‘แพรี่พาย’ จาก Make up Artist แถวหน้า สู่การแสวงหา Deep Talk และชีวิตที่ยั่งยืน
เมื่อชื่อเสียง เงินทอง และความสำเร็จต่างๆ นั้นกลับสร้างคำถามถึงแก่นแท้ของชีวิตของ "แพรี่พาย" เส้นทางของ Make up Artist คนดังจึงมุ่งสู่ความยั่งยืน
คำว่าสูงสุดสู่สามัญ คงจะอธิบายตัวตนของ “แพรี่พาย” อมตา จิตตะเสนีย์ ได้อย่างดี เพราะหลังจากขึ้นแท่น Make-up Artist เบอร์ต้นของไทยและมีผลงานร่วมกับแบรนด์ระดับโลก วงโคจรชีวิตที่ “แพร’” ลิขิตเองตั้งแต่ต้นก็พาวนกลับมาสู่คำว่า “ธรรมชาติ” ซึ่งเป็นความธรรมดาอันแสนวิเศษ
จุดเริ่มต้นของการเป็น “แพรี่พาย” ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่เกิดจากความมุ่งมั่นที่จะพิสูจน์ตัวเองให้ครอบครัวและคนรอบข้างได้เข้าใจความใฝ่ฝันของเธอบนเส้นทางสายศิลปะ เพราะ Passion อันแรงกล้าเคยถูกท้าทายด้วยความเชื่อว่า “ศิลปะกินไม่ได้” จนเธอเคยลองไปเรียนปริญญาโทในสายธุรกิจหลังจากจบปริญญาตรีในด้าน Performing Art สาขา Performance Design จาก St.Martins มหาวิทยาลัยสอนศิลปะชื่อดังที่สุดของโลก ซึ่งการเข้ามหาวิทยาลัยนั้นได้ก็เป็นหนึ่งในการพิสูจน์ความตั้งใจของเธอมาแล้วขั้นหนึ่ง
“ตอนเรียนโทอยู่ รู้สึกว่าไม่มีความสุขกับการเรียนธุรกิจเลย แพรมีเพื่อนที่พูดถึงเรื่องหุ้น เรื่องธุรกิจ แต่เราไม่รู้เรื่องเลย เรียนก็ไม่เข้าใจว่าครูพูดอะไร ทำไมพูดถึงราคาน้ำมัน ทำไมพูดถึงประเทศนู้นประเทศนี้ มันเป็นอะไรที่โคตรจะธุรกิจจริง เป็น Global Business ก็เลยมาถามตัวเองว่าลึกๆ แล้วเราอยากเป็นอะไร แต่ตอนนั้นด้วยความที่อายุประมาณ 20 จะมีความชอบออกไปเที่ยว ชอบแต่งตัว กำลังเป็นสาว ยังวนเวียนอยู่กับอะไรสวยๆ งามๆ เป็นการแต่งตัว ทำผม เวลาจะไปเที่ยวกัน ทุกคนก็จะมาสิงสถิตอยู่ที่บ้านแพรตั้งแต่สี่โมง เพื่อให้แพรแต่งหน้าไล่ไปทีละคน เรารู้สึกสนุก เราชอบ เราอยู่กับเรื่องนี้ได้เป็นชั่วโมง เบลนด์สีตาเข้ากัน ทำไมมันสนุก แล้วเราได้ทดลองแต่งให้เพื่อนๆ ที่มีหน้าตาไม่เหมือนกัน มันคือการแก้ปัญหาของแต่ละคน”
ยิ่งทำไป แพรี่พายยิ่งค้นพบเทคนิคและทักษะผ่านประสบการณ์ เธอมักจะอาสาไปเป็น Make-up Artist ให้เพื่อนๆ ที่เรียนศิลปะและแฟชั่นดีไซน์ ความสุขในทุกครั้งที่ได้ทำ ตกผลึกเป็นความฝันว่า “ฉันจะเป็นช่างแต่งหน้า” แล้วยังฝันไปไกลถึงการเป็น Make-up Artist ในงาน London Fashion Week ให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต
เหมือนเพ้อฝันแต่เมื่อวันหนึ่งในสถานีรถไฟใต้ดิน เธอรับหนังสือพิมพ์แจกฟรีมาเปิดอ่าน จนสะดุดตากับภาพแฟชั่นนางแบบคนหนึ่งที่มีลูกเล่นด้านการแต่งหน้า การใช้เครื่องสำอางสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะบนใบหน้า พร้อมแคปชั่นว่า “Make-up is Art” นั่นเสมือนการที่แพรี่พายอนุมัติให้ตัวเองได้เดินตามฝันโดยไม่สนใจอะไรอีกต่อไป ด้วยการเปิดเฟซบุ๊คและอินสตาแกรมเป็น Portfolio
“จำได้ว่า Make-up Artist ที่แพรติดตามและยกให้เป็นครู เขาประกาศหาผู้ช่วยที่จะไปแต่งหน้าในงาน London Fashion Week ให้ส่ง Portfolio เข้าไป แพรก็ดีใจมาก หนึ่งเจอเขาในหนังสือพิมพ์ตอนที่อยู่ในรถไฟใต้ดิน สองเขายังมาประกาศหาผู้ช่วย เหมือนเป็นฟ้าส่งมาให้เราเลย ก็เลยส่ง Portfolio ไป แต่ไม่มีเสียงตอบรับเลย ก็คิดว่าผลงานเราคงแย่จริงๆ เพราะเราส่งรูปเพื่อนเราไป น่าจะดูเป็นผลงานกิ๊งก๊อง คิดว่าใครเขาจะรับเราไปแฟชั่นวีค
แต่มีอยู่คืนหนึ่งประมาณสองทุ่ม มีคนโทรมา เขาบอกว่าพรุ่งนี้แพรว่างไหม พอดีมีคนในทีมไม่สบาย เขาเป็นผู้ช่วยของครู เราก็ว่างสิ ไป วันนั้นตื่นเต้นมาก แปรงก็ไม่มี เราไม่รู้เลยว่าการเป็นผู้ช่วยในแฟชั่นวีคต้องมีอะไรบ้าง แต่ก็ไป มันเป็นประสบการณ์ที่สนุกที่สุดในชีวิตเลย เป็นจุดที่สูงที่สุดในชีวิตของแพรเลยมั้งที่ได้ไปทำงานใน London Fashion Week ต้องแก้ไขสถานการณ์ ได้เห็นความคิด ไอเดีย ได้เห็นความหลากหลายของคน มันเป็นพื้นที่ที่มี Creative หลายๆ ด้านมารวมกัน แบรนด์ก็ต้องโชว์เสื้อผ้า ฝั่ง Make-up ก็ต้องมาออกแบบลุคเพื่องานนี้ของเขาโดยเฉพาะ”
จากฝันเป็นจริงในวันนั้นและ Passion ที่ยิ่งชัดเจน มาสู่ความท้าทายใหม่เมื่อจะต้องกลับมาประเทศไทยเพื่อสู่โลกความจริง แพรี่พายยังเดินเส้นทางสายศิลปะความงามด้วยการเปิดช่องยูทูบสอนแต่งหน้า โดยเอาตัวตนมาใส่ ทั้งในการตัดต่อ ดนตรีที่ใช้ ที่เธอบอกว่าแม้จะย้อนกลับไปดูก็ยังรู้สึกถึงความคลาสสิกที่มีรสนิยม
“เราค่อนข้างฉีกกฎ เรากรีดอายไลน์เนอร์สีน้ำเงิน เราทาปากสีม่วง เรามาแต่งอะไรที่ดูเท่ ผู้หญิงไทยเมื่อก่อนเหมือนทุกคนจะค่อนข้างอยู่ในกรอบ ไม่ค่อยมีใครกล้าลุกขึ้นมาฉีกกรอบ แต่เรามาทาปากเทา มาติดกลิตเตอร์แบบนั้นแบบนี้ ประยุกต์ของที่อยู่รอบตัวมานำเสนอ กลายเป็นคำว่าคอนเทนต์ในสมัยนี้ ซึ่งเมื่อก่อนไม่ได้มีนะคำว่าคอนเทนต์ มันเป็นความบ้า ความเยอะ เหมือนระเบิดลง คุณไม่ชอบแบบนี้เหรอ แต่เราจะทำและทำให้คุณชอบ ก็โยนระเบิดลงไป ทำให้เขาเกิดความเซอร์ไพรส์ตลอดเวลา
ซึ่งถ้าเห็นหน้าแพรเวลาไม่แต่งหน้าจะเต้าหู้มากๆ จะแบนเรียบ แต่พอเราแต่งหน้า กรีดอายไลน์เนอร์มันเปลี่ยนลุคเราได้ มันทำให้คนรู้สึกว่าเขาไม่จำเป็นจะต้องยึดติดกับสิ่งที่เขาคิดว่าควรจะเป็น ตอนที่คนมาติดตามเราเหมือนเราได้ทำให้เขากล้าค้นหาตัวเอง เพศที่สามกล้าที่จะมาแต่งตัว แต่งหน้า เมื่อก่อนแพรจะมีเวิร์คชอปแต่งหน้าทุกเดือน และเป็นการแต่งหน้าที่ต้องมีการเสนอไอเดีย ก็กลายเป็นพื้นที่ที่พวกเราแชร์ในสิ่งที่ชอบ ทำมาเรื่อยๆ จน 7 ปี และมีฐานแฟนคลับที่อยู่กับแพรมาตั้งแต่วันแรก จนถึงวันนี้ทุกคนโตมาพร้อมกัน”
ความสำเร็จในฐานะไอคอนของการ Make-up Artist สายครีเอทีฟ ทำให้แพรี่พายมีผู้ติดตามในอินสตาแกรม pearypie ไม่น้อยกว่า 1.4 ล้านคน และในยูทูบมีคนกดติดตามช่อง pearypie อยู่ไม่น้อยกว่า 3.4 แสนคน ไม่รวมการเป็นพรีเซนเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์ของแบรนด์ดังมากมาย น่าจะการันตีว่าเส้นทางของเธอคงเต็มไปด้วยความสุข
ทว่าเบื้องลึกที่หลายคนไม่รู้ คือชื่อเสียง เงินทอง และความสำเร็จต่างๆ นั้นกลับสร้างคำถามถึงแก่นแท้ของชีวิต
“ถ้าย้อนกลับไปเมื่อปี 2017 เราตอบตัวเองไม่ได้ว่าสิ่งที่เราทำอยู่ เส้นทางที่เรากำลังเลือกเราจะไปทางไหน เราจะเป็นแบบนี้เรื่อยๆ เหรอ หรือเท่าไรคือพอ มันมีช่วงที่เราดัง เรามีหน้าตา เรามีชื่อเสียง สิ่งหนึ่งที่เราเห็นคือคนเดินเข้ามาหาเราเยอะมาก เอาโปรเจคมาให้ เอาของมาให้ ทุกวันเราเริ่มไม่สนุกแล้ว ไม่ได้เหมือนเมื่อก่อนที่รู้สึกมัน อยากค้นหา อยากรู้จักแบรนด์นี้ อยากรู้จักเมคอัพยี่ห้อนี้ แต่จุดๆ หนึ่งที่ทุกยี่ห้อมีคือเรื่องธุรกิจ เรื่องเงิน แล้วมันทำให้เราเซ็ง คือสุดท้ายผลงานออกมาดูดีนะ แต่ระหว่างทางเราเซ็งกับคน เราเหนื่อยกับการดีลลูกค้า ถ้าเป็นศิลปินเราคิดแล้วเราอยากทำ แต่นี่ต้องรอลูกค้า รอคอมเมนต์ แล้วเขาก็เอาอัตลักษณ์ของเราออก เราโดนตัดเรื่องจิตวิญญาณไปเยอะ จนบางทีเรารู้สึกว่าเหมือนกำลังถือบอลลูนเยอะมาก แล้วล่องลอยไปไหนไม่รู้”
ไม่ผิดนักหากจะบอกว่าโอกาสที่มีมากกว่าคนอื่นกลับทำให้แพรี่พายไม่มีความสุข บทสนทนาที่เธอได้จากคนรอบตัวกลายเป็นมีแต่ความตื้นเขิน คำทักทายที่กล่าวถึงเพียงเปลือกมักจะจบลงอย่างเบาบาง ซึ่งสิ่งที่เธอต้องการจริงๆ คือ Deep Talk
ขณะที่การทำงานมากขึ้นกลับไม่สร้างความสัมพันธ์ลึกซึ้ง ยิ่งกระตุ้นให้คำถามถึงคำตอบของชีวิตมีน้ำหนักมากขึ้น ถึงขั้นถามกับตัวเองว่า “เราเกิดมาเพื่ออะไร?”
“แพรใช้เวลาเกือบปีเพื่อรวบรวมความกล้าเพื่อจะพูดกับตัวเองว่า Make-up ไม่ใช่สำหรับแพรอีกต่อไปแล้ว แพรจบการหาตัวตนของแพร จบแล้วกับความมันตรงนี้ ตื่นมาแล้วรู้สึกว่าตัดได้ตัดเลย แพรเอาลูกน้องออกหมดจากทีม พอเรามีลูกน้องเยอะบริษัทเราใหญ่ ค่าใช้จ่ายก็ออกเยอะ แสดงว่าเราต้องรับงานเยอะมากกว่าเดิมถ้าเราอยากได้นู่นได้นี่ เหมือนเราอยู่ในระบบอะไรไม่รู้ที่ไม่ Healthy กับอะไรเลย เราเหมือนคนบ้างานที่ลืมทุกอย่างไปหมด แต่เราก็ไม่ต้องการเป็นแบบนั้นแล้ว”
หลังจากจัดการกับปัจจัยภายนอกที่หลายคนนิยามว่าคือความสำเร็จ แต่บั่นทอนความรู้สึกเธอมานาน แพรี่พายยุติบทบาทที่เคยทำแล้วลองเบนเข็มไปสอนแต่งหน้าตามต่างจังหวัด ตามสถาบันการศึกษาต่างๆ จนกระทั่งเธอได้เจอคำถามที่ทำให้ฉุกคิดถึงตัวเองอีกครั้งคือ “มีแรงบันดาลใจอะไร?” เมื่อทบทวนแล้วคำตอบคือ “ไม่มี” ยิ่งทำให้เธอผิดหวังกับตัวเอง และคิดว่าจะไม่ไปสอนใครอีก
ทว่าในการสอนครั้งนั้นที่จังหวัดขอนแก่น ครูและนักศึกษาได้ร่วมกันมอบผ้าไหมไทยเป็นของที่ระลึกให้เธอ และนั่นคือจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้ง
“ในสายตาที่มองผ้าไทยวันนั้นมันก็คือผ้าไทยเชยๆ แล้วอีกวันคือวันว่าง ก็เลยคิดว่าจะไปเที่ยวไหน แต่ก็ยังคาใจเรื่องผ้าไทย เลยถามครูว่าถ้าจะดูผ้าไทยต้องไปที่ไหน ครูเขาแนะนำว่าต้องไปที่ชุมชนชนบทเพราะเป็นจุดกำเนิดของผ้าไหมมัดหมี่ไทย เราก็ไป ซึ่งใช้เวลาเดินทางร่วม 2 ชั่วโมง
ตอนเข้าไปที่ชุมชนก็เห็นคุณป้ากำลังสาวไหมก็บอกให้จอดรถ แพรเข้าไปหาถามว่ากำลังทำอะไร ป้าบอกว่ากำลังสาวไหม หนูขอดูได้ไหม มันก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่างที่เกี่ยวกับผ้าไทย เกี่ยวกับวัฒนธรรม เรื่องของรากเหง้า แล้ววันนั้นเป็นวันที่แฮปปี้มาก เป็นวันที่หัวใจเราเติมเต็มมาก ตั้งแต่ความรู้สึกถึงหลุมดำ เป้าหมายของชีวิตคืออะไร หลายอย่างที่ไม่มีความสุขในชีวิตเลย แต่วันนั้นตัวเองได้ยิ้มมาจากหัวใจอีกครั้ง”
นอกจากได้รู้จักผ้าไทยมากขึ้น ในกระบวนการผลิตผ้าไทยได้เปิดโลกเรื่อง “สีธรรมชาติ” ที่แม้จะคร่ำหวอดในวงการ Make-up มากแค่ไหน แต่เป็นเสมือนบทเรียนใหม่ที่เธอไม่รู้จักมาก่อน จากเส้นใยและลายผ้าที่เกิดจากภูมิปัญญาสู่การเรียนรู้ใหม่ที่แพรี่พายเล่าว่าทำให้หัวใจเต้นแรง
ตอนนั้นเธอตั้งใจจะอุดหนุนแม่ๆ เลยเลือกผ้ามาฝืนหนึ่ง พอถามราคา แม่บอกว่า 30,000 บาท เธอตกใจมากว่าผ้าอะไรแพงขนาดนี้ ด้วยความที่เป็นคนเมืองและมีคนสปอยล์มาตลอด เวลามีใครให้ของแล้วเลือกได้หมดเลยแพรก็จะเอาหมดเลย เธอยอมรับว่าเป็นคนที่มีอีโก้เยอะมาก หลังจากนั้นจึงบอกแม่ว่าชื่อแพรี่พาย เป็นช่างแต่งหน้า มาสอนนักศึกษา จะขอแต่งหน้าแม่
“เราไม่รู้เรื่องตัวเองแล้วยังเอาอีโก้ไปลงกับแม่อีก ก็เอาเครื่องสำอางมาแต่งให้แม่ ด้วยความที่แม่เขาเป็นคนต่างจังหวัด ผิวก็จะเข้มๆ แต่พอแต่งไปแล้วสวยมาก เพราะหน้าเขาคม สวยในแบบของเขาอยู่แล้ว เครื่องสำอางใช้ขับความสวยขึ้นมาอีก แต่ประทับใจตรงที่คนในกรุงเทพพยายามทาสีแบบนี้แล้วไม่เข้าเลย แต่แม่กลับดูมีประกาย สวย แล้วแม่ดูไม่เชย ดูเท่ แล้วแม่ก็หยิบกระจกขึ้นมาดู เขาน้ำตาไหล แม่เขาบอกว่าตั้งแต่เกิดมาไม่เคยมีใครทำให้เขาแบบนี้เลย เขาก็เลยคว้ามือเราไปดูกระบวนการทั้งหมดของผ้าไทย แล้วแม่ก็ไปอวดที่แพรแต่งหน้าให้
วันที่ไป มีน้องคนหนึ่งปวดฟัน แม่ได้ยินเลยพาไปหาหมอพื้นบ้าน พาเราเข้าไปในสวนสมุนไพร เจอคุณลุงที่เป็นปราชญ์ชาวบ้าน หักหญ้าให้น้องเคี้ยว แล้วด้วยความน่ารักของคนต่างจังหวัด เราพูดขึ้นมากับน้องอีกคนว่าหิว พอลุงได้ยินก็หักกล้วยให้เรากินแล้วปีนต้นมะพร้าว ฟันมะพร้าวให้เรากิน พอถามแม่ว่าได้ข่าวว่าขอนแก่นส้มตำอะไร กินที่ไหนดี แม่บอกไม่ต้องไป เดี๋ยวแม่ตำให้หนูกินเอง เขาเปิดรับพวกเรามากๆ สุดท้ายแพรไม่ต่อราคาแม้แต่บาทเดียว และอุดหนุนเพิ่มด้วย มันเป็นจุดเล็กๆ ที่ทำให้เราอยากค้นหาเรื่องพวกนี้มากขึ้น เราอยากคนแบบนี้อีกเพราะมันหาไม่ได้ง่ายๆ ในเมืองที่ทุกคนอยากหาผลประโยชน์จากเราทั้งนั้น มันเป็นโลกจริงที่เราไม่เคยสัมผัส”
นับแต่นั้นแพรี่พายจึงเดินทางไปศึกษาเรื่องสีธรรมชาติตามสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศ และสิ่งที่เป็นผลพลอยได้คือการอนุรักษ์ธรรมชาติ ทุกครั้งที่เธอไปเก็บสีธรรมชาติจะมีคำสอนของชาวบ้านสอดแทรกมาเสมอ ต่อยอดสู่การเป็นอินฟลูเอนเซอร์ด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่น่าจะมีคาแรกเตอร์จัดจ้านที่สุดคนหนึ่งของไทย เพราะไม่ว่าจะกี่ชุดที่เธอสวมล้วนสร้างสรรค์จากผ้าไทยใส่ไอเดียจนกลายเป็นชุดที่มีทั้งเรื่องราวและเอกลักษณ์ ซึ่งเธอสวมไปร่วมงานแฟชั่นโชว์ของแบรนด์เนมที่ต่างประเทศตลอด และนั่นทำให้สิ่งที่เธอรู้สึกขาดมาตลอดกลับถูกเติมให้เต็ม
“ทุกคนเดินมาทักทาย Hi Pear, how are you? I love your wearing. เชื่อไหมว่าบทสนทนาที่เคยคุยกันแบบฉาบฉวย กลายเป็น Is this Thai silk? It’s made from nature color from this province. และอื่นๆ กลายเป็นเรามี Deep Talk ก็เลยกลายเป็นความภูมิใจที่เรานำเสนอไป
มันยังไม่จบแค่นั้น พอเราสนใจผ้าไทย รากเหง้า ก็ตามมาด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อม จนเกิดเป็นการทำค่ายธรรมชาติที่นำกระบวนการศิลปะเข้ามาใช้ อาทิ การย้อมผ้า การสีจากหินมาใช้ เพราะสีของหินสะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของแต่ละพื้นที่ การนำสีธรรมชาติมาทำเป็นเครื่องสำอาง เกษตรอินทรีย์ เรื่องอาหารการกิน กินอาหารเป็นยา เรื่องป่าต้นน้ำ ระบบนิเวศ”
หลังจากหันหลังให้กับระบบสังคมนิยม ประจวบเหมาะกับเกิดวิกฤติโควิด-19 ที่เผยสัจธรรมว่าความมั่นคงทางอาหารคือเรื่องสำคัญ และชีวิตที่ยั่งยืนต้องสร้างด้วยตัวเอง จนเป็นที่มาของการเปลี่ยนดาดฟ้าเป็นสวนเกษตรแบบเต็มพื้นที่ ด้วยความเชื่อว่าจะดีไม่น้อยถ้าเปลี่ยนพื้นที่เป็น Green Community ได้ ซึ่งในอนาคตที่นี่อาจจะเป็นศูนย์กระจายเมล็ดพันธุ์, เป็นศูนย์การเรียนรู้เกษตรใจกลางสุขุมวิท
สิ่งที่แพรี่พายทำตั้งแต่การพิสูจน์ความฝันตัวเอง สู่การมีชีวิตที่ยั่งยืนโดยไม่ต้องอยู่บนจุดที่สูงสุด แต่ดีที่สุดสำหรับเธอ กระทั่งอีกคำถามที่เคยไร้คำตอบ วันนี้เธอค้นพบแล้ว และกับใครที่กำลังตามหามันอยู่คงไม่แตกต่างกัน คือ “แรงบันดาลใจ” ที่ผลักดันให้เธอพูดได้เต็มปากว่า “ชีวิตที่มีศิลปะ กินได้และอร่อยด้วย”
“แพรจะใช้คำว่าอิ่มอกอิ่มใจ มันรู้สึกเหมือนเรากินข้าวแล้วอิ่ม แต่ตอนที่เราอยู่จุดสูงสุดเรามีอาหารกินเยอะมาก แต่เรากลับไม่รู้สึกอิ่ม ตอนนั้นยิ้มโดยที่ตาไม่ยิ้ม แต่ตอนนี้คือยิ้มทั้งจิตวิญญาณ ถ้ากลับไปบอกเด็กๆ ได้ จะบอกว่าใช้เวลากับชีวิต กับครอบครัวดีกว่า เพราะ Life Actually (ชีวิตที่แท้จริง) คือ เกิดแก่เจ็บตาย ระหว่างโมเมนต์นั้นใช้ชีวิตให้คุ้มที่สุดและภูมิใจไปกับมัน”