ล้วงลึก“ระบบสมอง”บำบัดผู้ติดยา ในมุมดร.ปริสุทธิ์ "นักประสาทจิตวิทยา"

ล้วงลึก“ระบบสมอง”บำบัดผู้ติดยา ในมุมดร.ปริสุทธิ์ "นักประสาทจิตวิทยา"

คนติดสุราและสารเสพติด "สมอง"บางส่วนจะถูกทำลาย ต้องะทำการประเมินความเสียหายของสมอง เพื่อจะได้บำบัดให้ถูกจุด ดร.ปริสุทธิ  "นักประสาทจิตวิทยา" เล่าถึงการบำบัดคนกลุ่มนี้

"คนสมองเสื่อมจะลืมง่าย เรียนรู้อะไรได้ยาก อันนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจเรื่อง ประสาทจิตวิทยา” ดร. ปริสุทธิ์ สำราญทรัพย์ นักจิตวิทยาคลินิกชำนาญการ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านประสาทจิตวิทยา เกี่ยวกับระบบประสาทและสมอง สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี จ.ปทุมธานี เล่า

เธอจบปริญญาโทและปริญญาเอก สาขา Applied Neuropsychology จาก University of Glasgow สก๊อตแลนด์ ปัจจุบันเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทจิตวิทยาในเมืองไทยที่รวมๆ แล้วไม่ถึง 5 คน

เธอ บอกว่า ความรู้เรื่องระบบสมองนำมาใช้วิเคราะห์และรักษาผู้บกพร่องทางสมองได้หลายเรื่อง แต่เธอเลือกที่จะนำมาใช้วินิจฉัยและบำบัดรักษาผู้ติดสุรา และสารเสพติด มานานกว่า 16 ปี

 

นอกจากนี้ยังผู้ริเริ่มในการนำความรู้ประสาทจิตวิทยามาประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยยาเสพติด และได้ร่วมก่อตั้งระบบการบำบัดยาเสพติดสำหรับผู้ป่วยที่มีความบกพร่องของการทำงานสมองเป็นแห่งแรกของโลกและภูมิภาคเอเชียในปี 2552  ปัจจุบันระบบการบำบัดดังกล่าวขยายจากผู้ป่วยในไปสู่ผู้ป่วยนอก

และได้จัดตั้ง ศูนย์บำบัดแบบโรงพยาบาลกลางวัน สำหรับผู้ป่วยสุราและสารเสพติด บำบัดแบบ Day programme เพิ่มศักยภาพของผู้รับบริการในการเลิกยาเสพติด ฝึกทักษะการเลิกยาเสพติดและปรับพฤติกรรมหรือบุคลิกภาพที่เสี่ยงต่อการกลับไปใช้สารเสพติดหรือสุรา และไม่จำเป็นต้องอยู่โรงพยาบาลตลอดเวลา 

ดร.ปริสุทธิ์ สำราญทรัพย์ (ดร.ปริสุทธิ์ สำราญทรัพย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทจิตวิทยา)

ทำไมสนใจเรื่องระบบสมองและประสาท แล้วมีเรื่องใดที่คนไทยไม่รู้บ้าง

สนใจเรื่องนี้ตั้งแต่เด็ก เคยตามคุณแม่ไปทำงานที่โรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ ผู้ป่วยที่นั่นพฤติกรรมต่างจากคนทั่วไป เลยรู้สึกสงสัย จนกระทั่งมาเรียนจิตวิทยา จึงพอเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ว่า มีความเชื่อมโยงกับสมอง 

เมื่อมาทำงานได้รับมอบหมายให้ดูแลผู้ป่วยติดสุราและสารระเหย เวลาผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการฟื้นฟูสมรรถภาพ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะพัฒนาการช้า มีความลำบากในการคิดเชิงนามธรรม เมื่อทำกิจกรรมไม่ค่อยได้

ก็จะรู้สึกว่า ตัวเองมีคุณค่าน้อยลง เพราะปกติติดยาหรือสุราก็รู้สึกไม่ดีอยู่แล้ว เมื่อการบำบัดก็ไม่สอดรับกับความบกพร่องของสมองของเขา ก็ยากขึ้นอีก ก็เลยอยากพัฒนารูปแบบการบำบัดให้เหมาะกับผู้ป่วยกลุ่มนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบำบัดรักษา

ประสาทจิตวิทยาต่างจากจิตวิทยาทั่วไปอย่างไร

ประสาทจิตวิทยาและจิตวิทยาคือ ศาสตร์เดียวกัน มุ่งเน้นการศึกษาเรื่องพฤติกรรม แต่ประสาทจิตวิทยา มุ่งศึกษาการทำงานของสมองเชื่อมโยงกับพฤติกรรม

ในกลุ่มประเทศอังกฤษและอเมริกา นักจิตวิทยาที่เรียนเรื่องประสาทจิตวิทยา ต้องผ่านการเรียนหรือได้ใบประกอบโรคศิลป์จิตวิทยาคลินิกก่อน แต่ในออสเตรเลียจะแยกสาขาชัดเจนระหว่างจิตวิทยาคลินิก และจิตวิทยา 

ล้วงลึก“ระบบสมอง”บำบัดผู้ติดยา ในมุมดร.ปริสุทธิ์ \"นักประสาทจิตวิทยา\" ประเมินระบบสมองก่อน แล้วจัดกิจกรรมบำบัดผู้เสพยาและสุรา 

จิตวิทยาทั่วไปเรียนเกี่ยวกับปัจจัยที่มีต่อพฤติกรรมมนุษย์ เช่น ทฤษฎีทางจิตวิทยา ทฤษฎีทางบุคลิกภาพ และพัฒนาการแต่ละช่วงวัย 

แต่ประสาทจิตวิทยา ศึกษาเรื่องพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตที่เกิดจากการทำงานของสมอง ความผิดปกติของสมองจะก่อให้เกิดความผิดปกติของพฤติกรรม 

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าสมองกลีบขมับเสียหาย จะทำให้เกิดความบกพร่องของพฤติกรรมที่เกี่ยวกับความจำ พบได้ในกลุ่มผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม ติดสุรา หรือผู้ป่วยที่สมองบาดเจ็บ เนื่องจากอุบัติเหตุ 

ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีปัญหาความจำ ลืมง่าย วางของแล้วลืม ทั้งๆ ที่วางประจำ ทำอาหารไหม้บ่อยๆ เนื่องจากลืมว่าทำอาหารไว้ ถึงแม้ได้กลิ่นไหม้ก็ยังจำไม่ได้ บางรายรุนแรง เริ่มจำสมาชิกในครอบครัวไม่ได้

นักประสาทจิตวิทยาจะประเมินความบกพร่องการทำงานของสมอง (Cognition) จากพฤติกรรมที่ผิดปกติ หลังจากประเมินและปรึกษากับทีมสหวิชาชีพ เพื่อให้แน่ใจว่า สมองส่วนไหนเสียหาย จากนั้นวางแผนการบำบัดรักษาฟื้นฟูทางประสาทจิตวิทยา

 ความรู้ด้านประสาทจิตวิทยา นำมาประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยยาเสพติดและติดสุราอย่างไร

ผู้ป่วยที่มีความบกพร่องการทำงานของสมอง โดยเฉพาะสมองกลีบด้านข้าง (temporal lobe) และสมองกลีบหน้าผาก (frontal lobe) ส่งผลต่อกระบวนการรู้คิด มีความบกพร่องของพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับความจำ การบริหารจัดการของสมอง การวางแผน และการควบคุมตัวเอง รวมทั้งการคิดเชิงนามธรรม 

ถ้าได้รับแรงกดดันหรือความเครียดเยอะๆ ผู้ป่วยจะหันกลับไปใช้ยาได้ง่ายกว่าผู้ป่วยยาเสพติดทั่วไป หากปล่อยให้เรื้อรัง ก็จะพัฒนาเป็นโรคทางสมองที่มีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งการรักษาก็ค่อนข้างยาก ซับซ้อน และต้องอาศัยงบประมาณที่มากขึ้น

ล้วงลึก“ระบบสมอง”บำบัดผู้ติดยา ในมุมดร.ปริสุทธิ์ \"นักประสาทจิตวิทยา\"

การบำบัดในลักษณะชุมชนบำบัด กายจิตสังคมบำบัด ซึ่งเป็นวิธีที่ประเทศไทยใช้ในปัจจุบัน จำเป็นต้องอาศัยกระบวนการรู้คิดค่อนข้างมาก จึงมีข้อจำกัด ส่งผลให้การบำบัดไม่ค่อยได้ผล ผู้ป่วยกลับดื่มสุราซ้ำได้ง่าย

จึงมีการสร้างตึกบำบัดสำหรับผู้ป่วยยาเสพติดที่มีความบกพร่องในการทำงานของสมองขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย และของภูมิภาคเอเชีย ฝึกให้ผู้ป่วยสามารถใช้ศักยภาพทางสมองในการเลิกยาและสุราได้อย่างต่อเนื่อง

 แต่พบว่า ผู้ป่วยที่อยู่ในสถานพยาบาลนานๆ ส่งผลต่อกระบวนการรู้คิดลดลงมากกว่าผู้ป่วยนอก จึงเกิดการบำบัดสำหรับผู้ป่วยติดยาและสารเสพติดในรูปแบบโรงพยาบาลกลางวัน ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2562 ผู้ป่วยเข้ารับการบำบัดแล้วกลับไปอยู่กับครอบครัวช่วงตอนเย็นและสุดสัปดาห์

ในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพทางสมองสำหรับผู้ป่วยติดยาและสารเสพติด ตอนนี้หยุดดำเนินการชั่วคราวเนื่องจากผลกระทบจาก COVID 19

การนำความรู้ทางประสาทจิตวิทยามาประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยยาเสพติดได้ผลต่างจากการใช้ยาอย่างไร

การบำบัดเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและกระบวนการคิดของผู้ป่วย เป็นแนวบำบัดของจิตวิทยาและประสาทจิตวิทยา มีการใช้ยาบรรเทาอาการไม่สุขสบายจากการขาดยาหรือสุรา หรือเป็นยาทดแทนการใช้ยาเสพติด เช่น การใช้เมทาโดน ซึ่งเป็นยาที่สังเคราะห์ขึ้นแทนการใช้เฮโรอีน 

หลังจากหมดอาการขาดยาแล้ว เช่น อาการเรื้อรังทางจิตเวช จึงจะให้ยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาอาการดังกล่าว แต่ไม่ใช่เพื่อรักษาอาการติดยาเสพติดโดยตรง

นอกจากใช้กับผู้ป่วยยาเสพติด เรื่องสมองและระบบประสาท สามารถนำมาช่วยพัฒนาคนไข้ส่วนไหนได้อีก

เด็กที่ปัญหาทางด้านพัฒนาการ ผู้ป่วยด้วยโรคทางสมอง ผู้ป่วยจิตเวช และการสร้าง AI

ได้นำศาสตร์นี้ไปช่วยเหลือคนไข้กลุ่มอื่นบ้างไหม

ปัจจุบันใช้กับกลุ่มผู้ป่วยโรคสมอง  ผู้ป่วยโรคมะเร็ง กลุ่มผู้ป่วย HIV ตอนนี้เริ่มผลักดันใช้ในกลุ่ม ผู้ป่วยจิตเวช เนื่องจากพบความบกพร่องของการทำงานของสมองเช่นกัน และใช้ประโยชน์จากระบบสมองในกลุ่มโฆษณาสินค้าต่างๆ

ถ้าคนส่วนใหญ่เข้าใจศาสตร์นี้มากขึ้น จะนำไปใช้ด้านไหนได้อีก

เรื่องที่ใกล้ตัวเลย คือ ครอบครัว ความรู้ด้านนี้จะทำให้เรารู้ว่า จะเลี้ยงเด็กให้เติบโตขึ้นมาเป็นเด็กที่มีความสวยงาม มีความสุข ในขณะเดียวกันมีวุฒิภาวะทางกระบวนการคิดและอารมณ์ได้อย่างไร

ความรู้ด้านสมองนำมาใช้ในเชิงธุรกิจอย่างไร

ฐานความรู้ด้านประสาทจิตวิทยา นำมาใช้กับธุรกิจ การออกแบบผลิตภัณฑ์ได้ ถ้าเข้าใจเรื่องสมอง จะเข้าใจว่า จะทำยังไงให้คนจดจำโฆษณาได้ภายใน 5 วินาที และจดจำผลิตภัณฑ์ได้ นาน นอกจากนี้ยังใช้กับงานสถาปัตย์ ออกแบบอาคาร ถ้ารู้ว่าสมองมนุษย์ เมื่อเจอแสงแบบไหนจะรู้สึกผ่อนคลายมากที่สุด ถ้าอยากให้คนกระตือรือร้น ต้องใช้สีแบบไหนตกแต่งภายใน เป็นเรื่องสมองล้วนๆ   ในต่างประเทศมีการศึกษาเรื่องระบบสมอง เพื่อใช้กับการออกแบบ ธุรกิจ และการออกแบบผลิตภัณฑ์