ป่วยหนัก ถอดใจ “ธรรมะ”ช่วยได้จริงหรือ

ป่วยหนัก ถอดใจ  “ธรรมะ”ช่วยได้จริงหรือ

ตอนที่"หมอสันต์ ใจยอดศิลป์”ตกจากหลังคา กระดูกหักที่ขา แขน และสะโพก ส่วนอรทัย ชะฟู ป่วยเป็นมะเร็งปอด รักษาหายแล้ว แต่โรคร้ายกลับมาอีก “ธรรมะ”ช่วยอะไรทั้งสองได้บ้าง 

ไม่ใช่ธรรมะล้วนๆ ที่จะบำบัดความเจ็บป่วยได้เบ็ดเสร็จ ยังมีเรื่องการรักษาทางการแพทย์ องค์ความรู้ในการดูแลสุขภาพ ความเข้าใจชีวิต

ดังนั้นการเยียวยาร่างกายและจิตใจให้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ จึงมีองค์ประกอบหลายอย่าง 

ยกตัวอย่าง หมอสันต์ ใจยอดศิลป์ อดีตผู้อำนวยการ โรงพยาบาลพญาไท 2 และผู้ก่อตั้งศูนย์ดูแลสุขภาพแบบองค์รวม Wellness We Care Center เคยประสบอุบัติเหตุ ตกจากหลังคาบ้าน หลังหัก สะโพกหักและแขนหักทั้งสองข้าง กลายเหมือนคนพิการติดเตียง กระดิกไม่ได้เลย 

ส่วน อรทัย ชะฟู ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย อาการแบบว่า ใครเห็นก็คิดว่า อีกไม่นานคงลาจากโลกนี้ไป แต่เธอยังใช้ชีวิตต่อมาเรื่อยๆ และกลายเป็นจิตอาสาดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย

เรื่องทั้งหมด เล่าผ่านกิจกรรมสวนโมกข์กรุงเทพฯ ในหัวข้อ“ธรรมะบำบัดความป่วยได้จริงหรือ"

 “ผมร่วงจากหลังคา หลังหัก กระดูกหัก สะโพกหัก แต่ผมยังหายใจได้" หมอสันต์ เล่า และด้วยพื้นฐานที่เป็นคนคิดบวก เข้าใจธรรมะผ่านการปฏิบัติภาวนา มีความรู้ทั้งการแพทย์แผนปัจจุบัน และการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม รวมถึงเป็นคนใฝ่หาความรู้ตลอดเวลา นอกจากรักษาตัวที่โรงพยาบาล เขายังจัดโปรแกรมดูแลตัวเองแบบองค์รวม

ในห้วงเวลาที่ตกจากหลังคาสู่พื้น ระหว่างความเป็นความตาย เขาตระหนักรู้บางอย่าง ซึ่งเป็นคำอธิบายที่น่าสนใจ

ส่วนอรทัย แรกๆ ที่ป่วย ก็ฟูมฟายกับชีวิต แต่เมื่อเข้าใจ เธอกลายเป็นกำลังใจและที่ปรึกษาให้ผู้ป่วยระยะสุดท้าย

แล้วพวกเขาผ่านเรื่องร้ายๆ มาได้ยังไง....

เมื่อหมอสันต์ป่วยหนัก

ระหว่างที่ร่วงลงมาจากหลังคานอนอยู่พื้น หมอสันต์ เลือกที่จะคิดและทำอย่างไร

"ผมไม่ได้คิดว่าแย่แล้ว ไม่ได้คิดว่าลูกเมียและงานที่ทำค้างไว้จะทำยังไง ไม่อยู่ในความคิดแบบนั้น แต่คิดว่าผมยังหายใจเข้าออกได้ ก็เลยหายใจเข้าลึกๆ หายใจออกผ่อนคลาย  

(ภาพจากเฟซบุ๊คนพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ )

                    (ภาพจากเฟซบุ๊คนพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ )

ตอนนั้นผมรู้แล้วว่ากระดูกหักหลายส่วน ผมปวดมากกว่าทำฟัน คงมีส่วนหนึ่งที่ร่างกายเป็นอัมพาต ผมนิ่งสักพัก แล้วมีสติ 

สิ่งแรกที่บอกคนใกล้ตัวคือ ไม่ต้องอุ้ม แค่ประคองศรีษะ แล้วให้เรียก 1669 ก็จัดการตามขั้นตอนเท่าที่จำเป็น แต่ผมไม่จมอยู่ในความคิดมากมาย "

ในฐานะอาจารย์หมอ และผู้ฝึกปรือทางธรรมมาเยอะ เขาตระหนักรู้ว่า ความรู้ตัว คือเรื่องจริงของชีวิต ส่วนร่างกายและความคิดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากความรู้ตัว 

"ร่างกายและความคิดไม่ใช่เรา ผมก็มองดู แต่ไม่ได้คิด หลักการนี้ผมใช้ตอนป่วย ตอนนั้นกระดูกหักเยอะ เจ็บปวดตั้งแต่เช้าถึงเย็น เมื่อปวดก็ยอมรับ

ตอนป่วยมากๆ ผมมองเห็นความคิดทีละช็อต ผมมีหลักการในการใช้ชีวิตกลางๆ นิ่งๆ ไม่แกว่งหาสิ่งที่ชอบ ไม่แกว่งหนีสิ่งที่ไม่ชอบ เดี๋ยวมันก็ผ่านไป แต่บางครั้งก็เผลอ เมื่อเจ็บป่วยทำให้เห็นบางอย่างชัดขึ้น"

เขาจำได้ว่า ช่วงที่หน่วยกู้ชีพฉุกเฉินมาถึง คนเหล่านี้เป็นลูกศิษย์ของเขา เขาเคยเป็นครูสอนพวกเวชกรฉุกเฉินกู้ชีพ หนังสือที่พวกเขาเรียน ผมก็เป็นบรรณาธิการ พอเห็นเขาทำงาน ช่วยชีวิตผม วูบหนึ่งเกิดความปลื้มปีติ คิดไปว่าสิ่งที่เราทำไว้ดีนะ คนไข้ที่ป่วยได้รับสิ่งดีๆ จากเวชกรฉุกเฉินที่เราสอนไว้"

จิตใจกับร่างกายเชื่อมโยงกันอย่างไร     

หมอสันต์เลือกแล้วว่า เมื่อไม่คิด ก็ไม่เครียด แต่ระหว่างนอนนิ่งๆ เหมือนคนป่วยอัมพาตในโรงพยาบาล หมอที่เคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาแอบร้องไห้ ลูกเมียก็เครียดมาก หมอสันต์ เล่าว่า พวกเขาจินตนาการไปมากมาย 

"ผมจึงต้องเป็นคนไข้ที่ร้องเพลงให้พวกเขาฟัง เพื่อให้รู้ว่าผมไม่ได้เดือดร้อนอะไร พยาบาลหน้าวอร์ดบอกว่า ทุกเช้าจะได้ยินเสียงผมร้องเพลง ในช่วงป่วยเรื้อรัง การฟื้นฟูร่างกาย หมอที่เป็นลูกน้องผมบอกว่า อาจารย์ต้องนอนนิ่งๆ บนเตียงในโรงพยาบาลประมาณ 6 สัปดาห์ถึง 3 เดือน และฟื้นฟูร่างกายอีก 3 เดือน

ผ่านไป 9 วัน ผมขอกลับไปฟื้นฟูร่างกายที่ศูนย์ดูแลสุขภาพของผมใน จ.สระบุรี ผมวางแผนฟื้นฟูตัวเองตั้งแต่เช้าถึงเย็น ทุกชั่วโมงผมจะให้ผู้ช่วยจับผมขึ้นมากายภาพ เพื่อให้ร่างกายเคลื่อนไหว

ถ้าอยู่โรงพยาบาลคนไข้ธรรมดาจะได้ทำกายภาพวันละครั้ง บางทีก็สัปดาห์ละสองครั้ง ถ้ากายภาพแบบนั้น ผมแย่แน่"

ตลอดเวลาที่ป่วยหนัก หมอสันต์ เลือกใช้ 3 ยุทธวิธีรักษาตัว ดังนี้

1. จะไม่อยู่กับสถานการณ์ชีวิต(กังวลกับอาการป่วย) แต่อยู่กับการใช้ชีวิตทีละลมหายใจ หายใจเข้า หายใจออกผ่อนคลาย

2 .จะมองร่างกายและความคิดอย่างคนข้างนอก สิ่งแท้จริงคือความรู้ตัว ปวดมองความปวด รับรู้ว่าปวด ยอมรับอย่างที่มันเป็น

3 อย่าแกว่งหาสิ่งที่ชอบ และแกว่งหาสิ่งที่ไม่ชอบ ถ้ารู้ตัวกลับมาอยู่ตรงกลาง

มีเป้าหมาย แล้วลงมือทำ

เป้าหมายที่เขาตั้งไว้ ไม่ง่ายเลย เขาเพียรพยายามมากกว่าคนป่วยทั่วไป เพียงแค่สองเดือนหมอสันต์กลับมาเดินได้ และเดือนที่สามออกไปสอนหนังสือและเปิดแคมป์ได้

“ถ้าคนไข้เครียด โรคจะหายช้า แม้กระทั่งเป็นแผลก็หายช้า ถ้าคนไข้สงบเย็นร่าเริง การหายจากโรคจะเร็ว ตอนผมป่วยหนักผมวางเป้าหมายไว้สามข้อ" 

เป้าหมายสามอย่างที่หมอสันต์ตั้งไว้ เขาใช้รักษาผู้ป่วยสูงอายุ คนสมองเสื่อม โดยให้คนไข้ทำสามอย่างคือ

1. ตื่นขึ้นมาพร้อมกับเป้าหมายในชีวิตว่าวันนี้จะทำอะไร

2. ตั้งเป้าหมายที่ท้าทายขึ้นอีกนิด

และ3. เป้าหมายมีความซับซ้อนมากกว่าเดิม

"ผมก็เอาหลักการสามข้อมาใช้ ตื่นมา ผมคิดก่อนว่า วันนี้มีเป้าหมายอะไร ช่วงแรกผมขยับขาไม่ได้ ผมก็ตั้งเป้าหมายว่า ผมจะขยับขาซ้าย เท้าซ้ายให้สูงจากพื้นอย่างน้อย 10 ครั้ง พอฟื้นฟูตัวเองได้ดีขึ้นนิด ผมวางเป้าหมายให้ท้าทายขึ้นอีก ตั้งเป้าหมายว่า ผมจะเพาะถั่วงอกให้ได้ เพื่อเอาชนะตัวเอง

นานเข้าผมวางเป้าหมายซับซ้อนขึ้นอีก มือขวาที่หักละเอียด มือซ้ายที่ไม่เคยใช้ ผมจะวาดรูป ผมต้องนอนคว่ำโผล่หน้าให้พ้นปลายเตียงถึงจะวาดรูปได้"

ภาพจากเฟซบุ๊คอรทัย ชะฟู                                        (ภาพจากเฟซบุ๊คอรทัย ชะฟู)

ป่วยเป็นมะเร็ง จะใช้ชีวิตอย่างไร

ส่วน อรทัย ชะฟู เคยป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย และน่าจะมีชีวิตต่อไปได้ยาก แต่เธอยังใช้ชีวิตได้ด้วยรอยยิ้มและกลายจิตอาสาดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย

ย้อนไป 20 ปีที่แล้ว อรทัย กำลังสนุกกับชีวิตและงาน เมื่อพบว่าเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย โลกแทบจะถล่มทลาย แต่เธอก็รักษาตัวเองจนหายป่วย

และ7 ปีที่แล้ว มะเร็งปอด กลับมาอีก หมอบอกว่า อาจมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกินสองปี แต่เธอก็ใช้ชีวิตได้จนถึงทุกวันนี้  

"ก่อนเป็นมะเร็ง มีแผนชีวิตมากมาย จนกระทั่ง 20 ปีที่แล้วป่วยเป็นมะเร็ง รู้สึกเหมือนโลกถล่ม  ป่วยเป็นมะเร็งครั้งแรก เราเปลี่ยนแค่ภายนอก ยังมีความโกรธความแค้นซึ่งเป็นอาหารของมะเร็ง มีอารมณ์เครียด ขณะยังไม่ให้ยา เราก็จินตนาการไปไกลแล้ว "

เธอยอมรับว่า การป่วยเป็นมะเร็งครั้งแรก ไม่มีต้นทุนทางธรรมเลย พอมะเร็งกลับมาอีก ได้เรียนรู้ความเจ็บป่วยครั้งที่ 2 กลับมาอยู่กับลมหายใจ ค่อยๆ รู้เห็นตามความเป็นจริง

เริ่มเข้าใจว่า แม้จะดูแลตัวเองดีแค่ไหน กินอาหารมีประโยชน์เพียงใด ถ้าอารมณ์ไม่ผ่อนคลาย มีทัศนคติเชิงลบ ไม่เท่าทันความคิด ก็สู้มะเร็งไม่ได้

"ถ้าเราไม่เจ็บป่วย ก็ไม่เปลี่ยนแปลงตัวเอง เมื่อก่อนเราหาเงินได้ ทำอะไรก็สำเร็จหมด ทำให้เราไม่อ่อนน้อมถ่อมตน แม้จะรักตัวเองก็รักแบบเห็นแก่ตัว เมื่อเจ็บป่วยเหมือนมีสัญญาณเตือนให้เราทำอะไรช้าๆ

ตอนนี้เป็นจิตอาสาดูแลผุ้ป่วยระยะสุดท้าย                      (ตอนนี้เป็นจิตอาสาดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย) 

ตอนป่วย บางคนมาเยี่ยม ฟังแล้วจิตตกอีก ก็หันไปทำจิตอาสา แบ่งปันในฐานะคนเป็นมะเร็ง ได้เรียนรู้จากงานจิตอาสา ทัศนคติก็ค่อยๆ เปลี่ยน ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต ไม่โฟกัสที่มะเร็ง หายหรือไม่หายไม่ใช่ประเด็นสำคัญ อยู่แบบวันต่อวัน ทำปัจจุบันให้ดี ก็ลืมไปว่าป่วย

หมอสันต์ เสริมว่า ในทางการแพทย์ ความคิด(รัก โลภ โกรธ หลง)และความเครียดจะไปกดระบบการทำงานของภูมิคุ้มกันลดลงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ กลไกที่จะเก็บกินเซลล์มะเร็งก็จะเสียไป เพราะความเครียดสัมพันธ์อุบัติการณ์ของการเป็นมะเร็ง

ตอนอรทัยเป็นจิตอาสาเพื่อดูแลเด็กๆ ที่ป่วย แรกๆ เธอก็ไม่ค่อยเข้าใจเด็กๆ แต่ค่อยๆ เรียนรู้จนมีประสบการณ์ สามารถทำให้เด็กยิ้มและหัวเราะได้ 

"เราเคยเฉียดตาย เจอคนไข้ที่จากไป ก็เป็นกระจกสะท้อนให้เห็น เพราะเราได้เรียนรู้ความตาย ได้เห็นว่า บางคนทุกข์เรื่องความตายจนวาระสุดท้าย ความเจ็บไข้ได้ป่วยทำให้เราฉลาดที่จะใช้ชีวิตมากขึ้น "