สำรวจรูป-รอยโบราณ ใน อุทยานแห่งชาติ

สำรวจรูป-รอยโบราณ ใน อุทยานแห่งชาติ

พาสำรวจ "อุทยานแห่งชาติ" ในประเทศไทย ที่หลายพื้นที่มีภาพวาดโบราณปรากฏ หลายแห่งเป็นที่รู้จัก และอีกหลายแห่งยังเป็นปริศนา

อุทยานแห่งชาติ และ แหล่งท่องเที่ยว ทั้งหลายจะทยอยเปิดกันครบในเดือนพฤศจิกายนนี้แล้ว เลยหากิจกรรมเที่ยวอุทยานแห่งชาติมาเล่าสู่กันฟัง จะได้เป็นจุดหมายใหม่ๆ ในการไปเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทั้งหลาย

"อุทยานแห่งชาติ" นั้นนอกจากป่าไม้ สัตว์ป่า และธรรมชาติที่สวยงามแล้ว หลายพื้นที่มีเรื่องราวทาง โบราณคดี ที่มีอายุย้อนหลังไปนับพันปี ซุกซ่อนอยู่ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติมากมายหลายแห่ง หลายพื้นที่ที่มีรูปลักษณ์ต่างกันโดยเฉพาะในลักษณะของ รูป และ รอย ที่ปรากฏในพื้นผิววัตถุที่คงทน อย่างเช่น หน้าผาหิน ซึ่งมีการค้นพบในเขตอุทยานแห่งชาติแทบทุกภูมิภาคของไทย จึงเป็นเรื่องที่น่าศึกษาเป็นอย่างมาก

ภาพที่ถ้ำผีหัวโต

สิ่งที่พบกันอย่างแพร่หลายก็คือ ภาพวาดโบราณ ซึ่งภาพวาดเหล่านี้มักจะปรากฏในเพิงผา หน้าผา และในถ้ำ ทั้งหินปูนและหินทราย ในถ้ำก็มีทั้งที่ที่แสงสว่างส่องถึงและอยู่ในถ้ำที่มืดสนิท เป็นลักษณะของสีที่ถูกทำลงไปให้ติดกับพื้นผิววัสดุ (หิน) วิธีการมีทั้งที่เป็นลักษณะของการวาด หรือการพ่นสีหรือสะบัดสีทับวัตถุให้ปรากฏรูปรอย ส่วนใหญ่วิธีการนี้มักเป็นรูปฝ่ามือที่กางนิ้วออก แต่วิธีการที่มักนิยมกันคือการวาด

การวาดนั้นมักวาดลงบนพื้นผิวของหิน ที่อยู่คงทน อาจเป็นหน้าผาที่เปิดโล่ง หรือเป็นเพิงหิน หรือในเพดานเพิงถ้ำ ถ้าภาพที่เกิดจากการวาด จะมีทั้งภาพวาดคน เช่น คนสวมชุดหรือประกอบพิธีกรรม หรือดำเนินกิจกรรมบางอย่าง ถ้าเป็นรูปสัตว์ ก็มักจะเป็นสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย สุนัข รูปสัตว์ป่า เช่น ช้าง กวาง สัตว์น้ำอย่างปลา หรือเครื่องมือทำกินในชีวิตประจำวัน อย่างหม้อดิน ตุ้มจับปลา กลองมโหระทึก และเป็นสัญลักษณ์ที่มักเป็นลวดลายทางเลขาคณิต หรือภาพที่ตีความไม่ออกว่าคล้ายคลึงกับภาพอะไร

ภาพวาดที่ถ้ำตาด้วง อช.เอราวัณ

นักโบราณคดีเชื่อกันว่า สีที่เขียนจะเป็นสีที่มาจากวัตถุดิบธรรมชาติ เช่น หินสี ดินสี แล้วน้ำมาผสมกับวัสดุบางอย่างที่มีความคงทน สีที่พบมักจะเป็นสีแสด สีเลือดนกจะพบมากที่สุด ที่พบบ้างแต่ไม่มากคือสีดำ และสีขาว ส่วนการตีความนั้น ล้วนเป็นการคาดเดา ภาพบางภาพชัดเจนในตัว ก็ไม่ต้องคาดเดาเพราะภาพชัดเจน เช่น ภาพคน ที่เห็นสรีระชัดเจน หรือภาพสัตว์ต่างๆ ช้าง วัว กวาง ปลา เหล่านี้ดูก็จะรู้ว่าคืออะไร แต่สำหรับภาพที่อาจจะดูเป็นพิธีกรรม การทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น อาจต้องมีการตีความ ส่วนภาพที่เป็นลักษณะทรงเลขาคณิตทั้งหลาย หรือภาพที่ดูไม่รู้ว่าเป็นอะไร ก็ตีความไม่ได้

นั่นเป็นลักษณะของการวาดหรือใช้สีทาบทาไปบนพื้นผิวซึ่งจะพบค่อนข้างมากในประเทศไทย แต่ยังมีลักษณะอีกแบบที่ทำเป็น รอย ลงในพื้นผิวของหิน เป็นลักษณะของการใช้วัตถุที่มีความแข็ง จาร แกะ หรือตอกลงไปในเนื้อหินให้เป็นร่องรอย ส่วนใหญ่จะเป็นร่องรอยทางเลขาคณิต ที่ตีความไม่ออก แต่บางแห่งก็มีการจารหรือแกะจนดูรู้ว่าเป็นรูปคน ถ้าเทียบเคียงอายุกับภาพวาดโบราณที่ผาแต้ม ภาพวาดเหล่านี้ก็จะมีอายุราว 3,000 ปีโดยประมาณ แต่ภาพวาดโบราณที่นักโบราณคดีสันนิษฐานว่ามีอายุเก่าแก่ที่สุดอยู่ที่อินโดนีเซีย คาดว่ามีอายุประมาณ 45,500 ปี

ถ้ำผีหัวโต อช.ธารโบกขรณี

แน่นอนว่าเป็นการเขียนขึ้นมาจากมนุษย์แน่นอน มีการสันนิษฐานว่าบางแห่งเป็นการเขียนในถ้ำที่มนุษย์อยู่อาศัย แต่ลักษณะของบางแห่ง ที่อยู่บนหน้าผาชัน เปิดโลงและอยู่สูง อยู่ห่างจากแหล่งน้ำมาก จึงไม่น่าจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย แต่จงใจมาเพื่อเขียนหรือวาดขึ้นมามากกว่า รวมทั้งบางแห่งภาพเขียนเป็นภาพต้นข้าว ก็จึงน่าจะเป็นในสังคมเกษตรกรรม มีการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นการตั้งถิ่นที่อยู่เป็นหลักแหล่ง จึงไม่น่าใช่ยุคสมัยของการอาศัยถ้ำเป็นที่พักอาศัย

กับคำถามที่ว่า แล้วเขียนขึ้นเพื่ออะไร?

น่าจะเป็นการบอกถึงปรากฏการณ์ในยุคสมัยนั้นๆ อาจจะตั้งใจหรือไม่ก็ได้ บ่งบอกอาณาเขตถิ่นที่อยู่อาศัย บอกกลุ่มชนในพื้นที่นั้น แต่ไม่ว่าจะด้วยวัตถุประสงค์ใดก็ตาม พื้นที่ที่ปรากฏรูป รอย โบราณ เหล่านั้น ก็ล้วนแล้วแต่เคยมีคนในยุคโบราณย่างกรายมาแล้วทั้งสิ้น

ใน "อุทยานแห่งชาติ" ในประเทศไทย มีหลายพื้นที่ที่มีภาพวาดโบราณนี้ปรากฏ ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จัก อย่างเช่น ที่อุทยานแห่งชาติออบหลวง จ.เชียงใหม่ บริเวณเขาช้าง พบภาพวาดช้างขนาดใหญ่ วาดด้วยสีขาว ซึ่งไม่ค่อยปรากฏที่ไหน 

ภาพวาดที่ผาหมอน อช.ผาแต้ม ภาพวาดที่ผาหมอน อช.ผาแต้ม

อุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการ บริเวณผากระดานเลข เป็นลักษณะการทำรูปรอยลงไปในเนื้อหินเป็นหลุมๆ วางตำแหน่งอย่างเป็นระเบียบ

ที่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จ.อุบลราชธานี บริเวณผาแต้ม เป็นกลุ่มภาพวาดที่ใหญ่ที่สุด ทั้งขนาดและจำนวนภาพ นอกจากนั้นยังมีภาพวาดโบราณในบริเวณผาหมอน ผาขาม ภูสะมุย  โหง่นแต้ม ภูดงนา และอีกหลายแห่งกระจายกันในพื้นที่อีกมากมาย ส่วนใหญ่จะเป็นรูปฝ่ามือแดง

ผาผักหวาน อช.ภูผาเหล็ก ภาพที่คนกำลังต่อแถวทำอะไรสักอย่างที่ผาผักหวาน

อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก จ.กลนคร บริเวณผาผักหวาน เป็นลักษณะรูปคนสวมเครื่องแต่งกาย และสัญลักษณ์ทางเลขาคณิต

อุทยานแห่งชาติภูผายล จ.สกลนคร บริเวณผายล เป็นรูปแบบการทำร่องรอยเข้าไปในเนื้อหินเป็นรูปต่างๆ คน สัตว์เลี้ยง และร่องรอยเลขาคณิต

อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน จ.ขอนแก่น บริเวณถ้ำลายแทง เป็นลักษณะภาพวาดคน ที่สมบูรณ์และสีสันที่สวยงาม

ภาพที่เกิดจากการทำรูปรอย ที่ อช.ภูผายล

อุทยานแห่งชาติเอราวัณ จ.กาญจนบุรี บริเวณถ้ำตาด้วง เป็นลักษณะของคนที่มารวมกลุ่ม การทำพิธีกรรมบางอย่าง มีการหามสิ่งที่คาดว่าเป็นกลองมโหระทึก ร่วมในพิธีกรรม

อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี จ.กระบี่ บริเวณถ้ำผีหัวโต เป็นรูปคล้ายคนสวมชุดกรอมเท้า และสวมเครื่องประดับศีรษะ

อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จ.พังงา บริเวณเพิงถ้ำเขาเขียน เป็นรูปปลาโลมาชัดเจน รูปคน และสัญลักษณ์ต่างๆ

ฯลฯ

เหล่านี้คือ "อุทยานแห่งชาติ" ที่มีรูป-รอย โบราณในพื้นที่ที่โดดเด่น แต่ยังมีอุทยานแห่งชาติอีกหลายแห่ง ที่มีภาพวาดโบราณเหล่านี้อยู่ในพื้นที่ แต่อาจไม่มีความโดดเด่นหรือเข้าถึงยาก ภาพไม่ชัดเจน เช่น อุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว อุทยานแห่งชาติภูกระดึง อุทยานแห่งชาติภูเวียง อุทยานแห่งชาติคลองพนม อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด เป็นต้น     

ในอาณาบริเวณของการเป็นอุทยานแห่งชาติ นอกจากจะเก็บธรรมชาติไว้แล้ว ยังมีการเก็บหลักฐานทางโบราณคดีไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษากัน ให้เป็นสมบัติคู่แผ่นดินไทยสืบไปด้วย...