10 นวนิยาย เข้ารอบสุดท้ายลุ้นรางวัล"ซีไรต์"
"ซีไรต์" ปี 64 ในมุมคณะกรรมการ "นวนิยาย10 เรื่อง" มีความโดดเด่นในเรื่องวิธีการเขียนอย่างไร มีความเห็นหลายมุม และเดือนธันวาคมนี้มีลุ้นว่า "รางวัลซีไรต์"จะเป็นของนักเขียนคนใด
คณะกรรมการคัดเลือก รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือ ซีไรต์ ประกาศผลงานนวนิยายเข้ารอบคัดเลือกประจำปี 2564 ได้พิจารณาคัดเลือกหนังสือนวนิยายที่ส่งประกวด 60 เรื่องแล้ว คัดเลือกรอบแรก 19 เรื่อง และเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 64 คัดเลือกรอบสุดท้ายเหลือ 10 เรื่อง
ความแปลกใหม่ในมุมคณะกรรมการ
เสาวณิต จุลวงศ์ ประธานคณะกรรมการรอบคัดเลือก กล่าวว่า นวนิยายในปีนี้ที่ผ่านเข้ารอบคัดเลือกเยอะมากกว่าปีอื่นๆ โดยมีจำนวน 10 เล่ม เนื่องจากทุกเล่มมีความโดดเด่นใกล้เคียงกัน
“แต่ละเล่มมีความโดดเด่น เชือดเฉือนกัน ในจำนวน 19 เล่มดีหมด พวกเราเสียดายที่ต้องคัดเพียง 10 เรื่อง"
คณะกรรมการหลายคน ลงความเห็นว่า นวนิยายที่ส่งเข้าประกวดปีนี้ มีความหลากหลาย แปลกใหม่ มีประเด็นทางสังคมในหลายๆ เรื่อง ไม่เฉพาะเรื่องโรคระบาด
ยังมีเรื่องสิ่งแวดล้อม การเมือง การศึกษา ทำให้เห็นว่า นักเขียนยังมีสำนึกทางสังคมอยู่เสมอ ไม่ได้ละเลยสิ่งเหล่านี้ เพียงแต่กำลังค้นหาช่องทาง หรือวิธีการเล่าเรื่อง
หนังสือทั้ง 19 เล่มที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามา
พินิจ นิลรัตน์ กรรมการรอบคัดเลือก กล่าวว่า ในปีนี้ ผลงานที่ส่งเข้ามามีความทันสมัย มีรูปแบบที่ก้าวหน้าขึ้น
“นวนิยายที่เข้ารอบในปีนี้มีพัฒนาการ มีความก้าวหน้ามากในเรื่องรูปแบบการเล่าเรื่อง การนำเสนอ
เราจะอ่านเหมือนนวนิยายในรูปแบบเดิมที่เคยอ่านมาไม่ได้แล้ว ชั้นเชิงการเขียนมีสองชั้นสามชั้น
นักเขียนมีความเก่งขึ้น เขียนได้เข้มข้นมากขึ้น ตอนที่เราเลือกจาก 19 เล่มเหลือ10 เล่ม กรรมการในกลุ่มนี้มีอารมณ์ประมาณรักพี่เสียดายน้อง"
นวนิยายที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้ารอบแรก 19 เล่ม
ส่วน จิราภรณ์ อัจฉริยะประสิทธิ์ กรรมการรอบคัดเลือก มองว่า มีการต่อยอดนำศิลปะอื่นมาประกอบด้วย
“ใน 10 เล่มนี้ เราได้เห็นวิธีการเขียนที่มีความเป็นสากลมากขึ้น ไม่ใช่มีแต่เรื่องประเทศไทยอย่างเดียว ยังมีเรื่องชาติพันธ์ุ เรื่องประเทศเพื่อนบ้าน นักเขียนไม่ได้ละเลยเรื่องของประเทศอื่นๆ
ส่วนกลวิธีการนำเสนอ ก็มีศิลปะอื่นๆ แทรกเข้ามาอยู่ในตัวบทด้วย เช่น มีรูปภาพประกอบ ซึ่งมีความหมายทั้งสิ้น หรือมีการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ จากคำนิยม เป็นคำตาม เพิ่มเติมเข้ามา เป็นความแปลกใหม่ที่น่าสนใจมาก”
นวนิยายที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้ารอบ 10 เล่มสุดท้าย
คณะกรรมการคัดเลือกรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือ ซีไรต์ แถลงการณ์รวมๆ ว่า
"นักเขียนพยายามหาวิธีการเล่าเรื่องเพื่อสร้างสมดุลระหว่างการนำเสนอความคิดและความสนุกสนานของความเป็นเรื่องแต่ง เพื่อเปิดให้ผู้อ่าน ซึ่งมีกลุ่มที่หลากหลายได้เข้าถึงวรรณกรรมมากขึ้น
งานเขียนเหล่านี้จึงมีเรื่องราวที่น่าประทับใจ มีวรรณศิลป์ มีวิธีการนำเสนอ ทั้งภาษาและลีลา ถ่ายทอดเรื่องราวหรือประสบการณ์ผ่านท่วงทำนองของถ้อยคำลงลึก
เปลี่ยนการรับรู้จากสิ่งที่เราคุ้นเคยไปสู่การรับรู้แบบใหม่ๆ จึงมีความละเอียดปราณีตเลือกสรรถ้อยคำมาถ่ายทอดแม้กระทั่งการบรรยายฉาก
นวนิยายทั้ง 10 เล่ม
ส่วนกลวิธีการเล่าเรื่องแต่ละเรื่องก็มีความหลากหลายแนวมาก เช่น เสนอเรื่องแบบคู่ขนาน เสนอเป็นเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่า เสนอเรื่องราวที่สลับสับเปลี่ยนเรื่องของเวลา ที่ไม่ต่อเนื่องกัน
ส่วนนวนิยายแนวสังคมการเมืองที่ส่งเข้าประกวด ก็เน้นแง่มุมสังคม วัฒนธรรม ที่มีความหลากหลายในทุกมิติ
โดยถ่ายทอดผ่านฉากสังคมร่วมสมัย หรือโลกอนาคตและดินแดนจินตนิมิต ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่น่าสนใจในบริบทสังคมการเมืองปัจจุบัน"
คณะกรรมการกับหนังสือทั้ง 10 เล่มที่เข้ารอบสุดท้าย
นวนิยาย 10 เล่มรอบสุดท้าย ลุ้นรางวัลซีไรต์
1.24-7/1 ผลงานของ ภู กระดาษ จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์มติชน
2.เกิดในฤดูหนาวที่แดดส่องถึง ของ นทธี ศศิวิมล จัดพิมพ์โดย แพรวสำนักพิมพ์
3.ดำดิ่งสู่เบื้องบน ของ วัฒน์ ยวงแก้ว จัดพิมพ์โดย ผจญภัยสำนักพิมพ์
4.เดฟั่น ของ ศิริวร แก้วกาญจน์ จัดพิมพ์โดย ผจญภัยสำนักพิมพ์
5.ภูเขาน้ำตา ของ อนุสรณ์ มาราสา จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์บลูเบิร์ด
6.รอยสนธยา ของ ทรงศีล ทิวสมบุญ จัดพิมพ์โดย Songsin Things
7.วรรณกรรมที่แท้จริงน่ะ ต้องใช้คอมพิวเตอร์เขียนเท่านั้นไม่รู้เหรอ ของ ร เรือในมหาสมุท จัดพิมพ์โดย บริษัทพะโล้ พับลิชชิ่ง จำกัด
8.วายัง อมฤต ของ อนุสรณ์ ติปยานนท์ จัดพิมพ์โดย Din-Dan Book
9.สุสานสยาม ของ ปราบต์ จัดพิมพ์โดย แพรวสำนักพิมพ์
10.อาณาเขต ของ นิธิ นิธิวรกุล จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์สมมติ