ย้อนดูปรากฏการณ์ “บั้งไฟพญานาค” มูลค่าความศรัทธาสู่รายได้ จ.หนองคาย
“บั้งไฟพญานาค” เป็นปรากฏการณ์ลูกไฟสีแดงอมชมพูพวยพุ่งขึ้นจากลำน้ำโขง ถูกผูกโยงกับความเชื่อทางพุทธศาสนา และตำนานพญานาคในลำน้ำโขง กลายเป็นงานเทศกาลสุดยิ่งใหญ่ของจังหวัดหนองคาย
ในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งตรงกับช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี จะมีวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่คนไทยคุ้นเคยกันดี นั่นคือ “วันออกพรรษา” ซึ่งคนไทยพุทธในแต่ละภาคก็จะมีการทำบุญและการจัดงานประเพณีออกพรรษาที่แตกต่างกันไป แต่ถ้าพูดถึงงานออกพรรษาในภาคอีสานแล้ว คงไม่มีใครไม่รู้จักปรากฏการณ์สำคัญอย่าง “บั้งไฟพญานาค”
- บั้งไฟพญานาค คืออะไร?
“บั้งไฟพญานาค” เป็นปรากฏการณ์ลูกไฟสีแดงอมชมพูที่พวยพุ่งขึ้นจากลำน้ำโขง ซึ่งจะเริ่มปรากฏให้เห็นเหนือผิวน้ำตั้งแต่ระดับ 10 - 30 เมตร แล้วจะพุ่งขึ้นสูงประมาณระดับ 50 - 150 เมตร เป็นเวลาประมาณ 5 - 10 วินาที แล้วดับหายไปในอากาศ โดยไม่โค้งตกลงมาเหมือนดอกไม้ไฟ
ลักษณะของลูกไฟดังกล่าวไม่มีกลิ่น ไม่มีควัน ไม่มีเสียง ขนาดของลูกไฟมีขนาดตั้งแต่เท่าหัวแม่มือ กระทั่งขนาดเท่าฟองไข่ไก่ จะเริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่เวลาหลังพระอาทิตย์ตกดินจนถึงประมาณ 23.00 น.
ปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคที่เกิดขึ้นนั้น ถูกผูกโยงเข้ากับความเชื่อทางพุทธศาสนา โดยเชื่อว่าพญานาคที่อาศัยใต้วังบาดาลในลำน้ำโขง เป็นผู้ปล่อยลูกไฟขึ้นมาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี เพื่อเป็นพุทธบูชาแก่พระพุทธเจ้าเมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จกลับจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
เว็บไซต์ตำบลโพนพิสัย หนองคาย อธิบายว่า บริเวณที่พบบั้งไฟพญานาคมีหลายจุด ได้แก่
- แม่น้ำโขงบริเวณวัดไทย เขตสุขาภิบาลโพนพิสัย
- บริเวณจุมพล เขตสุขาภิบาลบริเวณห้วยหลวง เป็นจุดที่แม่น้ำห้วยหลวงไหลลงสู่แม่น้ำโขง
- บริเวณวัดหลวง บ้านจอมนาง
- บริเวณหนองสรวง ซึ่งเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่
- ปากน้ำห้วยเป บ้านน้ำเป อำเภอรัตนวาปี
- บริเวณตลิ่งวัดบ้านหนองกุ้ง อำเภอรัตนวาปี
- หนองต้อน ตำบลหนองต้อน ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอโพนพิสัย
- บริเวณแก่งอาฮง บ้านอาฮง ตำบลหอคำ อำเภอบึงกาฬ บริเวณนี้จะเป็นลูกไฟสีเขียวมรกต
- จากปรากฏการณ์เหลือเชื่อ สู่เทศกาลสร้างเม็ดเงินให้หนองคาย
หลังจากที่มีปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค ณ จังหวัดหนองคาย และบึงกาฬ ต่อมาผู้คนนิยมเดินทางไปชมมากขึ้น จนในที่สุดได้พัฒนากลายเป็นงานเทศกาลออกพรรษาบั้งไฟพญานาค ที่สำคัญของจังหวัดหนองคาย
โดยงานเทศกาลในแต่ละปี หนองคายต้อนรับนักท่องเที่ยวในช่วงนี้ ไม่ต่ำกว่า 300,000 คน (นับจากสถิติปี 2557) ขณะที่ปี 2564 นี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายเปิดเผยว่า ยอดจองโรงแรมเพิ่มมากขึ้นถึง 80% จากเทศกาลนี้
นอกจากนี้ยังเคยมีการนำเรื่องราวดังกล่าว ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ เรื่อง 15 ค่ำเดือน 11 โดยค่ายจีเอ็มเอ็ม พิคเจอร์ หับ โห้ หิ้น ฟิล์ม (GDH ในปัจจุบัน) ส่งผลให้เทศกาลบั้งไฟพญานาค ยิ่งเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้นในวงกว้าง
- แรงศรัทธา หรือ เรื่องหลอก?
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ และนักธรณีวิทยามีการเจาะลึกวิเคราะห์ถึงปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคนี้
งานวิจัยวิทยาศาสตร์ของไทยหลายฉบับสรุปว่า บั้งไฟพญานาค คือก๊าซมีเทน-ไนโตรเจนเกิดจากแบคทีเรียที่ความลึก 4.55 - 13.40 เมตร อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส ปริมาณออกซิเจนน้อย ในวันที่เกิดปรากฏการณ์มีแดดส่องช่วงประมาณ 10, 13 และ 16 นาฬิกา มีอุณหภูมิมากกว่า 26 องศาเซลเซียส ทำให้มีความร้อนมากพอย่อยสลายสารอินทรีย์ และจะมีก๊าซมีเทนจากการหมัก 3 - 4 ชั่วโมง
มากพอให้เกิดความดันก๊าซในผิวทรายทำให้ก๊าซจะหลุดออกมาและพุ่งขึ้นเมื่อโผล่พ้นน้ำ ฟองก๊าซที่โผล่ขึ้นมาเหนือน้ำบางส่วนจะฟุ้งกระจายออกไป ส่วนแกนในของก๊าซขนาดเท่าหัวแม่มือจะพุ่งขึ้นสูงกระทบกับออกซิเจน รวมกับอุณหภูมิที่ลดต่ำลงยามกลางคืนทำให้เกิดการสันดาปอย่างรวดเร็วจนติดไฟได้
ในปีนี้ 2564 บั้งไฟพญานาคถูกพูดถึงที่มาของปรากฏการณ์อีกครั้ง โดยเพจพิสูจน์บั้งไฟพญานาค ได้นำหลักฐานรายชื่อหมู่บ้าน ภาพถ่ายและคลิปวิดีโอที่บันทึกการเกิดบั้งไฟพญานาค ยื่นให้สถานเอกอัครราชทูตลาว สืบหาความจริงกรณีการเกิดบั้งไฟพญานาค เป็นการยิงกระสุนแสงจากหมู่บ้านฝั่งลาว สร้างความเข้าใจผิดให้กับคนไทยมานานหลายสิบปี โดยเพจดังกล่าวระบุถึงรายชื่อหมู่บ้านถูกยื่นตรวจสอบมีดังนี้
- บ้านโดนเหนือ เมืองปากงึม นครหลวงเวียงจันทน์ ฝั่งไทยที่มองเห็น วัดไทย อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย
- บ้านนากุง เมืองปากงึม นครหลวงเวียงจันทร์ วัดไทย อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย และอบต.จุมพล อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย
- บ้านปากงึม เมืองปากงึม นครหลวงเวียงจันทน์ ฝั่งไทยที่มองเห็น บ้านหนองกุ้ง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย
- บ้านหนองเขียด เมืองปากงึม นครหลวงเวียงจันทน์ ฝั่งไทยที่มองเห็น พุทธอุทยานฯอ.โพนพสิยั จ.หนองคาย บ้านน้ำเป อ.รัตนาวาปี บ้านโปร่งสำราญ จ.หนองคาย
- บ้านห้วยสายพาย เมืองท่าพระบาท แขวงบอลิคำไซ (ยิงมากที่สุด) ฝั่งไทยที่มองเห็น บ้านท่าม่วง บ้านตาลชุม บ้านหนองแก้ว บ้านดงมดแดง อ.รัตนวาปี จ.หนองคาย
- บ้านทวย เมืองท่าพระบาท แขวงบอลิคำไซ ฝั่งไทยที่มองเห็น บ้านเปงจาน อ.รัตนวาปี จ.หนองคาย
- บ้านหงส์ทอง เมืองท่าพระบาท แขวงบอลิคำไซ ฝั่งไทยที่มองเห็น ลานพญานาค อ.ปากคาด จ.บึงกาฬ
- บ้านหาดไซ เมืองท่าพระบาท แขวงบอลิคำไซ ฝั่งไทยที่มองเห็น ลานพญานาค อ.ปากคาด จ.บึงกาฬ
- บ้านปากทวย เมืองท่าพระบาท แขวงบอลิคำไซ ฝั่งไทยที่มองเห็น วัดอาฮง อ.เมือง จ.บึงกาฬ
- บ้านทุ่งน้อย เมืองท่าพระบาท แขวงบอลิคำไซ ฝั่งไทยที่มองเห็น บ้านท่าสีโค อ.บึงโขงหลง จ.หนองคาย
อ้างอิง phonphisai.go.th , majorcineplex.com , PhisucnBangfiPhyanakh