richard Dawkins นักชีววิทยาชาวอังกฤษ โดย meme ในภาษาอังกฤษ มาจากการผสมของคำว่า “gene” และคำภาษากรีกว่า mɪmetɪsmos หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า การเลียนแบบ
ภาพตลกๆ เอามาใส่ข้อความที่เกี่ยวข้องกับตนเองในเชิงล้อเลียน เสียดสี แล้วโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย อาจจะมองเป็นเรื่องขำๆ เท่านั้น แต่ในปี 2021 นี้ ใครจะคิดว่าเรื่องขำๆ เหล่านี้ก็แปลงให้เป็นเงินได้ โดยเฉพาะในยุคที่ใครๆ ที่หาเงินได้บนโลกอินเทอร์เน็ต
- ขายมีมใน NFT
NFT คือ สินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่ง อยู่ในเทคโนโลยีบล็อกเชน คล้ายกับ "Cryptocurrency" ที่จริงๆ มีหลายสกุลเงินมาก แต่ที่โด่งดังคุ้นหูที่สุดตอนนี้ ก็คือ สกุลเงินดิจิทัลอย่าง "Bitcoin"
NFT นิยมนำมาใช้ในแวดวงศิลปะ โดยนำภาพวาด งานศิลปะ ประติมากรรม เพลง วิดีโอ เกม การ์ตูน ฯลฯ ที่เป็นลิขสิทธิ์ทางปัญญาของผู้สร้างมาเปลี่ยนเป็น NFT หรือที่ภาษาเทคนิคเรียกว่าการ "มินท์"
ภาพมีมก็เป็นหนึ่งในงานศิลปะเหมือนกันนะ ดังนั้นใครคิดจะขายแล้วให้มีคนซื้อ ก็อย่ารีรอ เพราะว่า ภาพมีมในตำนานที่ชื่อภาพว่า “Disaster Girl” หรือภาพเด็กหญิงหันมายิ้มฉากหลังเป็นบ้านกำลังไฟไหม้ ที่เราได้กล่าวไปในตอนต้นนั้น ตัวเจ้าของภาพขายได้ราคามากถึง 180 เหรียญ Ether (เป็นสกุลเงินดิจิทัล) หรือแปลงเป็นเงินไทยมากถึง 15.4 ล้านบาท
- ใช้ความตลกของมีม สร้างผู้ติดตามแอคเคาท์
หากลองเสิร์ชอินสตาแกรมดูเล่นๆ จะพบว่า มีแอคเคาท์ที่มีไว้เพื่อลงมีมเฉพาะอย่างเดียวหลายแอคเคาท์
ยิ่งภาพมีมได้รับความนิยมมากขึ้นเท่าไร ทั้งยอดแชร์ ยอดคอมเมนต์ ยอดติดตามแอคเคาท์ล้วนล้นหลาม แน่นอนว่าสิ่งเหล่านั้นล้วนดึงดูดเหล่าแบรนด์ เพื่อดึงให้เอาแอคเคาท์ไปทำการตลาดแบรนด์ เรียกได้ว่าเป็นหลักการเดียวกับการจ้างอินฟลูเอนเซอร์
- ปั้นมีมให้เป็นคอนเทนต์ที่ขายได้
มีหลายแบรนด์ที่เห็นช่องทางการเป็นไวรัลของมีม ดังนั้นแล้วจึงเกิดหลักการ ทำแบรนด์ให้เป็นไวรัลผ่านมีมมันซะเลยดีกว่า แต่ใช่ว่าใครจะทำมีมให้เป็นไวรัลได้ มันจึงเกิดบริษัทรับผลิตมีมเพื่อการค้า อย่าง Meme Chat บริษัทที่มีเพื่อทำมีมให้แบรนด์ตามสั่ง ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี 2019 โดยมีหน้าที่ในสร้างมีมตามที่แบรนด์ หรือบุคคลต้องการ และแน่นอนว่าจะเอามีมนั้นไปได้ก็ต้องซื้อ หรือไม่ก็ทำสัญญาเช่ามีมนั้น
ผู้ก่อตั้ง Meme Chat ให้สัมภาษณ์ว่ามีผู้ใช้งาน Meme Chat เพิ่มขึ้น 3 เท่าตั้งแต่เปิดตัว และสร้างมีมมากกว่า 5 ล้านมีมแล้ว ซึ่งนับว่าเป็นสตาร์ทอัพที่เติบโตจากมีมก็ว่าได้
- ขายสินค้าจากมีม
มีมกลายเป็นไวรัลให้คนแชร์ต่อในโลกออนไลน์ แต่โดนใจของมีมยังส่งผลต่อให้เราสามารถขายผลิตภัณฑ์ หรือสินค้าเกี่ยวกับมีมได้อีกด้วย โดยเราเลือกทำสินค้าออกมาขายได้กับหลายเว็บไซต์ทั้ง Zazzle หรือ redbubble.com ที่เหมือนเป็นตลาดกลาง ที่เหล่าพ่อค้าแม่ค้า ศิลปินจะทำผลงานออกมาวางขาย นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มความพิเศษอย่างการพิมพ์คำที่ต้องการลงไปบนมีมที่เราต้องการ แล้วค่อยผลิตชิ้นงานได้
4 ช่องทางทำเงินจากมีมนี้ คือวิธีการที่สามารถหาเงินได้จริงๆ และมีคนทำจริงซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับพวกเขามานักต่อนัก แต่ว่าภาพมีมเหล่านี้ก็ยังมีส่วนที่คาบเกี่ยวเกี่ยวกับความเป็นลิขสิทธิ์อยู่เช่นกัน ถ้าใครเห็นช่องทางทำเงินตรงนี้ก็อาจจะต้องศึกษาให้ละเอียดรอบคอบก่อนเช่นกัน
อ้างอิง
thisonlineworld.com
redbubble.com
moneycontrol.com