ถ้าปิด"หัวลำโพง" "รถไฟชานเมือง"จะไปทางไหน
"รถไฟชานเมือง" คือระบบรางอีกเส้นทางหลักที่เปิดบริการคนรอบๆ กรุงเทพฯมานาน แม้จะมีรถไฟฟ้าสายใหม่เกิดขึ้น แต่ยังไม่ครอบคลุมการเดินทาง ถ้าไม่ยกเลิกเส้นทางเข้า"หัวลำโพง"แต่ปรับปรุงให้ดีขึ้นจะดีกว่าไหม...
ขบวนรถชานเมือง ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เป็นรถประเภทหนึ่งของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้บริการในสายเหนือ,สายตะวันออกเฉียงเหนือ, สายใต้ และสายตะวันออก
รัศมีโดยรอบไม่เกิน 150 กิโลเมตร จอดทุกสถานีและป้ายหยุดรถ ใช้เส้นทางร่วมกับรถไฟทางไกลและรถไฟสินค้า ส่วนใหญ่เป็นทางคู่ ซึ่งมีข้อดีคือ ราคาถูก ตารางเวลาเดินรถแน่นอน ส่วนข้อเสียคือ ทั้งร้อนและรอนาน มีขบวนรถน้อย
เส้นทาง"รถไฟชานเมือง"
อาณาเขตกรุงเทพมหานคร ทิศเหนือติด จ.ปทุมธานี ทิศตะวันตกติด จ.นครปฐม ทิศตะวันออกติด จ.ฉะเชิงเทรา สถานีหลักอยู่ที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ศูนย์กลางการเดินทางระบบราง เริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5
1) สายเหนือและสายอีสาน วิ่งไปทางทิศเหนือ ผ่านโบ๊เบ๊ ยมราช สามเสน บางซื่อ บางเขน หลักสี่ ดอนเมือง รังสิต อยุธยา
2) สายตะวันออก วิ่งไปทางตะวันออก ผ่านมักกะสัน หัวหมาก ลาดกระบัง หัวตะเข้ ฉะเชิงเทรา
3) สายใต้ วิ่งไปทางตะวันตก ผ่านบางซ่อน บางบำหรุ ตลิ่งชัน ศาลายา นครปฐม
รถไฟชานเมือง
รถไฟชานเมือง ที่มาจากทิศเหนือ เริ่มต้นจาก อยุธยา, รังสิต, บางซื่อ (มีรถไฟฟ้า MRT บริการ) สามเสน หัวลำโพง รถไฟชานเมืองที่มาจากทิศตะวันออก เริ่มต้นจาก ฉะเชิงเทรา, หัวตะเข้, ลาดกระบัง, หัวหมาก, อโศก (มีรถไฟฟ้า MRT บริการ) พญาไท,หัวลำโพง
เป็นรถที่ทำเวลาได้ดีพอสมควร ถ้านั่งจากหัวลำโพงไปรังสิต, ศาลายา,หัวตะเข้ ใช้เวลาไม่เกินหนึ่งชั่วโมง และไปอยุธยา, นครปฐม, ฉะเชิงเทรา ไม่เกินหนึ่งชั่วโมงครึ่ง
ทางเลือกใหม่ 'รถไฟชานเมืองสายสีแดง'
โครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ใช้เวลานานถึง14 ปีในการดำเนินการ ตั้งแต่คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)ดำเนินการเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 เปิดทดลองให้ประชาชนใช้ฟรีในวันที่ 2 สิงหาคม 2564
จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 นี้ ค่าโดยสารเริ่มต้น 12-42 บาท ตั้งแต่เวลา 05.30-24.00 น. มีสถานีกลางบางซื่อเป็นปลายทาง และมี 2 เส้นทางคือ
1) บางซื่อ-รังสิต วิ่งผ่าน 10 สถานี ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ, จตุจักร, วัดเสมียนนารี, บางเขน, ทุ่งสองห้อง, หลักสี่, การเคหะ, ดอนเมือง, หลักหก รังสิต จากต้นทางไปถึงปลายทาง ใช้เวลา 25 นาที ระยะทาง 26 กิโลเมตร
2) บางซื่อ-ตลิ่งชัน วิ่งผ่าน 3 สถานี ได้แก่ บางซ่อน, บางบำหรุ, ตลิ่งชัน จากต้นทางไปถึงปลายทาง ใช้เวลา 15 นาที ระยะทาง15 กิโลเมตร
มีจุดเชื่อมต่อกับเส้นทางอื่น 3 สถานี
1.สถานีกลางบางซื่อ เชื่อมต่อกับ MRT สายสีน้ำเงิน (หลักสอง-บางซื่อ-ท่าพระ)
2.สถานีหลักสี่ เชื่อมต่อกับโมโนเรลสายสีชมพู (ศูนย์ราชการนนทบุรี-มีนบุรี) อยู่ระหว่างการก่อสร้าง
3.สถานีบางซ่อน เชื่อมต่อกับ MRT สายสีม่วง (เตาปูน-คลองบางไผ่)
หมายเหตุ : เส้นทางรถไฟชานเมืองเดิมที่วิ่งอยู่ สามเสน, รามาธิบดี, ยมราช, พญาไท, อุรุพงษ์, หัวลำโพง เป็นเส้นทางที่รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงวิ่งไปไม่ถึง
รถไฟชานเมือง
คัดค้านการย้ายหัวลำโพง
ถ้าทำความเข้าใจเส้นทางอย่างละเอียดจะเห็นว่า แม้จะมีรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง แต่การเชื่อมต่อยังไม่ครอบคลุมการใช้บริการของคนรอบนอกกรุงเทพฯ ทำให้เดือดร้อน ต่างจากรถไฟชานเมืองเดิมที่มีจุดเชื่อมต่อทำให้เดินทางสะดวก
เรื่องนี้ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความคิดเห็น เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2564 ในเฟซบุ๊ค Dr.Samart Ratchapolsitte ว่า อย่ารังแกหัวลำโพง !
“กระทรวงคมนาคมอ้างว่าต้องการแก้ปัญหารถติดในกรุงเทพฯ ที่เกิดจากทางรถไฟตัดกับถนน 1. การแก้จุดตัดระหว่างทางรถไฟกับถนน...หากรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ไม่เกิดขึ้น ก็สามารถแก้ได้โดยการสร้างอุโมงค์ลอดใต้ทางรถไฟหรือสะพานลอยข้ามทางรถไฟให้รถยนต์วิ่ง
2. หากยกเลิกรถไฟวิ่งเข้าหัวลำโพง...จะมีผู้เดือดร้อนมากมาย ประกอบด้วยผู้โดยสารที่เดินทางจากชานเมืองและผู้โดยสารที่อยู่จังหวัดห่างไกลสามารถเข้าถึงใจกลางกรุงเทพฯที่สถานีสามเสนหรือหัวลำโพงก็ได้ หากต้องลงรถไฟที่สถานีกลางบางซื่อจะเสียเวลาและค่าเดินทางเพิ่มขึ้น สร้างความเดือดร้อนให้เขาอย่างมาก
3. ปิดหัวลำโพงเท่ากับปิดประตูสู่ระบบราง หลายเมืองทั่วโลกที่นิยมขนส่งผู้โดยสารด้วยระบบรางจะรักษาสถานีรถไฟใจกลางเมืองไว้ ไม่ย้ายออกนอกเมือง เช่น กรุงโตเกียว ที่มีรถไฟหลายประเภทหลายพันเที่ยวต่อวัน
4. ไม่ปิดหัวลำโพงก็พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ได้ หากการเดินทางเข้าออกหัวลำโพงสะดวกรวดเร็ว เป็น“การพัฒนาพื้นที่กับทางรถไฟแบบบูรณาการ (Integrated Development of Area and Railway หรือ IDAR) ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในญี่ปุ่น
5. อย่าให้ “ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย” เหมือนปิดสนามบินดอนเมืองในปี 2549 ที่มีคนจำนวนมากเดือดร้อน
รถไฟชานเมือง
Save หัวลำโพง
เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 รสนา โตสิตระกูล นักรณรงค์ด้านสิทธิผู้บริโภค โพสต์ในเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า การพัฒนารถไฟฟ้าให้ทันสมัยในปัจจุบัน ล้วนเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน
“รถไฟฟ้าที่อยู่ภายใต้บริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่รัฐบาลสร้างในยุคนี้ มีทั้งหมด 10-11 สาย งบประมาณสร้างประมาณ 6 แสนล้านบาท เป็นเงินจากภาษีของประชาชน
ที่น่าแปลกคือไม่สร้างรถไฟฟ้าที่เริ่มจากศูนย์กลางมีคนใช้บริการจำนวนมากเพื่อให้คุ้มทุนเร็ว แต่กลับไปสร้างส่วนที่อยู่ปลายอ้อปลายแขมทำให้การเดินรถขาดทุน
รฟท.เป็นรัฐวิสาหกิจแรกๆ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่5 เป็นการขนส่งมวลชนที่ถูกที่สุด ช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชนจริงๆ โดยภาษีของประชาชน เพื่อประชาชน
แต่กลายเป็นว่ารัฐบาลยกกำไรสูงสุดให้เอกชนผ่านการสัมปทาน ภาระอยู่บนกระดูกสันหลังประชาชน สาธารณูปโภค สาธารณูปการ ทุกอย่างถูกผ่องถ่ายไปให้กลุ่มทุนไม่กี่เจ้า รวมทั้งการให้หยุดเดินรถเข้ามาที่หัวลำโพง โดยอ้างว่า เพื่อหาเงินใช้หนี้ แก้ปัญหารถติด ส่งเสริมสร้างรถไฟฟ้าหลายสายเพื่อยกประโยชน์ให้เอกชนทำกำไร
สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังหยุดการเดินรถไฟไปหัวลำโพงก็คือ
1) ราคาค่าโดยสารของประชาชนเพิ่มขึ้น จากรังสิตมาหัวลำโพงจาก 6บาท ก็ต้องมาต่อรถที่บางซื่อ ค่ารถไฟฟ้าจากบางซื่อมาหัวลำโพง ก็ต้องจ่ายเพิ่มอีก 42 บาท
2) บางซื่อเป็นศูนย์รวมของรถไฟ มีความแออัด จราจรติดขัด ทั้งที่เพิ่งเปิดก็มีปัญหารถติดแล้ว จึงควรกระจายศูนย์มากกว่าการรวมศูนย์ไว้ที่เดียว
3) รัฐบาลควรมีนโยบายชัดเจนเรื่องค่าเดินทางของประชาชน ควรอยู่ที่ 10% ของรายได้ขั้นต่ำ สามารถใช้อุโมงค์ใต้ดินของรถไฟฟ้าสายสีแดงแก้ปัญหาจุดตัดที่ทำให้รถติดได้ เว้นเสียแต่ว่าการปิดหัวลำโพงเป็นเพียงข้ออ้างเอาที่ 120 ไร่ไปให้เอกชนหาประโยชน์ ใช่หรือไม่