เมื่อ "มนุษย์เงินเดือน" เสพติดงานยุ่ง เช็ค 6 สัญญาณอาการแบบไหนเข้าข่าย?
คุณกำลังเสพติด "งานยุ่ง" อยู่หรือเปล่า? ชวน "มนุษย์เงินเดือน" รู้จักภาวะ Addicted to being busy พร้อมไขคำตอบในมุมจิตวิทยาว่าภาวะดังกล่าวมีสาเหตุเกิดจากอะไร และมีสัญญาณอาการแบบไหนที่เข้าข่าย
ใครทำงานเป็น "มนุษย์เงินเดือน" ยกมือขึ้น! แล้วเคยรู้สึกไหมว่าอยากทำหลายอย่างพร้อมๆ กัน และอยากให้ตัวเองมี "งานยุ่ง" ตลอดเวลา ถึงขั้นที่ว่าถ้าไม่เสร็จก็ไม่ยอมหยุด และไม่เคยผ่อนคลายตัวเองระหว่างทำงานเลย หากพบว่าตนเองมีพฤติกรรมแบบนี้ คุณอาจตกอยู่ในภาวะ Addicted to Being Busy เข้าให้แล้ว
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนรู้จักภาวะ "เสพติดงานยุ่ง" หรือ Addicted to being busy ที่พนักงานออฟฟิศหลายคนอาจเข้าข่ายมีอาการนี้แบบไม่รู้ตัว ชวนรู้สาเหตุของการเกิดภาวะดังกล่าวที่อธิบายได้ด้วยมุมมองทางจิตวิทยา ดังนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- เมื่อภาวะ Burnout รุมเร้าคนยุค COVID กระทบชีวิตหลายด้าน
- 'Work From Home' สุดพัง งานไม่เดิน สุขภาพจิตแย่ เช็ค 7 สัญญาณที่ต้องรีบแก้
- ชวนรู้ การทำงานแบบ ‘ไฮบริด’ มีประสิทธิภาพต่อพนักงานอย่างไร?
1. Addicted to being busy คืออะไร?
Jaimie Bloch นักจิตวิทยาและผู้อำนวยการคลินิกของ MindMovers Psychology เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย อธิบายถึงอาการ "เสพติดงานยุ่ง" เอาไว้ว่า เป็นภาวะที่ได้รับอิทธิพลมาจากฮอร์โมนโดปามีน (ฮอร์โมนแห่งความสุข) กล่าวคือ เมื่อเราทำงานเสร็จหรือบรรลุเป้าหมาย สมองจะปล่อยฮอร์โมนโดปามีนออกมา ซึ่งทำให้เรารู้สึกดี
ทำให้บางคนก็อาจยึดติดกับความรู้สึกดีเหล่านี้และอยากให้มันเกิดขึ้นซ้ำๆ กลายเป็นว่าเกิดการโหยหาความสุขลักษณะนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า และอีกหนึ่งปัจจัยอาจมาจากคนๆ นั้นมีอาการของโรควิตกกังวล (Anxiety) ที่เกิดขึ้นได้บ่อยในวัยทำงาน
2. เช็คสัญญาณว่าคุณมีภาวะ "เสพติดงานยุ่ง"
หากคุณสงสัยว่าตนเองกำลังเผชิญภาวะนี้อยู่หรือไม่? ลองเช็คง่ายๆ จากสัญญาณบ่งชี้เหล่านี้ ตามคำแนะนำของ Jaimie Bloch นักจิตวิทยา
- คุณกลัวพลาด/กลัวงานช้า :
ชอบให้ตารางงานแน่นๆ ในแต่ละวัน เพราะมีความวิตกกังวลว่าจะทำงานผิดพลาดหรืองานไม่ได้ผลตามที่ตั้งใจ หากเริ่มรู้สึกว่ากลัวงานเสร็จช้า และไม่สบายใจเวลาที่ตัวเองอยู่ว่างๆ ในที่ทำงาน กรณีแบบนี้ถือว่าเข้าข่ายภาวะเสพติดงานยุ่ง
- คุณพยายามหลีกเลี่ยงอารมณ์ด้านลบ :
บางคนมีปัญหาชีวิตส่วนตัวที่ยากลำบาก เช่น สูญเสียคนในครอบครัว เลิกกับแฟน ฯลฯ และไม่อยากเผชิญหน้ากับมัน จึงเลี่ยงปัญหานั้นด้วยการทำงานให้ยุ่งอยู่ตลอดเวลา เมื่อไหร่ที่อยู่ว่างๆ ในที่ทำงาน ก็จะเกิดความกังวลและไม่สบายใจขึ้นมาทันที
- การมุ่งมั่นเพื่อความสำเร็จที่เกินพอดี :
ชอบให้ตัวเองงานยุ่งตลอดเวลา เพราะรู้สึกว่าเป็นวิธีเดียวที่จะประสบความสำเร็จ (ทั้งๆ ที่ความสำเร็จต้องใช้ปัจจัยหลายอย่าง ไม่ใช่แค่การทำงานยุ่งอย่างเดียว) เมื่อว่างขึ้นมาก็จะรู้สึกกระวนกระวาย รู้สึกเหมือนเป็นความล้มเหลวรูปแบบหนึ่ง ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลและความเศร้า
- "งานยุ่ง" เป็นสถานะทางสังคมสำหรับคุณ :
เมื่ออยู่ในสังคมที่ยกย่องการทำงานหนักและต้องได้ประสิทธิภาพการทำงาน ดังนั้นการทำตัวเองให้ยุ่งตลอดเวลา จึงทำให้คุณรู้สึกว่าคุณกำลังมีชัยชนะในชีวิต และเชื่อว่ามันสามารถยกระดับสถานะทางสังคมของคุณได้ จนเข้าขั้นเสพติดงานยุ่ง
- รู้สึกผิดเมื่อว่าง :
เนื่องจากการทำงานหนักกลายเป็นคุณค่าที่สื่อถึงความสำเร็จ และความ Productive ของสังคมชาวออฟฟิศ หลายคนจึงกดดันตัวเองให้ทำงานต่างๆ ให้สำเร็จอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นบรรทัดฐานที่ว่า "ยิ่งทำมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีค่ามากขึ้นเท่านั้น" หากปล่อยตัวเองให้ว่าง ก็มักจะเกิดความรู้สึกผิด ความละอาย ความวิตกกังวล
- ไม่รู้จักผ่อนคลาย ไม่ปล่อยวาง :
คนที่มีภาวะ "เสพติดงานยุ่ง" มักจะไม่รู้จักวิธีคลายตัวเอง (Bad at relaxing) เพราะพวกเขาจะรู้สึกกังวลและรู้สึกผิดหากตนเองไม่ Productive และเพื่อขจัดความกังวลนั้น จึงต้องพยายามให้ตัวเองยุ่งเข้าไว้
3. วิธีปรับการทำงาน ลดอาการเสพติดงานยุ่ง
นักจิตวิทยา Jaimie บอกอีกว่าหากใครเข้าข่ายที่มีอาการและความรู้สึกวิตกกังวลตามข้างต้น ให้รู้เอาไว้ว่าการหันมาดูแลตัวเอง (Self-Care) ให้มากขึ้น ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่คุณจะต้องเริ่มทำแล้ว!
เมื่อไหร่ที่คุณว่าง แล้วรู้สึกกังวลขึ้นมา ก่อนจะเริ่มทำงานชิ้นใหม่ ให้หยุดก่อน แล้วหายใจเข้าลึกๆ ช้าๆ ปล่อยความรู้สึกกังวลออกไป โดยเตือนตัวเองถึงประโยชน์ของการให้โอกาสจิตใจได้ชาร์จพลังและรีเซ็ตใหม่ นี่ไม่ได้แปลว่าคุณขี้เกียจ แต่เป็นวิธีป้องกัน "ภาวะหมดไฟ" จากการจดจ่ออยู่กับงานอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่บทวิเคราะห์จาก Forbes (โดย Katy Trost) อธิบายถึงภาวะ Addicted to being busy เอาไว้ในทำนองเดียวกันว่า การทำตัวเองให้ "งานยุ่ง" เป็นเรื่องน่าขัน เป็นเพียงตัวเลือกที่คุณสร้างขึ้นมาบังคับตัวเอง และไม่มีความจำเป็นโดยสิ้นเชิง
อันที่จริง การทำงานในจำนวนชั่วโมงที่น้อยกว่า แต่มีโฟกัสและความชัดเจนมากขึ้น อาจส่งผลให้คุณ Productive ได้มากกว่าการทำงานยุ่งทั้งวันด้วยซ้ำ
หากต้องการปรับปรุงระบบการทำงานส่วนตัวให้ดีขึ้น และลดภาวะ "งานยุ่ง" แต่ยังทำงานได้เสร็จตามที่วางแผนไว้ และได้มีเวลาใช้ชีวิตส่วนตัวมากขึ้น ลองทำตามคำแนะนำต่อปนี้
- รู้ว่าควรโฟกัสที่ใด
ทำลิสต์รายการว่าวันนี้ต้องทำอะไรบ้าง แล้วงานไหนสำคัญมาก สำคัญน้อย ให้จัดเรียงลำดับความสำคัญให้ชัดเจน แล้วลงมือทำทีละอย่างแบบมีสมาธิ จดจ่อ และโฟกัส กำหนดเวลาทำงานที่เข้มงวด ที่คุณจะทำให้เสร็จไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น
เมื่อคุณรู้แน่นอนว่าคุณมีเวลาเท่าไร คุณจะทำสิ่งต่างๆ ให้เกิดขึ้นภายในกรอบเวลานั้น ตัวอย่างเช่น ตั้งกฎไม่ให้ทำงานก่อนเวลา 10.00 น. และ หลัง 19.00 น. หรือวันหยุดสุดสัปดาห์ เป็นต้น
- สำรวจตัวเองว่าการเสพติด "งานยุ่ง" มาจากไหน
มองหาสาเหตุที่แท้จริงว่าทำไมคุณถึงต้องพิสูจน์คุณค่าในตนเอง ผ่านการทำงานให้มากเกินไปและทำอย่างต่อเนื่อง คุณกำลังทำให้ตัวเองรู้สึกสำคัญและเป็นที่ต้องการของผู้อื่นหรือไม่? ความหมกมุ่นนั้นมาจากไหน? อะไรที่คุณไม่อยากเผชิญ เมื่อคุณหยุดพักยาวเกินไป?
มีเหตุผลมากมายที่ทำให้คุณตกอยู่ในวังวนของภาวะ "เสพติดงานยุ่ง" หาคำตอบโดยให้เวลากับตัวเองและปล่อยให้มันเกิดขึ้น ฝึกสมาธิและจัดการกับความรู้สึกเหล่านั้นให้ได้
ความจริงก็คือ ตัวคุณไม่ใช่ข้อบ่งชี้ของการประสบความสำเร็จทั้งหมด ความยุ่งอาจทำให้คุณรู้สึกเหมือนกำลังได้รับชัยชนะในชีวิต แต่ในขณะเดียวกัน มันก็พรากชีวิตของคุณไปด้วย ต้องปรับมุมมองใหม่ว่า "จำนวนชั่วโมงในการทำงาน ไม่เท่ากับ ความสำเร็จของคุณ"
แต่สิ่งที่กำหนดความสำเร็จอย่างแท้จริง คือ ระดับของประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานนั้นๆ ต่างหาก ดังนั้น การปรับสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงาน จึงเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน
-----------------------------------
อ้างอิง : countryliving, forbes, art-of-doing-nothing